Skip to main content


ซี.เจ. ฮินกี กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย ตั้งคำถามการทำหน้าที่ของสื่อใหม่ที่มีศักยภาพในการผลักดันความคิดมนุษย์ให้เปลี่ยนไป เพราะธรรมชาติของสื่อใหม่ชักนำให้เรารับฟังทุกความคิดเห็น หลายครั้งความคิดเห็นจำนวนหนึ่งอาจจะดูหลุดโลกไป เอาเข้าจริงอินเตอร์เน็ทก็เหมือนโทรทัศน์ หากไม่ชอบใจช่องไหน ก็ "เปลี่ยนช่อง" ได้เสมอ ไม่มีใครบังคับให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ทกล้ำกลืนกับสิ่งที่ตัวเองกระอักกระอ่วนหรือไม่ชอบใจ ทุกคนสามารถเปลี่ยนไปดูสิ่งอื่นๆ ได้ตลอดเวลา แต่ทำไมจึงต้องมีการ "เซ็นเซอร์" บทความนี้อาจให้คำตอบได้บางแง่มุม

 

..............
 

เมื่ออินเตอร์เน็ทเข้าถึงได้ทุกที่ ภูมิทัศน์การสื่อสารของมนุษย์ย่อมไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป การสานเสวนาเกิดขึ้นได้ในชั่วพริบตา เราได้ก้าวข้ามการเเสดงความคิดด้วยถ้อยคำเปื้อนหมึกเพียงวิธีเดียว มากกว่านั้นยังสามารถสื่อสารด้วยภาพเเละสีไปพร้อมกัน


"อินเตอร์เน็ท" เป็นเพชรเม็ดงามที่ฉายให้เห็นความคิดสร้างสรรค์หลากเหลี่ยมหลายมุม เป็นเครื่องมือสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ เเละขยายพรมเเดนเดิมให้กว้างขวางขึ้น ในทศวรรษที่ยี่สิบเราอาจนิยามวิสัยทัศน์ด้วยสื่อสิ่งพิมพ์ จากนั้นก็พัฒนาเป็นสื่อวิทยุเเละโทรทัศน์ ทว่าด้วยช่วงเวลาเพียงทศวรรษกว่าๆ การสื่อสารพัฒนาเเบบก้าวกระโดดจากหน้าเว็บเพจนิ่งๆ เเละปราศจากความเคลื่อนไหว พัฒนาไปสู่การ ดาวน์โหลดเอกสาร PDF เเละเอกสารจากโปรแกรมไมโครซอฟท์ เวิร์ด จากอีเมล์ธรรมดาๆ สู่การสนทนาด้วยเเบบเสมือนจริง ผ่านโปรเเกรม Skype และจาก(เว็บ)บล็อก ก้าวสู่วิดีโอบล็อก สื่อใหม่เหล่านี้บุกเบิกเส้นทางใหม่ๆ ในการเชื่อมโยงกับเพื่อนร่วมสังคม


จากสถิติของอินเตอร์เน็ท ปัจจุบันมีเว็บเพจประมาณ 5-7 พันล้านหน้า บ้างก็เป็นหน้าเว็บเก่าพ้นสมัย ไม่ได้ใช้งานอีกต่อไป หรือเป็นเว็บที่เก็บไว้ใน "cache" ประมาณกันว่าหน้าเว็บที่ยังคงใช้งานจริงมีเพียง 2-3 พันล้านหน้า ในจำนวนดังกล่าวเป็นเว็บเพจหน้าส่วนตัวเพียง 140 ล้านหน้า เเละคาดว่าเป็นเว็บที่เกี่ยวกับสื่อด้านเพศที่ไม่เหมาะสม หรือ "เว็บโป๊" ราว 10 ล้านหน้า

อินเตอร์เน็ทเสรีเเละปราศจากการเซ็นเซอร์เป็นห้องทดลองประชาธิปไตยเเบบมีส่วนร่วมที่ยิ่งใหญ่ที่สุด นับตั้งเเต่มีการใช้ประชาธิปไตยโดยตรงในการประชุมหมู่บ้าน


การมีส่วนร่วมในอินเตอร์เน็ทมีประสิทธิภาพสูง เพราะเป็นการมีส่วนร่วมระดับโลก ด้วยทุกคนเท่าเทียมกันในสังคมอินเตอร์เน็ท ไม่มีความจำเป็นที่คนอื่นจะต้องทราบว่าผู้ใช้เป็นหญิงหรือชาย มีอาวุโสหรืออ่อนอาวุโส จะผิวสีหรือผิวขาว ในประเทศที่ไม่มีการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ท ผู้ใช้อินเตอร์เน็ทเสมือนเป็นคนนิรนาม ไม่มีใครจำเป็นต้องทราบว่าเขาใช้อินเตอร์เน็ทจากประเทศอะไรด้วยซ้ำ


หลายๆ คนคิดว่าอินเตอร์เน็ทเป็นเเนวคิดใหม่ที่น่าทดลอง(ในลักษณะโลกเสมือนจริง) อินเตอร์เน็ทมาพร้อมกับความรับผิดชอบ เช่นเดียวกับที่เรามีการสื่อสารกับบุคคลอื่นๆ เเบบตัวต่อตัว โอกาสที่จะพบการสื่อสารด้วยความสุภาพ หรือสื่อสารเเบบหยาบคายคงมีพอๆ กัน เช่นเดียวกับสภาพสังคมปกติ (โลกแห่งความเป็นจริง) เช่นนี้เอง ทำให้ผู้ที่เชื่อหลักการข้างต้น รักโอกาสที่เเทบจะไม่มีข้อจำกัดของอินเตอร์เน็ท ที่เปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีส่วนร่วม


แง่นี้ "สื่อใหม่" (New media) มีศักยภาพในการผลักดันความคิดมนุษย์ให้เปลี่ยนไป เพราะธรรมชาติของสื่อใหม่ชักนำให้เรารับฟังทุกความคิดเห็น หลายครั้งความคิดเห็นจำนวนหนึ่งอาจจะดูหลุดโลกไป เอาเข้าจริงอินเตอร์เน็ทก็เหมือนโทรทัศน์ หากไม่ชอบใจช่องไหน ก็ "เปลี่ยนช่อง" ได้เสมอ ไม่มีใครบังคับให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ทกล้ำกลืนกับสิ่งที่ตัวเองกระอักกระอ่วนหรือไม่ชอบใจ ทุกคนสามารถเปลี่ยนไปดูสิ่งอื่นๆ ได้ตลอดเวลา


อินเตอร์เน็ทคือปัจจัยสำคัญในการสื่อสารอย่างรวดเร็วเเละเเพร่ไปทั่วโลกปัจจุบันนี้คนสร้างข่าวให้เราบริโภคมิได้จำกัดอยู่เเต่เพียงนักหนังสือพิมพ์ ใครที่มีคอมพิวเตอร์เเละเข้าอินเตอร์เน็ทได้ สามารถบรรยายโลกรอบตัวเขา ยิ่งไปกว่านั้น เขาสื่อสารให้ผู้อื่นรู้ว่าเขาคิดอย่างไรได้อย่างตรงไปตรงมา


ดังนั้น นักข่าวภาคประชาชน (citizen reporter) เป็นกลุ่มบุคคลใหม่ในวัฒนธรรมยอดนิยมร่วมสมัย และอินเตอร์เน็ทนั่นเองที่สาวไส้สื่อกระเเสหลักเดิมๆ เเละสื่อเชิงพาณิชย์ ให้ผู้คนรับรู้ว่าสื่อเหล่านั้นปิดกั้นความจริงบางส่วน มีอคติ ไม่ตรงไปตรงมา ทั้งยังมุ่งเเสวงหาประโยชน์ใส่ตัวทั้งทางการเมืองเเละการค้า


สื่อภาคประชาชนที่ไม่ได้รับผลตอบเเทนทางเศรษฐกิจกลับสะท้อน "ความจริง" ที่เขาพบเห็นตาม "มุม" และ "การมอง" ของตนเอง โดยไม่มีใครไล่เขาออก ทว่าสื่อดั้งเดิมกลับเสเเสร้งว่าตนนำเสนอข่าวอย่าง "เป็นกลาง" ทั้งๆ ที่สื่อเองก็มีวาระซ้อนเร้นเช่นเดียวกับคนอื่นๆ สื่อภาคประชาชนไม่จำเป็นต้องนำเสนอข่าวอย่างเป็นกลาง และเราในฐานะผู้บริโภคสื่อ ก็มีทางเลือกว่าจะฟัง จะสนใจ หรือไม่

มากกว่านั้น พัฒนาการบนโลกไซเบอร์ที่น่าสนใจอย่างยิ่งประการหนึ่งคือ สารานุกรม วิกิพีเดีย (Wikipedia) สารานุกรมฟรีบนอินเตอร์เน็ทที่มีผู้ใช้ทั่วโลก สารานุกรมนี้เปิดให้ผู้ใช้ สร้างเนื้อหาของสารานุกรมตามความถนัด หรือเพิ่มเติม เเก้ไขเนื้อหาที่มีอยู่เเล้ว กล่าวอย่างตรงไปตรงมา วิกีพีเดียให้สื่อภาคประชาชนมีเสียงที่ "เป็นกลาง" ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือหัวข้อ "การเซ็นเซอร์ในประเทศไทย"

ปรากฏการณ์นี้ส่งเสริมพื้นที่เพื่อการเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นเเละข้อมูลข่าวสารอย่างเสรีบนโลกอินเตอร์เน็ทที่ปราศจากการเซ็นเซอร์ เพราะข้อมูลข่าวสารต้องการอิสระ


ผู้อ่านอาจตั้งคำถามว่าทำไมผมจึงพูดถึง "อินเตอร์เน็ทปราศจากการเซ็นเซอร์" บ่อยครั้ง


ที่จริงเเล้ว เสรีภาพทุกชนิดทำให้นักการเมืองในรัฐบาล ตำรวจ เเละข้าราชการ กลัวจนหัวหด ในสายตาของพวกเขา ประชาชนทั่วไปเป็นเพียงเด็กมือซน ที่จะทำเรื่องไม่ดีไม่งามต่างๆ นานา หากปล่อยประชาชนไว้โดยไม่ควบคุม ทัศนคติเชิงอนุรักษ์นิยมเช่นนี้ เป็นเรื่องปกติสำหรับไดโนเสาร์ในยุคดิจิตอล ที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวเลยว่าอินเตอร์เน็ทเป็นอย่างไร อินเตอร์เน็ทเสรีทำให้คนพวกนี้ผวา เพราะอินเตอร์เน็ทเป็นพื้นที่เสรี รัฐบาลจำนวนหนึ่งจึงจ้องควบคุมอินเตอร์เน็ทโดยการเซ็นเซอร์


การเซ็นเซอร์อยู่คู่กับมนุษย์เรามาเเสนนาน ภาพเขียนบนผนังถ้ำอาจถูกมนุษย์ยุคเเรกเซ็นเซอร์โดยการเอาสีป้ายทับ การเซ็นเซอร์เป็นกระบวนการควบคุมความคิด เเละเเสวงหามติร่วมของสังคมโดยการหลอกลวง ตราบใดที่ยังมีข้อมูลข่าวสารที่ถูกห้ามเผยเเพร่ ตราบนั้นสาธารณชนไม่อาจตัดสินใจ บนพื้นฐานของข้อมูลรอบด้าน รัฐบาลอาจประดิษฐ์ถ้อยคำเช่น "ความมั่นคงของชาติ" "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" หรือ "ความสมานฉันท์" ทั้งหมดนี้ จุดประสงค์ที่เเท้จริง คือ เพื่อปกปิดการควบคุม เพราะรัฐบาลไม่ต้องการให้เราเป็นอิสระ

เฉพาะประเทศไทยมีเว็บไซต์ที่ถูกเเบนมากกว่า 45,000 เว็บไซต์ หน่วยงานที่ทำหน้าที่ตัดสินใจมีตั้งเเต่สำนักงานตำรวจเเห่งชาติ กระทรวงเทคโนโลยีการสื่อสารเเละสารสนเทศ(ไอซีที) กระทรวงวัฒนธรรม เเม้เว็บไซต์จำนวนไม่น้อยที่ถูกเเบนเป็นเว็บโป๊ เเต่รัฐบาลกลับเอาหูไปนา เอาตาไปไร่ ไม่จัดการวิดีโอโป๊วางขายเกลื่อนกลาดในทุกจังหวัด ทั่วประเทศ


พอพ้นเรื่องเว็บโป๊เปลือยเเล้ว รัฐบาลก็สามารถปกปิดวาระซ้อนเร้นที่เลวร้ายกว่าเดิม เป็นที่ทราบกันว่าคนไทยรักในหลวง ความรักเคารพที่มีต่อในหลวงของเราไม่สามารถถูกสั่นคลอนได้จากการดูเว็บไซต์ เเต่เจ้าหน้าที่รัฐกลับฉวยโอกาสสั่งสอนเรา ว่าอะไรคือการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทั้งที่การฉวยโอกาส "พูดเเทน" หรือ "แอบอ้าง" พระเจ้าอยู่หัวนั้น ย่อมเข้าข่ายการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกัน

เท่านั้นยังไม่พอ รัฐบาลยังเซ็นเซอร์การเเลกเปลี่ยนความคิดเห็นทางการเมืองในเว็บบอร์ด เเละในกระดานข่าวบนอินเตอร์เน็ท ในฐานะประชาชน เราไม่ได้รับอนุญาตให้เเสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์ปัจจุบันเเละเรื่องของรัฐด้วยกัน เว็บบอร์ดเหล่านี้ถูกบังคับให้เซ็นเซอร์ตัวเอง มิฉะนั้นก็โดนคาดโทษว่าจะปิดเว็บ


"ผู้พิทักษ์คุณธรรม" ของเรายังปิดปากผู้สนับสนุนนายกรัฐมนตรีที่ตกเก้าอี้เเละประชาชนที่เป็นเหยื่อความรุนเเรงสาหัสในจังหวัดชายเเดนภาคใต้ ซึ่งกรณีนี้ บางสถานการณ์ บางรัฐบาลเองก็อาจจะมือเปื้อนเลือดไปด้วย เเละไม่ต้องการให้ใครหน้าไหนมาป่าวร้องเรื่องดังกล่าว

การปฏิเสธให้คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมีปากเสียง สามารถเเสดงความคิดเห็น ข้อห่วงใย เเละเเสวงหาการสนับสนุนในพื้นที่สาธารณะ นำมาซึ่งความรุนเเรง รางวัลสำหรับผู้ที่กระทำการดังกล่าวคือการถูกอุ้ม หายตัว ถูกทรมาน หรือฆาตกรรม อันเป็นสุดยอดความสามานย์ของการเซ็นเซอร์


หากหวังพึ่งช่องทางต่างๆ เพื่อเล็ดรอดให้พ้นการเซ็นเซอร์ เช่นโปรเเกรมหลบเลี่ยง หรือพร็อกซีนิรนาม(proxy) ปรากฏว่า ช่องทางเหล่านี้บางครั้งก็ถูกเซ็นเซอร์ไปด้วย การที่สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ ที่เเต่งตั้งโดยทหารเพิ่งลงมติผ่านพระราชบัญญัติการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ ด้วยคะเเนนเสียงชนะขาดถล่มทลาย 119 ต่อ 1 ผมไม่เเน่ใจว่าสมาชิกสภาฯ ได้อ่านร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวหรือไม่


กฎหมายใหม่นี้กำหนดว่า ผู้ใดดูเว็บไซต์ที่รัฐกำหนดว่าเป็นเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมมีโทษทางอาญา โดยที่เราไม่มีทางทราบได้เลยว่า "รัฐ" คือใคร มีตำเเหน่งหน้าที่อะไร การปกปิดเลขไอพี โดยใช้พร็อกซีนิรนาม หรือโปรเเกรมหลบเลี่ยง เป็นความผิดอาญา ร่างกฎหมายช่วงเเรกๆ กำหนดให้มีโทษประหารชีวิต เเละจำคุกตลอดชีวิต สำหรับผู้กระทำความผิด กฎหมายฉบับจริงกำหนดโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี แง่นี้แล้ว กฎหมายเพียงฉบับเดียว ก็เพียงพอที่จะเหมาเอาคนใช้อินเตอร์เน็ททั่วๆ ไป ให้ติดร่างเเหเป็นอาชญากรไปด้วยอย่างง่ายดาย


ในทางกลับกัน ไม่มีกฎหมายไทยฉบับใดยินยอมให้เกิดการเซ็นเซอร์บนอินเตอร์เน็ท ศาลปกครอง เเละสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ล้วนตัดสินว่า การเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ทผิดกฎหมายเเละไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฟังเเล้ว ดูเหมือนที่จริงการเซ็นเซอร์นี่เองที่ผิดกฎหมาย

หลายคนกำลังต่อสู้การเซ็นเซอร์ หากคุณเห็นความสำคัญของสิทธิมนุษยชน อิสรภาพทางการเมือง เสรีภาพขั้นพื้นฐาน เเละประชาธิปไตยไทย โปรดร่วมมือกับเราเเละลงชื่อต้านการเซ็นเซอร์ทุกรูปแบบเพื่อปกป้องทางเลือกของเรา ก่อนจะสายเกิน

ซี.เจ. ฮินกี

C.J. Hinke กลุ่มเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์แห่งประเทศไทย
Freedom Against Censorship Thailand (FACT)
http://facthai.wordpress.com, [email protected]

จุฑิมาศ สุกใส แปล
ฐิตินบ โกมลนิมิ เรียบเรียง