Skip to main content

ด้วยกลเม็ดการเตรียมการทุจริต ทั้งการฮั้ว การล็อคสเปค การเพิ่มราคางบประมาณที่จัดสรรต่อหน่วยครุภัณฑ์  การจัดสรรให้โดยเกินความจำเป็น การจัดสรรให้โดยไม่ได้ต้องการไม่ได้ร้องขอ การดำเนินการที่ไม่ถูกต้อง ไม่คุ้มค่า ไม่เหมาะสมและไม่สุจริต  เปิดช่องทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์ในลักษณะต่างๆ  เหล่านี้  เปิดทางแก่การทุจริตคอรัปชั่น ทางคณะกรรมการชุดนพ.บรรลุ ศิริพานิช ได้ประมาณมูลค่าความเสียหายจากการทุจริตงบประมาณแผ่นดินโดยประมาณ เฉพาะส่วนของครุภัณฑ์ รวมมูลค่างบประมาณที่สูงเกินสมควร (719.98) ล้านบาท และควรป้องกันการสูญเสียในอนาคตได้อีก 645–1,308  ล้านบาท ดังนี้

1. เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด                 120   ล้านบาท
2. เครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติ            12.8   ล้านบาท  
3. เครื่องช่วยหายใจ                               195.75 ล้านบาท
4. เครื่องดมยาสลบ                                    30   ล้านบาท
5. เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจกลาง       65   ล้านบาท
6. เครื่องเอกซเรย์เต้านม                             30   ล้านบาท
7. เครื่องสลายนิ่ว                                    33.5  ล้านบาท
8. เครื่องพ่นยุงแบบติดรถยนต์                   1.89  ล้านบาท
9. เครื่องยูวีแฟน                                      16    ล้านบาท
10. รถปิ๊คอัพดับเบิลแค็บ                          59.04 ล้านบาท
11. รถพยาบาล                                          80  ล้านบาท
12. ยูนิตทันตกรรม (สถาบันพระบรมราชชนก)   74  ล้านบาท

อีกกลโกงการซื้อเครื่องตรวจเลือด

ในรายการจัดสรรงบไทยเข้มแข็งในครั้งนี้  มีเครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด (Automate chemistry) รวมทั้งเครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติรวมอยู่ด้วย จากการตรวจสอบพบว่า โรงพยาบาลเกือบทั้งหมดไม่ได้ขอ และไม่มีความจำเป็นต้องจัดซื้อ ได้มาฟรีโดยไม่มีเหตุผลอีกแล้ว

ในปัจจุบันการจัดซื้อเครื่องมือตรวจเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการของเกือบทุกโรงพยาบาลนั้น จะไม่มีการซื้อเครื่องแล้ว แต่จะทำสัญญากับบริษัทขายวัสดุชันสูตรให้มาวางเครื่องให้โรงพยาบาลใช้ และรับดูแลบำรุงรักษาให้โดยไม่คิดมูลค่า แม้ว่าตัวเครื่องจะมีราคาเป็นล้าน และเมื่อมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยกว่า บริษัทก็ดำเนินการเปลี่ยนเครื่องให้เอง โดยโรงพยาบาลเพียงแต่ซื้อน้ำยาเคมีจากบริษัทผู้ขาย หากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ บริษัทฯ จะนำเครื่องมาให้บริการโดยคิดค่าบริการเป็นรายครั้ง โดยไม่ต้องซื้อทั้งเครื่องและน้ำยา ซึ่งถือเป็นการจัดซื้อที่มีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นประโยชน์กับราชการมากที่สุด  เช่นเดียวกับเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องถ่ายเอกสาร หรือแม้แต่รถยนต์ของทางราชการ  เดี๋ยวนี้การบริหารจัดการในยุคใหม่ต่างก็เลิกซื้อเองแล้ว  จะใช้วิธีการเช่าเครื่องซึ่งดีที่สุด

จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบข้อมูลจาก 4 โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดขอนแก่น ได้ให้ข้อมูลว่า  ได้รับจัดสรรโดยมิได้มีคำขอ โดยมีตัวแทนบริษัทไปติดต่อว่า จะมีสเปคจากส่วนกลางลงมา ซึ่งพบว่าตรงกับของบริษัทตัวแทนนั้น คือบริษัท Imed โรงพยาบาลชุมชนในอุบลราชธานี มีตัวแทนบริษัทชื่อ Imed โทรศัพท์ไปติดต่อในลักษณะข่มขู่ ให้จัดทำสเปคที่เอื้อต่อบริษัทของตนเอง  โรงพยาบาลชุมชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ให้ข้อมูลว่า มีบริษัทขายวัสดุชันสูตรไปติดต่อ แจ้งว่าสามารถจะช่วยให้โรงพยาบาลได้ครุภัณฑ์การแพทย์ 2 รายการนี้  เพียงทำคำขอเป็นลายลักษณ์อักษร แล้วบริษัทจะติดต่อขอการจัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุขให้เอง

จากการตรวจสอบชื่อผู้ถือหุ้นของบริษัท Imed laboratory จำกัด ซึ่งเป็นผู้เกี่ยวข้องกับครุภัณฑ์ 2  รายการนี้ พบรายชื่อผู้ถือหุ้นรายหนึ่งเป็นเพื่อนใกล้ชิดกับนพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค โดยเป็นเพื่อนสนิทร่วมรุ่นที่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รุ่นที่ 91 ซึ่งประเด็นดังกล่าวควรมีการสอบสวนข้อเท็จจริงเพิ่มเติม และสืบต่อไปว่าใครที่อยู่เบื้องหลัง

กรณีนี้ชัดเจนว่ามีการจัดสรรให้เกินความจำเป็น คิดราคาซื้อเครื่องที่ยังไม่แน่ชัดในคุณภาพเครื่องละ 3,000,000 บาท ถึง 40 เครื่อง คิดเป็นมูลค่า 120 ล้านบาท เช่นเดียวกับเครื่องนับเม็ดเลือดอัตโนมัติตรวจพบว่ามีการจัดสรร 16 เครื่อง ราคาเครื่องละ 800,000 บาท คิดเป็นมูลค่า 12.8 ล้านบาท รวม 2 รายการคิดเป็น 132.8 ล้านบาท ซึ่งควรใช้วิธีการซื้อน้ำยาโดยให้บริษัทมาวางเครื่องเช่นที่เป็นอยู่โดยปกติ ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทจึงได้เสนอให้ทบทวนตัดออกทั้งหมด หากพิจารณายกเลิกการจัดสรรทั้ง 2 รายการนี้ จะสามารถประหยัดงบประมาณได้ถึง 132.8 ล้านบาท เงินกู้ก้อนนี้ช่วยคนจนได้อีกมากทีเดียว

เครื่องช่วยหายใจ มุ่งต่อลมหายใจใคร

เครื่องช่วยหายใจ (Respirator) เป็นครุภัณฑ์อีกชิ้นที่ส่งกลิ่นรุนแรง ไม่เฉพาะราคากลางที่สูงเกินจริง แต่ยังจัดสรรไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง ครุภัณฑ์ชิ้นนี้ถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มราคา ตามความแตกต่างเรื่องคุณสมบัติและความสามารถในการทำงาน คือ

ก.  แบบมาตรฐานทั่วไป (Volume Respirator) กำหนดราคา เครื่องละ 1,000,000  บาท
ข.  แบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ (Auto Weaning)  กำหนดราคา เครื่องละ  1,200,000  บาท
ค.  แบบสามารถวัดความจุปอด (Vital Capacity) กำหนดราคา เครื่องละ 1,500,000  บาท

เครื่องช่วยหายใจเหล่านี้ เป็นเครื่องช่วยหายใจที่มีระบบการทำงานยุ่งยากซับซ้อน ควรจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง  คือ  อายุรแพทย์ประจำ  และควรจัดสรรให้แบบมาตรฐานทั่วไปเท่านั้น  เครื่องช่วยหายใจแบบ ข. และ ค. มีความจำเป็นต้องใช้น้อยมาก อาจชวนให้ตั้งคำถามได้ว่า “เป็นการส่อเจตนา เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์หรือไม่”

 ตัวอย่างของความไม่เหมาะสมเช่น โรงพยาบาลสกลนครขอรับจัดสรรเครื่องช่วยหายใจแบบมาตรฐานทั่วไป 6 เครื่อง  แต่ได้รับจัดสรรแบบสามารถวัดความจุปอด เครื่องละ 1.5 ล้านบาทแทน และได้จัดสรรเพียง 3 เครื่องจากที่ขอไป 6 เครื่อง เป็นเหตุให้ไม่สามารถเปิดหออภิบาลผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู.  (Intensive Care Unit -ICU) อีก 1 ห้องตามแผนได้ ยังมีโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไปหลายแห่งที่ได้รับจัดสรรเครื่องช่วยหายใจแบบสามารถวัดความจุปอด  ซึ่งน่าจะเกินความจำเป็น เช่น โรงพยาบาลศูนย์สระบุรี  ได้ 8 เครื่อง โรงพยาบาลศูนย์สงขลาได้ 9 เครื่อง โรงพยาบาลนครพิงค์ จ.เชียงใหม่ ได้ 10 เครื่อง โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชสระแก้ว ได้ 8 เครื่อง โรงพยาบาลหัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ ได้ 9 เครื่อง 

การจัดสรรเครื่องช่วยหายใจนี้ มีการจัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชนด้วย โดยกระจุกตัวในบางจังหวัด เช่น รพ.ป่าโมก รพ.โพธิ์ทอง และรพ.ไชโย  จ. อ่างทอง ได้รับจัดสรรแบบวัดความจุปอด แห่งละ 1 เครื่อง และ รพ.กระบุรี ระนอง ได้รับจัดสรรแบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ 1 เครื่อง รพ.แสวงหา จ.อ่างทอง เป็นโรงพยาบาลขนาด 30 เตียง ไม่มีอายุรแพทย์ประจำได้รับจัดสรรแบบมาตรฐานทั่วไป และแบบสามารถวัดความจุปอด แบบละ 1 เครื่อง  รวม 2 เครื่อง ขณะที่ รพ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาดใหญ่กว่า และมีอายุรแพทย์ประจำ ได้รับจัดสรรแบบมาตรฐานทั่วไป 1 เครื่อง  รพ.สมเด็จพระยุพราชเชียงของ จ.เชียงราย  ต้องการเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เพราะมีปัญหาไฟฟ้าดับบ่อย แต่ได้เครื่องช่วยหายใจ แบบหย่าเครื่องอัตโนมัติ 1  เครื่องแทน  อันนี้จัดสรรตามใจใครไม่รู้       

และจากการตรวจสอบราคา การจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจแบบมาตรฐานทั่วไป ปีงบ 2551–2552  ของโรงพยาบาลต่างๆ  โดยใช้งบลงทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือเงินบำรุงของโรงพยาบาล จัดซื้อได้ในราคา  700,000 – 850,000  บาท  และที่กระทรวงสาธารณสุข จัดสรรให้แก่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป เพื่อเตรียมรับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่  2009  จัดซื้อเมื่อเดือนกันยายน  พ.ศ. 2552  ก็มีราคาที่ 850,000 บาท แต่ราคาที่ตั้งไว้ในโครงการไทยเข้มแข็งสูงถึง 1 ล้านบาท ทั้งที่เป็นช่วงเวลาเดียวกัน

เปรียบเทียบการตรวจสอบราคาการจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจแบบมาตรฐานทั่วไป

งบลงทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

700,000 - 850,000 บาท

สธ.จัดสรรให้แก่รพ.ศูนย์/ทั่วไป

850,000 บาท

โครงการไทยเข้มแข็ง

1 ล้านบาท

งบประมาณครุภัณฑ์รายการนี้ รวม 446.6 ล้านบาท หากจัดซื้อตามที่จำเป็นและเหมาะสม  คือ  แบบมาตรฐานทั่วไป ราคาเครื่องละ 850,000 บาท จะประหยัดเงินได้อย่างน้อย 195.75 ล้านบาท สามารถนำไปจัดซื้อเครื่องช่วยหายใจแบบมาตรฐานทั่วไป  ให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ ได้อีกกว่า 200 เครื่อง ช่วยคนได้อีกตั้ง 200 คนต่อวันทีเดียว 

เครื่องช่วยหายใจที่มีการจัดสรรครั้งนี้ จึงทำท่าจะไม่ได้ต่อลมหายใจของผู้ป่วยเสียแล้ว น่าจะต่อลมหายใจของนักการเมืองเพื่อเตรียมกระสุนไปใช้ในการเลือกตั้งมากกว่า

เครื่องดมยาสลบ จัดให้ไปประดับเป็นอนุสาวรีย์

ปกติเครื่องดมยาสลบที่ใช้ทั่วไป ราคาเครื่องละประมาณ 1 ล้านบาท ดังที่โรงพยาบาลราชวิถีซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ได้เสนอขอเครื่องดมยาสลบ 3 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1 ล้านบาท  และโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ก็ได้รับจัดสรรเพื่อพัฒนาศูนย์อุบัติเหตุ จำนวน 4 เครื่อง ราคาเครื่องละ 1 ล้านบาท 

แต่การจัดสรรงบประมาณในครั้งนี้ มีการจัดสรรเครื่องดมยาสลบที่อาจเกินความจำเป็น อีก 2 แบบ ได้แก่ แบบมี  BIS  Monitor  (Bi Spectral Index System) คือ การวัดระดับความลึกของการดมยาสลบ จะมีประโยชน์เฉพาะโรงพยาบาลที่มีวิสัญญีแพทย์ที่ยังไม่มีประสบการณ์ประจำ ราคาเครื่องสูงถึง 2 ล้านบาท  และเครื่องแบบมี Electronic Charting คือ เครื่องดมยาสลบที่มีซอฟท์แวร์ สามารถต่อแสดงการบันทึกการใช้ยาออกมายังจอคอมพิวเตอร์ ที่เหมาะกับการฝึกอบรมวิสัญญีแพทย์ และเพื่อการศึกษาวิจัย เครื่องนี้ตั้งราคาไว้  3  ล้านบาท ซึ่งโรงเรียนแพทย์ยังไม่ค่อยจะมีใช้เลย

ปรากฏว่าโรงพยาบาลชุมชนเกือบทั้งหมด ไม่มีวิสัญญีแพทย์แต่ได้รับจัดสรรเครื่องแบบมี BIS  Monitor  เช่น โรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราช (รพร.)ด่านซ้าย จ.เลย , รพร.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์, รพร.นครไทย จ.พิษณุโลก, รพร.ยะหา จ.ยะลา , รพร.หลังสวน จ.ชุมพร , รพ.พาน จ.เชียงราย , รพ. ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ,  รพ.เกาะคา จ.ลำปาง ที่น่าเกลียดกว่านั้นคือมีบางแห่งได้รับจัดสรรแบบมี Electronic Charting ด้วย โดยไม่ได้ร้องขอ เช่น. รพ. ศรีประจันต์ สุพรรณบุรี, รพ.พิบูลมังสาหาร อุบลราชธานี, รพ.วารินชำราบ อุบลราชธานี , รพ. 50 พรรษา มหาวชิราลงกรณ์  

มูลค่าครุภัณฑ์รายการนี้ รวม 198 ล้านบาท  หากทบทวนจัดสรรให้เหมาะสมกับระดับความสามารถของโรงพยาบาล  และมีการกำหนดราคาอย่างเหมาะสม จะประหยัดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 30 ล้านบาท สามารถนำไปจัดสรรเพิ่มได้อีกมากกว่า 30 เครื่อง

เครื่องพ่นยุง รอพ่นพิษ 

เครื่องพ่นยุงแบบติดรถยนต์  มีการตั้งงบประมาณจัดซื้อครุภัณฑ์รายการนี้  ให้แก่จังหวัดต่างๆ  ที่เป็นที่ตั้งของเขตตรวจราชการ 18 เขต 18 เครื่อง เครื่องละ 885,000 บาท รวมมูลค่า 15,930,000 บาท  พบความผิดปกติที่น่าสนใจคือ ก่อนหน้านี้มีการเขียนโครงการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปวดข้อ (ชิกุนคุนยา)  และโรคไข้เลือดออก  เพื่อให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อซื้อครุภัณฑ์รายการนี้ จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค ในลักษณะเร่งด่วนผิดปกติ โดยมีบันทึกเสนอเรื่องนี้จากสำนักโรคติดต่อนำโดยแมลง  ลงวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 อธิบดีกรมควบคุมโรค ลงนามบันทึกถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุขวันเดียวกัน อะไรจะด่วนเพียงนี้ หรือมีใครสั่งการอยู่เบื้องหลัง

สเปคของกรมควบคุมโรค เปิดให้ซื้อได้ทั้งแบบใช้น้ำมันเบนซิน และแบบใช้แบตเตอรี่  ซึ่งชนิดแบตเตอรี่มีข้อดีที่เงียบกว่า แต่มีข้อจำกัดที่ทำงานได้เพียง 3 ชั่วโมง ไม่เหมาะกับการใช้งานในประเทศไทย  ซึ่งควรใช้งานได้นานกว่า และเครื่องแบบแบตเตอรี่ทำงานด้วยระบบอิเลกทรอนิกส์เมื่อชำรุดหรือขัดข้อง จะเสียค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงสูงกว่า แต่สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขต 4 ราชบุรี ได้จัดซื้อแบบใช้แบตเตอรีในเดือนตุลาคม 2552 กำหนดสเปคขึ้นมาใหม่อย่างผิดปกติ จำเพาะให้ใช้ได้เฉพาะแบตเตอรีเท่านั้น โดยอ้างเหตุผลความจำเป็นเพื่อป้องกันควบคุมโรคในเขตพระราชฐาน จัดซื้อได้ในราคาเต็มเพดานเครื่องละ  885,000 บาท โดยบริษัท เคมฟลีท จำกัด เป็นผู้จำหน่าย

ในขณะที่ในปี 2552 นี้ สำนักงานป้องกันควบคุมโรคเขตอื่นต่างซื้อเครื่องเบนซินตามสเปคกรมควบคุมโรคได้ในราคาที่ถูกกว่า คือ เขต 11 นครศรีธรรมราช ซื้อได้ในราคา 780,000 บาท เขต 12 สงขลา ซื้อได้ในราคา 730,000  บาท  และเขต  7  อุบลราชธานี ซื้อได้ในราคา 720,000  บาท 

เปรียบราคาการจัดซื้อเครื่องพ่นยุงแบบติดรถยนต์ ของเขตตรวจราชการ

ประเภทเครื่องพ่นยุง

เขตตรวจราชการ

ราคาที่จัดซื้อได้

แบบแบตเตอรี่

4

ราชบุรี

885,000  บาท

แบบเบนซิน

11

นครศรีธรรมราช

780,000  บาท

แบบเบนซิน

12

สงขลา

730,000  บาท

แบบเบนซิน

7

อุบลราชธานี

720,000  บาท

ที่น่าสนใจคือ นายสุทธิชัย  ธรรมประมวล ที่ปรึกษาคนขยันที่ไม่ได้รับเงินเดือนของนายมานิตย์ นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข สส.ราชบุรี พรรคภูมิใจไทย ได้ให้ข้อมูลกับกรรมการเมื่อ 15  ธันวาคม 2552  ยอมรับว่า รู้จักและไปมาหาสู่กันเป็นประจำกับกรรมการคนสำคัญของบริษัท เคมฟลีท  จำกัด  เพราะเป็นเพื่อนร่วมรุ่นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ของนายมานิตและนายสุทธิชัย ซึ่งการตั้งราคาเครื่องที่สูงเกินจริงเครื่องละประมาณ 1 แสนบาท กับการไปมาหาสู่เป็นประจำนี้ คงต้องให้ทาง ปปช.ได้สอบสวนข้อเท็จจริง  เพื่อให้เกิดความกระจ่างต่อไป  ก็คงต้องช่วยกันให้ข้อมูล เพื่อให้เครื่องพ่นยุงพ่นพิษให้คนโกงแผ่นดินต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย

อีกหลายครุภัณฑ์ ล้วนส่อเจตนาทุจริต

เครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจ (Central Monitor) ที่ใช้ในแผนกไอซียู พบว่าครุภัณฑ์นี้มีรายการหลายลักษณะ มีการจัดสรรครุภัณฑ์รายการนี้ให้หลายโรงพยาบาลแตกต่างกันไป มีการกำหนดราคาบางรายการสูงเกินไป  มีการตั้งงบประมาณที่แตกต่างกันมาก ระหว่าง 4 - 10 ล้านบาท เช่น ที่โรงพยาบาลสิรินธร  ขอนแก่น ได้รับจัดสรรเครื่องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสัญญาณชีพแบบศูนย์รวม (สำหรับ 6  เตียง) ราคา 4  ล้านบาท  แต่เมื่อเปรียบเทียบกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งได้จัดซื้อเองในปีงบประมาณ 2551 ได้ในราคา 3. 967 ล้านบาท (สำหรับ 12 เตียง)  คือราคาประมาณกันที่ 4 ล้านบาท แต่สามารถซื้อได้สำหรับ 12 เตียง นอกจากราคาแต่ละระบบจะสูงเกินจริงอย่างมากแล้ว ยังมีการระบุข้อความว่า “เชื่อมต่อระบบเดิมได้” นั้น เห็นว่า เป็นการเอื้อต่อผู้ขายครุภัณฑ์ยี่ห้อเดิมที่โรงพยาบาลมีใช้อยู่แล้ว ซึ่งครองตลาดปัจจุบันอยู่ถึง 90% และทำให้ราคาสูงขึ้น ครุภัณฑ์หมวดนี้มีมูลค่า 404.25 ล้านบาท หากทบทวนให้เหมาะสมจะประหยัดงบประมาณได้ไม่ต่ำกว่า 65 ล้านบาท

เครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (Mammogram) มี 2 แบบ คือ แบบใช้ฟิล์ม (Film Mammogram) และแบบดิจิตัล (Digital  Mammogram) เครื่องมือดังกล่าวนี้  โรงพยาบาลที่ได้รับจะต้องมีทั้งรังสีแพทย์และศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ  จึงจะสามารถใช้ประโยชน์ได้คุ้มค่า

ในด้านราคา  เครื่องแบบดิจิตัลแพงกว่าแบบฟิล์มมาก โดยมีปากคำแจ้งว่า นพ.สุชาติ เลาบริพัตร  เป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่คนหนึ่งโทรศัพท์สอบถามโรงพยาบาลต่างๆ ว่าต้องการครุภัณฑ์การแพทย์รายการนี้หรือไม่ ประดุจเป็นการทำตลาดเพิ่มความต้องการแบบไม่จำเป็น ในที่สุดเครื่องแบบฟิล์ม ซึ่งจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป  และโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชปัว จ.น่าน  ซึ่งเป็นโรงพยาบาลชุมชน  รวม  21  เครื่อง  เครื่องละ  5  ล้านบาท เป็นเงินรวม 105 ล้านบาท  ส่วนเครื่องแบบดิจิตัลรวม 17 เครื่อง จัดสรรให้แก่โรงพยาบาล 5 ต่างๆ ในราคาแตกต่างกันมาก โดยมี รพ. 5 แห่งที่จัดสรรงบตั้งแต่ 16 ล้านถึง 28 ล้านบาท เป็นเงินรวม 277 ล้าน ทั้งที่น่าจะตั้งราคาเดียวกัน งบประมาณรายการนี้ หากมีการทบทวนโดยมีการประเมินเทคโนโลยีอย่างรอบคอบอาจประหยัดเงินได้ถึง 30 ล้านบาท

เครื่องสลายนิ่ว  เป็นเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับเครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด  และเครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติ และคล้ายเครื่องถ่ายเอกสาร ซึ่งไม่สมควรจัดซื้อ แต่ควรใช้ระบบเช่าและคิดค่าใช้จ่ายเป็นรายครั้งของการให้บริการแทน  จากการตรวจสอบการจัดสรรครุภัณฑ์รายการนี้ มีการตั้งงบให้แก่โรงพยาบาล 3 แห่ง ในราคาแตกต่างกันมาก คือ รพ.มหาราชนครศรีธรรมราชและรพ.นราธิวาสราชนครินทร์ เครื่องละ 15 ล้านบาท รพ.มหาสารคาม กลับตั้งราคาเพียง 3.5 ล้านบาท รวม 33.5 ล้านบาท  ซึ่งงบประมาณรายการนี้  สามารถตัดได้ทั้งหมด ไปใช้ระบบเช่าเครื่องแทน

รถยนต์ปิคอัพ มีการจัดสรรรถแบบดับเบิลแค็บขนาด 1  ตัน ขับเคลื่อน  2  ล้อ  สำหรับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศรวม 320 คัน ตั้งราคาไว้คันละ 780,000  บาท แต่จากการสอบถามราคาจากบริษัทใหญ่ซึ่งครองตลาดมากที่สุด พบว่าราคารุ่น top ไม่เกินคันละ  680,000 บาทเท่านั้น จึงเป็นการตั้งราคาสูงเกินสมควรคันละ 1 แสนบาท และหากเทียบราคากลางของสำนักงบประมาณ ที่ตั้งไว้เมื่อปี 2552 ราคา 618,000 บาท จะแพงเกินสมควรคันละ 172,000 บาท รวมงบที่สูงเกินสมควร 55.04  ล้านบาท  นอกจากนี้ ยังมีการจัดสรรงบซื้อรถปิคอัพแบบขับเคลื่อน  4  ล้อ อีก 42  คัน คันละ 900,900  บาท ซึ่งสูงเกินสมควรคันละ 1 แสนบาทเช่นกัน รวมเป็นเงินที่สูงเกินสมควร 4.2 ล้านบาท รวมรายการครุภัณฑ์ยานพานะตั้งงบสูงเกินจริงรวม 59.04 ล้านบาท งานนี้เข้ากระเป๋าใคร?

ยูนิตทันตกรรมของสถาบันพระบรมราชชนก มีการจัดสรรจำนวน 400 ยูนิต แก่วิทยาลัยการสาธารณสุข 7 แห่ง สำหรับเป็นอุปกรณ์การเรียนการสอนในการผลิตทันตาภิบาล หลักสูตร 2 ปี  ราคายูนิตละ 600,000  บาท เป็นงบประมาณ 240 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับที่จัดสรรให้ สถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ เพื่อรองรับการพัฒนาสู่ความเป็นเลิศด้านทันตกรรม ให้ได้มาตรฐาน HA จำนวน 15 ยูนิต ราคายูนิตละ  415,000 บาท เป็นเงินรวม 6,150,000 บาท ดังนั้นราคาของสถาบันพระบรมราชชนก จึงแพงกว่า 185,000  บาทต่อยูนิต รวมแล้วแพงกว่า 74  ล้านบาท 

งานนี้ทำไมรายการต่างๆ ล้วนมีการตั้งงบประมาณที่สูงขึ้นอย่างน่าเกลียด ทำให้อธิบายภาพได้ว่า ส่อเค้าเตรียมทุจริตตั้งแต่ระดับต้นน้ำเลยทีเดียว ใครควรรับผิดชอบต่อการเตรียมการทุจริตซื้อของแพงด้วยเงินกู้ไทยเข้มแข็งในครั้งนี้ 

ทุจริตเครื่องมือแพทย์ ทำสุขภาพคนไทยไม่เข้มแข็ง

ตามรายละเอียดข้างต้น คณะกรรมการสอบสวนมีความเห็นว่า การลงทุนในเครื่องมือแพทย์ราคาแพงเกินจำเป็น เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง และไม่ส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งแก่ระบบบริการสาธารณสุขของประเทศ  การจัดสรรครุภัณฑ์การแพทย์บางรายการ  คือ เครื่องตรวจสารชีวเคมีในเลือด, เครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติ และเครื่องสลายนิ่ว เป็นการจัดสรรโดยไม่สุจริต การจัดสรรเครื่องควบคุมการทำงานของหัวใจกลางเป็นการจัดสรรโดยทุจริต เพราะมีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการล็อคสเปคและการตั้งราคาสูงเกินสมควร เป็นการเปิดช่องทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ 

ข้อเสนอของคณะกรรมการ คือ

1. ควรทบทวนการจัดทำคำของบประมาณครุภัณฑ์การแพทย์ในประเด็นต่างๆ  กล่าวคือ ให้มีเหตุผลความจำเป็นของเครื่องมือที่สอดคล้องกับความสามารถในการใช้ประโยชน์ของโรงพยาบาลในระดับต่างๆ ไม่ควรจัดสรรเครื่องมือที่มีเทคโนโลยีสูงเกินความจำเป็น เพราะจะใช้ประโยชน์ไม่เต็มที่ และราคาแพงเกินเหตุ โดยการกระจายให้แก่โรงพยาบาลต่างๆ  อย่างเหมาะสมตามความจำเป็นในปัจจุบัน  และเพื่อรองรับการขยายงานในอนาคตที่ไม่ยาวไกลเกินไป มีการพิจารณาราคาอย่างเหมาะสม ตัดข้อความที่เข้าข่ายล็อคสเปคออกทั้งหมด

2. ตัดงบประมาณในส่วนของเทคโนโลยีราคาแพงเกินความจำเป็น  และนำงบประมาณส่วนที่ปรับลดลงได้  ไปเพิ่มให้แก่การลงทุนในระดับทุติยภูมิและปฐมภูมิแทน

3. ดำเนินการทางวินัย  แพ่ง  และอาญาแก่ผู้เกี่ยวข้องทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำ  ทั้งที่ยังรับราชการอยู่และที่ออกจากราชการไปแล้ว  สำหรับฝ่ายการเมืองควรพิจารณาดำเนินการตามกฎเหล็ก 9 ข้อของนายกรัฐมนตรีด้วย

4. กระทรวงสาธารณสุขควรจัดตั้งหน่วยงานประเมินเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Office of Medical Technology Assessment) ที่สามารถทำงานบนพื้นฐานของหลักการและหลักวิชาการที่ถูกต้อง เชื่อถือ และไว้วางใจได้ เพื่อให้สามารถกลั่นกรองให้ได้เทคโนโลยีการแพทย์แต่ละชนิดที่ปลอดภัย ได้ผล และคุ้มค่าอย่างแท้จริง  ไม่เกิดความฟุ่มเฟือยหรือตกเป็นทาสเทคโนโลยี

อ่านรายละเอียด 'รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 5) กรณีครุภัณฑ์การแพทย์ ตามเอกสารแนบ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข: (1)ใครคือไอ้โม่งทุจริต UV fan?
- เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข: (2)กินรถพยาบาล 800 คัน จะได้ 80 ล้าน ลูกศรชี้ที่ฝ่ายการเมือง