Skip to main content
“จับมือเขา มองหน้าเขาไว้ด้วยจะได้ไม่เจ็บ”เสียงปลอบโยนของนักเรียนหญิง ป.4 กุมมือด้านที่ว่างอยู่ของเพื่อนอีกคนที่กำลังถกแขนเสื้อกันหนาวให้ขึ้นไปเหนือข้อศอก และยื่นออกไปให้พยาบาลใช้สายยางรัดแขนคลำหาเส้นเลือดก่อนเจาะเข็มแหลมปลายยาว ดูดเอาเลือดออกมาตรวจหาปริมาณสารตะกั่วหลังจากมองหน้าเพื่อนอยู่พักหนึ่งเธอก็หลับตาปี๋ ร้องโอยเบา ๆ ก่อนเป่าลมออกจากปาก หยาดน้ำตาพริ้มไปที่หางตาเล็กน้อย รีบกระพริบตาถี่ ๆ ไล่ความเจ็บออกไปโดยเร็วไม่ให้เพื่อนเห็น มีเด็กหญิงและชายหลายสิบคนยืนต่อแถวด้านหลัง สีหน้าอมกังวลผลักไหล่หลังดันเพื่อนให้ไปต่อคิวเจาะเลือด เสียงถามภาษาพื้นถิ่นกระเหรี่ยงฟังไม่ชัดนักสลับเสียงหัวเราะ“เจ็บไหม ๆ”“มาลองเองดิ จะได้รู้”
‘คลิตี้โมเดล’ เปิดพื้นที่ชุมชนใช้ข้อมูลเฝ้าระวังพิษตะกั่วพัฒนากลไกรัฐฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสวล.========ใช้เวลายาวนานถึง 17 ปี และเกือบสามปีหลังศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ มาถึงจุดที่สร้างมิติใหม่การฟื้นฟูเยียวยาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมที่หน่วยงานรัฐเปิดพื้นที่ให้ข้อมูลของชาวบ้านเป็นส่วนหนึ่งในการติดตามเฝ้าระวังพิษตะกั่วและปรับให้แผนการฟื้นฟูแต่ละด้านสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนมากขึ้น กล่าวได้ว่าความสำเร็จในการพื้นฟูลำห้วยคลิตี้ในอีก 20 ปีข้างหน้าอยู่ที่ความเข้มแข็งการเฝ้าระวังระดับตะกั่วในสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของชุมชนคลิตี้ล่างนั่นเอง4 เดือนที่แล้ว ‘สมพร เพ็งค่ำ’ นักวิจัยสมทบ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝึกและเป็นพี่เลี้ยงให้ทีมเยาวชนในหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ซึ่งเป็นคนรุ่นที่ 2-3 ของแกนนำที่ต่อสู้ให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้มาอย่างยาวนาน นำโดย ‘น้ำ’ - ‘ชลาลัย นาสวนสุวรรณ’ วันนี้ เธอสามารถอธิบายแผนที่ความเสี่ยงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโรงแต่งแร่ปล่อยสารตะกั่วลงลำห้วยที่ชุมชนใช้ประโยชน์มาอย่างยาวนานและอาจได้รับผลกระทบมากขึ้นหากการดูดตะกอนตะกั่วขึ้นมาฝังกลบตามแผนฟื้นฟูของ คพ. ไม่รอบคอบรัดกุมและสอดคล้องกับวิถีชีวิตชาวบ้านเพียงพอ