Skip to main content

ช่วงปี 2547 ฉันทำงานรณรงค์บุหรี่กับนพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพ ในช่วงนั้นเราพยายามที่จะฟ้องสังคมว่า...ตั้งแต่ปี 1976 บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้เริ่มผลิตบุหรี่ขยายชื่อการค้าเดิมโดยเติมคำต่างๆ หลังชื่อ อาทิเช่น "Mild", "Light", "Ultralight" โดยอ้างว่าเป็นบุหรี่ในชื่อการค้าเดิม แต่บริษัทได้ลดปริมาณสารนิโคตินและทาร์ลงมาและได้ปรุงแต่งให้รสอ่อน (mild) นุ่มนวลขึ้น ทั้งๆ ที่ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

นพ.หทัย ได้ทำการวิจัยและจับผิดการโกหกของบริษัทบุหรี่ จากเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ต่างๆ นั่นเองจึงพบว่ามีการหลอกลวงผู้สูบบุหรี่หลายประเทศ และนำมาเคลื่อนไหวทางสังคม ให้ประเทศไทยห้ามบุหรี่ใช้คำหรือสีหรือเครื่องหมายอื่นๆ ที่ทำให้ผู้สูบหลงเชื่อผิดๆ ว่าเป็นบุหรี่ยี่ห้อที่ปลอดภัยกว่า จนกระทั่งคณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ (คบยช.) มีมติขอให้กระทรวงสาธารณสุข (ในสมัยของนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข) ออกประกาศกระทรวงเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การแสดงฉลาก และข้อความในฉลากของบุหรี่ซิกาแรต เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้บุหรี่ มีคำว่า "Mild", "Light", "Ultralight" ฯลฯ หลังชื่อการค้า หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า ได้มีการ ร่างประกาศกระทรวง ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว แต่เมื่อไปวางบนโต๊ะรัฐมนตรี ก็เป็นอันว่าเรื่องนี้เงียบหายไป...จนกระทั่งบัดนี้

มาปี 2549 องค์การอนามัยโลก ประกาศคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคมของทุกปี ว่า "บุหรี่ทุกชนิด นำชีวิตสู่ความตาย (Tobacco : Deadly in any form or disguise)" แรกๆ ก็ดูเหมือนมีคนจะจุดประเด็นยกเลิกการใช้คำว่า บุหรี่ไลท์ กันอีกรอบ แต่พูดกันอยู่ไม่กี่วันก็เงียบไปอีกอย่างน่าสงสัย กลายเป็นวันชื่นชมแต่อดีตว่า เคยรณรงค์อะไรมาสำเร็จบางแล้ว และจะปล่อยไก่เรื่องไม่เป็นเรื่องอย่างไร เช่น การถ่ายภาพคนสูบบุหรี่ในที่ห้ามสูบมาดำเนินคดี ฯ

ประเด็นชวนให้ติดตามคือ ทำไมมาตรการที่ไปดำเนินการกับบริษัทบุหรี่ถึง "ถูกทำให้เงียบ" และ มาตรการทุกอย่างที่ออกมาจึงตกเป็นภาระของรัฐและผู้สูบอยู่ฝ่ายเดียว...ซึ่งล้วนแต่ทำให้ฝ่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่กลายเป็นตัวตลกและใจแคบต่อสาธารณะ

ตอบแบบง่ายก็คือผลประโยชน์ แต่ที่อยากชวนให้คิดกันต่อคือ กลไกของผลประโยชน์ต่างหากทำงานอย่างไร? และจะจัดการกับกลไกนั้นอย่างไร

ย้อนรอยกันอีกครั้งในเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ หลอกลวงผู้สูบหลายประเด็นคือ:

  • บริษัทบุหรี่ได้ทำการตลาดบุหรี่ "mild" ทั้งได้แง่ของรสชาติและการมีสารพิษในระดับต่ำ
  • บริษัทบุหรี่ได้เสนอบุหรี่เหล่านี้เป็นทางเลือกของการเลิกบุหรี่และการลดปริมาณการสูบ ในโฆษณาของบริษัทบุหรี่ "ไลท์" และ "ไมล์ด" ได้แนะว่า "ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลิกถ้าท่านสูบอย่างเหมาะสม"
  • โดยการนำบุหรี่ยี่ห้อเหล่านี้เข้าไปผูกพันกับลีลาชีวิตที่ร่ำรวยและกิจกรรมที่เกี่ยวกับสติปัญญา บริษัทบุหรี่ได้เสนอว่าการสูบบุหรี่ "ไลท์" และ "ไมล์ด" เป็นทางเลือกของคนฉลาด
  • บริษัทบุหรี่เชื่อมโยงยี่ห้อเหล่านี้กับกิจกรรมทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอันบริสุทธิ์สะอาด เท่ากับว่าบุหรี่ยี่ห้อเหล่านี้ให้ผลดีทางสุขภาพ สีและการออกแบบซองบุหรี่ทำให้คนเห็นว่าเป็นบุหรี่ยี่ห้อที่มีอันตรายน้อย ในครอบครัวของแต่ละยี่ห้อได้จัดให้มีสีแก่อ่อนต่างกัน สีที่อ่อนที่สุดจะเป็นสีของบุหรี่ "ไลท์"
  • บริษัทบุหรี่ใช้บุหรี่ "ไลท์" และ "ไมล์ด" ล่าเหยื่อ 2 กลุ่ม คือกลุ่มผู้สูบที่ต้องการเลิกและยังเลิกไม่ได้ กับกลุ่มที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ผู้สูบสตรีเป็นกลุ่มที่เป็นห่วงต่อสุขภาพโดยเฉพาะอย่างยิ่งสตรีชาวตะวันตกที่มีการศึกษา กลุ่มนี้เกือบทั้งหมดสูบบุหรี่ "ไลท์"
  • รสชาติอันอ่อนละมุนเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งที่จะดึงดูดผู้สูบบุหรี่ครั้งแรก ดังนั้นบุหรี่ "ไลท์" จึงทำให้การเริ่มสูบง่ายกว่าบุหรี่ทั่วไป เด็กและเยาวชนจึงนับเป็นกลุ่มเสี่ยงอีกกลุ่มหนึ่งสำหรับบุหรี่"ไลท์"


ในโฆษณาบุหรี่ยี่ห้อMerit ของบริษัทฟิลิปมอร์ริสได้กล่าวว่า
" You can switch down to lower tar and still get satisfying taste. Yes you can! "

บุหรี่ "ไลท์" และ " ไมล์ด" มีนิโคตินและทาร์ต่ำจริงหรือไม่?
บริษัทบุหรี่หลอกลวงผู้สูบมานานถึง 2 ทศวรรษแล้วว่าบุหรี่ "ไลท์" ของตนมีนิโคตินและทาร์ต่ำ ทั้งนี้โดยอ้างจากการวัดด้วยเครื่องโดยวิธีการของ Federal Trade Commission (FTC) เครื่องวัดหรือเครื่องสูบบุหรี่มีกลไกดังนี้

  • A - กระบอกสูบสูดควันจากมวนบุหรี่ครั้งละ 35 ลบ.ซม. นาน 2 วินาที
    ทุกนาทีจนมวนบุหรี่มอดลงถึงความยาวที่กำหนด ลักษณะสำคัญของการออกแบบบุหรี่สมัยใหม่ก็คือ vents หรือ ในก้นกรองมีรูที่ช่วยให้เกิดการเจือจางจากอากาศ
  • B. อากาศถูกดูดผ่าน vents เหล่านี้เพื่อลดควันบุหรี่ที่ถูกดูดออกมาจากมวนบุหรี่
  • แผ่นกรอง C จับควันบุหรี่เพื่อนำไปวิเคราะห์


ในการวัดสารด้วยเครื่องบุหรี่จะได้ค่าของสารทาร์ และนิโคตินต่ำกว่าปริมาณที่ผู้สูบสูบเข้าไปในร่างกาย เนื่องจากควันส่วนหนึ่งจะออกไปจากมวนบุหรี่ตรงรูฟิลเตอร์ที่เรียกว่า Vent

ต่างจากผู้สูบซึ่งริมฝีปาก ลิ้น และน้ำลายจะเคลือบหรือปิด Vent นี้เมื่อสูดควันบุหรี่เข้าไปในตัว จึงได้ควันซึ่งมีสารนิโคตินและทาร์เข้าไปเต็มที่ ไม่เจือจางเหมือนควันที่เข้าไปในเครื่องสูบ ผู้สูบจึงได้สารเหล่านี้เข้าไปมากกว่าค่าที่วัดได้จากเครื่อง

บุหรี่ "ไลท์" และ "ไมล์ด" ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบและเกิดผลเสียหายต่อสาธารณสุขของประเทศ

ผู้สูบมีความหลงผิดว่าบุหรี่ "ไลท์" มีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป
การสำรวจแกลลับ (Gallup poll) พบว่าผู้สูบร้อยละ 75 เชื่อว่าบุหรี่สารทาร์ต่ำมีอันตรายต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป การสำรวจผู้สูบบุหรี่ 500 คนพบว่าร้อยละ 27 เชื่อว่าบุหรี่ "ไลท์" ทำให้ความเสี่ยงต่อการที่จะเป็นมะเร็งปอดน้อยลง

ผู้สูบบุหรี่ "ไลท์" ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของตน
โดยที่การสูบบุหรี่เป็นพฤติกรรมเสพย์ติด และเกิดความต้องการนิโคตินเข้าไปในปริมาณที่ร่างกายต้องการในแต่ละวัน ผู้สูบบุหรี่ "ไลท์" จึงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบของตน คือ:

  • สูดถี่ขึ้น
  • สูดลึกขึ้นในแต่ละครั้ง
  • สูบมากมวนขึ้น


ผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ "ไลท์"
ได้มีงานวิจัยที่พบว่ามะเร็งปอดชนิด adenocarcinma ได้เกิดขึ้นมากในระยะหลัง มะเร็งชนิดนี้ เกิดขึ้นที่ปลายหลอดลมขนาดเล็กสุด และน่าจะเกิดจากการที่ผู้สูบสูดควันบุหรี่เข้าไปลึกมาก เป็นลักษณะที่ตรงกับพฤติกรรมของผู้ที่สูบบุหรี่ "ไลท์"

ผลเสียหายต่อสาธารณสุขของประเทศ
จากการที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติได้คิดค้นผลิตบุหรี่ประเภท "ไลท์" ขึ้นมาแล้วได้ทำการตลาด โฆษณาลวงประชาชนและผู้สูบบุหรี่ ทำให้มีผลเสียหายต่อการสาธารณสุขของประเทศคือ

  1. ทำให้เด็กเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ง่ายขึ้น จำนวนจึงเพิ่มขึ้น
  2. สตรีเป็นลูกค้าของบุหรี่ชนิดนี้มาก
  3. ผู้สูบบุหรี่อยู่แล้ว เปลี่ยนมาเป็นสูบบุหรี่ "ไลท์" เนื่องจากเข้าใจผิดว่ามีผลเสียต่อสุขภาพน้อย
  4. ผู้สูบที่อยากจะเลิกด้วยเหตุผลทางสุขภาพแต่ยังเลิกไม่ได้ เปลี่ยนใจไม่เลิกและเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ "ไลท์" แทน


การมีบุหรี่ "ไลท์" จึงเป็นสิ่งที่รัฐไม่ควรยอมให้เกิดขึ้น

เรื่องนี้บริษัทบุหรี่ทราบอยู่แก่ใจ ดังข้อความในเอกสารลับของบริษัทอิมพีเรียลโทแบคโค ใจความว่า:
." We have evidence of virtually no quitting among smokers of those brands (of under 6 mg. of tar), and there are indications that the advent of ultra low tar cigarettes has actually retained some potential quitters in the cigarette market by offering them a viable alternative."

รัฐจะต้องไม่อนุญาติให้มีบุหรี่ "ไลท์" และ "ไมล์ด" อีกต่อไป

การออกกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ไลท์" และอื่นๆ
จากผลเสียต่อสุขภาพของผู้สูบบุหรี่ "ไลท์" และความเสียหายที่จะเกิดต่องานสาธารณสุขของประเทศ รัฐบาลของชาติต่างๆ ตลอดจนกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก จึงได้ออกกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ไลท์" หรืออื่นๆ ที่หลอกลวง ว่าเป็นบุหรี่ชนิดที่มีอันตรายต่อสุขภาพน้อย

เมื่อปี 2544 บราซิลได้ออกกฎหมายห้ามการใช้คำว่า "light", "low level", "soft", "mild" หรือคำอื่นๆ ที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบุหรี่นั้นมีทาร์, นิโคตินและแกสคาร์บอนมอนนอกไซด์ ในระดับต่ำ

สหภาพยุโรปได้ออกข้อแนะนำสำหรับประเทศสมาชิกได้ออกกฎหมายห้ามมิให้บริษัทบุหรี่สร้างภาพ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าบุหรี่ของตนยี่ห้อหนึ่งมีพิษภัยต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่ยี่ห้ออื่นๆ ทั้งนี้ประเทศสมาชิกของสหภาพฯ จะต้องออกกฎหมายนี้ภายใน 30 กันยายน 2546

ปฏิกริยาของบริษัทบุหรี่ก่อนการออกกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ไลท์"
บริษัทบริทิชอเมริกันโทแบคโค (แบท) และบริษัทอิมพีเรียล โทแบคโค โดยการสนับสนุนจากบริษัทแจแปนโทแบคโค ของญี่ปุ่น และจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 3 ประเทศ คือเยอรมัน, ลักเซมเบอร์กและกรีซ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอังกฤษ ในปี 2001 ซึ่งศาลนี้ไม่รับและส่งคดีต่อให้ศาล European Court of Justice พิจารณา ในเดือนธันวาคม 2545 ศาลก็ได้ตัดสินยกฟ้องและแถลงว่าสหภาพยุโรปมีสิทธิที่ห้ามการใช้คำ "ไลท์" และ "ไมล์ด" ได้ ทำให้บุหรี่ยี่ห้อ "Mild Seven" ของญี่ปุ่นต้องเปลี่ยนชื่อ

ที่แคนาดาบริษัทฟิลิปมอร์ริสขู่ว่ารัฐบาลจะละเมิดกฎของการค้าเสรี NAFTA และข้อตกลงการค้าโลก (TRIPS) หากออกกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ไลท์" และ "ไมล์ด"

กลยุทธ์ของบริษัทบุหรี่หลังจากการออกกฎหมายห้ามใช้คำว่า "ไลท์" และ "ไมล์ด"
ที่บราซิลหลังจากรัฐบาลออกกฎห้ามใช้คำว่า "ไลท์" และอื่นๆ บริษัทบุหรี่ก็ใช้เวลาที่เหลือ (ก่อนการมีผลบังคับใช้) ด้วยการออกซองที่มีสีต่างๆ ภายในซองมีใบแจ้งให้ผู้สูบทราบว่าสีต่างๆ เช่นสีฟ้าหรือสีเงินจะเป็นรูปแบบใหม่ของบุหรี่ "ไลท์" และ "อัลตราไลท์" ที่บริษัทจะนำออกจำหน่ายหลังจากกฎหมายมีผลบังคับใช้

ในสหภาพยุโรป บริษัทอิมพีเรียลก็ได้เตรียมตราใหม่แทน "light", "mild", และ "Ultra" ด้วยการใช้สีต่างๆ โดยไม่มีคำดังกล่าว

ศาลตัดสินลงโทษบริษัทบุหรี่ฐานหลอกลวงผู้สูบโดยใช้คำว่า "ไลท์" และ "ไมล์ด"
กลุ่มผู้สูบบุหรี่ในรัฐอิลินอยส์ได้ยื่นฟ้องศาล Madison Country Circuit Court ว่าบริษัท ฟิลิป
มอร์ริสทราบดีว่าบุหรี่มาล์รโบโรไลท์และแคมบริดจ์ไลท์ ที่บริษัทได้นำออกมาจำหน่ายในตลาดเมื่อทศวรรษที่ 70 มีพิษเท่ากับบุหรี่ยี่ห้อเดียวกันที่ไม่มีคำว่า "ไลท์" บริษัททราบดีมาตลอดว่าตนเองหลอกลวงสาธารณชน ชาวอเมริกันถือ เป็นการฉ้อฉลต่อผู้บริโภค จึงขอให้ศาลสั่งให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายชดใช้ (compensatory damage) 7.1 พันล้านเหรียญสหรัฐและค่าเสียหายลงโทษ (punitive damage) เป็น 2 เท่าคือ 14.2 พันล้านเหรียญ รวมทั้งสองจำนวนเป็นเงิน 21.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเท่ากับประมาณ 9,159,000 ล้านบาท ผลก็คือเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2546 ศาลได้ตัดสินให้ฟิลิปมอร์ริสจ่าย 7.1 พันล้านเหรียญเป็น compensatory damages ต่อผู้สูบและ 3.0 พันล้านเหรียญเป็น punitive damage ต่อมลรัฐอิลินอยส์ รวมแล้วเป็นเงิน 10.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 4,350,000 ล้านบาท

อ่าน งานวิจัยฉบับเต็ม ของนพ.หทัย ชิตานนท์