Skip to main content
ตำราเศรษฐกิจข้างถนนฉบับนี้ เป็นประสบการณ์การต่อสู้และทุนที่เกิดจากแม่ของฉัน เพื่อตั้งคำถามว่าผู้หญิงที่ต่อสู้แบบแม่อีกจำนวนมากทำไมไม่ถูกบันทึกว่าเป็นความรู้ และวิธีการดิ้นรน หาเลี้ยงครอบครัวของร้านข้าวแกงข้างถนนแบบแม่ ทำไมไม่ถูกเรียกว่าเป็นการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และการทำการตลาด ความรู้ของแม่หายไปใน"ตำราวิชาการ" ว่าด้วยระบบเศรษฐกิจได้อย่างไร ผู้เขียนอยากให้ "ตำราเศรษฐกิจข้างถนนของแม่ค้าข้าวแกง" มีส่วนทำให้ "เสียงเงียบ" ของคนชายขอบทั้งหลายมีส่วนในการสร้างความรู้และความจริงของสังคมขึ้นมาอีกทางหนึ่ง ...................................

"การแสวงหาความรู้ของนักวิชาการในยุคสังคม "สมัยใหม่" มุ่งเน้นไปที่การสร้างความมั่นใจและยืนยันทฤษฎีที่ได้มีผู้สร้างขึ้นมาจนเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการนั้นๆ พยายามสร้างเกณฑ์ที่ใช้จัดประเภทของสรรพสิ่งให้ตรงตามคุณลักษณะที่ทฤษฎีกำหนดไว้ มีการพัฒนาเครื่องมือเครื่องวัดที่วัดได้จัดเจน ปราศจากอคติของผู้วัด รวมทั้งพยายามสร้างความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนบุคคลแต่ละประเภทให้สามารถตอบสนองต่อเป้าหมายในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อย การปรับตัว ความก้าวหน้า และการพัฒนาด้านต่างๆของสังคม วิธีวิทยาที่นักวิชาการใช้เพื่อสร้างความรู้จึงเป็นการตอกย้ำและผลิตซ้ำการดำรงอยู่ของสรรพสิ่งและสังคม ตามครรลองของสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมา หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการสานต่อประวัติศาสตร์ของการดำรงอยู่ให้เคลื่อนไปสู่อนาคตในทิศทางที่ไม่ต่างไป

เราจึงมิอาจกล่าวได้ว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นจากศาสตร์ต่างๆ เป็นสิ่งบริสุทธิ์ที่จะช่วยให้มนุษย์พบแสงสว่างแห่งปัญญา อย่างที่กล่าวอ้างกัน แท้จริงแล้วความรู้เกิดจากเจตจำนงบางประการเพื่อที่จะจัดระเบียบสรรพสิ่งให้เป็นไปในทิศทางที่มีเป้าหมายซึ่งถูกกำหนดไว้แล้ว ดังนั้นสังคมจึงได้เริ่มมีการตั้งข้อสงสัยกับสิ่งเหล่านี้ โดยได้มีการเสนอวิธีวิทยาภายใต้กระบวนทัศน์ใหม่ ซึ่งเปิดพื้นที่ให้เจตจำนงและประสบการณ์ส่วนตัวของบุคคล ได้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความรู้และกำหนดความหมายให้กับสิ่งต่างๆ ทั้งนี้เพื่อนำไปสู่วิธีการมองโลกที่แตกต่างไปจากเดิม

โดยฐานคิดที่ว่า มนุษย์มีชีวิต มีจิตใจ และมีความรู้สึกของตัวเอง ประสบการณ์ชีวิตจึงไม่เพียงแต่สะท้อนสิ่งที่มนุษย์ถูกสังคมกำหนดให้เท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนที่เป็นเจตจำนงของบุคคลด้วย ดังนั้นสิ่งที่บุคคลกระทำในปัจจุบันจึงมีส่วนสำคัญในการกำหนดความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ในอนาคต การสร้างความรู้จากประสบการณ์ของบุคคลซึ่งเคยถูกละเลยจากแวดวงวิชาการ เพื่อเปิดพื้นที่ให้กับความรู้ที่เคยถูกกดทับหรือกีดกันเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบความรู้ของสังคมอย่างเสมอภาค เมื่อความรู้ถูกสร้างมาจากประสบการณ์อันหลากหลายของมนุษย์ เป้าหมายของการสร้างความรู้จึงไม่คับแคบและมีขอบเขตจำกัดเพียงเพื่อตอบสนองต่อความสนใจของศาสตร์ต่างๆเท่านั้น แต่เป็นความรู้ที่ตอบสนองต่อชีวิตที่มีความหลากหลายมากขึ้น

วิธีวิทยาของการสร้างความรู้ในยุค "หลังสมัยใหม่" จึงต่างจากยุค "สมัยใหม่" ในยุคสมัยใหม่ผู้วิจัยคือผู้เขียนผลการวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมมนุษย์และสังคมโดยผู้วิจัยคือผู้รู้ที่เข้าไปศึกษเรื่องราวต่างๆ โดยอ้างว่าปราศจากความรู้สึกส่วนตัว และแก่นสารของสิ่งที่การวิจัยยุค "สมัยใหม่" ให้ความสำคัญคือ การแสวงหาความจริงที่จะนำมาใช้ทดสอบและสร้างความเชื่อมั่นให้กับความรู้หรือทฤษฎีที่มีอยู่แล้ว ด้วยวิธีวิทยาแบบนี้ ความรู้ที่ศาสตร์ต่างๆ ได้สร้างขึ้นมาจึงตอกย้ำหรือถูกผลิตซ้ำแล้วซ้ำอีกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นการยากที่ความรู้และความจริงที่เคยถูกละเลยหรือกดทับไว้จะได้รับการสร้างหรือสถาปนาขึ้นมาใหม่ ในทางตรงกันข้าม หัวใจของการสร้างความรู้ในยุค "หลังสมัยใหม่" อยู่ที่การพยายยามเปิดพื้นที่ให้ความรู้และความจริงที่ถูกกดทับไว้ได้รับการสถาปนาขึ้นมา ดังนั้นเป้าหมายของการสร้างความรู้จึงมิใช่การพยายามมองหาความจริงที่มียืนยันความรู้เดิม หากแต่เป็นการพยายามทำให้ความรู้และความจริงที่ถูกกดทับหรือเบียดขับออกไป ได้พื้นที่ของตนในสังคม" (อ้างอิงจากแม่ของบ้าน : นภาภรณ์ หะวานนท์)

ประเด็นทั้งหมดข้างต้นเกิดคำถามสำคัญที่ว่า "ตำราเศรษฐกิจข้างถนน ประสบการณ์การต่อสู้และทุนที่เกิดจากแม่ จากผู้หญิงที่ต่อสู้แบบแม่อีกจำนวนมากไม่ถูกบันทึกว่าเป็นความรู้ และวิธีการดิ้นรน หาเลี้ยงครอบครัวของร้านข้าวแกงข้างถนนแบบแม่ ทำไมไม่ถูกเรียกว่าเป็นการบริหารจัดการ การจัดสรรงบประมาณ และการทำการตลาด ความรู้ของแม่หายไปในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมได้อย่างไร " ผู้เขียนอยากให้ "ตำราเศรษฐกิจข้างถนนของแม่ค้าข้าวแกง" มีส่วนทำให้ "เสียงเงียบ" ของคนชายขอบทั้งหลายมีส่วนในการสร้างความรู้และความจริงของสังคมขึ้นมาอีกทางหนึ่ง

อ่าน "แม่" ค้าข้าวแกง: ชีวิตและเศรษฐกิจข้างถนน

หมายเหตุ เป็นบทความวิชาการชิ้นแรกของฐิตินบ โกมลนิมิ ในวิชาระเบียบวิธีวิจัยแนวสตรีนิยม หลักสูตรปริญญาโทสตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การดูแลของอ.สินิทธ์ สิทธิรักษ์ ประธานโครงการหลักสูตรสตรีศึกษาคนแรก (ซึ่งภายหลังถูกปลดอย่างไม่เป็นธรรม) และรศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ ผู้รับผิดชอบวิชานี้ ต่อมาบทความนี้ได้รับการคัดเลือกนำเสนอในการประชุมวิชาการประเพณีสตรีศึกษาแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 3 ปี 2544 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ท้ายที่สุด ปี 2548 รศ.ดร.นภาภรณ์ ให้ลูกศิษย์ที่มหาวิทยาลัยศรีนคริทรวิโรฒ ประสานมิตร มาถ่ายทำสารคดีชีวิตประจำวันของแม่ฉัน ตามเค้าโครงเรื่องที่เขียนไว้ เพื่อเป็นสื่อการสอนในวิชาบูรณาการความรู้