Skip to main content

บทสัมภาษณ์ ‘สมเกียรติ จันทรสีมา’ ผู้อำนวยการสำนักเครือข่ายสื่อประชาสังคม และหัวหน้าโต๊ะนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ “สื่อสาธารณะต้องเปิดพื้นที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยในการสื่อสาร กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิที่จะสื่อสารอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารเพื่อตัดสินใจ...กระบวนการทำงานข่าวพลเมืองเป็นเรื่องการเสริมพลัง (empower) ชาวบ้านที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง”

ช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันหยุดสุดสัปดาห์หนึ่ง ทีมงานสำนักข่าวชาวบ้านละทิ้งจากเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งอินเตอร์เน็ต และโทรศัพท์มือถือชั่วคราว แวะไปจับเข่าคุยกับ สมเกียรติ จันทรสีมา หัวหน้าโต๊ะนักข่าวพลเมือง ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ณ ร้านกาแฟแห่งหนึ่งที่ปราศจากไวไฟ (wifi) เหลือช่องทางเพียงแค่ ‘การล้อมวงคุย’ การสื่อแนวราบรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นการสื่อสารสองทาง และหนทางที่ทำให้เราเข้าใจและสร้างจิตสำนึกร่วมกันได้

เหตุผลของการเริ่มต้นสนทนาระหว่าง ‘สำนักข่าวชาวบ้าน’ และตัวแทนของ ‘ทีวีไทย ทีวีสาธารณะ’ ก็เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการเข้าถึงการสื่อสารช่องทางต่างๆ ได้ทะลุทะลวงข้อจำกัดของสื่อเก่า (old media) ทำให้ ‘พื้นที่สาธารณะ’ เป็นพื้นที่กลางให้คนได้มาแสดงตัวตน ทั้งเว็บไซต์ต่างๆ จำนวนมากบนอินเตอร์เน็ต หรือแม้กระทั่งมือถือเหล่านี้คือสื่อใหม่ (new media) ดังนั้น นิยามและตัวตนของ ‘สื่อสาธารณะ’ (public space) ย่อมขยายความมากขึ้น
 

จึงไม่แปลกที่ สมเกียรติ จะเห็นว่า “สื่อสาธารณะมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งคือเป็นสื่อใหม่ (new media) ด้วย”

“เราไม่ได้พูดถึงสื่อสาธารณะในนิยามแบบสื่อสารมวลชนแนวดิ่งหรือสื่อเก่าอีกต่อไปแล้ว เราพูดถึงสื่อใหม่ที่ต้องปรับตัวให้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้ชม แม้ขณะนี้จะยังเป็นลักษณะของผู้ชม (audience) กับผู้สื่อสารอยู่ก็ตาม แต่สื่อสาธารณะพยายามที่จะไม่สื่อสารทางเดียว โดยเริ่มปรับตัวเท่าที่ขยับได้ เช่น มีข้อความสั้น sms มีโฟนอิน หรืออย่างหนังสือพิมพ์ก็เปิด ‘พื้นที่เฉพาะ’ ให้สำหรับกลุ่มคนที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ได้มีแต่พื้นที่สำหรับมืออาชีพหรือนักข่าวในองค์กรเท่านั้น และจากเนื้อหาเดียวกันก็ยังขยับไปทำออนไลน์ ไปเปิดพื้นที่เสมือนจริงอยู่บนเว็บไซต์ ใช้พื้นที่โลกไซเบอร์ในการสื่อสารโดยให้ผู้ชมเข้ามาแลกเปลี่ยนแบบ real time ด้วย กลายเป็นการสื่อสารแบบโครงข่าย”

สมเกียรติ ชวนให้เราสังเกตว่า ‘สื่อสาธารณะ’ เริ่มมีการผสมผสานสื่อ (mix media) “สื่อเก่าเองก็พยายามเข้าใจสถานการณ์การสื่อสารที่เปลี่ยนไป จึงค่อยๆ เริ่มปรับตัวเองโดยการพัฒนาให้มีช่องทาง มีสื่อใหม่เข้ามาเป็นตัวเชื่อมระหว่างสื่อเก่ากับสื่อสาธารณะ”

“บล็อก (blog) หรือเว็บไซต์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาในยุคสื่อใหม่ ก็เรียกได้ว่าเป็นสื่อสาธารณะเช่นกัน เพราะมันปรากฏตัวอยู่บนพื้นที่สาธารณะ มีการเข้าถึง มีการสื่อสาร มีการเปิดพื้นที่ให้คนเข้าไปปฏิสัมพันธ์และกำหนดวาระของตัวเองได้ นี่เป็นอัตลักษณ์ของความเป็นสื่อใหม่ที่ปรากฏตัวอยู่บนพื้นที่สาธารณะ”

สำหรับสมเกียรติแล้ว “ทั้งหมดก็คือการเมืองของการสื่อสาร เพราะว่าที่ผ่านมาการสื่อสารถูกยึดกุมด้วยคนจำนวนหนึ่ง พอถึงจุดหนึ่งที่มีการพัฒนามาเรื่อยๆ พื้นที่เริ่มเปิดกว้างขึ้น ผมมองว่าสื่อสาธารณะเป็นผลพวงของการพัฒนาของประชาธิปไตยด้วย ไม่ใช่แค่เทคโนโลยี เราไม่ใช่สิงคโปร์ที่เทคโนโลยีพัฒนาไปไกลมาก แต่ว่าไม่มีพื้นที่สื่อสาธารณะเพราะมันถูกปิดกั้น เพราะฉะนั้นแสดงว่าโดยวิธีคิดมันต้องควบคู่กันไปสองส่วน”

“ถ้ามองไปไกลๆ สื่อสาธารณะต้องเปิดพื้นที่เป็นกระบวนการประชาธิปไตยในการสื่อสาร (Democracy Process) กล่าวคือ ทุกคนมีสิทธิที่จะสื่อสารอย่างเท่าเทียม และมีสิทธิที่จะเลือกรับข้อมูลข่าวสารเพื่อตัดสินใจด้วย”

“ถ้าจะบอกว่าสื่อสาธารณะเป็นส่วนผสมระหว่างสื่อใหม่กับสื่อเก่า เอาอะไรมาบ้าง จากสื่อใหม่ก็คือเทคโนโลยี การเข้าถึง จากสื่อเก่าก็เอาเรื่องความถูกต้องทางกฎหมาย (legitimacy) หลักความรับผิดชอบ สองส่วนผสมกันเป็นสื่อสาธารณะ”

เมื่อชวนสมเกียรติวิเคราะห์ว่า “สถานการณ์ของสื่อใหม่ในประเทศไทยเป็นอย่างไร?” เราได้คำตอบที่กระชับและเห็นภาพว่า “ตอนนี้สื่อใหม่กลายเป็นกระแสหลักไปแล้ว สำหรับบางที่มันกลายเป็นสื่ออิสระไปเลยด้วยซ้ำ แถมกฎหมายก็ออกมาเริ่มไล่เก็บ เช่น หลังรัฐประหาร 19 กันยายน ก็มีพ.ร.บ.อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ฯ เริ่มเข้ามาควบคุม แต่อีกไม่นานอาจจะเปลี่ยนจากรัฐมาเป็นทุนที่เข้ามาจัดการ ครอบครอง และใช้ประโยชน์ในพื้นที่นี้มากขึ้น ผมคาดการณ์อย่างนั้นนะ”
...........................................

จากนั้น ทีมสำนักข่าวชาวบ้านก็ชวนคุยถึงการงาน ‘นักข่าวพลเมือง’ พื้นที่เดียวในทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ดูมีส่วนร่วมสูงสุด ตั้งแต่การกำหนดประเด็นของตนเอง กำหนดวาระหรือเวลาในการเสนอเรื่องราว รวมทั้งลุกขึ้นผลิตจากชาวบ้าน ชุมชนเอง เราถามถึงความสำคัญสูงสุดที่นักข่าวพลเมืองพยายามสร้าง ‘ความสัมพันธ์’ แบบใหม่กับคนดูหน้าจอ สมเกียรติ จึงเล่าว่า

“ตั้งแต่เราทำนักข่าวพลเมืองมา เราไม่ได้พูดแต่เรื่องปัญหาอย่างเดียว จริงๆ แล้ว การเป็นนักข่าวพลเมืองมีกลอุบายเหมือนกันนะ คือถ้าจะวัดว่าเป็นนักข่าวพลเมืองหรือเปล่า สำคัญคือคุณก้าวพ้นปัญหาของตัวคุณได้หรือเปล่า จริงๆ แล้วนักข่าวพลเมืองเป็นแค่เครื่องมือในการอธิบายว่าคุณก้าวพ้นจากปัญหาของคุณได้อย่างไร ให้คุณเข้าใจว่าปัญหาที่คุณมีอยู่ คุณก้าวพ้นได้ เพียงแต่ว่าคุณต้องคิดกับมัน”

“แต่วิธีการตั้งโจทย์ว่า คุณเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับคุณเป็นสิ่งที่ต้องสื่อสารกับสังคม แล้วสังคมจะเรียนรู้อะไรจากสิ่งที่คุณต้องการสื่อสาร จะเข้าใจได้ จะเรียนรู้ได้ มันก็ต้องเป็นสิ่งที่ร่วมสมัย คือเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ อยู่ในภววิสัยที่คนเรียนรู้ร่วมกันได้ เช่น หนึ่ง มีความคิดเชิงบวก คนเรียนรู้ร่วมกันได้ สอง บทเรียนในแง่พื้นที่ ฉะนั้น เวลาคิดเรื่องนักข่าวพลเมือง จึงจำเป็นที่จะต้องให้คนทำ คนที่เป็นนักข่าวพลเมือง ถอยออกมาจากจุดที่ตัวเองยืนอยู่ก้าวหนึ่งเพื่อมองปัญหา จริงๆ แล้วนี่เป็นวิธีการที่ดีมาก เป็นกลอุบายหนึ่งที่จะทำให้คุณเข้าใจเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด แล้วอธิบายออกมา แต่ที่ผ่านมา เราพบว่าข่าวของนักข่าวพลเมืองไม่ได้แค่อธิบายปัญหา แต่ทำให้เห็นด้วยว่าถ้าจะแก้ปัญหา อะไรคือหัวใจสำคัญ”

“ถ้าเป็นเช่นนั้น เวลางานนักข่าวพลเมืองออกอากาศแล้ว มีเสียงสะท้อนอย่างไรบ้าง?”

“มีคนบอกว่า เขาดูข่าวพลเมืองแล้วขนลุก เช่น เรื่องโบสถ์คริสต์ (เล่าถึงการต่อสู้เพื่อรักษาประเพณีและความเชื่อดั้งเดิมของชาวอุลักลาโว้ย ผ่านการคัดค้านการสร้างโบสถ์คริสต์) เรื่องเด็กมอแกลน(เรื่องเล่าจากเด็กมอแกลน บ้านทับตะวัน ที่เรียนรู้วัฒนธรรมมอแกลนผ่านบทเพลงของย่า) เรื่องเพลงของย่า (เรื่องเล่าจากเด็กมอแกลน บ้านทับตะวัน ที่เรียนรู้วัฒนธรรมมอแกลนผ่านบทเพลงของย่า) หลายเรื่องที่ทำให้เขารู้สึกขนลุก คือเหมือนกับว่าคุณอ่านประวัติศาสตร์ มันมีสิ่งที่ก้าวข้ามพ้นตัวเองไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า

เรื่องที่ผมมักจะยกตัวอย่างก็คือเรื่องปลาทูของคนบางสะพาน (เล่าถึงความอุดมสมบูรณ์ของฝั่งทะเลบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งหลักฐานของความอุดมสมบูรณ์ คือปลาทูจำนวนมากที่ชาวบ้านสามารถหากินได้ที่ริมหาด ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ซึ่งหากจะจับปลาทูก็ต้องออกทะเลไปในทะเลลึก นักข่าวพลเมืองบางสะพาน เลือกที่จะพูดถึงปลาทู ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรของที่นี่ แทนที่จะพูดถึงโครงการโรงถลุงเหล็กที่กำลังเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งในพื้นที่) คนมักจะคิดว่าเรามองแต่ปัญหาตัวเอง แต่เมื่อไหร่ที่ก้าวพ้นตัวเองได้ไปสู่สิ่งที่ใหญ่กว่า ชิ้นงานจะไปสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอีกจำนวนมหาศาล”

“หรือเรื่องเพลงของย่า สำหรับผมแล้วมันเป็นเรื่องเล่าที่ดีมาก เด็กมอแกลนฟังย่าร้องเพลงรองเง็ง แล้วมีคำถามง่ายๆ ว่ามันคืออะไร ย่าไม่ตอบ แต่บอกว่า หลานต้องร้องเพลงนี้ให้ได้ หลานก็รู้เรียนรู้ในวันหนึ่งว่าเป็นเพลงมอแกลน เพราะเป็นมอแกลนก็ต้องร้องเพลงมอแกลน หลายเรื่องชวนให้คนดูหวนกลับไปสู่รากเหง้าของตนเอง ผมคิดว่างานนักข่าวพลเมืองเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน้าจอกับปฏิกิริยาในสมองคนดู คนดูอาจจะไม่มีประสบการณ์ร่วมกับงานหน้าจอ แต่สิ่งที่เขารับรู้มันไปทบทวนความทรงจำของตัวเอง ตรงนี้สำคัญมาก”

“ในแง่ของงานนักข่าวพลเมือง หนึ่ง นอกจากการเปิดประเด็นใหม่ๆ ซึ่งหลายๆ เรื่องเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยรู้แล้ว สอง มันทำให้เราทบทวนตัวเอง ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะฉะนั้น มันจึงไม่ใช่วงเวียนชีวิต ไม่ใช่ทุกข์ชาวบ้าน คนที่ทำเองก็บอกว่าพื้นที่นี้มันไม่ใช่ ดูแล้วหดหู่ก็ไม่ใช่ แม้กระทั่งชาวบ้านบางขุนเทียนซึ่งต้องการร้องเรียนเรื่องถนนก็ยังต้องคิดว่าจะเล่าอย่างไรดี ไม่ใช่แค่บอกว่าได้โปรดมาซ่อมถนนเถอะ เพราะโดยกระบวนการแล้ว การทำข่าวพลเมืองไม่ใช่เรื่องการร้องทุกข์ เพราะว่าถ้าอยากจะร้องทุกข์ คุณไปร้องเลยก็ได้ ไม่ต้องมาทำผ่านกระบวนการข่าวพลเมือง”

“ส่วนที่ว่า คนดูงานหน้าจอนั้นจะเข้าใจในสารที่คนทำต้องการส่งทั้งหมดไหม อันนี้คาดเดายาก มันเป็นเรื่องอัตวิสัยของคนด้วย แต่เราเดาได้ การมีภววิสัยร่วมกัน ภายใต้ประเด็นแบบนี้ คนน่าจะมีการรับรู้ไม่ต่างกันมากนะ แต่ถามว่ามีไหม มันก็มีบ้าง เช่น คนดูเรื่องโบสถ์คริสต์แล้วบอกว่าทำไมไม่ไปสัมภาษณ์ชาวบ้านฝ่ายคริสต์บ้าง มีคนบอกว่าทำไมไม่หา third party มาทำงานเรื่องนี้ แทนที่จะเป็นเจ้าของเรื่องเองมาทำ ซึ่งสำหรับผม นี่คือข้อดี ชิ้นงานของนักข่าวพลเมืองได้ทำให้เกิดประเด็นในการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าบวกหรือลบก็ตาม การมีข้อมูลใส่ลงไปปุ๊บ แล้วมีปฏิสัมพันธ์ขึ้น นี่เป็นกระบวนการหนึ่งในการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงวิธีคิด การมีส่วนร่วม มันทำให้คุณต้องมาคิดเรื่องที่คุณไม่เคยสนใจเลย คนสังข์กะอู้อยู่ที่ไหน เกาะลันตาอยู่ที่ไหน อ๋อ นี่หรือหน้าตาของคนอุลักลาโว้ย คุณรับรู้แล้วว่าเขามีตัวตนอยู่ รู้แล้วว่าเขาอยู่บนเกาะลันตา นี่คือกระบวนการที่สัมพันธ์กับคนดูหน้าจอ”

“ประเด็นของนักข่าวพลเมืองได้ไปเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของนักข่าวทีวีไทยบ้างไหม?”

เราพยายามอธิบายคำถามเพิ่มเติม “คือมีคนดูหลายๆ คนที่ดูแล้วรู้สึกว่า งานของนักข่าวพลเมืองประเด็นดีมาก ประเด็นแบบนี้ไม่เคยปรากฏอยู่บนหน้าจอ แล้วทำไมนักข่าวมืออาชีพไม่ตามต่อ ทำให้คำถามกลับไปที่ทีวีไทยว่า ในเมื่อข่าวดังกล่าวได้ไปทำปฏิกิริยากับคนดูจำนวนมาก แล้วในองค์กรข่าวที่เปิดพื้นที่ เปิดประเด็นนี้ล่ะ มีบทบาทอย่างไรต่อข่าวพลเมือง”

 “ก็มีสื่อตามต่อนะ มีประเด็นตามต่อ แต่อธิบายในมุมของทีวีไทยเอง มันจะกลายเป็นเรื่องของเทคนิคภายใน เพราะจริงๆ แล้วประเด็นที่ผ่านหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นทีวีไทยหรือสื่อใดก็ตาม ถ้าเป็นประเด็น ก็ต้องตามต่อ ในส่วนของทีวีไทย จริงๆ แล้วก็มีหลายเรื่องที่เราตามต่อ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคลองโยง (การต่อสู้ของชาวนา ต.คลองโยง อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม เพื่อให้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์บนที่ดินราชพัสดุ ซึ่งเป็นการสู้เพื่อให้มีที่ยืนอยู่ได้ในสังคมเกษตรกรรมใกล้เมือง) เรื่องสัญชาติ (ให้คนเสมือนไร้สัญชาติไปลงรายการสัญชาติไทย ตามม.23 พ.ร.บ.สัญชาติฉบับใหม่) ควายทะเล (การสะท้อนปรากฏการณ์พื้นที่ชุ่มน้ำทะเลน้อย จ.พัทลุง เสื่อมโทรมโดย สะท้อนผ่านควายที่ต้องไปกินบัว เพราะปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง การตื้นเขินของพื้นที่ชุ่มน้ำ ทำให้ควายเองก็หมดอาหาร พร้อมกันนั้นชาวบ้านก็ได้เสนอทางแก้ปัญหาด้วย) ก็มีนักข่าวตามทำต่อ” 
  
สมเกียรติ พยายามทำความเข้าใจ “แต่ทีวีไทยเป็นโครงสร้างซึ่งเพิ่งจะก่อร่าง (set up) ขึ้นมา ยังหลอมองค์กรได้ไม่เนียนเป็นเนื้อเดียวกัน นี่คือปัญหาใหญ่ โดยวัฒนธรรมองค์กร ในลักษณะการทำงานก็ยังเป็นทีมเฉพาะกิจอยู่ ซึ่งในเบื้องต้นผมว่าเป็นข้อดีว่ายังทำให้เราไม่ใหญ่เกินไป มีคนบอกว่างานนักข่าวพลเมืองบางชิ้นยังดีกว่างานของสติงเกอร์ (นักข่าวภูมิภาค) เสียอีก ทั้งที่โดยกระบวนการในพื้นที่แล้ว ต้องทำความเข้าใจกับนักข่าวภูมิภาคว่า นี่คือเพื่อนร่วมงานของคุณนะ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าใจกัน เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้จัดการ”

“สอง ผมคิดว่าภาพของงานข่าวพลเมืองที่ออกทุกวัน วันละ 3 นาที ยังเป็นพื้นที่เฉพาะอยู่และยังไม่ได้แทรกอยู่ในพื้นที่ข่าวหลักของแต่ละวัน ซึ่งผมยังคิดอยู่ว่าการเอาไปแทรกในช่วงข่าวนั้น ต้องทำให้ชัดหรือเปล่า เพราะว่าลักษณะมันไม่ใช่ข่าวแบบมืออาชีพโดยทั่วไป นี่เป็นเรื่องที่ยังต้องคุยกันอีกสักพัก”

“ผมยังมองกระบวนการทำงานข่าวพลเมืองว่าเป็นเรื่องการเสริมพลัง (empower) ชาวบ้านที่ต้องลุกขึ้นมาจัดการปัญหาตัวเอง นี่ยังเป็นประเด็นหลักอยู่ ส่วนในบางประเด็นที่อ่อนไหว เราก็มีทีมข่าวมืออาชีพลงไปตามข่าวต่อ แต่แม้แต่ในทีมรายการที่นี่ทีวีไทย พื้นที่ของข่าวพลเมืองเอง ก็ยังใช้มุมแบบนักข่าวมอง บางเรื่องที่เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน เรื่องที่เป็นการเรียนรู้ใหม่ เช่น เรื่องโบสถ์คริสต์ ทำยากมาก เราส่งทีมไปอยู่เป็นอาทิตย์ก็ยังทำได้ไม่ลึก ก็ต้องกลับไปทำใหม่ นี่แค่หนึ่งกรณีเองนะ กระบวนการทั้งหมดนี้เลยย้อนกลับไปที่แนวคิด ว่าทำไมถึงต้องมีนักข่าวพลเมือง เพราะว่านักข่าวอาชีพไม่สามารถตามทุกเรื่องย่อยๆ ได้ แต่อาจจะทำให้เป็นประเด็นรวมหรือประเด็นสาธารณะได้ เช่น ที่ดิน ทำหนึ่งกรณีให้เป็นเรื่องใหญ่ ที่เหลือก็เป็นกระบวนการในพื้นที่แล้วที่จะหยิบไปใช้ต่อ”

ถึงจังหวะนี้เราก็ถามต่อเนื่อง “มีนักวิชาการจำนวนหนึ่ง ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมทีวีไทย จับกลุ่มชาวบ้านที่เป็นรากหญ้ามาก ซึ่งเป็นข้อที่แตกต่างอย่างสำคัญกับแนวคิดนักข่าวพลเมืองในหลายๆ ประเทศ ที่มักเป็นชนชั้นกลาง และเข้าถึงเทคโนโลยีการสื่อสารได้ง่ายกว่านี้” ซึ่งสมเกียรติ บอกกับเราว่า

“การอบรมนักข่าวพลเมืองของทีวีไทย เรามักจะบอกว่าคุณต้องมี A B C มีประเด็น มีเครื่องมือ มีใจ ขาดแต่โอกาส, มีประเด็น มีเครื่องมือ แต่ขาดทักษะ โอกาสก็ไม่มี คือเราจะคิดไปเรื่อยๆ โดยวิธีคิดแล้ว เรื่องนี้อาจจะเป็นเรื่องยุทธวิธี เพราะว่าจะถ้าทำงานให้เกิดขึ้นเพื่อไปเสริมพลังคน (empower) เราต้องทำให้เห็นก่อน เพราะฉะนั้น จึงต้องเลือกยุทธวิธี”

“ดังนั้น วิธีการเลือกของเราก็คือเลือกคนที่อ่อนแอที่สุด ดีที่สุด แล้วก็ทำให้เห็น แต่แบบนี้มันก็ยาก เพราะเราประเมินคนยาก หรือเป็นเรื่องในพื้นที่ที่ทำงานที่คิดว่าทำได้ยาก แล้วก็ทำให้เห็นว่าไอ้สิ่งที่คิดว่ายาก มันทำได้ เช่น การทำงานร่วมกับชาวเล ทำกับกลุ่มชาติพันธุ์ แต่ก็ไม่ใช่ทั้งหมดนะ สำหรับผมแล้ว มันอยู่ที่ประเด็น ถ้าคุณมีประเด็นแล้วคุณต้องการสื่อสาร นี่คือหัวใจสำคัญที่สุด และประเด็นในที่นี้ก็ต้องมีนัยยะทางสังคมด้วย เหล่านี้จะเติมเต็มข้อมูลบางส่วนให้สังคม นี่อาจจะเป็นคำอธิบายว่าทำไมเรายังใช้วิธีการมอง ‘ข่าวพลเมือง’ แบบนักข่าวเหมือนกันนะ คือมองว่าเป็นประเด็น มองสิ่งที่ไม่เป็นข่าว สิ่งที่หายไป มันยังเป็นประเด็นนะ เพียงแต่ว่าไม่มีคนมอง นักข่าวไม่มอง และประเด็นแบบนี้ เราไม่เลือกวิธีการที่จะให้นักข่าวไปทำทั้งหมด แต่เริ่มต้นด้วยให้เจ้าของประเด็นทำเอง สื่อสารเอง”

………………………………….

“ผมคิดว่าเรื่องต่างๆ ที่หยิบขึ้นมาก็สะท้อนหลายๆ เรื่อง อาทิ สื่อใหญ่เล่นเรื่องเสื้อแดงเสื้อเหลืองจับมือกันที่โคราช ซึ่งดูจัดฉากมาก แต่สื่อก็ยังเอามาเล่น แต่ทีมงานเราลงไปทำงานมาที่จังหวัดน่าน พบยิ่งกว่านั้น คือในชุมชนคนคละสีกันไปหมดเลย ชาวบ้านบอกว่าก็นี่คือความจริงของเมือง คนต้องอยู่ด้วยกันทั้งเสื้อแดงเสื้อเหลือง มันเป็นบ้านของเขา เขาจะตัดคนใดคนหนึ่งออกไปไม่ได้ ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่ตรงไปตรงมา นี่คือการสื่อสาร คือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้”

ย้อนกลับมาอธิบายวิธีคิดการทำงานของสำนักข่าวชาวบ้าน เป็นพื้นที่สื่อสาธารณะแห่งใหม่ที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับกลไกและกระบวนการการสื่อสารของชาวบ้าน โดยมีภารกิจหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1.เสริมสร้างศักยภาพการสื่อสารให้ชาวบ้านเพื่อขับเคลื่อนประเด็นปัญหาและเรื่องราวของแต่ละชุมชนไปสู่สาธารณะ 2.เป็นตัวกลางเชื่อมโยงข้อมูลทั้งในแนวราบระหว่างชาวบ้านกับชาวบ้าน และในแนวดิ่งระหว่างสื่อท้องถิ่นกับสื่อกระแสหลัก 3.ทำหน้าที่ถ่วงดุลข้อมูลข่าวสาร กระทั่งผลักดันจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข ทั้งในระดับปฏิบัติการและในเชิงนโยบาย เราหวังไว้อย่างนั้น

ซึ่งสมเกียรติ ร่วมแลกเปลี่ยนโดยเห็นว่า “สื่อแนวราบ ก็คือการสื่อสารทั่วไปที่เราใช้กันอยู่ แต่เมื่อไหร่ที่มีการใส่พลังเข้ามา มีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง เริ่มมี agent หรือตัวกลาง เป็นตัวเชื่อมข้อมูล เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ที่ลงมาสู่ชุมชน โดยที่สื่อเหล่านี้มีพื้นที่ทั่วประเทศ และมีช่องทาง มีประเพณี มีชุดความคิดของมันอยู่ แล้วมันก็เข้ามากระแทกหรือเข้ามาแทรก เช่น การเข้ามาตัดสินชุมชนว่า อันนี้ผิดนะ ถ้าคุณจะถ่าย คุณต้องเข้าห้องน้ำ ชุดข้อมูลที่มากระแทกชุมชนก็คือชุดข้อมูลที่มาจากสื่อแนวดิ่ง”

“สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เราพบว่า มันไม่จริงทั้งหมด ว่าคนที่เราเคยคิดว่าเขารู้น่ะ รู้ทั้งหมด ไม่จริงหรอก ความรู้มันไม่ได้มีเฉพาะแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้มีแค่ผู้เชี่ยวชาญ ฉะนั้น ผมคิดว่าการเกิดขึ้นของสื่อสาธารณะที่เราบอกว่าพยายามจะเชื่อมแนวดิ่งแนวราบนั้นก็เพื่อให้ความรู้ไหวเวียนไปทั่ว ก็จะทำให้เกิดการพัฒนาไป พอคนเริ่มเรียนรู้ เพราะความรู้เรียนรู้กันได้ ชาวบ้านเริ่มตระหนักรู้ว่าตัวเองไม่ได้โง่หรอก และบางทีอาจจะมีอะไรดีกว่าที่กำลังเกิดขึ้นหรือที่กำลังทำกันอยู่ก็ได้ นี่เป็นแรงผลักอย่างหนึ่งให้คนรู้สึกว่าอยากจะสื่อสาร แล้วพอมีเครื่องมือก็ยิ่งอยากจะสื่อสารมากขึ้น พอช่องทางและโอกาสเปิด เครื่องมือมี คนก็เลยสื่อสารกันยกใหญ่ แล้วคนกลุ่มแรกๆ ที่ลุกขึ้นมาสื่อสารก็คือกลุ่มคนที่ถูกกด ส่วนกลุ่มคนที่มีพื้นที่อยู่แล้ว ทีแรกเขาอาจจะเฉยๆ แต่พอถึงสถานการณ์จำเป็น เขาก็จะไม่เพิกเฉย เพราะไม่อยากสูญเสียพื้นที่เดิม และอยากจะขยายเพิ่ม ก็ลุกขึ้นมาทำบ้าง เราจึงเห็นได้ว่ามีคนมาเปิดเว็บไซต์ เปิดเว็บบล็อกกันมากขึ้น ทั้งคนดัง หรือคนธรรมดา”

สมเกียรติ ขยายความมากขึ้นว่า “จริงๆ แล้วกระบวนการสื่อสารก็เป็นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ที่หนึ่งเริ่ม ที่อื่นก็เริ่มมองเช่นกันว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ทำแล้วได้ผลอย่างไร หมายความว่ายิ่งข้อมูลมีการไหลเวียนมากเท่าไหร่ ชาวบ้าน ชุมชน ก็ยิ่งเรียนรู้มากขึ้น เรียนรู้จากบทเรียนของที่อื่น อย่างเช่น ชาวบ้านจะนะ ประทิว บางสะพาน บ่อนอก หินกรูด ราชบุรี แก่งคอย ไปเรียนรู้เรื่องผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน แม่เมาะ การสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ การศึกษาดูงานต่างชุมชน ก็เป็นการเปลี่ยนศักยภาพการสื่อสารของชุมชน ที่เคยเป็นการสื่อสารทางเดียวเป็นการสื่อสารสองทาง หรือถ้าจะมองว่าเป็นสื่อสาธารณะก็ได้นะ เขานั่งรถกันไปเลย ไปดูว่าหมู่บ้านที่แม่เมาะเป็นอย่างไร กลับมาก็มาคุยกันในชุมชน แล้วค่อยเอาประเด็นมาพัฒนากับประเด็นของตัวเอง แล้วค่อยสื่อสารออกไปทางหนึ่ง จริงๆ ชาวบ้านก็เลือกใช้สื่อนะ ไม่ได้มองว่าสื่อตายตัว เขาจะออกแบบการสื่อสารเรียนรู้จากสิ่งที่เขามีอยู่”

“เอาเข้าจริงชุมชนมีการใช้พื้นที่แบบนี้มานานแล้ว หรืออย่างช่วงหนึ่งที่เราพูดว่า หลังเศรษฐกิจฟองสบู่แตกปี 2540 ชาวบ้านค้าขายกันเองเลย ชาวบ้านเหนือ กลาง ใต้ อีสาน แลกข้าวแลกปลากัน ถ้ามองจากชาวบ้าน คือเริ่มมีการข้ามคน (กลาง) ข้ามวัฒนธรรม นี่ก็ถือว่าเป็นการสื่อสารนะ เขาก็พัฒนามาจากแนวคิดที่ว่า ทำไมต้องผ่านคนกลางด้วยในเมื่อสินค้ามี demand กับ supply อยู่ แต่การดำเนินการก็ยังเป็นแบบบ้านๆ อยู่” สมเกียรติ กล่าวทิ้งท้าย

เป็นความหมายใหม่ของ “สื่อสาธารณะ” ให้เราสำนักข่าวชาวบ้านคิดต่อไปว่า วิธีแบบ “บ้านๆ” ของชาวบ้านนั้น เราจะช่วยกันพัฒนาให้เป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงประสิทธิภาพต่อไปได้อย่างไร ในขณะที่ชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศไทยกำลังลุกขึ้นมาเวนคืนอำนาจทางการสื่อสารให้กลับมาสู่มือชาวบ้านและคนตัวเล็กตัวน้อย.