Skip to main content

“หมีดหม้อสีขาว” เป็นภาษาไทยถิ่นใต้ หมายถึง เขม่าบริเวณก้นหม้อที่เกิดจากการเผาไหม้ ซึ่งโดยปกติเราจะเห็นเป็นสีดำ แต่หากมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์จะเป็นเขม่าสีขาว ซึ่งเปรียบเหมือนการรวมตัวกันของคนรุ่นใหม่ ไม่จำกัดอายุ ที่มีจิตใจสาธารณะ “กลุ่มหมีดหม้อสีขาว อ.จะนะ จ.สงขลา” ตั้งใจจริงในการร่วมกันผลิตสื่อที่มีจุดยืนเพื่อชุมชน คนที่มาร่วมกลุ่มกันก็ความหลากหลายทั้งนักเรียน นักศึกษา เยาวชนและชาวบ้านในหมู่บ้าน สื่ออิสระ สื่อท้องถิ่น นักพัฒนาเอกชน


 

ประสบการณ์ที่แตกต่างกันมีส่วนสำคัญในการเติมเต็มทางความคิด เสริมศักยภาพ และพัฒนาความเป็นทีมขึ้นมาได้ โดยใช้ความเป็นสื่อพลเมืองเป็นเครื่องมือให้เกิดการเคลื่อนไหวในชุมชนและสังคม  ทั้งนี้ ได้รับการจุดประกายความคิดด้านการทำสื่อ ที่เชื่อมระหว่างคนในชุมชน และ “สาธารณะ” จากกระบวนการฝึกอบรม “นักข่าวพลเมือง” ที่มีวิทยากรกระบวนการมาจากสำนักข่าวชาวบ้าน และทีวีไทย ทีวีสาธารณะ เมื่อปลายปี 2551
 …………

“ตีเก้าครึ่ง อย่าลืมแลนักข่าวพลเมืองช่องทีวีไทย ออกเรื่องที่ดินวะกัฟ !”

เสียงร้องบอกต่อๆ กันอย่างตื่นเต้นดังกลับมาตามสาย หลังจากแก๊ซ-ศุภวรรณ ชนะสงคราม โทรศัพท์แจ้งไปตามหมู่บ้านต่างๆ ในเครือข่ายครอบคลุมพื้นที่สามตำบลของอ.จะนะ จ.สงขลา ที่ร่วมกันคัดค้านโครงการท่อก๊าซไทย-มาเลเซียและนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ว่างานข่าวที่วัยรุ่นบ้านเราพยายามเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของพี่น้องผ่านการถ่ายทำ-ตัดต่อภาพกันเอง แก้แล้ว แก้อีก จนได้ฤกษ์ออกอากาศ

“ยิ่งนำวีซีดีชุดนี้ไปเปิดรณรงค์กันตามกลุ่มต่างๆ ความสดชื่น แจ่มใส ของพี่น้องก็ฟื้นกลับคืนมาอีกครั้ง”

วีซีดีชุดนี้ถูกเอาไปเผยแพร่  เวียนกันดูในชุมชนอีกครั้ง แม้หลายคนจะดูแล้วก็ตาม แต่เขามีความสุขที่จะดูกันอีกครั้ง มันเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างบรรยากาศ สร้างพลังของชุมชน !

‘สมาร์ท นิยมเดชา’ นักข่าวพลเมืองเจ้าของผลงาน เด็กหนุ่มอายุยี่สิบต้นๆ จากบ้านปากบาง อ.จะนะ จ.สงขลา หลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนบ้านปากบาง ก็เริ่มออกเรือหาปลากับเปาะผู้เป็นพ่อ โดยมีแม่คอยจัดการให้มีรายได้เพียงพอในการกลับมาดูแลเรื่องปากท้องของทั้ง 4 คนในบ้าน

เมื่อความเปลี่ยนแปลงมาเยือนหมู่บ้าน ปี 2540 หลังมีการทำข้อตกลงร่วมในการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติไทย-มาเลย์เซีย และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง สิบกว่าปีนี้ ทะเลที่เขาเคยออกหาปลากลายเป็นเส้นทางการวางท่อก๊าซฯ พื้นดินโคกชายทะเลอันเป็นที่วะกัฟ ที่เขาเคยใช้เป็นเส้นทางเดินและหาของป่ามาทำกับข้าวกลับกลายเป็นที่ตั้งและบริเวณของโรงแยกก๊าซฯ หรือแม้แต่ที่ดินต่อเนื่องตรงบ้านป่างามที่ได้กลายเป็นโรงไฟฟ้าจะนะไปแล้วเช่นกัน

จากงานประมงประจำวัน เขาอาสาทำหน้าที่เฝ้าระวังผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะเขามารุกไล่พื้นที่ชาวบ้าน ไม่เพียงแค่เฝ้าดู แต่เขายังฝึกทักษะการใช้กล้องวิดีโอและทำกลุ่มวิทยุชุมชน ร่วมทำกิจกรรมเยาวชนลานหอยเสียบ เพื่อช่วยกันพัฒนาศักยภาพให้กับเพื่อนๆ ด้วยกัน จนจากที่หลายคนเคยเหลวไหล มีติดยาบ้าง ตอนนี้ทุกคนเลิกสิ่งเหล่านั้นไปจนหมด แล้วมาใช้เวลากับการคิดและทำกิจกรรมเพื่อร่วมกันดูแลบ้านตัวเองในระยะยาว

“ความสำเร็จของผมเกิดขึ้นเมื่อสิ่งที่ผมทำได้ออกอากาศเป็นครั้งแรก มันเป็นความภาคภูมิใจของตัวผมและครอบครัวมาก ไม่ใช่ภูมิใจที่งานสำเร็จ แต่ภูมิใจที่ได้ทำงานเพื่อชุมชนและบ้านเกิดต่างหาก เพราะมันคือชีวิตของผม”

สมาร์ท ประหยัดถ้อยคำที่จะคุยเรื่องตัวเอง ผลงานออกอากาศ 3 ชิ้นจากหัวใจเขาล้วนเป็นการสะท้อนวิถีชีวิตชุมชนวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน ที่ต้องลุกขึ้นต่อสู้และสูญเสียจากโครงการโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และนิคมอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่เชื่อมโยงอยู่กับแผนพัฒนาภาคใต้ (Southern seaboard) ให้ “คนนอก” ได้รับรู้ และเมื่อออกอากาศไปแล้วก็ทำให้เกิดแรงกระเพื่อมในชุมชน มากกว่านั้น เขายังกลายเป็นต้นแบบของเด็กหนุ่มวัยรุ่นในหมู่บ้านที่สามารถทำสื่อของชุมชนได้ และเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่ต้องการจะทำสื่อเช่นนี้ด้วย
ไม่นานนัก ก็มีการตั้งวงคุยเล็กๆ กับเยาวชนที่สนใจการทำสื่อขึ้นที่ศูนย์เรียนรู้วิถีธรรมชาติเพื่อชุมชน ต.บ้านนา อ.จะนะ จ.สงขลา และพัฒนาจนเป็น “กลุ่มหมีดหม้อสีขาว”
 ................................

 “ได้ยินเสียงแม่เขาแหลงว่า จอยมันทำได้ และได้รับความไว้วางใจจากผู้ใหญ่ในหมู่บ้านมากขึ้น”
 

หลังจากข่าวพลเมืองเรื่อง ‘วันว่าง’ ที่จอย- จินตรา บัวหนู ได้พูดถึงพิธีกรรมการทำความเคารพสิ่งศักดิ์ที่ปกปักรักษาผืนดิน แผ่นน้ำ ลำคลองให้คนป่าชิงได้อาศัยทำมาหากินมาแต่ครั้งบรรพบุรุษ ออกอากาศไป ญาติผู้ใหญ่หลายคนรวมถึงแม่ ต่างก็ชื่นชมยินดี มีทั้งมาทักทาย ไต่ถามถึงเรื่องราวที่จอยกำลังทำมากขึ้น 

 จอยเป็นสมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มหมีดหม้อสีขาว ที่เกิดขึ้นหลังจากรุ่นพี่นักข่าวพลเมืองอย่าง ‘สมาร์ท นิยมเดชา’ ซึ่งต่อมา ‘แพ็บ’ -ภาวิณี  ไชยภาค, ‘เคลีย’ -ตวิษา ธรรมดี, ‘นิว’ -ธงพล  ธรรมดี, ‘เอก’ -สมพงษ์  บุตรเหลบ, ‘เนตร’ -ปราโมทย์ อริยณัฐวงศ์, ‘ยุ้ย’ -วันวิสา จันหอม ไปจนถึง ‘ชัย’ -สมชัย แถวแก้ว ที่ได้เรียนรู้การทำสื่อพลเมือง ก็ร่วมกลุ่มกันเพื่อเฝ้าระวังผลกระทบทางสุขภาพจากโรงงานเศษยางพาราที่วัดบ้านไร่ อ.จะนะ โดยแต่ละคนจะมีงานของตัวเอง เช่น
 

นิวและเคลีย ทำเรื่องของ ‘วะเนาะ บ้านป่างาม’ ที่หาเก็บยอดลำเท็งในป่าพรุได้น้อยลง จนไม่สามารถขายหาเลี้ยงปากท้องของคนในครอบครัวได้ และเรื่องความวิตกกังวลของคนสงขลา สามารถนำไปฉายในเวทีสาธารณะ “ฤาสงขลาจะเป็นดั่งมาบตาพุด”  ให้เครือข่ายภาคประชาชนภาคใต้ที่กำลังเคลื่อนเรื่องแผนพัฒนาที่ยั่งยืนของภาคใต้ได้ชมกัน

อีกเรื่องของนิว คือ ผลกระทบทางสุขภาพที่เกิดจากโรงแยกก๊าซไทย-มาเลเซีย และโรงงานน้ำยาง ซึ่งเรื่องนี้เป็นการทำควบคู่ระหว่างที่ชาวบ้านรวมตัวกันศึกษาผลกระทบทางสุขภาพที่ตัวเองกำลังได้รับ มีทั้งการสังเกตร่างกายตัวเอง และบริเวณโดยรอบ แล้วบันทึก มีการเก็บตัวอย่างน้ำมามาวิเคราะห์เพื่อการแก้ปัญหาร่วมกัน

เนตร สนใจประเด็นแตงโมปลอดสารพิษที่ไร่ผู้ใหญ่สาลี บ้านบ่อโชน ซึ่งเป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า ถ้ามาแถวสะกอมนี้จะมีแตงโมออกในช่วงเดือนเมษายน

แพ็บ ทำเรื่อง “ปิ้งเหรง” ศิลปะการทำหลังคาบ้านของคนบ้านไทรขึง ที่อาจจะหายไปหากมีการสร้างนิคมอุตสาหกรรมขึ้นในพื้นที่ 20,000 กว่าไร่ ในอ.จะนะ

จากที่ทำอยู่ในหมู่บ้านก็มีการขยายกลุ่มมาในตัวอำเภอ เยาวชนและสมาชิกกลุ่มหมีดหม้อสีขาวร่วมกันคิดวิเคราะห์กันถึงทิศทางการทำสื่อของคนจะนะ ยิ่งได้วิเคราะห์ประเด็นร่วมกัน ก็เห็นว่ามีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำเพื่อสื่อสารกับคนในชุมชนและสังคมมากมาย โดยมีรูปธรรมของ
ปรากฏการณ์ที่สมาร์ทเล่าให้ฟังถึงปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในหมู่บ้าน ซึ่งส่งผลกระทบมาถึงคนทั้งอำเภอ และจังหวัดสงขลา ไปจนถึงภาคใต้ด้วย จึงเห็นร่วมกันว่า ต้องช่วยกันทำสื่อพลเมือง ที่ไม่ใช่จบที่หน้าจอทีวีไทย ทีวีสาธารณะเพียงช่องทางเดียว ต้องขยายพื้นที่สื่อไปทั้งวิทยุชุมชน สารคดี ละคร ฯ อย่างไม่ย่อท้อ.

วันนี้กระบวนการทำสื่อจึงเป็นเครื่องมือเพื่อชุบชีวิตชุมชนอีกครั้ง!!

ภาวิณี ไชยภาค เขียน
ฐิตินบ โกมลนิมิ เรียบเรียง