Skip to main content

สำนักข่าวทะเลบัว ต.ทะเลน้อย www.thalabua.com  ตั้งแต่กลางปี 2550 เยาวชนจำนวนหนึ่งจาก 4 โรงเรียนในตำบลทะเลน้อย อ.ควนขนุน จังหวัดพัทลุง ได้แก่ โรงเรียนวัดทะเลน้อย โรงเรียนวัดประดู่หอม โรงเรียนพนางตุง และโรงเรียนอุดมวิทยายน 7 ได้รวมตัวกันในนามของ "กลุ่มสื่อเยาวชนสีขาว" สามารถออกหนังสือพิมพ์รายเดือน "สื่อเยาวชน" อย่างต่อเนื่อง เพื่อขับเคลื่อนปัญหาอบายมุข โดยเฉพาะการพนัน เหล้า และบุหรี่ในชุมชนของเขาอย่างมีพลัง กลายเป็นเอกสารที่ต้องแจกประจำเดือนในการประชุมระดับจังหวัด มากกว่านั้น ยังนำเนื้อหาจากหนังสือพิมพ์สื่อเยาวชนไปสร้างมูลค่าเพิ่มอ่านออกอากาศในหอกระจายข่าวของแต่ละโรงเรียนดังกล่าว และวิทยุชุมชนท้องถิ่นอย่างสม่ำเสมอ

ในปี 2551 นี้ "กลุ่มสื่อเยาวชนสีขาว" กำลังจะยกระดับขึ้นเป็นสำนักข่าวเด็กออนไลน์ประจำจังหวัดพัทลุง ชื่อ "ทะเลบัวดอทคอม" (www.thalabua.com) ให้เป็นสื่อกลางขับเคลื่อนประเด็นปัญหาต่างๆ ในชุมชนสู่พื้นที่สาธารณะต่างๆ โดยคงความโดดเด่นเรื่องของการสร้างโครงข่ายของสื่อหลากหลายประเภท เพื่อให้เนื้อหากลับไป "ขับเคลื่อน" ในชุมชน ขณะเดียวกันก็เชื่อมโยงให้ "ชุมชนทะเลน้อย" กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ของเด็กและเยาวชนในพื้นที่ สร้างจิตสาธารณะแก่เด็กและเยาวชน ให้พิทักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น และรักษ์ชุมชนของเขา ทั้งหมดนี้คือ "เป้าหมาย" ของการเริ่มต้นการสื่อสารกับสังคมของเด็กกลุ่มนี้

แง่นี้แล้ว สำนักข่าวเยาวชน "ทะเลบัวดอทคอม" จึงเป็นชื่อที่สะท้อนวิถีของชุมชนและปรากฏการณ์ธรรมชาติของ พรุควนขี้เสี้ยน เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย จังหวัดสงขลา-พัทลุง ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (Ramsar Site) แห่งแรกของประเทศไทย นอกจากนกน้ำนานชนิด พันธุ์ปลาจำนวนมากแล้ว ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปีมักมีปรากฏการณ์ "ทะเลดอกบัว" ขนาดใหญ่ประมาณ 5 ตารางกิโลเมตร คือสิ่งที่ยากจะจินตนาการสำหรับคนที่ไม่เคยมาเยือนที่นี่

ดังที่กล่าวข้างต้น ด้วยลักษณะเฉพาะของทะเลน้อยซึ่งเป็นป่าพรุเสม็ดขนาดใหญ่ ทำให้มีสัตว์ป่าใหญ่น้อยอาศัยอยู่หลายชนิด อาทิ ลิงแสม เสือปลา นากใหญ่ขนเรียบ สัตว์สะเทิ้นน้ำสะเทิ้นบก สัตว์เลื้อยคลานเช่น เต่ากระอาน ซึ่งจัดอยู่ในสถานภาพใกล้จะสูญพันธุ์ ปลาโดยเฉพาะพันธุ์ปลา 4 ชนิดที่ใกล้สูญพันธุ์ คือ ปลากะทิ ปลาดุกลำพัน ปลาฝักพร้า ปลาตะลุมพุก และชนิดเด่นที่พบคือ ปลาตุม ปลากะแห เป็นต้น

อีกทั้งทะเลน้อยถือเป็นแหล่งอาศัยสำคัญของนกน้ำกว่า 187 ชนิด ทั้งนกประจำถิ่นและนกอพยพ โดยเฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ - เมษายน จะมีนกอพยพหนีหนาวจากไซบีเรียนับแสนตัวมายังพื้นที่ชุมชนน้ำแห่งนี้ทุกปี

ประการสำคัญ ยังมี "ชุมชนทะเลน้อย" ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมสืบสาวไปถึงสมัยสุโขทัย ประมาณปี พ.ศ. 1823 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชุมชนทะเลน้อยนั้นเกาะเกี่ยวอยู่กับผืนน้ำมาแต่อดีต โดยอาศัยทรัพยากรจากทะเลน้อยเป็นน้ำหล่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการหาผัก หาปลา เลี้ยงสัตว์ ทอเสื่อกระจูด พืชพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการดำรงชีวิตเป็นหลัก ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านถูกถักทอเชื่อมร้อยให้เข้ากับสายน้ำอย่างลึกซึ้ง

และแม้ว่าจะมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชนอื่นใกล้เคียงอยู่บ้าง แต่ด้วยความที่เป็นชุมชนชาวประมงเล็ก ๆ มาแต่ครั้งอดีต ทำให้สภาพสังคมทะเลน้อยมีความใกล้ชิดระหว่างคนในชุมชนอย่างแนบแน่น อีกทั้งยังคงมีวิถีทางที่ยังไม่ถูกกลืนจากวัฒนธรรมภายนอกมากนัก สภาพความสัมพันธ์คนในชุมชนมีความเกี่ยวดองในรูปแบบเครือญาติอย่างใกล้ชิด และการที่เป็นชุมชนประมงเก่าแก่ ทำให้สภาพบ้านเรือนส่วนใหญ่ปลูกติดริมทะเลน้อย คล้ายกับเป็นชุมชนแออัดแต่กลับมิได้ส่งผลเสียอย่างใด หากทว่ากลับทำให้คนในชุมชนทะเลน้อยมีกระบวนการชุมชนและวิธีคิดร่วมกันอย่างเข้มแข็ง

พื้นที่ทะเลน้อยจึงเป็นเสมือนห้องเรียนขนาดใหญ่ในมิติที่หลากหลายของชุมชนและสังคม ซึ่งมีเด็ก เยาวชนและผู้ที่สนใจเป็นผู้ส่งผ่านความรู้ มีส่วนร่วมสร้างกระบวนการเรียนรู้ผ่านการสื่อสารขับเคลื่อน อีกทั้งสามารถเชื่อมโยงตัวเองเข้ากับสังคมฐานความรู้ เพื่อขับเคลื่อนสังคมใหญ่ร่วมกัน ผ่าน "สำนักข่าวทะเลบัว" www.thalabua.ocm นั่นเอง