Skip to main content


 

ความยาวนานของเหตุการณ์ความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนในฐานะ “เหยื่อ” ที่สูญเสียคนในครอบครัวจากความรุนแรง และส่วนหนึ่งกลายเป็น “เหยื่อ” ที่ถูกสังคมตีตราว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ซึ่งนำไปสู่การควบคุมตัวและดำเนินคดีในฐานะผู้ต้องสงสัยว่าเป็นแนวร่วมของผู้ก่อความไม่สงบ กลายเป็นช่องว่างระหว่างเยาวชนกับรัฐเพราะความไม่เข้าใจ ทว่า ความซับซ้อนของสถานการณ์ดังกล่าวถูกสื่อกระแสหลักนำเสนอเพียงแง่มุมของความรุนแรงเป็นหลัก

“ยิ่งยุคโลกาภิวัตน์ทำให้ความเป็นตัวตนของเยาวชนในพื้นที่ลดลง จนขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ทั้งการขาดโอกาสในการสื่อสาร บวกความไม่เข้าใจของสังคมที่มีต่อเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ อาจเป็นช่องโหว่ทำให้เยาวชนถูกผลักไปอยู่อีกฝ่ายหนึ่งโดยไม่ตั้งใจ”

มณฑิรา มลิวรรณ์ – ‘อ้อม’ นักศึกษาคณะศึกษาศาสตร์ วิชาเอกชีววิทยา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งใน ‘กลุ่มบุหรงซีงอ’ เล่าถึงความคิดที่ทำให้สนใจเรื่องการสื่อสารเป็นพิเศษ

“ วันหนึ่ง ‘มะเขือ - จงรักษ์ ศรีจันทร์งาม’ (นักศึกษาแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) เพื่อนในกลุ่ม กำลังทำวิจัยในวิชาเรียนของ ‘อ.อลิสา หาสะเมาะ’(อาจารย์แผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) เกี่ยวกับประเด็นของนักศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็ไปรู้ว่า ‘ด้า - อารีด้า สาเมาะ’ (นักศึกษา วิชาเอกวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะศึกษาศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี) เพื่อนของเราคนหนึ่งเป็นลูกกำพร้าขาดเสาหลักของครอบครัว และยังต้องทำงานช่วยเหลือครอบครัวด้วย คือ ผลกระทบของปัญหาไม่ใช่เรื่องไกลตัวของพวกเราอีกต่อไป”

และจากการเรียนวิชาพัฒนาสังคม ทำให้มีโอกาสเข้าไปในชุมชนหลายครั้ง แต่ละครั้งก็พบเจอเรื่องราวมากมาย  ทั้งผลกระทบที่เกิดแก่เยาวชนจำนวนมากในหลายมิติ ‘ฮัน- เจ๊ะมัยฮัน มาหิเละ’ (ศิษย์เก่าแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์ฯ ม.อ.ปัตตานี) อีกหนึ่งสาวของกลุ่ม ย้อนความเป็นมาซึ่งช่วยต่อภาพวิธีคิดของกลุ่มได้มากขึ้น “เราพบว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเฉพาะถิ่นที่สวยงาม  เช่น มีหญิงมุสลิมร้อยและขายพวงมาลัยในตลาดพิธาน จ.ปัตตานี เพื่อเลี้ยงปากท้อง ครอบครัว และการศึกษาของลูกๆ แม้จะเป็นการซ้อนทับระหว่างวัฒนธรรมและศาสนาก็ตาม เพราะอิสลามเชื่อว่าการขายของที่ให้ผู้อื่นนำไปเพื่อการบูชาเป็นสิ่งที่ผิดหลักศาสนา  เป็นต้น ตลอดจนความรู้สึกต่างๆ ที่ชาวบ้านสะท้อนออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า ช่างต่างเหลือเกินจากสิ่งที่เราได้ยินได้เห็นผ่านสื่อ”

“เหล่านี้กลายเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่า พวกเราจะทำอย่างไร ให้เสียงสะท้อนของชาวบ้าน ที่เกิดจากความอึดอัด คับข้องใจ ส่งต่อไปยังสังคมส่วนใหญ่ได้รับรู้ บนฐานของหลักคิดที่ว่า ‘ความจริงนั้นมีหลายชุด’ แต่ชุดความจริงของชาวบ้านทำไมกลับดังก้องอยู่เฉพาะในหมู่บ้านในระดับท้องถิ่นเท่านั้น”

จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้นักศึกษาและอาจารย์ทั้ง 5 คน รวมตัวกันเป็น “กลุ่มบุหรงซีงอ” (Burongsinga)  หรือ “นกสิงห์” มีรูปร่างคล้ายราชสีห์ มีหัวเป็นนก แต่ตัวเป็นราชสีห์ “เพราะต้องการรักษาและแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์เฉพาะท้องถิ่นที่ไม่มีที่ไหนในโลก และยังเป็นความภาคภูมิใจที่จะแข่งขันกับกระแสวัฒนธรรมภายนอกได้อย่างไม่อายใคร  เรายังให้ความหมายกำกับว่า ‘นก’ หมายถึง ความมีอิสระ และ ‘สิงห์’ หมายถึงความเป็นผู้นำ” อ้อม อมยิ้ม อธิบายที่มาและความหมายของชื่อกลุ่ม

ปณิธานข้างต้นเป็นจริงได้ เมื่อ อ.อลิสา เชื่อมกลุ่มนักศึกษาให้รู้จักกับเครือข่ายที่ทำงานในพื้นที่ชายแดนใต้เข้าด้วยกัน นั่นก็คือ ทีม “ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้” “สำนักข่าวชาวบ้าน” และ “โต๊ะข่าวนักข่าวพลเมือง ของทีวีไทย ทีวีสาธารณะ” มาช่วยวางวิธีคิดเรื่อง “นักข่าวพลเมือง” พร้อมฝึกทักษะการสื่อสาร เขียนเรื่องเล่า การทำหนังสือพิมพ์ ถ่ายภาพ และตัดต่อเป็นคลิปวีดีโอ เพื่อนำเสนอในช่วงนักข่าวพลเมือง ของโทรทัศน์สาธารณะ

อารีด้า เล่าว่า ช่วงแรกกลุ่มฯ ก็ทำหน้าที่เล่าเรื่องราวต่าง ๆ จากประเด็นที่ตัวเองสนใจก่อน แต่กลายเป็นว่าสิ่งที่เราทำค่อยๆ พัฒนา ให้เราคิดถึงเรื่องการรับผิดชอบต่อสังคม และก้าวเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ด้วย จึงคิดว่าควรกระจายโอกาสและเครื่องมือนี้ให้เพื่อนคนอื่นๆ มีโอกาสได้สื่อสารบ้าง เพราะเราเชื่อมั่นว่า “ไม่มีใครที่จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในบ้าน  ได้ดีไปกว่าเจ้าของบ้านเล่าเอง”

ตั้งแต่นั้นมา ก็เริ่มพัฒนาโครงการนักข่าวพลเมือง มีธนาคารโลก (World Bank) สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา (LDI) ร่วมกับแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สนับสนุนงบประมาณในการจัดโครงการอบรมให้แก่บรรดาเยาวชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ภายในระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่าน มาสามารถอบรมเยาวชนไปแล้วกว่า 100 คน มีงานออกหน้าจอทีวีไทยอย่างต่อเนื่อง

นอกจากการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการสื่อสารวิธีคิด “นักข่าวพลเมือง” ให้เพื่อนๆ ในกรณีที่ใครไม่สามารถใช้กล้องวีดีโอและคอมพิวเตอร์ได้ ก็จะใช้กระบวนการกลุ่ม พูดคุยเพื่อค้นหาประเด็นที่เพื่อนๆ อยากนำเสนอมากที่สุด และกลุ่มบุหรงซีงอจะช่วยถ่ายทำ มั่นใจได้ว่าเรื่องที่นำเสนอนั้น เป็นเรื่องที่เพื่อนของเราอยากเล่าจริงๆ “ตอนนี้ เรากำลังไปอีกขั้น กำลังออกแบบจัดทำเว็บไซต์ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของเยาวชนจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วยตัวของเราเอง” อ้อม เล่าถึงความคืบหน้าการทำงาน

กลุ่มฯ ยังจัดทำ ‘บุหรงซีงอ News’ ซึ่งเป็นวารสารขนาด A4 จำนวน 4 หน้า ทำอย่างง่ายๆ ด้วยโปรแกรมพื้นฐานในคอมพิวเตอร์ สามารถถ่ายสำเนาได้ตามร้านถ่ายเอกสารทั่วไป เพื่อเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ ได้เห็นว่า ถ้าคิดอยากจะสื่อสารก็สามารถทำได้โดยใช้ทุนไม่มากนัก เพื่อก้าวข้ามอุปสรรคเรื่องขาดแคลนอุปกรณ์ และการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต

อารีด้า ให้ข้อมูลเพิ่มอีกว่า ที่ต้องทำสื่อให้หลากหลาย เพราะเราสังเกตว่าทั้งนักศึกษาและชาวบ้าน ไม่ค่อยเชื่อมั่นว่าเรื่องจากมุมเล็กๆ ของตัวเอง จะสามารถสื่อสารผ่านหน้าจอโทรทัศน์ได้จริง และคำว่า “ประเด็นสาธารณะ” ดูเหมือนว่าต้องเป็นเรื่องใหญ่และเกี่ยวข้องกับคนมีชื่อเสียงเท่านั้น ดังนั้น งานที่ท้าทายพวกเราอันดับแรกคือ การสร้างความเชื่อมั่นในตัวเอง และชี้แจงให้เห็นว่า หากประเด็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปล่อยให้คนนอกมาอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นนักวิชาการที่น่าเชื่อถือก็ตาม จะทำให้ “ความจริง” ถูกอธิบายคนละชุดเดียวกัน

ผลของการสร้างความเชื่อมั่นข้างต้น กลุ่ม “บุหรงซีงอ” จึงเป็นตัวอย่างให้เพื่อนๆ และชาวบ้านเห็นว่า คนเล็กคนน้อยก็มีความสามารถทำอะไรหลายๆ อย่างได้เช่นเดียวกัน ดังนั้น เราจึงมีเพื่อนที่ได้ใช้ประโยชน์จากเครื่องมือของเรา เพื่อนำเสนอประเด็นที่น่าสนใจจากท้องถิ่นผ่านหน้าจอโทรทัศน์ที่ใครๆ อาจมองว่าเป็นเรื่องยาก แต่ในความเป็นจริงแล้ว สังคมมีพื้นที่ว่างมากพอที่จะให้คนธรรมดาอย่างเราๆ ได้แสดงออกบางอย่าง พร้อมทั้งสร้างความเชื่อใหม่ว่าชาวบ้านอย่างเราๆ ก็สามารถเป็นนักข่าวได้เหมือนกัน โดยมีสิ่งที่น่าสนใจหรือเสน่ห์ในตัวอยู่แล้ว นั้นคือ ความเป็นธรรมชาติของวิถีชีวิตที่มีลักษณะพิเศษเฉพาะตัว และสามารถสะท้อนว่า แม้ในพื้นที่ที่ถูกตัดสินจากสังคมภายนอกว่ามีแต่ความรุนแรง ก็ยังมีสิ่งที่ดีงามเล็กๆ บางอย่าง ก่อนสถานการณ์จะกลบมันไปจนหมดสิ้น. 

เขียนโดย-กลุ่มบุหรงซีงอ
เรียบเรียงโดย-ฐิตินบ โกมลนิมิ