Skip to main content

กำหนดการเทศกาลหนังสั้น "ใต้ร่มเงาสมานฉันท์" วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2549

จนถึงปัจจุบันเหตุการณ์ความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ นราธิวาส ปัตตานี และยะลา ยังคงร้อนระอุ เรื่องราวของ ?ไฟใต้? ยังยึดพื้นที่หน้า 1 หนังสือพิมพ์รายวันได้เสมอ ?ไฟใต้? ยิ่งย้อนไปเมื่อ 2 ปีก่อน จากเหตุการณ์สะเทือนขวัญ ปล้นปืนจากค่ายอิงคยุทธบริหาร จ.ปัตตานี เหตุการณ์นองเลือดที่มัสยิดกรือเซะ ตามด้วยเหตุการณ์ปราบจลาจลที่ตากใบ ซ้ำร้ายด้วยเหตุการณ์สังหาร 2 นาวิกโยธินที่หมู่บ้านตันหยงลิมอ จ.นราธิวาส นับจากนั้นก็ยังมีเหตุการณ์การยิงกันเป็นใบไม้ร่วงตลอดร่วม 2 ปี

เหตุการณ์ ?ไฟใต้? นั้นยังผลต่อความแตกแยกในสังคมไทย นั่นจึงทำผู้คนมากมายนึกถึง ?สมานฉันท์? และหลายฝ่ายพยายามที่จะสร้างให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการทำงานของคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) หนึ่งในวิธีการสร้างสมานฉันท์ที่หน่วยงานนี้นำเสนอคือการสื่อผ่าน ?หนังสั้น?

หนังสั้น เป็นสื่อแขนงหนึ่งที่จะช่วยเคลื่อนย้ายความคิดจากผู้ส่งสารไปสู่ผู้รับสาร หนังสั้นทำหน้าที่ ?สื่อสาร? ความคิดสาธารณะได้เป็นอย่างดี ลักษณะของหนังประเภทนี้คือมีความยาวไม่เกิน 1 ชั่วโมง แต่ความยาวที่เหมาะสมนั้นมักจะอยู่ที่ประมาณ 10-15 นาที ทั้งนี้หนังสั้นมีรูปแบบทุกอย่างเหมือนกับหนังยาว ไม่ว่าจะการเล่าเรื่องหรือเทคนิคในการนำเสนอ หนังสั้นอาจจะเป็นสารคดี แอนิเมชั่น ฯลฯ ได้เช่นกัน ฐิตินบ โกมลนิมิ ที่ปรึกษาโครงการประกวดหนังสั้น ?ใต้ร่มเงาสมานฉันท์? ชี้แจงถึงที่มาของโครงการว่า หนังสั้นเป็นสื่อที่ทางคณะทำงานมีมติพ้องกันว่าสามารถเป็นช่องทางในการเผยแพร่แนวความคิดสมานฉันท์ไปถึงกลุ่มคนได้อย่างกว้างขวาง ?การสมานฉันท์ไม่ควรเป็นเรื่อง 3 จังหวัดเท่านั้น แต่เราน่าจะใช้ความรุนแรงนี้เป็นตัวเชื่อมความรู้ ปรากฏการณ์ ไปสู่ 60 ล้านคน สื่อหนังสั้นน่าจะช่วยได้ ที่คิดว่าเป็นหนังสั้นเพราะคิดถึงช่องทางในการเผยแพร่ เราคิดว่าหนังสั้นน่าจะเป็นเครื่องมือในการทำงานต่อ เช่น เอาหนังสั้นไปชวนกลุ่มเป้าหมายคุยต่อ เช่น ทหาร นักศึกษา ฯลฯ หากเราจะลดความรุนแรงในพื้นที่ภาคใต้เราต้องสร้างภาพรวมให้ได้ก่อน เพราะคนมักจะรู้สึกว่าเรื่องภาคใต้เป็นเรื่องที่ห่างไกล คนไม่สนใจ กอส.คืออะไร สมานฉันท์เกี่ยวข้องยังไง ตรงนี้เราต้องต่อสู้กับวัฒนธรรมความรุนแรง เพราะการที่คนภาคอื่นๆ เพิกเฉยต่อการก่อการร้าย การเพิกเฉยแบบนี้เป็นความรุนแรงประการหนึ่งเพราะคุณสามารถมองดูคนอีกพื้นที่หนึ่งถูกทำร้ายได้?

หนังสั้นทั้งหมดที่ส่งเข้าประกวดมี 308 เรื่อง ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วประเทศ จากนั้นจึงมีคณะกรรมการคัดเลือกจากเค้าโครงเรื่อง ให้เหลือ 30 เรื่อง โจทย์ที่ทางคณะทำงานตั้งไว้คือ ต้องการสื่อสารเรื่องอะไร กลุ่มเป้าหมายเป็นใคร และมีวิธีการสื่อสารอย่างไร ต่อมาจึงกลั่นกรองคัดเลือกจนเหลือรอบสุดท้าย 11 เรื่อง

?เราจะพิจารณาว่าเนื้อเรื่องนั้นนำไปปรับเปลี่ยนทัศนคติของกลุ่มเป้าหมายเพื่อการสมานฉันท์หรือเปล่า วิธีการสร้างสันติเป็นวิธี ส่วนสมานฉันท์เป็นเป้าหมาย พอจาก 30 เรื่อง ก็เรียกมาสัมภาษณ์ ดูว่าจากบนกระดาษนั้นสามารถนำเสนอเป็นเรื่องจริงได้ไหม มีความเป็นไปได้ในการทำไหม บางคนเขียนมาดีเวลานำเสนอจริงทำไม่ได้ ซึ่งกรรมการต้องประเมิน? ฐิตินบ กล่าว

ทีมงานหนังสั้นทั้ง 11 เรื่องที่รับการคัดเลือกจะได้รับการอบรม ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ตัวแทนจากนิตยสารไบโอสโคป ซึ่งรับผิดชอบในส่วนประสานงาน ดูแลเรื่องการประกวด อบรม กล่าวว่า ก่อนที่จะมีการลงมือปฏิบัติทั้ง 11 ทีม จะต้องเข้าอบรมประเด็นทางสังคม ฟังนักวิชาการสร้างทัศนคติหรือปรับความเข้าใจเกี่ยวกับการสมานฉันท์ มีการดูภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความขัดแย้งแล้วนำมาพูดคุยกัน แสดงความคิดเห็นกัน ต่อไปก็เป็นการอบรมเรื่องเทคนิคการถ่ายทำ โดยมีกลุ่มไทยชอร์ตฟิล์มเป็นพี่เลี้ยง ทั้งเรื่องอุปกรณ์การตัดต่อ การถ่ายทำ และมี ภาณุ อารี ผู้กำกับรับเชิญพิเศษ จะนำมาผลิตหนังสั้นของเขาตามแนวความคิดสมานฉันท์เพิ่มอีก 1 เรื่อง จากนั้นนำไปผลิตเป็นวีซีดีโดยไม่มีลิขสิทธิ์ แจกเผยแพร่ตามสถานศึกษา ห้องสมุด ชุมชน องค์กรต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการประสานงานต่อเนื่องเกี่ยวกับเทศกาลหนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์กับเครือข่ายตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ให้มีการเปิดเวทีคุยกันต่อไปอีก

* ความต่างทางความเชื่อ ศาสนา และสันติภาพ

ภาณุ อารี ผู้กำกับหนังสั้นเรื่องที่ 12 ของโครงการ ที่ทางคณะทำงานเชิญมากำกับหนัง เพราะเขามีเครดิตเป็นคนทำหนังสั้นอิสระที่คลุกคลีและติดตามความเคลื่อนไหวของหนังสารคดีไทยมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังเป็นอิสลามิกชนเพียงคนเดียวของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยและยังเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ก่อตั้งกลุ่ม Nostromo Group ซึ่งทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเติบโตของวงการภาพยนตร์อิสระในประเทศไทย

6 ปีมาแล้วที่ภาณุคลุกคลีอยู่กับหนังสั้น นับจากเรื่อง กาลครั้งหนึ่งเมื่อ ปี 2543 เรื่อยมาจนมีผลงานอื่นๆ อาทิ เส้นขนาน พรหมลิขิต และมีหนังทดลอง เช่น น้ำใต้ท้องเรือ การได้มาทำหนังสั้นภายใต้โครงการ ใต้ร่มเงาสมานฉันท์ จึงนับเป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจและเป็นเวทีที่เขาได้มีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวในใจสู่ผลงานที่เขาชื่นชอบ

?แขก? คือชื่อเรื่องหนังสั้นของภาณุ ซึ่งสะท้อนเรื่องราวที่บ่มเพาะกัดกร่อนความรู้สึกของเขาตั้งแต่ยังเยาว์วัยซึ่งอยู่ท่ามกลางสังคมไทยพุทธ ในขณะที่เขาเป็นไทยมุสลิม ?ไอเดียมาจากการที่อยู่ในกรุงเทพฯ ผมเป็นคนมุสลิมโดยกำเนิด แต่ตอนเด็กๆ ก็เรียนโรงเรียนพุทธ ทำงานก็เกี่ยวข้องกับคนต่างศาสนา คือสัดส่วนของมุสลิมจะน้อย เวลาอยู่ในสังคมที่เราเป็นส่วนน้อยจะมีความขัดแย้งหลายอย่างในใจเรา ตั้งแต่เด็กๆ แล้วก็โดนเพื่อนล้อ อย่างเรื่องกินหมูไม่ได้ เป็นแขก ผมก็เกิดความรู้สึกว่าเรารู้สึกคนเดียวไหม ก็ได้คุยกับเพื่อนหลายๆ คนที่เป็นมุสลิมเขาก็มีอะไรบางอย่างที่คล้ายกัน ผมจึงทำหนังสารคดีสักเรื่องหนึ่งที่สำรวจคนกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นมุสลิมที่ไม่ได้เคร่งมาก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ไม่สามารถเข้ากับคนในส่วนใหญ่ได้ สิ่งที่เจตนาสื่อจริงๆ ถึงคนที่ไม่ใช่มุสลิมคืออยากจะสะท้อนให้เห็นถึงชีวิตของคนที่อยู่ในสังคมร่วมกับเขา ให้เห็นภาพว่ามุสลิมมีหลายมิติ นอกจากนี้อีกไอเดียหนึ่งมาจากสถานการณ์โลกและในเมืองไทย คือ คนต่างศาสนามองมุสลิมไปแบบเดียวกันหมด แต่หากได้สัมผัสจริงๆ มุสลิมจะมีหลายมุมมาก อย่างของเราเป็นอีกมุมมองหนึ่ง?

นอกจากสร้างผลงานของตัวเองแล้ว ภาณุยังได้เป็นพี่เลี้ยงคอยดูแล ให้คำแนะนำผู้กำกับหนังสั้นทั้ง 11 ทีมที่เข้ารอบด้วย ?เท่าที่ดูผลงานของน้องๆ โดยรวมหลายเรื่องน่าพอใจ แต่ก็มีบางเรื่องต้องกลับไปแก้ไขเพราะบางคนก็ยังไม่เคยทำมาก่อน หัวข้อความขัดแย้ง สมานฉันท์จะยากสำหรับพวกเขา แต่เท่าที่คอมเมนต์ไปน้องๆ ก็จะเข้าใจขึ้น เพราะคนเราไม่สามารถทำงานชิ้นแรกแล้วไม่มีที่ติ การทำงานครั้งนี้ก็ได้เรียนรู้ทั้งเราและฝ่ายเด็ก?

เรื่องดีที่เกิดขึ้นสำหรับการทำหนังสั้นในครั้งนี้ ภาณุให้ความเห็นว่า ?ผมมองว่า ณ เวลาปัจจุบันการทำหนังสั้นคงยังไม่เห็นผล แต่การทำหนังสั้นทำให้เกิดกระบวนการคิด เด็กได้สร้างไอเดียจากคอนเซ็ปต์สมานฉันท์ ซึ่งทำให้เขาเข้าใจในความหมายนี้ แม้ตอนนี้มันจะเปลี่ยนระบบสังคมไม่ได้ แต่เด็ก 200 กว่าคนที่ส่งเรื่องเข้ามาประกวด อย่างน้อยๆ เขาก็มีความคิด มีทัศนะต่อคำนี้ชัดเจนขึ้นมากกว่าเดิม มากกว่าการอ่านจากหนังสือพิมพ์หรือฟังใครต่อใครพูด แต่การได้มาทำหนังสั้นทำให้เขาได้ขบคิดเอง และยังมีการขยายผลต่อไปจากการพูดคุยของเด็กๆ อย่างน้อยๆ ความสมานฉันท์กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มเยาวชนบางกลุ่มและจะขยายผลต่อไปแน่?

บอกเล่า...สะท้อนเรื่องราว...สู่ ?สมานฉันท์?

สันติภาพ อินกองงาม ชาวเชียงใหม่ เจ้าของผลงานหนังสั้นเรื่อง ?จากสันติภาพถึงสันติภาพ? ซึ่งมีไอเดียมาจากชื่อของตัวเอง เล่าว่า ?ไอเดียผมมองได้ 2 เรื่องด้วยกัน คือ ตัวมีเดียในบ้านเราไม่ได้เข้าไปถึงคนระดับรากหญ้า ผมก็เลยสุ่มเอาจากคนชื่อสันติภาพซึ่งทำให้เราได้เจอตั้งแต่ชาวบ้านยันไฮโซ ซึ่งหลายๆ คนก็ประหลาดใจมากที่ได้มีส่วนรวม ผลอันนี้จึงเป็นกระแสเสียงรวมๆ ของคนในประเทศเรา อีกไอเดียกลับไปตัวเชื่อมสันติภาพเข้าด้วยกัน ผมก็ชื่อสันติภาพ เวลาไปหาคนชื่อสันติภาพที่เชียงใหม่ผมก็มีของไปฝาก พอผมจะไปที่อื่นคนที่เชียงใหม่ก็ฝากของไปให้คนที่ชื่อสันติภาพ จะเป็นการฝากผ่านกันไปเรื่อยๆ คือเราอยากให้สื่อเป็นตัวเชื่อมโยง วัตถุประสงค์ไม่ใช่แค่ตอนโปรดักส์ที่เสร็จแล้ว แต่ระหว่างกระบวนการก็มีการเชื่อมโยง เพราะระหว่างที่เจอเราได้คุยกันเรื่องสันติภาพ ซึ่งตรงนี้มันก็จะขยายออกไปเรื่อยๆ?

กระบวนการทำหนังสั้นของสันติภาพ คือ การส่งจดหมายไปถึงคนชื่อเดียวกับเขาทั่วประเทศ ซึ่งมี 1,369 คน ในทะเบียนราษฎร เพื่อเชิญชวนมาทำหนังสั้นร่วมกัน โดยมีใจความแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกให้ช่วยเขียนคำอธิษฐาน ส่วนที่ 2 อนุญาตให้สัมภาษณ์หรือถ่ายวิดีโอได้ ซึ่งใครตอบรับในส่วนนี้เขาก็จะมาร์กจุดสันติภาพลงบนแผนที่ในประเทศไทย แล้วค่อยๆ เดินทางไปพบปะสันติภาพตามเส้นทางนั้นๆ ซึ่งมีคนส่งจดหมายกลับมาถึงเขา 200 กว่าคน แต่ส่วนใหญ่จะเป็นการให้ความร่วมมือในส่วนแรก

?คำอธิษฐานที่ส่งตอบกลับมาทั้งหมดผมเอามารวมกันเป็นบทแล้วให้คนทั้ง 10 คนช่วยกันเล่าอีกที เพราะเวลามีจำกัด ผมจึงเลือกที่จะถ่ายทำเพียงจำนวนเท่านี้ แต่ทั้งหมดมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย ทั้งเหนือ ตก ออก ใต้ อีสาน มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย เด็ก คนแก่ กระบวนการค่อนข้างซับซ้อนแต่หนังออกมาแล้วเรียบง่าย?

ทั้งนี้ ความสมานฉันท์ในแง่มุมส่วนตัวของสันติภาพ คือ ต้องผูกสันติให้เกิดขึ้นในใจของตัวเองเสียก่อน ?ความขัดแย้งเหมือนวัชพืชที่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ในสังคมการขัดแย้งกันเป็นเรื่องปกติ หากจะบอกให้ทุกคนสมานฉันท์เหมือนเอาหญ้าไปทับหิน แต่ถ้าทุกคนมีสันติในใจก็เหมือนการปลูกต้นไม้ที่จะเข้าไปคลุมดินเอง เกิดการจัดระบบนิเวศของมันเอง ถ้าสันติเกิดในใจเราสันติภาพจะกระจายออกไป?

ในจำนวนหนังสั้นที่เข้ารอบทั้งหมดมี 4 เรื่องที่พูดถึงความรู้สึกเกี่ยวกับความรุนแรงในชายแดนภาคใต้อย่างตรงไปตรงมา เช่น ทีมของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ เป็นคนที่ประสบเหตุการณ์จริง ต้องการสื่อสารว่า ปอเนาะเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเยาวชนมุสลิม ไม่ใช่แหล่งก่อการร้ายที่ถูกเหมารวมจากภาครัฐ อีกเรื่องจากประชาชน จ.นราธิวาส ได้สื่อสารเรื่องความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการเผาโรงเรียน ซึ่งหากได้ดูเรื่องนี้ ผู้ชมอาจจะนึกหวนถึงทีมนักฟุตบอลที่ถูกสังหารที่ อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา ก็เป็นได้

อีกเรื่องหนึ่งทีมพูดถึงโรงเรียนวัดนาปรือ อ.จะนะ จ.สงขลา เพื่อเสนอภาพสะท้อนการศึกษาสายสามัญในชุมชนมุสลิม เป็นตัวอย่างเด่ดชัดของความไม่เข้าใจความสำคัญของการอยู่ร่วมกัน ระหว่างผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม ที่นี่การศึกษาก็เป็นส่วนหนึ่งของการบังคับทางวัฒนธรรม ในอดีตชาวบ้านไทยพุทธไทยมุสลิมเคยอยู่ร่วมกัน แต่วันนี้เด็กๆ จากสองศาสนาไม่กล้าที่จะเล่นด้วยกัน และอีกหนึ่งเรื่องเล่าถึงชายหนุ่มจากครอบครัวทหารนำประสบการณ์ของน้าชายที่ลงไปปฏิบัติหน้าที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้สู่การสร้างความเข้าใจแก่สาธารณะว่าทหารจำนวนหนึ่งมีความปรารถนาดี

ส่วนอีก 7 เรื่องที่เข้ารอบนั้น สะท้อนชีวิตประจำวันของคนในเมืองที่ล้วนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงและความกลัว ไม่ใช่ทุกคนที่มีทางออกและความเป็นธรรมก็ไม่เคยมีอยู่ในกลุ่มคนด้อยโอกาส และมี 2 เรื่องเป็นหนังเด็ก เรื่องแรกใช้เพศ อาหาร และภาษาพื้นเมือง เป็นสื่อสะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม และอีกเรื่องสะท้อนให้เห็นว่าการละเล่นอย่าง ?ตี่-จับ? ก็เป็นแหล่งบ่มเพาะวัฒนธรรมความรุนแรงเช่นกัน ในระหว่างการเล่นที่มีการกระทบกระทั่งกัน เมื่อเกมจบเด็กเหล่านี้จะทะเลาะกันต่อ หรือสัมพันธภาพจะคงเดิม เด็กบางคนมีอารมณ์ค้างที่เพื่อนทำกับเขารุนแรง เด็กๆ ทำอย่างไรต่อไปเมื่อเกมจบ ซึ่งเรื่องนี้ได้สะท้อนกลับมายังผู้ใหญ่ว่า บางครั้งต้องรู้จักปล่อยวางแบบเด็กบ้าง

ในจำนวนนี้มีการ์ตูนแอนิเมชั่นเรื่อง ?ระหว่างทางเดิน? ที่สะท้อนให้เห็นถึงการฝ่าอุปสรรคมากมายและทางออกของเราอาจจะไปกระทบความเป็นอยู่ของผู้อื่น เรื่องสุดท้ายเป็นหนังทดลอง ที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าและความหมายของคำว่า ?สันติภาพ?

ถึงบรรทัดนี้หลายคนอาจจะอยากชมผลงานหนังสั้นทั้ง 12 เรื่อง (รวมของภาณุ) ก็เตรียมตัวไปชมได้ที่เทศกาลหนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์ วันที่ 27-28 พฤษภาคม 2549 ณ โรงภาพยนตร์เฮ้าส์ อาร์ซีเอ

?ขอให้โลกสงบสุข? คงจะไม่ใช่คำอธิษฐานเชิงเพ้อฝัน หากแต่ละคนเริ่มต้นที่ตัวเอง เรียนรู้จักความสงบ สันติ รู้จักเผื่อแผ่ แบ่งปัน ในที่สุด ?ความสมานฉันท์? จะแผ่คลุมทุกผืนที่ของแผ่นดินไทย

---------------------------------------------
มัลลิกา นามสง่า หน้าแมกกาซีน
ที่มา หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันเสาร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ. 2549