Skip to main content

ระหว่างรอการพิจารณา ร่างพ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.....โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จึงอยากแนะนำให้อ่าน คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ในรัฐไทย เพราะนี่คือ "ความกล้าหาญ"ของผู้คนที่มีตัวตน และมีชีวิตดำเนินอยู่บนแผ่นดินนี้ พวกเขาต้องก้าวผ่านบางสิ่งเพื่อบอกเล่าให้พวกเราได้รับรู้ ซึ่งหมายถึงการสุ่มเสี่ยงต่อบางสิ่ง ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะทำให้การมีอยู่ของพวกเขานั้นได้รับการยอมรับในที่ทางที่ควรจะเป็น ให้ทุกผู้คนได้มี "ตัวตน" อย่างเต็มภาคภูมิ ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงชีวิตที่ดีงาม ที่เป็นสุขย่อมเป็นสิ่งที่น่าจะคิดหวัง รวมทั้งเป็นจริงได้สักที (ส่วนหนึ่งของบทบรรณาธิการ)

 ใน thaingo ระบุว่านี่คือ...เรื่องเล่าของเส้นทางสู่การมีตัวตนบนแผ่นดินนี้ หนังสือที่ได้รวบรวมเรื่องราวของผู้คนที่ประสบ "ชะตากรรม" อันเรียกว่า ไร้รัฐ ไร้สัญชาติ ผ่านมุมมองของคนที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งบางเหตุการณ์ได้ผ่านพ้นมาหลายปีแล้ว แต่ดูเหมือนว่าชะตากรรมที่พวกเขาได้รับนั้นยังไม่ได้รับการคลี่คลายไปเท่าใดนัก

สำหรับบัตรประจำตัวสักใบ ซึ่งใครหลายคนอาจจะไม่เคยฉุกคิดว่ามันมีความหมายหรือสำคัญกับตัวเราอย่างไรบ้าง หนังสือเล่มนี้จะเผย "ตัวตน" ที่มีอยู่จริงของผู้ที่มีชีวิตดำเนินอยู่ กับ "ตัวตน" ที่นิยามโดยรัฐซึ่งเป็นเส้นกำหนดหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า บัตรหรือเอกสารแสดงตัวสักใบนั้นมันทำให้ความเป็นคนถูกลดทอนลง จนกระทั่งสูญเสียสิทธิอันพึงมีอย่างไร

เหล่านี้คือตัวอย่างคำนิยามของ "ตัวตน" ที่จะปรากฎสู่ทุกท่าน

"อาเล็ก หนุ่มน้อยชาวโรฮินยา จะได้เดินเร่ขายโรตีอร่อยๆ ของเขาได้อย่างสบายใจ ไม่ต้องกลัวที่จะถูกจับ หรือต้องเสียสตางค์ มีเงินเก็บเพื่อเรียนหนังสืออย่างที่อยากเรียน เรียนให้สูงเท่าที่กำลังเขาจะสามารถส่งเสียตัวเอง ถึงแม้จะเรียนไม่เก่งก็ตาม.."

"อาจารย์อายุ อยากทำอะไรมากกว่าได้แต่ ร้องไห้ด้วยความคับข้องใจที่ไม่อาจทำอะไรให้ลูกได้เลย และในที่สุดลูกก็เสียโอกาสครั้งนั้นในการไปเข้าแคมป์ดนตรีที่อเมริกา อายุเองก็กลับ มาใช้ชีวิตเงียบๆอย่างที่เจ้าหน้าที่บอก"

" สิ่งสำคัญที่สุดที่ทำให้ เดือน อุดมพันธุ์ ต้องลุกขึ้นมาทะเลาะกับอำเภอเพื่อดำเนินเรื่องขอเพิ่มชื่อเข้าสู่ทะเบียนบ้าน เพราะอยากมีสิทธิสอบเข้ารับราชการครู ไม่ว่าเธอจะสอบได้หรือไม่ แต่เธอก็ภูมิใจที่ได้รับสิทธิที่พึงจะมีตามกฎหมายและข้อเท็จจริง"

"เพราะน้องออยป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับการหายใจ เป็นโรคร้ายแรง สุดามีสุขภาพไม่ดีนักในขณะที่ตั้งท้อง เมื่อน้องออยคลอดมาในขณะที่สุดายังถูกถอนชื่ออกจากทะเบียนราษฎร ทั้งสุดาและน้องออยจึงไม่มีบัตร 30 บาท เมื่อน้องออยป่วย สุดาจึงต้องเป็นหนี้โรงพยาบาลอยู่กว่า 2 แสนบาท สุดาต้องการต่อสู้เพื่อให้บุตรได้มาซึ่งเลข 13 หลักของคนสัญชาติไทย และมีบัตรทอง หรือบัตร 30 บาท ซึ่งหากเหตุการณ์ข้างต้นไม่เกิดขึ้น น้องออยอาจจะไม่ต้องจากไปด้วยวัยเพียงไม่ถึง 2 ขวบ"

หนังสือเล่มนี้อาจจะพอสะกิดใจให้ใครหลายคนได้เหลียวมองผู้คนรอบกาย ที่มีความแตกต่างหลายหลายด้วยความเข้าใจ และมากกว่านั้น "ตัวตน"ของผู้คนเหล่านี้ อาจจะเป็นตัวอย่างของความมุ่งมั่นในการอยากมีชีวิตที่ดีงาม ที่อยากได้รับการยอมรับ บางทีใครสักคนที่อยู่ใกล้ๆคุณอาจจะกำลังประสบชะตากรรมเช่นนั้นอยู่ นี่คือคู่มือเล่มน้อยที่อาจจะมีประโยชน์กับเขาเหล่านั้นบ้าง

แต่สำหรับ "อาจารย์แหวว" รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร แล้ว "หนังสือเล่มนี้ควรได้รับความนิยมอย่างมากมายจากสังคมไทย ด้วยว่า ณ วันที่หนังสือเล่มนี้เกิดขึ้น ก็คือ วันที่โอกาสในการเรียนรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติของมนุษย์ในสังคมไทยก็ได้เกิดขึ้นตามด้วย"

"คนเขียนทั้งหมดเป็นนักสิทธิมนุษยชนที่ทำงานเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในชีวิตจริง งานเขียนจึงเป็นการถอดจิตวิญญานและประสบการณ์จริงเกี่ยวกับคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มีลมหายใจอยู่จริงในสังคมไทยมาเรียงร้อยเป็นตัวอักษร"

บทความที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ เป็น "เรื่องจริง" ของคนที่ถูกปฏิเสธจากรัฐทุกรัฐในโลกที่จะยอมรับว่าเป็นคนสัญชาติ (national) จึงตกเป็นคนต่างด้าว (Alien) ในทุกประเทศของโลก "ความไร้สัญชาติ (Nationalityless)" จึงเกิดขึ้นแก่พวกเขา นอกจากนั้น พวกเขาหลายคนที่จะได้พบในหนังสือนี้ ยังประสบ "ความไร้รัฐ (Statelessness)" อีกด้วย ทั้งนี้ เพราะพวกเขาไม่ได้รับการยอมรับในทะเบียนราษฎรของรัฐใดเลยบนโลก อันทำให้พวกเขาปราศจากซึ่งเอกสารรับรองตัวบุคคลจากรัฐ (Undocumented Person) และตกเป็นบุคคลที่ไม่อาจพิสูจน์ทราบความเป็นบุคคล (Unidentified Person) ต่อใครเลยบนโลก

ชื่อแทบทุกชื่อของบุคคลในบทความของหนังสือเล่มนี้ก็เป็นชื่อจริงทั้งหมด เจ้าของเรื่องยินยอมที่จะให้ใช้เรื่องจริงของพวกเขา ทำไมหรือ ? เหตุผลก็เพราะบทความดังกล่าวนี้ ก็คือ เครื่องมือที่พวกเขาซึ่งเป็น "เจ้าของปัญหา" ใช้ในการแจ้งปัญหาของพวกเขาต่อรัฐไทย เพื่อให้รัฐนี้ได้ตระหนักว่า ตนกำลังละเมิดพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศ หากจะยังปล่อยให้มีคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติต่อไปอีกในประเทศไทย

การปรากฏตัวของพวกเขาในสื่อจึงเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา ความสำเร็จประการแรกในการแก้ไขปัญหา ก็คือ การยอมรับของรัฐไทย ตลอดจนคนอื่นในสังคมไทยว่า มนุษย์คนหนึ่งหรือมนุษย์ครอบครัวหนึ่งกำลังประสบปัญหาความไร้รัฐและหรือความไร้สัญชาติ เรื่องราวของพวกเขาที่ถูกถ่ายทอดผ่านงานเขียนดังเช่นที่ปรากฏในหนังสือนี้จึงเป็นการแนะนำตัวของพวกเขาต่อสังคมไทย ความเจ็บปวดของพวกเขาได้กลายเป็นความเจ็บปวดของหลายคนในสังคมไทย ปัญหาของพวกเขาจึงได้กลายเป็นปัญหาของคนที่เข้าใจในปัญหาของพวกเขา ทัศนคติของสังคมไทยต่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติเปลี่ยนแปลงจากเดิมมาก จากแนวคิดที่สุดโต่งแบบอำนาจรัฐนิยมเดิมที่หวงแหนสัญชาติไทยแบบไม่รับฟังอะไรเลยทั้งสิ้น มาสู่แนวคิดที่เป็นมนุษย์นิยมมากขึ้นในเรื่องนี้

ความสำเร็จในก้าวที่สองที่จะตามมา ก็คือ ความรอบรู้ในกฎหมายระหว่างประเทศที่ปรากฏอยู่แล้วในกฎหมายไทย ซึ่งมีกำลังบังคับเจ้าหน้าที่ของรัฐไทยให้ต้องรีบเข้าแก้ไขปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติ ความไม่สำเร็จของการแก้ไขปัญหาทั้งในอดีตและปัจจุบันเกิดขึ้นเพราะความไร้รู้กฎหมายดังกล่าวของทั้งเจ้าของปัญหาหรือผู้ที่เข้าช่วยเหลือเจ้าของปัญหา บทความที่ปรากฏในหนังสือเล่มนี้ ก็คือ ความพยายามที่เหล่านักเขียนจะสอนกฎหมายให้แก่สังคมไทยถึงความเป็นไปได้ในการแก้ไขปัญหาความไร้รัฐและความไร้สัญชาติให้แก่มนุษย์ที่เราได้พบในสังคมไทย

ความสำเร็จในประการที่สาม ก็คือ ความกล้าหาญที่เจ้าของปัญหาจะลุกขึ้นมาเรียนรู้การแก้ปัญหาด้วยตนเอง เราพบว่า มีเจ้าของปัญหาจำนวนมากที่กล้าปรากฏตัวต่อสังคมและมีความรอบรู้ในข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับตนแล้ว แต่เมื่อปราศจากความกล้าหาญที่จะบังคับใช้กฎหมายที่เป็นคุณต่อตน ปัญหาความไร้รัฐหรือความไร้สัญชาติที่ตนประสบอยู่ จึงไม่อาจได้รับการแก้ไขให้แล้วเสร็จ

เราพบในหลายปีหลังมานี้ว่า เจ้าของปัญหาที่กล้าหาญอาจถ่ายทอดกำลังใจให้แก่เจ้าของปัญหาด้วยกัน อดีตคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจึงเป็นครูที่ดีที่สุดของคนที่ยังไร้รัฐไร้สัญชาติ และเรายังพบว่า บทเรียนที่ดีที่สุดในการสอนคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ก็คือ บทเรียนที่สร้างขึ้นจากความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นจริงแก่คนไร้รัฐคนไร้สัญชาติทั้งในอดีตและปัจจุบัน บทเรียนจากตำราฝรั่งหรือบทเรียนจากต่างประเทศอาจจะเป็นการสร้างแนวคิดสำหรับการปฏิรูปกฎหมายและนโยบาย แต่ไม่อาจจะใช้แต่ลำพังในการแก้ไขปัญหาในสังคมไทย ซึ่งมีข้อเท็จจริงด้านสังคมและจิตวิทยาหลายประการที่ต้องเรียนรู้และจัดการด้วยองค์ความรู้ที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่โดยสังคมไทยเอง

จากประสบการณ์ใน "ห้องทดลองทางสังคม (Social Lab)" ณ คลินิกเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติของศูนย์นิติศาสตร์ธรรมศาสตร์ เราค่อยๆ นำเรื่องจริงของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติที่มาร้องทุกข์กับเรามาถอดองค์ความรู้แฝง (Tacit Knowledge) และถ่ายทอดสู่ห้องเรียนที่เราสร้างขึ้นสำหรับเจ้าของปัญหาและผู้สนับสนุนเจ้าของปัญหา ในสิบปีหลังของการทำงาน เราเริ่มพบ "สูตรสำเร็จ" ในการจัดการปัญหาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติ ข้อดีของเราที่เป็นสถาบันการศึกษาของชาติ ทุกคนที่ต้องการองค์ความรู้จึงมุ่งหน้ามาหาเรา เราเสมือน "ตู้กับข้าว" สำหรับคนหิวกระหายในความรู้ เราผลิตงานวิชาการซึ่งเสมือนหนึ่งเป็น "กับข้าว" ใส่ไว้ในตู้กับข้าว เพื่อให้คนทั้งโลกมาเปิดและหยิบข้าวปลาอาหารไปประทังความหิวโหยในองค์ความรู้ดังกล่าว

คนที่มาบริโภคอาหารจากตู้กับข้าวของเรานั้น จำนวนมากที่สุด ก็คือ เจ้าของปัญหาและครอบครัวของเจ้าของปัญหา ลำดับต่อมา ก็คือ คนที่ทำหน้าที่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาจากภาคราชการ ภาคเอกชน หรือภาควิชาการด้วยกัน

และคนกลุ่มที่สามที่เข้ามาบริโภคองค์ความรู้ของเรา ก็คือ คนกลุ่มที่เรานึกไม่ออกในเบื้องแรกว่า ทำไมคนเหล่านี้จึงสนใจงานของเรา ห้าปีหลังนี้ เราพบว่า คนกลุ่มหนึ่งไม่ไร้รัฐไม่ไร้สัญชาติ ไม่มีครอบครัวหรือเพื่อนที่ประสบปัญหาดังกล่าว พวกเขาเป็นเพียงแค่ "ผู้สังเกตการณ์" แต่พวกเขาสนใจศึกษาเรื่องแบบที่เราศึกษา พวกเขาส่วนหนึ่งเป็นคนในประเทศไทย ซึ่งก็คือ สื่อมวลชน หรือนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และคนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นคนในต่างประเทศ คนเหล่านี้ ก็คือ ผู้แทนของรัฐต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ สื่อมวลชนในต่างประเทศ และนักศึกษาในมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ

จากคำถามที่คนทั้งสามกลุ่มถามเรา เราจึงนำมาสรุปเป็นชุดความรู้เพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติซึ่งเราอาจจำแนกออกได้เป็น ๕ ประเภทด้วยกันกล่าวคือ (๑) คำถามเกี่ยวกับสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมาย (๒) คำถามเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน (๓)คำถามเกี่ยวกับสิทธิในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (๔) คำถามเกี่ยวกับสิทธิในหลักประกันและสวัสดิการทางสังคม และ (๕) คำถามเกี่ยวกับสิทธิในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

เราเขียนอะไรในหนังสือเล่มนี้..................

เมื่อท่านผู้อ่านได้อ่านงานเขียนในหนังสือฉบับนี้ ท่านจะตระหนักว่า นักเขียนได้พยายามจะใช้เรื่องจริงของมนุษย์ที่ประสบปัญหาความไร้รัฐความไร้สัญชาติหรือเคยประสบปัญหาดังกล่าว เป็นฉากในการนำเสนอองค์ความรู้ทั้ง ๕ ประการข้างต้นต่อสังคมไทย

หนังสือเล่มนี้จึงเป็นกลไกในกระบวนการสร้างองค์ความรู้ดังกล่าว กล่าวคือ ห้องเรียนกฎหมายว่าด้วยคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติจึงเกิดขึ้นได้เพียงแค่เปิดหนังสือขึ้นอ่าน

หาได้ตามร้านขายหนังสือทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชนเล่มละ 150 บาท หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่ www.winyuchon.co.th/ (ตอนนี้ลด 15% เหลือ 127.50 บาท) หรือปิ่นแก้ว อุ่นแก้ว โทร. 085-1232606 E-mail ;[email protected]