Skip to main content

‘คลิตี้โมเดล’ เปิดพื้นที่ชุมชนใช้ข้อมูลเฝ้าระวังพิษตะกั่ว
พัฒนากลไกรัฐฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสวล.

========

ใช้เวลายาวนานถึง 17 ปี และเกือบสามปีหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ มาถึงจุดที่สร้างมิติใหม่การฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่หน่วยงานรัฐเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลของชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามเฝ้าระวังพิษตะกั่วและปรับให้แผนการฟื้นฟูแต่ละด้านสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนมากขึ้น กล่าวได้ว่าความสำเร็จในการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในอีก 20 ปีข้างหน้าอยู่ที่ความเข้มแข็งการเฝ้าระวังระดับตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนคลิตี้ล่างนั่นเอง

4 เดือนที่แล้ว ‘สมพร เพ็งค่ำ’ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝึกและเป็นพี่เลี้ยงให้ทีมเยาวชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 2-3 ของแกนนำที่ต่อสู้ให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้มาอย่างยาวนาน นำโดย ‘น้ำ’ - ‘ชลาลัย นาสวนสุวรรณ’ วันนี้ เธอสามารถอธิบายแผนที่ความเสี่ยงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานและอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นหากการดูดตะกอนตะกั่วขึ้นมาฝังกลบตามแผนฟื้นฟูของ คพ. ไม่รอบคอบรัดกุมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านเพียงพอ 

“ชาวบ้านมีโอกาสร่วมรับฟังแผนการฟื้นฟูที่คพ.ว่าจ้างให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาหลายครั้ง แต่ครั้งนี้เราขอมีส่วนร่วมมากกว่าการเป็นองค์ประกอบในเวที แต่ร่วมในการทำข้อมูลอีกชุดหนึ่งเพื่อเสนอให้คพ.พิจารณานำไปใช้ในการกำหนด ตรวจสอบ วัดผล และร่วมเฝ้าระวังความเสี่ยงระดับตะกั่วทั้งในสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเราเอง เพื่อให้การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามแผนปฏิบัติการฯ ของคพ.เป็นจริงและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น” 

‘ชลาลัย นาสวนสุวรรณ’ ใช้แผนที่เดินดินอธิบายตำแหน่งแห่งที่ของบ้านเรือนชาวบ้านและวิถีการใช้น้ำในลำห้วยคลิตี้ที่ทาบทับกับแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในห้วยคลิตี้ของ คพ.ที่แบ่งออกเป็น 7 โซนในเชิงเทคนิค ชี้ให้เห็นตั้งแต่บ้านต้นน้ำของลำห้วยที่ใช้น้ำทั้งกินและปลูกพืชประเภทต่างๆ ไปจนทั้งบ้านท้ายน้ำ วิถีของชาวบ้านและการไปค้างคืนที่ไร่ ดังนั้น พื้นที่การใช้ชีวิตของชาวบ้านกว้างกว่าที่ระบุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ ทีมเก็บข้อมูลยังได้สำรวจชนิดของพืชที่ชาวบ้านเพาะปลูกได้มากถึง 73 ชนิด ซึ่งต้องไปจำแนกประเภทพืชหัวที่มีความเสี่ยงในการดูดดึงสารตะกั่วไปสะสมในราก เธอยังอธิบายผังเครือญาติ 4 ตระกูลใหญ่ในหมู่บ้านคลิตี้ล่างที่สืบทอดความเสี่ยงในการรับสารตะกั่วเข้าร่างกายได้ถึง 4 รุ่น โดยเธอเป็นรุ่นที่สามที่มีปริมาณสารตะกั่วในร่างกายเกินกว่ามาตรฐานกำหนดไว้

ขณะที่ ‘กำธร ศรีสุวรรณมาลา’ แกนนำชาวบ้านและเป็น อสม. หมู่บ้านคลิตี้ล่างด้วย ได้นำเสนอแผนที่ชุมชนเชิงระบาดวิทยาความเสี่ยงพิษสารตะกั่วในร่างกาย โดยอธิบายผ่านสัญลักษณ์สีให้เห็นว่าบ้านใด ชาวบ้านคนใดมีความเสี่ยงระดับไหนบ้าง เช่น ถ้าสีเขียวแก่ หมายถึงพบสารตะกั่วรับการรักษาแล้ว สีเขียวอ่อน - เคยตรวจพบสารตะกั่ว สีเหลืองขนาดใหญ่ - เคยเจาะเลือดตรวจ แต่ไม่รู้ผล ซึ่งเป็นไปได้สองประการคือ หน่วยสาธารณสุขเคยเอาผลเลือดมาให้แล้วแต่ชาวบ้านไม่เข้าใจ กับไม่เคยได้รับแจ้งผลเลือดจากหน่วยสธ. สีน้ำเงิน - คือคนที่ตายแล้ว คาดว่าน่าจะมีผลจากตะกั่วแต่ไม่สามารถพิสูจน์ทราบได้ สีเขียวจุดน้ำเงินตรงกลาง - ได้รับการรักษาโรคพิษสารตะกั่วแล้วและเสียชีวิตแล้ว เขาบอกว่า

“ชาวบ้านอยากมีส่วนร่วมในการเฝ้าระวังการเจ็บป่วยของตนเอง ทุกวันนี้ผมเป็นอสม. ได้รับคำสั่งให้คอยติดตามดูเรื่องความดันโลหิต เบาหวาน โรคต่างๆที่เป็นนโยบายจาก สธ. แต่เมื่อชาวบ้านที่มีความเสี่ยงเรื่องพิษสารตะกั่วจึงน่าจะกำหนดให้พื้นที่นี้เป็นเขตพิเศษในการเฝ้าระวังโรคนี้ด้วย อยากได้ความร่วมมือจากหน่วยงานสธ.ในการนำผลเลือดย้อนหลังของชาวบ้านมาใส่ในแผนที่ชุมชนเพื่อการเฝ้าระวังโรค อสม.ในพื้นที่จะได้สามารถสื่อสารความเสี่ยง เส้นทางการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายถี่บ่อยอย่างไร มีอาการแสดงออกของโรคอย่างไร รู้ข้อมูลสุขภาพของตนเองมากขึ้นเพื่อรู้ความเสี่ยงในการป้องกันการเกิดโรคในอนาคต”

สาระสำคัญข้อมูลชุมชนเหล่านี้ถูกนำเสนอในรายการเวทีสาธารณะ ของไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2558 (คาดว่าจะออกอากาศต้นปี 2559) ที่เครือข่ายเยาวชนหมู่บ้านคลิตี้เป็นเจ้าภาพในการเชิญตัวแทนจากสองกระทรวงหลักคือ (1) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม: ประกอบด้วยนายรังสรรค์ ปิ่นทอง ผู้อำนวยการสำนักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมผลพิษพร้อมทีมผู้ชำนาญการ และนายพงศ์สรรค์ ดิษฐานุพงศ์ หัวหน้าอุทยานลำคลองงู สำนักอุทยานแห่งชาติพร้อมเจ้าหน้าที่อุทยานจำนวนหนึ่ง และ (2) กระทรวงสาธารณสุข นำทีมโดยนพ.อรรถพล ชีพสัตยากร ผอ.สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 5 (ราชบุรี) พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ยังมีเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ติดตามปัหานี้เข้าร่วมด้วยเช่น มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม อนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ แรงงานข้ามชาติและผู้พลัดถิ่น สภาทนายความ ศูนย์ศึกษากระเหรี่ยงและการพัฒนา สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

นายรังสรรค์ เล่าถึงความคืบหน้าแผนปฏิบัติการฟื้นฟูฯ ของคพ. หลังจากให้มหาวิทยาลัยขอนแก่นศึกษาได้ตั้งคณะทำงานวิชาการเพื่อมองให้รอบด้านมากขึ้น ขณะนี้อยู่ในระหว่างการร่างข้อกำหนดเชิงเทคนิค (ทีโออาร์) เพื่อจัดหาผู้ประกอบการมาดูดตะกอนไปฝังกลบดดยไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อนเพิ่มเติมให้เสร็จภายใน 3 ปี ตั้งแต่ปี 2559-2561 ช่วงนี้ส่งเจ้าหน้าที่ลงมาศึกษาพื้นที่ในการฝังกลบตะกอนตะกั่วที่ต้องหารือร่วมกับสำนักอุทยานเจ้าของพื้นที่ และก่อนทำการขุดหลุมจะทำสองมาตรการคือ ทำประปาภูเขาเพื่อจัดหาน้ำให้ชาวบ้านใช้และสำรวจจัดหาตุ้มน้ำเพื่อให้ชาวบ้านรองน้ำฝนให้เพียงพอใช้ได้ตลอดทั้งปี ส่วนที่เจ้าของโรงแต่งแร่อ้างว่าเป็นพื้นที่สปก. (พื้นที่ถูกประกาศเป็นพื้นที่ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร)นั้น ต้องเข้าไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และปลายเดือนธันวาคมนี้ จะร่วมกับอุทยานลำคลองงูในการบวชป่า เพื่ออนุรักษ์ไม้ใหญ่ระหว่างกระบวนการฟืนฟูลำห้วย หากจำเป็นต้องตัดต้นไม้ใดก็ต้องปลูกคืนให้กับอุทยานตามที่กฎหมายกำหนด

“เร็วๆนี้ จะตั้งคณะทำงานไตรภาคีที่ประกอบด้วย รัฐ นักวิชาการและชาวบ้านคลิตี้ ให้เข้ามาร่วมกำกับดูแลการฟื้นฟูลำห้วยตามแผนปฏิบัติการทุกขั้นตอน มีการประชุมร่วมกันทุกเดือน โดยจะรีบส่งร่างทีโออาร์ให้ศึกษาเพื่อประกวดราคาคัดเลือกผู้รับเหมามาดำเนินการ และยินดีที่จะนำข้อมูลที่ชาวบ้านทำได้เข้ามาพิจารณาในแผนปฏิบัติการด้วย ถือเป็นการร่วมสร้างปรากฎการณ์ใหม่ปรับความสัมพันธ์ความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน มาสู่ช่วงของการหันหาเข้าหากัน และร่วมมือกันฟื้นฟูการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้คพ.เองก็ไม่เข้าใจว่าทำไมถูกชาวบ้านฟ้องร้อง คพ.จะพยายามทำให้ดีที่สุดตามที่กฎหมายกำหนดไว้”

ด้าน นพ.อรรถพล ระบุว่ากระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งงบประมาณในการตรวจเลือดและเฝ้าระวังโรคของชาวบ้านคลิตี้ไว้แล้ว การทำข้อมูลของชุมชนจะทำให้ทาง สคร.ทำงานง่ายขึ้นจะมีการวางแผนทำงานร่วมมือกับชาวบ้านมากขึ้น

‘สุรชัย ตรงงาม’ จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ระบุว่านี้คือ ‘คลิตี้โมเดล’ ที่ผู้เกี่ยวข้องพยายามพัฒนาองค์ความรู้ในการฟื้นฟูเยี่ยวยาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม การคุ้มครองสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมจะเข้มแข็งได้มากขึ้นสัมพันธ์กับความเข้มแข็งของชุมชนลุกขึ้นมามีส่วนร่วมที่มากกว่าเพียงรับฟังแต่ร่วมให้ข้อมูล มีอำนาจในการกำหนด ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อม ชุมชน และตัวเขาเอง

‘สมพร เพ็งค่ำ’ ประเมินว่ากลไกรัฐในปัจจุบันไม่พร้อมรับมือสถานการณ์ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ กรณีคลิตี้นี้ชัดเจนว่าแม้มีคำสั่งศาลปกครองให้ทำแผนฟื้นฟูซึ่ง คพ.ได้ทำครอบคลุมหลายมิติใน 5 ด้านสำคัญ คือ (1) การปนเปื้อนในดิน ตะกอน และน้ำ (2) การปนเปื้อนในสัตว์น้ำและสัตว์บก (3) การเกษตร (4) ความเสี่ยงต่อสุขภาพ และ (5) ด้านสังคมและอื่นๆที่เกี่ยวข้อง พบว่าในแผนปฏิบัติการฯดังกล่าวเกินอำนาจที่คพ.จะส่งให้หน่วยงานอื่นปฏิบัติตามแผนได้ถือเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทยที่ คณะกรรมการสิ่งแวดล้อม หรือรัฐบาลโดยคณะรัฐมนตรีจะต้องมีมติเพื่อทำให้แผนนี้มีอำนาจเชิงปฏิบัติการมากขึ้นและมีงบประมาณจากกระทรวงอื่นๆเข้ามารองรับการฟื้นฟู รวมทั้งในอนาคตอาจต้องคิดโจทย์ร่วมมีหน่วยงานเป็นการเฉพาะเพื่อรับภารกิจการคุ้มครอง ป้องกัน และฟื้นฟูเยียวยาสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพหรือไม่ 

“เป็นเรื่องน่าเศร้ามาก ขณะนี้เรารู้ว่าตะกั่วเป็นมลพิษอยู่ตรงไหนเกินค่ามาตรฐานเท่าใด แต่เราไม่รู้ว่าคนมีพิษตะกั่วมากน้อย และเขาเหล่านั้นอยู่อย่างไร การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมเป้าหมายต้องอยู่ที่คนไม่เจ็บป่วยจากพิษสารตะกั่ว” 

ด้านดร.ชยาวีร์ หวังเจริญรุ่ง เลขานุการคณะทำงานวิชาการเพื่อเสนอแนะแนวทางการฟื้นฟูห้วยคลิตี้ เสริมบทเรียน ‘คลิตี้โมเดล’ เรื่องกลไกการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆอาจเป็นหัวใจการขับเคลื่อนเรื่องนี้ แต่คุณค่าความหมายของคลิตี้โมเดลต้องนำไปสู่บทเรียนการป้องกันเหตุปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมพื้นที่อื่นๆด้วย และผู้ก่อมลพิษควรต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการป้องกันและฟื้นฟูเยียวยาด้วย.

เชิงระบบยุติธรรมสิ่งแวดล้อม ‘สุรพงษ์ กองจันทึก’ ในฐานะรองประธานคณะทำงานวิชาการฯ เห็นว่านี้เป็นบทเรียนของศาลปกครองเช่นกันที่มีคำสังศาลลงมาโดยหวังให้หน่วยงานรัฐแก้ปัญหาของตนเองได้ แต่ข้อมูลเชิงประจักษ์ขณะนี้พบว่า ล่าช้ากว่าที่ศาลกำหนดไว้ให้ต้องทำแผนฟื้นฟูภายใน 3 ปี อาจต้องนำความเหล่านี้ไปสรุปบทเรียนการติดตามและการบังคับคดีของศาลเองด้วย.

##########

Facebook : Thitinob Komalnimi - KLITY Model

คลิตี้โมเดล 2015 (KLITY Model)