Skip to main content

หลังจากที่พวกเราเหน็ดเหนื่อยกันพอสมควร(แต่ยังยิ้มได้) ในการทำงานร่วมกับนพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ในการต่อสู้ "ห้ามโฆษณาขายบุหรี่ ณ จุดขาย" ที่ดีเดย์ในวันที่ 24 กันยายน 2548 จนทำให้ยักษ์ใหญ่อย่าง 7-eleven ยอมยกธงขาว เมื่อเร็วๆ นี้ โรงงายาสูบออกมาให้ข่าวในหนังสือพิมพ์หลายฉบับพร้อมกันที่ชวนให้คิดว่ามีอะไรบางอย่างไม่ชอบมาพากล ในทำนองว่า คนไทยลดสูบบุหรี่-รง.ยาสูบดิ้นส่งออกเพิ่ม (มติชน,วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2549 ปีที่ 29 ฉบับที่ 10264) จึงคิดว่าน่าติดตามสถานการณ์เรื่องนี้ต่ออย่างใกล้ชิด

นางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล รองผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการ ในฐานะโฆษกโรงงานยาสูบ เปิดเผยว่า โรงงงานยาสูบได้มีการปรับเปลี่ยนแผนทางการตลาด โดยจะเพิ่มสัดส่วนการส่งออกบุหรี่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับปัญหายอดขายที่ลดลงจากมาตรการรณรงค์ห้ามสูบบุหรี่ โดยไม่ให้มีการตั้งโชว์บุหรี่หน้าร้าน ซึ่งคาดว่าจะทำให้ยอดขายบุหรี่ในปี 2549 ลดลงจาก 32,000 ล้านบาท เหลือเพียง 30,000 ล้านบาท หรือลดลง 20% และในอนาคต 5-6 ปีข้างหน้า ความต้องการบุหรี่จะลดลงเหลือเพียง 30,000 ล้านมวนต่อปี เท่านั้น

นางประภัสสรกล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานยาสูบมียอดส่งออกเพียง 1% ของยอดขายปีละประมาณ 32,000 ล้านบาท และขณะนี้โรงงานยาสูบได้เริ่มทำการตลาดนอกประเทศ เริ่มที่แคนาดาเป็นประเทศแรก ล็อตแรกเริ่มในเดือนพฤษภาคมนี้ จำนวน 10 ตู้คอนเทนเนอร์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอนุญาตจากกรมสรรพสามิตเรื่องขั้นตอนการส่งออกอยู่ โดยเป็นการส่งออกบุหรี่ที่ไม่มีแบรนด์ ซึ่งหากตลาดแคนาดาเดินหน้าได้ดี

"อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันบุหรี่ของโรงงานยาสูบยังถือว่ามีมาร์เก็ตแชร์สูงที่สุดในประเทศไทย คือประมาณ 80% ของมูลค่าตลาดรวม แต่ก็มีแนวโน้มที่จะโดนบุหรี่จากต่างประเทศแย่งชิงตลาดไปได้เพิ่มขึ้น"

..........................

 

“เอา” โฆษณาบุหรี่ ณ จุดขายออกไป

ฐิตินบ โกมลนิมิ ทีมสื่อสารสาธารณะ

โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

---------------------------------

 

ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามร้านค้าทั่วประเทศโฆษณาและส่งเสริมการขาย ณ จุดจำหน่าย หรือการโชว์บุหรี่หน้าร้านค้า เพื่อจำกัดโอกาสของเยาวชนในการเข้าถึงบุหรี่ ซึ่งเป็นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 8 ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ที่ทำให้ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ทางการค้า โดยตั้งเป้าดีเดย์วันที่ 24 กันยายนนี้ เป็นต้นไป หลังจากย่อหย่อนมา 13 ปี

ประเด็นนี้ก็กลายเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียง และเปิดให้เห็นบทสนทนาสาธารณะระหว่างรัฐกับผลประโยชน์ชัดเจน กล่าวคือ

ด้านรัฐ นับตั้งแต่คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ซึ่งมีตัวแทนจากทุกกระทรวง แข็งขันที่สุดก็ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และภาคีนักรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่จำนวนหนึ่ง ที่เน้นการคุ้มครองสุขภาพเด็กและเยาวชนเป็นสำคัญ โดยยกเอแบคโพลล์ที่เคยสำรวจ เมื่อปี 2547 พบว่า มีเยาวชนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นถึงนักศึกษาระดับปริญญาตรี สูบบุหรี่มากถึง 608,400 คน และเมื่อสำรวจต่อเนื่องเดือนเมษายนที่ผ่านมา พบข้อน่าเป็นห่วงเพิ่มขึ้นว่า การโชว์บุหรี่หน้าร้านมีผลจูงใจให้เยาวชนเกิดความต้องการซื้อบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 60 อาจสรุปในเบื้องต้นได้ว่า ในจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่ข้างต้น จะมีคนที่เริ่มต้นสูบอันเป็นผลเนื่องจากแรงจูงใจจากการได้เห็นการโฆษณาดังกล่าวประมาณ 365,000 คน

อาจารย์สุชาดา ตั้งทางธรรม สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ยังเชื่อมโยงผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติเกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของคนไทยครั้งล่าสุดให้พิจารณาด้วย ก็จะประมาณได้ว่า การตั้งโชว์บุหรี่มีผลดึงดูดให้เกิด “นักสูบหน้าใหม่” ที่ต้องเสียเงินซื้อบุหรี่ประมาณคนละ 20-24 บาท ต่อวัน หรือเดือนละ 600-720 บาท หรือปีละ 7,200-8,600 บาท นับว่าไม่น้อยสำหรับนักเรียนและนักศึกษาที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตนเอง

และถ้าคิดเป็นตัวเลขโดยรวม หากไม่มีการตั้งโชว์บุหรี่ เยาวชนไทยจะใช้จ่ายน้อยลงประมาณวันละ 7.2-8.8 ล้านบาท ตกปีละ 2,600-3,200 ล้านบาท ซึ่งมากกว่างบประมาณรายจ่ายที่รัฐบาลตั้งไว้สำหรับงานบริการสาธารณสุขทั้งประเทศในปีงบประมาณ 2548 จำนวน 1,051 ล้านบาท ถึง 2-3 เท่า และไม่น้อยเลยหากเปรียบเทียบกับงบประมาณรายจ่ายที่ตั้งไว้ในงบฯ กลางในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนและความยากจนของประชาชน 4,000 ล้านบาทในปีเดียวกัน

รวมทั้ง การเปิดเผยรายงานค่าใช้จ่ายเพื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าบริษัทบุหรี่ 6 บริษัท ได้ทุ่มงบประมาณเพื่อการตลาดสูงถึง 4.56 ล้านล้านบาท ในจำนวนนั้น เป็นการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณา ณ จุดขาย เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายถึง 500,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังแบ่งเป็นงบเพื่อการ “ซื้อ” ตำแหน่งเพื่อการวางบุหรี่ในร้านค้า 52,000 ล้านบาท มากเสียจนต้องย้อนนึกถึง “ตัวเลข” ของประเทศไทยที่ยังไม่มีการเปิดเผย

 

ฝ่ายตรงข้ามกระทรวงสาธารณสุข ทั้งบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ เช่น บริษัท ฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย) บริติช อเมริกัน โทแบคโค (ประเทศไทย) และโรงงานยาสูบ รวมทั้งสมาคมผู้ค้าปลีก ได้ร้องเรียนไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้องเรียนคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา กลับชี้เหตุผลอีกด้าน โดยพูดถึงสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลและควรมีโอกาสเลือกสิ่งที่ต้องการ พูดถึงเสรีภาพและสิทธิของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อ้างเรื่องการค้าเสรี บางคนเลอะเทอะถึงขนาดเรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วมในการรณรงค์ร่วมกับรัฐ โดยไม่คำนึงถึงหลักความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ ฯลฯ

และในบทสนทนาสาธารณะดังกล่าว อำนาจรัฐก็ขัดแย้งกันเองด้วย นั่นคือ กระทรวงสาธารณสุขกับโรงงานยาสูบ ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขกับกรมสรรพสามิต ซึ่งคู่ตรงข้ามของกระทรวงสาธารณสุขทั้งสองหน่วยงาน สังกัดกระทรวงการคลังที่ต้องเก็บโกยภาษีสรรพสามิตจากบุหรี่เข้ารัฐ

ทั้งสองกระทรวงต่างก็อ้างทำงานเพื่อรัฐเหมือนกัน แต่ต่างภารกิจกัน

โดยฝ่ายโรงงานยาสูบ ถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจนำรายได้เข้ารัฐจำนวนมาก เฉพาะที่เป็นภาษีอย่างเดียวถึงปีละ 29,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 อ้างเรื่องรายได้ที่อาจลดลง ผลกระทบของการสุ่มตรวจบุหรี่เถื่อน บุหรี่ปลอมแล้วกระทบต่อภาษีของรัฐ อ้างถึงการลิดรอนสิทธิของผู้ขายและผู้บริโภค เกิดผลกระทบต่อผู้ค้า ทั้งยังเรียกร้องให้มีมาตรการ/นโยบายออกมาคุ้มครองธุรกิจผู้ค้าจากการได้รับผลกระทบนี้ด้วย และอ้างไปเรื่อยถึงภาระที่ต้องดูแลเกษตรกร ผู้เพาะปลูกใบยาสูบอีกนับหมื่นราย

ด้านกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันหนักแน่นถึงการบังคับใช้และต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ถ้าพูดกันตรงๆ วันนี้สามารถเข้าทำการจับ ปรับได้ทันที แต่การกำหนดเอาไว้วันที่ 24 กันยายนนี้ ก็เพื่อจะมีเวลาในการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการทราบ ฉะนั้น เสียงคัดค้านที่ดังเป็นระยะก็แค่กลยุทธ์ในการดึงเวลาเท่านั้น

การเปรียบเทียบบทสนทนาข้างต้น เพื่อชี้ให้เห็นว่า ประเด็นที่ทั้งสองกระทรวงไม่ยอมพูดให้ชัดและขยายความว่าทำไมเราไม่ต้องการ “นักสูบรายใหม่” เพิ่มขึ้นอีก ก็คือ ขณะนี้ประเทศไทยมี “รายจ่าย” จำนวนมหาศาลจากความสูญเสียทางสุขภาพ และที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ ซึ่งมากกว่า “รายได้” ที่เก็บโกยจากภาษีบุหรี่เข้ารัฐตามที่กล่าวอ้างกัน

หลักฐานคือ ผลงานวิจัย “ความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่“ ของ ดร.สถิรกร พงศ์พานิช จากวิทยาลัยการสาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ให้เห็นว่า การเก็บภาษีบุหรี่นำส่งรัฐบาลไม่คุ้มค่ารักษาพยาบาลคนป่วยด้วยโรคจากบุหรี่ เฉพาะค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง และโรคมะเร็งทั้ง 3 โรค (จาก 25 โรคที่เกิดจากบุหรี่) ปี 2546 สูงถึง 46,000 ล้านบาทต่อปี เฉลี่ยวันละ 126 ล้านบาท ขณะที่รายรับจากภาษีและกำไรโรงงานยาสูบปีละ 41,000 ล้านบาท เท่ากับวันละ 112 ล้านบาท

ทั้งนี้ การวิจัยได้ประเมินค่าใช้จ่ายทั้ง 3 โรค ระหว่างปี 2546-2550 และรายรับของรัฐที่ได้จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่ระหว่างปี 2546-2550 พบว่าแนวโน้มค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้นทุกปีและสูงกว่ารายรับการจัดเก็บภาษีบุหรี่ในทุกๆปี ซึ่งประเมินในปี 2550 คาดว่าค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลจะสูงถึง 56,884 ล้านบาท ขณะที่รายรับการจัดเก็บภาษีบุหรี่เพียง 48,630 ล้านบาท

และยิ่งนับรวมกับเงินที่เด็กและเยาวชน “นักสูบหน้าใหม่” ต้องจ่ายเพื่อการสูบบุหรี่อีกปีละ 2,600-3,200 ล้านบาท “รายจ่าย” ของเด็กและรัฐทั้งหมดนี้ มิพักต้องพูดถึงการที่รัฐต้องทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองสุขภาพของประชาชน ก็ไม่น่าจะมีเหตุผลคัดค้านใดที่เข้มแข็งพอที่จะต่อรอง และซื้อเวลากับมาตรการนี้ได้อีก

เท่ากับว่า มีเพียงสองทางเลือกขณะนี้ คือ “เอาโฆษณาบุหรี่ ณ จุดขายออกไป”

หรือไม่ก็... “ยุบ” คณะกรรมการควบคุมการบริโภคยาสูบแห่งชาติ ในฐานะที่เสนอเรื่องนี้

............................................

โรงงานยาสูบออกมาค้านทำไม?

ฐิตินบ โกมลนิมิ ทีมสื่อสารสาธารณะ

โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ

------------------------------------------------------------

ตั้งแต่กระทรวงสาธารณสุขประกาศห้ามร้านค้าทั่วประเทศโฆษณาและส่งเสริมการขาย ณ จุดจำหน่าย หรือการโชว์บุหรี่หน้าร้านค้า ซึ่งจะดีเดย์วันที่ 24 กันยายนนี้ เพื่อจำกัดโอกาสของเยาวชนในการเข้าถึงบุหรี่ เป็นเรื่องพอจะเข้าใจได้ว่า โรงงานยาสูบย่อมตกที่นั่งเช่นเดียวกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ ต้องสูญเสียผลประโยชน์ทั้งในแง่ของรายได้บางส่วน และโอกาสในการสร้างนักสูบหน้าใหม่แข่งกันผ่านการโฆษณาดังกล่าว

แต่ที่ไม่เข้าใจอย่างยิ่ง เหตุใดนางประภัสสร พงศ์พันธุ์พิศาล รองผู้อำนวยการสำนักผู้อำนวยการโรงงานยาสูบ กระทรวงการคลัง จึงออกมาให้ข่าวคัดค้านเรื่องนี้พร้อมกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ 2 บริษัท คือ ฟิลลิป มอริส (ประเทศไทย) และบริติช อเมริกัน โทแบคโค (ประเทศไทย) (อ่านผู้จัดการออนไลน์ 3 สิงหาคม 2548) และยังร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีก ได้ร้องเรียนไปถึงสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ร้องเรียนคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา ชี้เหตุผลอีกด้าน โดยพูดถึงสิทธิของผู้บริโภคในการรับรู้ข้อมูลและควรมีโอกาสเลือกสิ่งที่ต้องการ พูดถึงเสรีภาพและสิทธิของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง อ้างเรื่องการค้าเสรี บางคนเลอะเทอะถึงขนาดเรียกร้องกระบวนการมีส่วนร่วมในการรณรงค์ร่วมกับรัฐ โดยไม่คำนึงถึงหลักความขัดแย้งเชิงผลประโยชน์ ฯลฯ

ที่สำคัญ โรงงานยาสูบยกเหตุผลสารพัด ด้วยถือว่าเป็นรัฐวิสาหกิจนำรายได้เข้ารัฐจำนวนมาก เฉพาะที่เป็นภาษีอย่างเดียวถึงปีละ 29,000 ล้านบาท มากเป็นอันดับ 4 อ้างเรื่องรายได้ที่อาจลดลง ผลกระทบของการสุ่มตรวจบุหรี่เถื่อน บุหรี่ปลอมแล้วกระทบต่อภาษีของรัฐ อ้างถึงการลิดรอนสิทธิของผู้ขายและผู้บริโภค เกิดผลกระทบต่อผู้ค้า ทั้งยังเรียกร้องให้มีมาตรการ/นโยบายออกมาคุ้มครองธุรกิจผู้ค้าจากการได้รับผลกระทบนี้ด้วย และอ้างไปเรื่อยถึงภาระที่ต้องดูแลเกษตรกร ผู้เพาะปลูกใบยาสูบอีกนับหมื่นราย

เมื่อพิจารณาข้อมูลการตลาดและการเปรียบเทียบความสามารถในการแข่งขันระหว่างโรงงานยาสูบกับบริษัทบุหรี่ต่างชาติ ก็ให้รู้สึกแปลกใจและสงสัยมากยิ่งขึ้นว่า โรงงานยาสูบออกมาค้านทำไม? ในเมื่อมาตรการดังกล่าว “พลิก” สถานการณ์ของโรงงานยาสูบขึ้นมาให้เป็นฝ่ายได้เปรียบ เรียกได้ว่า “โรงงานยาสูบมีแต่ได้ กับได้”

โรงงานยาสูบ เดียงสาไม่รู้เชียวหรือว่า การโฆษณา ณ จุดขายเป็นการขยายตลาดและ “พื้นที่” บุหรี่ต่างประเทศที่เข้มแข็ง จนบรรษัทบุหรี่ ตั้งชื่อว่า “tobacco product notice” และให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวด เพราะเกือบทุกประเทศทั่วโลกกำลังทยอยออกนโยบายและกฎหมายห้ามโฆษณาบุหรี่ทุกช่องทาง ดังนั้น การโชว์บุหรี่ในทุกที่เป็นโอกาสสุดท้ายในการชี้ชวนให้ลูกค้าเลือกซื้อบุหรี่ยี่ห้อนั้น ยิ่งระยะหลังมีการแข่งขันเรื่องราคากันมาก บุหรี่นอกและบุหรี่ไทยราคาแทบใกล้เคียงกันมาก จึงทำให้ผู้สูบบุหรี่เลือกยี่ห้อตรงจุดขาย

สังเกตดูก็ได้ บุหรี่ทั้งหมดที่ถูกจัดวางไว้ด้านหลังเคาน์เตอร์ร้านสะดวกซื้อ จงใจให้เห็นยี่ห้อและหีบห่อบุหรี่อย่างชัดเจน และจัดเรียงบุหรี่ ”นอก” และ “แพง” อยู่ชั้นบนๆ ในระดับสายตาของผู้ซื้อที่เดินเข้าร้าน และจะเห็นได้ชัดเป็นพิเศษเมื่อชำระเงิน ขณะที่แถวล่างมักเป็นบุหรี่ ”ไทย” หรือ บุหรี่ “ถูก” อยู่แค่ระดับเอวของพนักงานขาย ซึ่งมองไม่ค่อยเห็นเท่าใดนัก

ทำไม “พื้นที่” ของบุหรี่ต้องอยู่หลังที่ชำระเงิน หรือหน้าร้าน ซึ่งเป็นจุดที่เด่นที่สุดในร้านค้า?

ทำไมบุหรี่หลายยี่ห้อไม่เคยได้อยู่ชั้นบนสุด?

มีการเปิดเผยรายงานค่าใช้จ่ายเพื่อการตลาดของบริษัทบุหรี่ ในประเทศสหรัฐอเมริกา พบว่าบริษัทบุหรี่ 6 บริษัท ได้ทุ่มงบประมาณเพื่อการตลาดสูงถึง 4.56 ล้านล้านบาท ในจำนวนนั้น เป็นการใช้จ่ายเพื่อการโฆษณา ณ จุดขาย เพื่อเพิ่มยอดจำหน่ายถึง 500,000 ล้านบาท และในจำนวนนี้ยังแบ่งเป็นงบเพื่อการ “ซื้อ” ตำแหน่งเพื่อการวางบุหรี่ในร้านค้า 52,000 ล้านบาท เพียงแต่เราไม่รู้ “ตัวเลข” ของประเทศไทยเท่านั้น แต่ก็มีร่องรอยให้เห็นเหมือนกัน

มีข่าวปรากฏว่า “มาร์ลโบโลผนวกเซเว่นอีเลฟเว่นสนองความต้องการสิงห์อมควัน” ใจความระบุว่า นายไพฑูรย์ วิโรจน์โภคา ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ฟิลิป มอริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด มีแผนขยายตลาดค้าปลีกบุหรี่มาร์โบโล ในเซเว่นอีเลฟเว่นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถวางสินค้าจำหน่ายในเคาน์เตอร์เซเว่นอีเลฟเว่นทุกสาขาได้อย่างแน่นอน เพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคและแข่งขันกับตลาดนอกหนีภาษีที่มีระดับราคาต่ำกว่า…[…] (หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ 24 เมษายน 2539, หน้า 9) และผลจากการส่งเสริมการตลาดข้างต้น อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่สำคัญทำให้สัดส่วนบุหรี่ไทยถูกกินตลาดมากขึ้นเป็นลำดับ ตั้งแต่ปี 2534 ที่เปิดให้มีการขายบุหรี่อย่างเสรี

จากเดิมปี 33 โรงงานยาสูบครองตลาด 100% ปี 2535 บุหรี่นอกกินตลาดไป 2.5% ปี 2539 กินตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 3.12% เพียง 5 ปีต่อมา ตั้งแต่บริษัทฟิลิปมอริสประกาศขยายตลาดในร้านสะดวกซื้อ ปี 2544 บุหรี่ไทยถูกกินตลาดเพิ่มขึ้นสูงถึง 14.83% และปี 2547 ข้อมูลจากกรมสรรพสามิตระบุว่า โรงงานยาสูบถูกกินตลาดไปแล้ว 20.04% !!!

บริษัท ฟิลิปมอริส ตระหนักดีว่าหากประเทศไทยดำเนินมาตรการนี้สำเร็จ จะลดปริมาณนักสูบหน้าใหม่ได้แน่นอน ซึ่งส่งผลกระทบต่อธุรกิจโดยตรง จึงขัดขวางด้วยการส่งหนังสือถึงหลายหน่วยงาน (นพ.หทัย ชิตานนท์, คมชัดลึก 25 กรกฎาคม 2548) เสียผลประโยชน์จากตลาดเล็กในประเทศไทยไม่เท่าไหร่ แต่ถ้าประเทศอื่นเดินตามอย่างด้วย นั่นเป็นเรื่องใหญ่สำหรับอุตสาหกรรมบุหรี่มากกว่า

ที่สำคัญโรงงานยาสูบเอง ก็ไม่มีงบการตลาดทุ่ม “ซื้อ” พื้นที่หน้าร้านแข่งกับบรรษัทบุหรี่ที่ใช้งบประมาณนับหมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับโรงงานยาสูบค่าส่งเสริมการตลาดน้อยมาก ดูเฉพาะรายละเอีดยค่าใช้จ่ายในการขายล่าสุด งวด 9 เดือน สิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2548 ค่าส่งเสริมการตลาดแค่ 210 ล้านบาท ทั้งที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวจากรอบงบประมาณเดียวกัน ปี2547 จากจำนวน 122 ล้านบาทแล้ว

ที่กล่าวเช่นนี้ ไม่ได้หมายความว่าให้โรงงานยาสูบทุ่มงบการตลาดสูงขึ้นอีก แต่ชี้ให้เห็นว่า ต่อให้โรงงานยาสูบ “ทุ่ม” แค่ไหนก็ไม่มีทางสู้จำนวนและ “เครือข่าย” ของบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติได้แน่

ว่ากันให้ถึงที่สุด แม้โรงงานยาสูบจะเสียส่วนแบ่งตลาดไปมาก แต่รายได้ของโรงงานยาสูบกลับไม่ลดลงเลยและยังเพิ่มขึ้นทุกปีด้วยซ้ำ โดยเฉพาะในปีหลังๆ ปี 2545 มีรายได้ 41,124 ล้านบาท ปี 2546 เพิ่มขึ้นเป็น 42,502 ล้านบาท และเพิ่มอีกถึง 45,477 ล้านบาท เป็นรัฐวิสาหกิจที่มีภาษีนำส่งรัฐมากเป็นอันดับ 4 โดยปี 2545 มีเงินนำส่ง 36,978 ล้านบาท ปี 2546 นำส่งเงิน 35,5999 ล้านบาท และในปี 2547 นำส่งที่จำนวน 33,922 ล้านบาท

และที่น่าสนใจ ไม่ว่าส่วนแบ่งการตลาดของโรงงานยาสูบหายไปมากขึ้นแค่ไหน แต่โบนัสของพนักงานและกรรมการแต่ละปีก็ยังมากสม่ำเสมอ พิจารณาจากผลการดำเนินงานในรอบปี 2547 โชว์ให้เห็นว่า “คน” โรงงานยาสูบรับโบนัส ดูตั้งแต่ปี 2545 ได้รวมกันเป็นจำนวน 485 ล้านบาท ปี 2546 รับรวมกันจำนวน 582 ล้านบาท และปี 2547 รับจำนวน 568 ล้านบาท

ดังนั้น เมื่อพิจารณาให้ดี การห้ามโชว์บุหรี่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 มาตรา 8 ห้ามโฆษณาส่งเสริมการขายทุกรูปแบบ ที่ทำให้ได้เห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เพื่อประโยชน์ทางการค้า หลังจากย่อหย่อนมา 13 ปี

การบังคับใช้กฎหมายนี้คือ วิธีการสกัด ปิดกั้น การตลาดและการส่งเสริมการขายของบรรษัทบุหรี่ข้ามชาติอย่างรุนแรง ที่โรงงานยาสูบจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดเดิมของตัวเองไว้ได้ อันน่าขอบใจกระทรวงสาธารณสุขมากกว่าออกมาคัดค้านมิใช่หรือ?

เพราะแม้กระทรวงสาธารณสุขและภาคีสุขภาพ ร่วมกันรณรงค์ไม่สูบบุหรี่อย่างเข้มแข็งมาตลอดหลายสิบปี รายได้ของโรงงานยาสูบก็มิได้ลดลงอย่างน่าเป็นห่วงตามที่กล่าวอ้าง ซ้ำครั้งนี้ยังช่วยสกัดการกินตลาดของบุหรี่ข้ามชาติอีก ในแง่นี้แล้ว ยังมีอะไรที่ทำให้โรงงานยาสูบต้องกังวลใจนักหนา

ที่น่าสนใจ นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ค้าปลีกไทยเอง ออกยืนยันว่า การโชว์บุหรี่เป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นให้เกิดการซื้อและสูบบุหรี่มากขึ้น แต่ร้านค้าปลีกจำนวนกว่า 5 แสนรายทั่วประเทศที่จำหน่ายบุหรี่ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับกระทรวงสาธารณสุขและพร้อมจะปฏิบัติตาม เกรงก็แต่ร้านค้าที่มีแฟรนไชส์ และสาขาจำนวนมากที่อาจเสียประโยชน์เพราะมีรายได้จากการตั้งโชว์สินค้า เอาเข้าจริง กลับกลายเป็นว่าร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ อย่างบริษัท ซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ที่มีสาขาทั่วประเทศกว่า 3,000 แห่ง ได้ประกาศนโยบายสนับสนุนกระทรวงสาธารณสุขแล้ว (ดูฐานเศรษฐกิจ วันที่ 25-27 สิงหาคม 2548)

เมื่อ “เครือข่าย” ร่วมคัดค้านแต่ต้นหายไป

จึงน่าตั้งคำถาม ช่วงหลังนี้ โรงงานยาสูบออกมาค้านอย่างโดดเดียวทำไม?

พวกเราทำอะไรไปบ้างแล้ว...เด็ก บุหรี่ กับร้านสะดวกซื้อ