Skip to main content

Security is the Matter of Feelings

ฐิตินบ โกมลนิมิ ทีมสื่อสารสาธารณะ โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ได้สัมภาษณ์พิเศษ นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เพื่อขอทราบนโยบาย/ยุทธศาสตร์ "สันติวิธีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ" ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาคใต้ ทั้งนี้ นางจิราพร ขอเลี่ยงที่จะตอบในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมืองและที่อาจกระทบไปถึงฝ่ายทหาร เพราะเพิ่งผ่านการเลือกตั้งสดๆ ร้อนๆ มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ ท่ามกลาง "ชัยชนะ" ของพรรคไทยรักไทยในการเลือกตั้งปี 2548 เกิด "ความมั่นคงแห่งรัฐบาล" พร้อมสร้างประวัติศาสตร์การเมืองแห่งความน่าเป็นห่วงหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการที่คนภาคใต้ "ประกาศประชามติ" ไม่เอาพรรคไทยรักไทยเด่นชัด โดยทันที "ความมั่นคงแห่งชาติ" จึงถูกตั้งคำถามแฝงด้วยความเป็นห่วง วันนี้ คนที่กุมนโยบาย "สันติวิธีเพื่อความมั่นคงแห่งชาติ" ใน"สายพิราบ" อย่าง นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ได้คลี่ความคิดและกางยุทธศาสตร์ให้เราเห็นว่าการแก้ไขปัญหาภาคใต้โดยสันติวิธีจะเดินหน้าไปอย่างไร ดังนี้.....

"วันนี้นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งรอยต่อเชื่อมจังหวัดสงขลาที่ปรากฏความรุนแรง จะเน้นเรื่องความสำคัญทางศาสนา สำหรับสภาความมั่นคงแห่งชาติแล้ว ขณะนี้ความมั่นคงในปัจจุบันจะไปดูเรื่องความเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ สำคัญที่สุดของความมั่นคงคือความมั่นคงของประชาชน คนจึงเป็นศูนย์กลางของความมั่นคง

เมื่อไปดูว่า ในสำหรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอะไรบ้างที่น่าเป็นห่วง ก็พบว่าเรื่อง "ความรู้สึกความเป็นพวกเดียวกันของคนในชาติ" ฉะนั้น หัวใจของความมั่นคงจึงอยู่ที่เรื่องความรักและความสามัคคีของคนในชาติ

"ความมั่นคงในมิติใหม่จึงเริ่มต้นที่เรา(รัฐ)ต้องไปปกป้องวิถีชีวิตของคนก่อน ให้รู้สึกว่า ทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยมีคุณค่าเท่าเทียมกัน และความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่รัฐต้องไปจัดการไม่ให้ความขัดแย้งแปรเปลี่ยนเป็นความรุนแรง

สมช. จึงเสนอคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 187/2546 เรื่องนโยบายการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี ฯพณฯ ทักษิณ นายกรัฐมนตรี ก็กรุณาให้ความเห็นชอบและลงนามในคำสั่งดังกล่าว ที่เกี่ยวข้องกับการปรับทัศนคติ วิธีคิด และการทำงานใหม่ของข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการปัญหาความขัดแย้ง ทั้งหน่วยงานที่เป็นเจ้าของโครงการขนาดใหญ่ที่อาจทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนและหน่วยงานที่เข้าไปจัดการปัญหานั้นๆ คำสั่งนี้ใช้มาหนึ่งปีแล้ว

"สมช.มองว่าเวลาเราจัดการกับปัญหาความขัดแย้ง ปัญหานั้นไม่ควรมองแต่ "ปรากฏการณ์" ที่เกิดขึ้นอย่างเดียว นั่นเพียงแค่ชั้นหน้าของปรากฏการณ์ เป็นสิ่งที่พบเห็นเบื้องต้นเท่านั้น เช่น คนก่อเหตุร้ายในสามจังหวัดภาคใต้หรือคนก่อการร้ายที่เป็นกกลุ่มก่อการร้ายที่ทุกประเทศกังวลอยู่ เรามองว่าไม่ใช่แค่ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาอาชญากรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ก็ไปมองดูว่าลึกลงกว่าผิวหน้านั้น ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างและลึกกว่าปัญหาเชิงโครงสร้างคือปัญหาเชิงมิติวัฒนธรรม เพราะนั่นคือ รากเหง้าของปัญหา อันได้แก่ความรู้สึก ความต้องการ ความทุกข์ ความยากลำบากของเขา เมื่อมองลึกถึงมิติเชิงวัฒนธรรมของความขัดแย้งก็จะไปเจอสาเหตุจริงๆ ของปัญหา เราเชื่อมั่นว่าถ้าเราสามารถแก้ที่ต้นเหตุถึงรากเหง้าของปัญหาน่าจะทำให้การเกิดการแก้ปัญหาอย่างถาวร แต่ถ้าแก้เฉพาะผิวหน้าจะแก้ได้เพียงชั่วคราว...

"ปัญหาในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่อง "ภายใน" ของเรา ส่วนหนึ่งถืออุดมการณ์เดิมที่มีกลุ่มคนที่มีน้อยมากยังคิดแบบเดิมอยู่ ขณะที่คนส่วนใหญ่ กลุ่มใหญ่มากๆ ไม่ได้คิดเช่นนั้นแล้ว แต่ถามว่าคนคิดแบบเก่า อุดมการณ์เก่ามีไหม" ก็ยังมีอยู่ แต่ที่เราทราบ "เขา" ก็ไม่ได้เชื่อมั่นว่าจะสามารถแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จ เป็นเพียงแต่ทำอะไรก็ได้เพื่อให้อุดมการณ์ของตนเองดำรงอยู่ สาเหตุของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนก็คงเป็นสาเหตุเก่า คือ ความเชื่อมั่นในอุดมการณ์"

"แต่ สมช.ก็ไม่ได้มองปัญหาสามจังหวัดภาคใต้เป็นเรื่องมิติเชิงวัฒนธรรมอย่างเดียวเช่นกัน เรื่องนี้ต้องมองเป็นสามชั้น คนทำผิดกฎหมายก็ต้องจัดการตามกฎหมาย แต่กฎหมายก็ต้องถูกนำมาใช้อย่างถูกต้อง ประชานไม่ได้ปฏิเสธการใช้กฎหมายของรัฐ หรือการที่ประชาชนต้องยอมรับและปฏิบัติตามกฎหมายของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันการจัดการแห่งรัฐไม่ควรทำเพียงแค่นั้น เพราะว่าสาเหตุของปัญหาไม่ได้อยู่ที่การก่ออาชญากรรม ยังอยู่อีกสองชั้นของปัญหาที่กล่าวไปแล้ว"

ต้นเหตุจริงๆ ที่เคยพูดบ่อยๆ คือ "ความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน" ซึ่งมีความรับรู้จากอดีตสะสมมาค่อนข้างยาวนานเป็นสาเหตุสำคัญกับเรื่องที่เขารู้สึกว่าคุณค่าในอัตลักษณ์ของวิถีชีวิตของเขาถูกมองข้ามหรือเปล่า นี้คือความรู้สึกการเห็นคุณค่าของตัวตนของคนที่นั่น

ถ้าเราเริ่มต้นจากสิ่งนี้ ของวิถีชีวิต และวัฒนธรรม เขาคงรู้สึกดีกับการที่เราปฏิบัติต่อเขา ความรู้สึกดีต่อกันก็เกิด ความไว้เนื้อเชื่อใจกันต้องเริ่มต้นจากการเห็นคุณค่า และให้เกียรติกันก่อน

"เมื่อไว้เนื้อเชื่อใจกันแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญที่สมช.ทำร่วมกับภาคประชาชน ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น กรรมการอิสลาม นักการศึกษา เยาวชนมุสลิมในพื้นที่ เราได้มาอีกตัวหนึ่งว่า ถ้าเราทำบวกให้มากขึ้นจะเปิดพื้นที่ให้กับคนที่คิดและใช้วีธีสันติวิธี และบวกตัวนี้จะทำให้การใช้ความรุนแรงลดลงโดยธรรมชาติ แต่ถ้าเผื่อเราไปทำอะไรที่ไปสร้าง "เงื่อนไข" ที่ไปเกิดความรุนแรงก็จะทำให้ตัวบวกลดลงหรือเปล่า

การจะทำให้ตัวลบลดลง เราต้องลงไปทำตัวบวกให้มีมากขึ้น ในขณะที่เราไม่รู้ว่าตัวลบ คือใคร ทำอะไร อยู่ที่ไหน และกำลังจะทำอะไร แต่เรารู้ตัวบวก นี่คือความคิดในมิติใหม่ โดยหลักคิดเราไม่ควรรอให้ถึงทางตัน ให้เกิดอะไรขึ้นมาและตั้งรับกับสถานการณ์ ถึงมาคิดใหม่ทำใหม่ แต่เราต้องคิดตั้งแต่ตอนต้น คิดเชิงสร้างสรรค์ หาจุดแข็งเชิงบวก และขยายผลจุดแข็งแนวความคิดนี้ออกไปให้มากขึ้น"

"แล้วการทำงานของสมช.กับหน่วยงานในพื้นที่กับแนวความคิดนี้ไปด้วยกันได้หรือไม่?"

รองเลขาธิการสมช. ยืนยัน "สำหรับหน่วยงานในพื้นที่ก็ดูเขาไม่ได้ปฏิเสธหรือขัดข้อง อย่างเช่น โครงการเสริมสร้างพลังวัฒนธรรมที่ใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ ซึ่งเป็นโครงการเดียวที่เริ่มจากความคิดของประชาชนและเราเริ่มประสานให้ เริ่มต้นจากกรรมการอิสลาม วันหนึ่งเมื่อต้นปี 2547 ประมาณหลังเกิดเหตุปล้นปืน เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เราจัดประชุมหารือทั้งภาควิชาการและภาคประชาชนในพื้นที่ ท่านประธานกรรมการอิสลามจังหวัดนราธิวาส ท่านพูดขึ้นมา "โครงการความช่วยเหลือที่ประชานอยากจะได้จากรัฐไม่ค่อยถูกให้ความสำคัญที่ผ่านมา" ท่านพูดเหมือนน้อยใจนิดๆ ว่าหลายครั้งแล้ว ดิฉันลองขอสำเนามาดูเผื่อว่าจะช่วยสิ่งใดได้

"ดิฉันก็รับมาดูกับทีมงานสันติวิธีเห็นว่าเป็นโครงการที่น่าสนับสนุนในการปฏิบัติ ที่สำคัญ เป็นโครงการที่ริเริ่มจากภาคประชาชนอย่างแท้จริง เมื่อได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ในช่วงครึ่งปีงบประมาณ 2547

"ที่สำคัญเราพบว่ามัสยิดเป็นศูนย์กลางของทั้งประชาชนและชุมชนจริงๆ ในพื้นที่สามจังหวัดจุดแข็งของที่นั่นคือเรื่องของศาสนา ถ้าทำให้จุดแข็งนี้เป็นประโยชน์ทั้งเรื่องจิตวิญญาณของคน การพัฒนาชุมชน และสังคม รวมทั้งการพัฒนาคุณภาพและศักยภาพของคนที่นั่นจะเป็นประโยชน์อย่างมาก จึงใช้คำว่า โครงการเสริมสร้างพลังวัฒนธรรมโดยมีมัสยิดเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชนทุกระดับ เป็นศูนย์กลางที่ดีที่สุด

"โครงการนี้เป็นเหมือนการเปิดช่องทางให้หน่วยปฏิบัติในพื้นที่เข้าถึงชุมชนรากหญ้า เท่าที่ทราบ ปี 2548 กระทรวงต่างๆ ก็ได้เสนอโครงการต่างๆ เพื่อของบประมาณ เพื่อนำโครงการนี้ในส่วนที่รับผิดชอบเสนอเป็นโครงการต่อเนื่องต่อไป นี่ เป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญอีกประการ ที่แสดงว่าหน่วยงานในพื้นที่เห็นประโยชน์ มิฉะนั้น ไม่มีอะไรที่เข้าถึงตัวประชาชนได้ ต้องมีการ "เปิดช่องทาง" และการเปิดช่องทางต้องผ่านองค์กรที่สามารถเข้าถึงได้และประชาชนไว้วางใจด้วย"

'หรือในกรณีที่สมช. ไปรับฟังเสียงของแกนนำนักศึกษา 6 สถาบันในพื้นที่สามจังหวัด เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เด็กๆ บางคนเขาพบประสบการณ์ด้วยตนเองกับการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่บางคน ดิฉันอยากเน้นว่าเป็นบางคน ทำให้เยาวชนที่นั่นรู้สึกว่าเหมือนกับถูกเลือกปฏิบัติในทางลบ ที่นี้ ถ้าถามประเด็นเรื่องการเยียวยาให้เขารู้สึกดีขึ้นได้อย่างไร"

เท่าที่สังเกตและสัมผัสมา เขาพร้อมที่จะมีมุมมองเชิงบวกกับเจ้าหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว และน้องๆ ที่นั่นเองเขาบอกว่าอยากได้โอกาสจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้เยาวชนได้มีอาจมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา เขาอยากได้โอกาสนั้น ถ้าเจ้าหน้าที่ของรัฐในพื้นที่ให้โอกาสนักศึกษา เยาวชน ถ้าเห็นความสำคัญของบทบาทเยาวชนช่วยหาทางในการแก้ปัญหาและป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ วิธีนี้คือการทำให้เขารู้สึกดี และคิดว่าเขาน่าจะลืมสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีตที่ผ่านมา ดิฉันยังเชื่อมั่นอย่างนั้น ถ้ายังมีโอกาส ทั้งเจ้าหน้าที่ในระดับสูงและระดับกลางก็ตาม ได้มีโอกาสพูดคุย ให้โอกาส เห็นความสำคัญ เห็นคุณค่าของเขา จะเป็นทางหนึ่งในการช่วยชาวมุสลิม

"ดิฉันเชื่อว่าเมื่อคนได้รู้จักกัน ได้คุยกันแล้ว จะเกิดความเข้าใจขึ้น สมช. จึงทำหน้าที่ประสานงาน เป็นสื่อกลาง ในการเปิดช่องและพื้นที่ให้"

"จริงๆ แล้วประชาชนไม่ได้ถูกปล่อยปละละเลย ประชาชนที่นั่นถูกให้ความสำคัญมาโดยตลอด นโยบายล่าสุดที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ใช้กระบวนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนของประชาชนที่เป็นกลุ่มพลังวัฒนธรรม เราไปขอฟังข้อมูล ขอฟังความจริง และฟังความคิดเห็น การที่จะหาทางป้องกัน แก้ปัญหา รวมทั้งขอฟังความต้องการของเขา ถ้าไปถามคนในพื้นที่หลายคนก็จะบอกว่านโยบายดี ก็มีบ้างที่ไปติดตรงที่ความเข้าใจที่อาจยังไม่สมบูรณ์ทั้งหมด ในเจตนารมณ์ของนโยบาย ก็เลยทำให้การปฏิบัติยังไม่เต็มที่นักจากที่กำหนดไว้ จากเจ้าหน้าที่ของรัฐบางคนที่ยังคิดในแบบเดิม สถานการณ์เดิม ที่ดิฉันมองว่า ประชาชนรู้สึกว่านโยบายยังไม่ถูกปฎิบัติอย่างเต็มที่"

"ถ้าเช่นนั้น อุปสรรคสำคัญที่ทำให้กระบวนการสันติวิธีหรือการสร้างสันติสุขในภาคใต้ไม่เกิดขึ้นจริงคืออะไร?"

อุปสรรคใหญ่ คือ "ความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งระหว่างรัฐกับประชาชน ไม่ว่าที่รัฐมีต่อประชาชน หรือประชาชนมีต่อรัฐ หรือระหว่างประชาชนด้วยกันเอง ทั้งประชาชนในสังคมใหญ่และประชาชนในพื้นที่ ถ้าเราแก้ปัญหานี้ได้จะเป็นตัวปลดล็อคการแก้ไขปัญหาทั้งหมด"

เพราะฉะนั้น โครงการที่เราพยายามทำเป็นตัวอย่างเป็นเพียงโครงการนำร่อง คือต้องเข้าใจด้วยว่า สมช. ไม่ใช่หน่วยปฏิบัติ แต่พอเราคิดว่าบางกรณีบางครั้งเราต้องปฏิบัติเป็นตัวอย่างให้เห็นว่าทำได้ และทำแล้วได้ผล เพื่อให้เห็นภาพชัดก็กำลังประเมินผลอยู่ ถ้าคนในชาติจะแก้ปัญหาแล้วไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันก็คงจะสำเร็จได้ยาก

"ทั้งนี้ ความคิดข้างต้นจึงเกี่ยวโยงกับอีกโครงการคือ "จินตนาการใหม่ความเป็นไทย" เราคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญอีกเรื่อง หากคนในสังคมอื่นที่ไม่ใช่คนในสังคมที่เราคิด และมอง คนไทยด้วยกันเองแต่มีความต่างในเรื่องเชื่อชาติ ศาสนา วัฒนธรรม ถึงได้บอกตอนต้นความมั่นคงที่เราห่วง ประเด็นปัญหาคือ ความรู้สึกเป็นพวกเดียวกันของคนในชาติ และบทบาทของสมช.กับเรื่องนี้ ก็คือความร่วมมือกันระหว่างนักวิชาการของมหาวิทยาลัยมหิดล ในการประชุมทุกครั้งสมช.จะเข้าร่วมและต่อเชื่อมกันด้วยการให้ความคิดและความเห็น"

ขณะเดียวกัน ในกรณีที่สมช.เองมีเวทีเครือข่าย ไม่ว่าภาครัฐ ภาคประชาชน หรือภาคส่วนอื่นๆ เป็นเวทีที่เราไม่ได้จัดโดยตรงเกี่ยวกับ "จินตนาการใหม่ของความเป็นไทย" แต่ก็สามารถสอดแทรกเรื่องนี้ให้ภาคส่วนต่างๆ ของเราตอบคำถามในสิ่งที่เราต้องการคำตอบนั้นๆ และคำตอบนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมหิดล จะเชื่อมประสานกันในลักษณะนี้ เพราะบางกลุ่มประชาชนนักวิชาการอาจจะไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้หลากหลาย ครบถ้วนได้เท่ากับสมช. คิดว่าการทำงานเรื่องนี้ต้องช่วยกัน งานวิจัยสำคัญตรงที่จะเกิดน้ำหนักอย่างยิ่งในการช่วยปรับความคิด เพราะเป็นเรื่องของความเป็นจริง เรื่องของหลักวิชาเข้ามาช่วย

"ตอนนี้ทุกเรื่องเราเริ่มต้นจากการหาความจริงก่อน และความจริงที่สำคัญสุดก็อยู่ที่ประชาชน เพราะประชาชนคือคนที่อยู่ในพื้นที่นั้น และเป็นศูนย์กลางของทุกอย่าง ทีมงานใน สมช.เริ่มขยายเครือข่ายแนวคิดนี้เพิ่มมากขึ้นๆ ก็ด้วยความกรุณาของเลขาธิการสมช. เห็นด้วยทุกเรื่อง ที่เป็นเรื่องสันติวิธีที่เสนอไป ไม่เคยปฏิเสธหรือขัดข้องใดๆ เลย เป็นความกรุณาของคนทำงานในสมช.ให้ความสนใจเรื่องนี้สูงมาก อาจจะมีบางคนที่ยังไม่ค่อยเข้าใจชัด คงเพราะว่าไม่ได้ทำงานใกล้ชิดกัน ไม่มีเวลาพูดคุยกับประชาชนอย่างจริงๆ ส่วนคนสมช.ที่ทำงานเรื่องนี้จะตื่นเต้นมาก รู้สึกว่าเป็นงานที่ท้าทาย และพบว่าโลกทัศน์ขยาย

ทำงานได้ระยะหนึ่ง เจอคนมากขึ้น ทำให้มองเห็นภาพว่าไม่ว่าใครก็ตามอยู่ในอาชีพใด ทุกคนล้วนแต่มีความปรารถนาดี หวังดีต่อบ้านเมือง โดยเฉพาะปัญหาสามจังหวัด ทุกคนอยากให้ปัญหาได้รับการแก้ไข มีสันติสุข ขณะนี้ก็ยังคิดอยู่ว่าทำอย่างไรดีให้สื่อและคนอื่นๆ ได้เข้าไปพบกับความจริง ที่หลายคนยังไม่สามารถเข้าถึงได้ อยากให้ไปพร้อมๆ กับเรา เพราะถ้าแยกไปกันเองก็จะเข้าไม่ถึงและเขาก็ไม่ไว้วางใจจะพูดด้วย

"ดิฉันเชื่อมั่นว่าถ้าสื่อไปในทีมของพวกเราเขาพร้อมที่จะพูด และเต็มใจที่จะพูดคุยอย่างเชื่อใจกัน คบหากัน และก่อนหน้านี้ได้ถามแกนนำนักศึกษาและประธานกรรมการอิสลามทั้งสามจังหวัดแล้ว ท่านก็เห็นด้วยมาก ว่าเรื่องดีๆ อย่างนี้อยากให้สื่อได้ฟัง เป็นความจริงเชิงบวก ความจริงอาจจะมีเชิงลบบ้างและอย่าปฏิเสธที่จะรับฟังเพื่อที่จะได้นำมาแก้ไข"

" แล้ว สมช.จะใช้โครงการนำร่องเป็น "เครื่องมือ" เพื่อนำไปถักทอกับกลุ่มประชาสังคมอื่นๆอย่างไรให้เกิดเป็นสภาความสมานฉันท์หรือไม่?"

"ตามโครงการปี 48 นี้ เราอยากจะให้ทางกลุ่มพลังวัฒนธรรมได้มาพบปะพูดคุยกันอาจจะใช้คำว่าถักทอหรือร้อยเรียงกันก็ได้ อาจจะเป็นเวทีที่ไม่ใหญ่มากนัก แต่อยากให้ออกมาพบปะพูดคุยกันเพื่อจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ปัญหา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ หาทางแก้ไขปัญหา และเรียนรู้ความจริงระหว่างกลุ่มพลังวัฒนธรรมต่างๆด้วยกัน สิ่งนี้ สมช .เองก็ประสานงานกับภาครัฐที่มีหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง มีหน้าที่ไปนั่งฟัง เพื่อดูกลุ่มพลังวัฒนธรรมต่างๆ ต้องการสิ่งใดแล้วเราก็จะมาประสานงานและความช่วยเหลือต่อไป

"เราจะมีกลุ่มพลังวัฒนธรรมทั้งหมด 5 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้นำศาสนา ได้แก่ ท่านประธานกรรมการอิสลามทั้งสามจังหวัด ท่านกรรมการอิสลาม ท่านโต๊ะอีหม่าม และก็โต๊ะครู ฯ กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนักการศึกษา ตั้งแต่ครูประถม ตลอดจนครูมหาวิทยาลัยและก็รวมถึงครูตาฎีกาที่ยู่ในมัสยิด รวมไปถึงครูปอเนาะ อุสตาซ ฯ กลุ่มที่สามคือผู้นำชุมชน ก็จะมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต. หรือผู้นำชุมชนโดยธรรมชาติ ที่ชาวบ้านยอมรับให้เป็นผู้นำชุมชน กลุ่มที่สี่ ก็จะหมายถึง เยาวชน สตรี กลุ่มแกนนำเยาวชนและก็สตรีทั้งหลาย และกลุ่มที่ห้า คือ สื่อมวลชนในพื้นที่ ซึ่งจุดแข็งของพื้นที่นี้ก็จะหมายถึงทั้งห้ากลุ่มนี้มาร่วมกัน"

"เร็วๆ นี้เรากำลังลงไปรับฟังปัญหาจากกลุ่มสตรีที่หมู่บ้านดุซงญอ จังหวัดนราธิวาส สตรีที่นั่นอยากจะพบ เป็นความต้องการของเขา โดยเฉพาะผู้หญิงเขามักจะระมัดระวังการพูดเราก็ลงไปช่วยเกี่ยวกับเรื่องของผู้หญิงก็จะพูดในระดับที่อยากเล่าให้ฟังแล้ว

"ในการทำแบบนี้เราไม่ได้มองที่องค์กรแต่เรามองที่ประชาชนว่าเขาต้องการแบบไหน ต้องการที่จะอยู่แบบไหนให้มีความสุข และที่สำคัญคืออยู่ร่วมกับคนในชาติแล้วเป็นสุขได้ทั้งหมด ถ้าจะมีสันติสุขแล้วก็ต้องสุขด้วยกันทั้งชาติถึงจะเป็นความสุขที่ยั่งยืน ข้อเสนอนี้โดยประชาชนเขาก็จะยื่นมาให้เราและเราก็จะพิจารณาให้เขาทราบและเราก็จะชี้แจงว่าอะไรทำได้หรือเปล่า อะไรทำก่อนทำหลัง ก็พูดกันตรงๆ ว่าทำได้เพราะอะไร ทำไม่ได้เพราะอะไร เมื่อได้ข้อเสนอที่พอใจร่วมกัน สมช.ก็ยื่นข้อเสนอต่อท่านนายก ส่วนใหญ่ท่านก็เห็นควรด้วยทุกกรณี ที่อยู่ในด้านของเชิงบวก อย่างเช่นที่มัสยิดยี่งอ เขาต้องการคอมพิวเตอร์ เราก็ประสานกับกระทรวงไอซีทีว่าไปด้วยกันไหม เป็นต้น

"สำหรับเรื่องราวในภาคใต้ ส่วนที่สำคัญอย่างมากก็คือ "สื่อ" ที่พร้อมจะขยายเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรง ซึ่งเป็นธรรมชาติของสื่อที่ต้องรายงานออกไปเช่นนั้น สมช.ก็ไม่ได้ปฏิเสธในหน้าที่นั้น และก็มีอีกมุมที่สื่อก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์ได้ เราก็อยากให้สื่อมวลชนช่วยกันด้วย ดิฉันอยากให้สื่อต่างๆ ช่วยในการเผยแพร่แนวคิดเชิงบวก ในการประชุมร่วมกับนพ.ประเวศ วะสี ในเวทีสร้างสภาความสมานฉันท์เมื่อเร็วๆ นี้ ทราบว่า สื่อได้แบ่งแยกย่อยเป็นสื่อการเมือง สื่อสังคม เด็ก กีฬา บันเทิง ดิฉันเสนอว่าอยากเห็น "สื่อสันติภาพ" นัยสำคัญก็คือการสื่อถึง แนวคิดสันติวิธี การเคารพซึ่งกันและกัน การเห็นคุณค่าของคนอย่างเท่าเทียมกัน จะถือว่าเป็นการขยายแนวคิดในลักษณะได้มากขึ้นด้วย ในขณะที่คนไทยมีแนวคิดสันติวิธีอยู่ในจิตใจอยู่แล้ว"

นี่ "เป็นทุนทางสังคมที่สำคัญ" นางจิราพร กล่าว

-----------------------------------------------------------------------------------------------
บทสัมภาษณ์นี้ ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ โพสต์ทูเดย์ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2548 หน้า A 7
-----------------------------------------------------------------------------------------------