Skip to main content
จุดเริ่มต้น?.

"คุณรู้จักเด็กไร้รัฐในประเทศไทยสักคนไหม?"

เราไม่โทษที่คุณไม่รู้จัก ทั้งที่เด็กเหล่านี้มีชีวิตและอาจเดินสวนกับคุณอยู่ทุกวัน แต่เขากลับไร้ "ตัวตน" อยู่แบบไม่มีสถานะบุคคลตามกฎหมาย และไม่มีเอกสารหลักฐานที่จะใช้พิสูจน์ตน ที่รัฐจะรับรองความเป็นคน รัฐไม่เคยกอดและมอบสิทธิหรือสวัสดิการใดให้แก่เขา บางช่วงเวลาก็จะถูกกดและหวด ตี ด้วยทัศนะเหยียดเด็กว่า เป็น "ภัยความมั่นคง" หรือ "ภาระของประเทศชาติ" อันเป็นปัญหาสังคม

เขาตะโกนแทบตาย เขาขอความช่วยเหลือจากคุณ แต่เสียงของเขาหายไป เพราะเขาไม่มีตัวตน!!!

แต่เขายืนอยู่ตรงหน้าคุณนะ... เด็กไร้รัฐในประเทศไทย หมายถึงเด็กที่อยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถส่งไปให้ประเทศใดได้ เพราะไม่มีรัฐใดยอมรับให้สิทธิอาศัย หรือไม่มีรัฐใดยอมให้เป็น "ราษฎร" หรือ "พลเมือง" หรือเป็นเด็กที่ไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎรของรัฐหรือประเทศใด เมื่อทางราชการตรวจพบจะต้องตกเป็น "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย" เป็นความผิดทางอาญาที่เขาไม่ได้ก่อขึ้นเอง โทษทัณฑ์รุนแรงที่สุดคือการผลักดันออกนอกประเทศ ทั้งที่เด็กบางคนอาจมีพยานรู้เห็นว่าเกิดในประเทศไทย และต้องอาศัยอยู่ในประเทศไทยเท่านั้น เพราะเขาไม่เคยรู้จักประเทศอื่นใดในโลก

ถามว่า ปัญหาเด็กไร้รัฐนี้ใหญ่พอที่สังคมต้องให้ความสำคัญและสนใจไหม"

แน่นอนสำคัญและเป็นปัญหาใหญ่มาก เพราะเราสามารถพบเด็กไร้รัฐได้ทั่วประเทศไทย ด้วยการอพยพเคลื่อนย้ายแรงงานภายในประเทศ ทำให้มีเด็กจำนวนมากที่เกิดจากพ่อแม่ที่เป็นแรงงานไทยและไม่ได้ไปแจ้งเกิด ถูกปล่อยให้เติบโตอยู่ในแหล่งชุมชนแออัดในกรุงเทพฯ และเขตเมืองในจังหวัดต่างๆ อนาคตเด็กหลายคนต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อนตามบาทวิถี หรือเด็กที่เกิดจากพ่อแม่ซึ่งเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมก่อนมีรัฐไทยบริเวณเขตพื้นที่สูง พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคตะวันตก และพื้นที่จังหวัดชายทะเล เพราะความไกลและทุรกันดารเด็กเหล่านี้จึงไม่ได้รับการแจ้งเกิด รวมทั้งเด็กที่ถูกทอดทิ้งตามโรงพยาบาล สถานที่ต่าง ๆ ให้ต้องกลายเป็นเด็กไร้รากเหง้า ลูกหลานที่เกิดจากพ่อแม่และบรรพบุรุษซึ่งเป็นคนไทยผลัดถิ่น เด็กที่เกิดในประเทศไทยจากพ่อแม่หนีภัยความตายจากการสู้รบตามตะเข็บชายแดนไทย รวมทั้งเด็กและครอบครัวที่เคยมีตัวตน แต่ต้องไร้รัฐแบบฉับพลันด้วยเหตุการณ์สึนามิ ทำให้เอกสารต่างๆ พลัดหายไปกับคลื่นยักษ์ ฯ

"ความไร้รัฐ" จึงเป็นทั้งเหตุและผลแห่งการถูกเลือกปฏิบัติ เด็กไร้รัฐมักถูกปล่อยปละละเลยให้ตกอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมและด้อยกว่าเด็กทั่วไป ขาดโอกาสในการพัฒนาตนเองอย่างเหมาะสมตามวัย เช่น ขาดโอกาสในการศึกษา ไม่ได้รับความคุ้มครองในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีปัญหาในการตั้งครอบครัวและจดทะเบียนสมรส มีปัญหาในการสมัครเข้าทำงาน และมีปัญหาในการเดินทางข้ามดินแดน เป็นต้น ลักษณะและปัญหาของเด็กไร้รัฐมีความหลากหลาย มีความสลับซับซ้อนของปัญหาสูง อีกทั้ง การสืบหาและนับจำนวนเด็กไร้รัฐอย่างเป็นทางการเพื่อให้ความช่วยเหลือคุ้มครองก็ทำได้ยากยิ่ง

แม้โดยหลักกฎหมายประเทศไทยแล้ว จะยอมรับให้บุคคลมีสัญชาติไทยได้โดยทันที หากบุคคลนั้นมีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายกำหนด หรือหากบุคคลนั้นเป็นต่างด้าวที่มีความกลมกลืนกับสังคมไทยแล้วก็อาจร้องขอสัญชาติไทยภายหลังการเกิดได้หากมีข้อเท็จจริงครบตามที่กฎหมายกำหนดเช่นกัน และยังมีกฎหมายและนโยบายอื่นๆ อีกเป็นจำนวนไม่น้อยที่เกี่ยวข้องกับการแก้ปัญหาความไร้รัฐในสถานการณ์ต่างๆ เช่น ยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคล ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2548

แต่ในความเป็นจริง มีหลายกรณีที่รัฐปฏิเสธความเป็นไทยของเด็กไร้รัฐและครอบครัวในกลุ่มต่างๆ ทั้งที่กฎหมายกำหนดให้สัญชาติไทยกับเขาเหล่านั้นแล้ว แล้วยังการเรียบเรียง สังเคราะห์กฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องให้อยู่ในรูปแบบที่สะดวกในการนำมาใช้อย่างเป็นระบบ ก็เพราะเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขาดความรู้ความเข้าใจอย่างเพียงพอ ตลอดจนการขาดความตระหนักในหน้าที่ที่ตนมีต่อการให้ความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเด็กไร้รัฐ และขาดความความตระหนักในความจำเป็นและความสำคัญของการแก้ปัญหาเด็กไร้รัฐที่ตกอยู่ในประเทศไทย เป็นเหตุให้ปัญหาเด็กไร้รัฐในประเทศไทยยังคงเป็นเรื่องท้าทายการผลักดันให้มีการแก้ไขต่อไป

จุดเปลี่ยน......

ด้วยเหตุนี้ โครงการเพื่อเด็กไร้รัฐในประเทศไทย (For Stateless Child.org) จึงเกิดขึ้น จากการริเริ่มและรวมตัวของกลุ่มคนจำนวนเท่านิ้วมือ ตั้งแต่ผู้นำองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ที่มีปัญหาชุกชุม องค์กรพัฒนาเอกชน นักกฎหมาย นักเทคโนโลยีสารสนเทศ และนักสื่อสารสาธารณะ เพื่อผลักดันและช่วยเหลือทุกทางให้เด็กไร้รัฐมีตัวตนให้มาก ถึงมากที่สุดภายในระยะเวลาอันสั้น ใครควรได้รับสัญชาติไทยต้องได้ และใครไม่เข้าข่ายอย่างน้อยต้องมีบัตรแสดงสถานะบุคคล หากเขาผสมกลมกลืนเข้ากับสังคมไทยได้ระดับหนึ่งแล้ว พูดง่ายๆ คือ ไม่ใช่คนตัวเปียกน้ำ (คนต่างด้าวที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทยใหม่ๆ)

เราจะสู้เพื่อให้เขาไม่ผิดกฎหมายทั้งๆ ที่เขาเกิดในประเทศไทย ไม่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เขาจึงไม่น่าเป็นผู้กระทำความผิดในฐานะ "คนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย" โดยการผลักดันให้แก้ไขมาตรา 7 ทวิ วรรค (3) ตามพ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ. 2508 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2535

เราจะสำรวจและรณรงค์ให้เด็กทุกคนที่เกิดในแผ่นดินไทยมีเอกสารรับรองการเกิดอย่างถูกต้อง และมีชื่อในทะเบียนประวัติราษฎร มีการขับเคลื่อนให้กลไกของยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคลมีประสิทธิภาพ พร้อมไปกับการสื่อสารปรับทัศนคติกลุ่มเป้าหมายสำคัญ เพื่อเอื้อให้เจ้าของปัญหาได้ลุกขึ้นมาสู้เพื่อตนเองด้วย โดยเป้าหมายสูงสุดให้ "เด็ก" ทุกคนในประเทศนี้ไม่ถูกละเมิดสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติ รวมทั้งได้รับการพัฒนาตามวัยอย่างเหมาะสม ซึ่งภาระงานที่หนักหนานี้ จักสู้ด้วยความรู้ การร่วมมือกันระหว่างเครือข่าย และการสื่อสารสาธารณะที่มีพลัง

โครงการเพื่อเด็กไร้รัฐในประเทศไทย: ใคร-จะทำอะไรกันบ้าง"

หลังจากที่ รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร นักวิชาการด้านไร้รัฐไร้สัญชาติ (ที่ปรึกษาโครงการฯ)นางจิราพร บุนนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิชกุล สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล นางเตือนใจ ดีเทศน์ สมาชิกวุฒิสภา จังหวัดเชียงราย รวมทั้งนักปฏิบัติอีกหลายท่านที่ทำงานด้านนี้ใช้ชีวิตและเวลาระยะหนึ่งในการสร้างฐานความรู้ สร้างเครื่องมือในการแก้ปัญหา รวมทั้งนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่เปิดโอกาสให้มีการนำความรู้และเครื่องมือต่างๆ ทั้งทดสอบและลงมือในการแก้ไขปัญหาเด็กและครอบครัวไร้รัฐไร้สัญชาติกว่า 200 กรณีศึกษา จนได้ชุดความรู้หรือสูตรในการแก้ปัญหานี้จากปัจเจกยกระดับสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างได้ ภายใต้โครงการ เด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ทำให้สามารถออกแบบ "ระบบ ฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาสิทธิและสถานะบุคคล" เป็นรูปร่างขึ้นมาแล้วนั้น

ส่วนคนที่ลงมือทำงานเพื่อให้ "ระบบ" ดำเนินการต่อได้ ภายใต้โครงการนี้ มี 4 กลุ่ม แตะมือ รับช่วง ส่งต่อ และแบ่งงานกันในลักษณะการร่วมทุนทางสังคม คือ

1. มูลนิธิกระจกเงา จะสร้างโปรแกรมสำเร็จรูปแจกจ่ายให้องค์กรชุมชนเครือข่ายเริ่มต้น โดยโปรแกรมดังกล่าวจะสามารถบันทึกข้อมูลบุคคลและแปรผลในทันที ว่าเด็กและคนในครอบครัวมีสถานะบุคคลเช่นใด และตกหล่นสิทธิใดบ้าง ควรให้การช่วยเหลือทางกฎหมายลักษณะใด

2. ระบบฐานข้อมูลนี้จะเคลื่อนได้ก็ด้วยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) จังหวัดเชียงราย ซึ่งทำงานเกี่ยวกับคนในพื้นที่สูง คนไร้รัฐ ไร้สัญชาติมานาน เป็นเรี่ยวแรงสำคัญประสานกับเครือข่ายองค์กรชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ ในการสำรวจสถานการณ์ปัญหา ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิและสถานะบุคคล เพื่อเติมลงถัง "ระบบข้อมูล" อีกทั้งเป็นเจ้าของทฤษฎี "ห้องเรียนกฎหมายเคลื่อนที่" ในการให้ความรู้แก่ชาวบ้าน เพื่อให้เจ้าของปัญหาได้เรียนรู้และสามารถลุกขึ้นต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิของเขาได้อย่างสง่างาม ยังได้ชักชวนองค์กรสิทธิชุมชนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์พัฒนาเครือข่ายเด็กและชุมชน จังหวัดแม่ฮ่องสอน และโครงการพัฒนาคุณภาพชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยา เข้ามาเป็นเพื่อนร่วมเดินทางที่ท้าทายนี้

3. เมื่อต้นทางการออกแบบระบบฐานข้อมูลและปลายทางของการใช้อยู่บนฐานคิดเรื่องการให้ควาช่วยเหลือด้านกฎหมาย ดังนั้น คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จะเป็นทั้งช่างเชื่อม(คนทำงาน)และช่างซ่อม(คนมีปัญหา) โดยทำตั้งแต่ออกแบบแบบสอบถามเพื่อให้องค์กรชุมชนลงไปเก็บข้อมูลในพื้นที่ตามเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นต้นทุนให้มูลนิธิกระจกเงา แปรเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ทั้งยังร่วมออกแบบหลักสูตร "ห้องเรียนกฎหมายเคลื่อนที่" กับองค์กรชุมชนที่กล่าวข้างต้นให้ยืดหยุ่นกับแต่ละสถานการณ์และกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงผลิตและสร้างทนายอาสาหรือหมอตีนเปล่าไปติดตามคดีของเด็กไร้รัฐที่ติดค้าง และตกคลั่กอยู่ในระบบราชการให้ปัญหาลุล่วง โดยระยะสั้น จะช่วยเรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานก่อน โดยเฉพาะสิทธิทางการศึกษาและสาธารณสุข ระยะกลาง ต้องช่วยให้เด็กเหล่านี้มีบัตรแสดงตนอย่างใดอย่างหนึ่ง และระยะยาว ต้องนำไปสู่การพิสูจน์และกำหนดสถานะบุคคลว่าเขาเป็นคนไทยหรือคนต่างด้าว ที่รัฐใดรัฐหนึ่งในโลกยอมรับเขาเป็นพลเมือง และ

4. ระหว่างการต่อสู้และขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นนี้ มีโครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ ( PUDSA " Public Dissemination for Social Awareness) ที่ใช้ความรู้ ชีวิต และประสบการณ์ของเด็กไร้รัฐและคนทำงานทั้งหมด เป็นต้นทุนให้เกิดการสื่อสารข้อเท็จจริงและวิธีการแก้ไขปัญหาทุกรูปแบบ อันเป็นการทำงานเชิงความคิด เพื่อเปลี่ยนคน ปรับทัศนคติ รณรงค์แก่สาธารณะ ที่เป็น "กลุ่มเป้าหมาย" หลากหลายให้ตระหนักและเชื้อชวนเข้ามาแก้ปัญหานี้ร่วมกันจนลุล่วง

สิ้นสุดกระบวนการ ก็คือ "เด็กไร้รัฐ" และครอบครัวที่ได้รับการช่วยเหลือจนแล้วเสร็จ ก็จะทำการประสานเพื่อย้ายข้อมูลจาก "ฐานข้อมูลคนไร้รัฐและไร้สัญชาติ" ไปสู่ "ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร" ของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และเมื่อระบบสามารถเคลื่อนและไหลอย่างดี เราจะขยายขอบเขตการทำงานในระยะต่อไป โดยแตะมือกับเครือข่ายองค์กรชุมชนภาคอื่นให้กว้างและทั่วประเทศในอนาคต

กระบวนการข้างต้นเกิดขึ้นจริงได้ นอกจากมีการเชื่อมคน เชื่อมความรู้ และเชื่อมการทำงานแล้ว ที่สำคัญเรายังได้รับการสนับสนุนทุนจากกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (ยูนิเซฟ) ประจำประเทศไทยด้วย

เรานับหนึ่งแล้ว.....

โดยทำงาน 2 ระดับประสานกัน กล่าวคือ งานในแนวตั้งนั้น เริ่มจากวันที่ 14 ธันวาคม 2548 พวกเราได้เชิญนักคิด นักปฏิบัติ นักวิชาการ นักกฎหมายทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนหนึ่ง มาช่วยเหลือด้วยทุนทางปัญญา และร้องขอบางท่านให้เข้ามาเป็น "คณะกรรมการที่ปรึกษาโครงการฯ" เพื่อเป็นผู้กำหนด ชี้ทิศทาง และให้ความช่วยเหลือการทำงานในมิติต่างๆ ที่นับเป็นโรงงานผลิตความรู้แก่เครือข่ายในโครงการฯ อย่างสำคัญ ก้าวต่อไป จะมีการประชุมวิชาการระหว่างประเทศภายในเดือนมกราคม " กุมภาพันธ์ 2549 เพื่อให้องค์กรชุมชนในพื้นที่ผู้สัมผัสปัญหา ได้พบกับผู้รู้วิธีแก้ปัญหาทั้งนักวิชาการ ตัวแทนจากภาครัฐ เอกชน และองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ให้ทุนสนับสนุนการทำงาน เพื่อพบปะ แลกเปลี่ยน ความรู้ ความคิด และประสบการณ์ระหว่างกัน ฯ

นอกจากนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานชุดเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อสนับสนุนให้กลไกของยุทธศาสตร์การจัดการสิทธิและสถานะบุคคลเคลื่อนไปพร้อมกัน รวมทั้งทำงานร่วมกับคณะอนุกรรมการปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับเด็กตามมาตรฐานของรัฐธรรมนูญและอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่มีคุณหญิงสายสุรี จุติกุล เป็นประธาน คณะอนุกรรมาธิการศึกษาหามาตรการในการแก้ไขปัญหาเด็กไร้สัญชาติ คณะกรรมาธิการกิจการสตรี เยาวชน และผู้สูงอายุ วุฒิสภา ฯลฯ

ส่วนงานในแนวนอนนั้น วันที่ 14 มกราคม 2549 ทุกเครือข่ายในโครงการร่วมกันจัดงาน "วันเด็กไร้สัญชาติ" เป็นครั้งที่ 2 ณ โรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา จังหวัดเชียงราย โดยมีกิจกรรมที่สำคัญ อาทิ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ จะสร้างเครือข่ายนักศึกษานิติศาสตร์อาสาสมัคร โดยเปิดห้องเรียนอบรมกฎหมายด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้นักศึกษา และพาลงพื้นที่ในงานเพื่อสำรวจสถานการณ์และรับคำร้องด้านสถานะและสิทธิบุคคลให้เด็กไร้รัฐและไร้สัญชาติ กว่า 1,500 คน ที่องค์กรชุมชนเครือข่ายพามา โดยมีมูลนิธิกระจกเงาสร้างระบบฐานข้อมูลและโปรแกรมจัดเก็บข้อมูลพร้อมเปิดตัวเพื่อใช้งาน

คุณจันทราภา นนทวาสี ผู้ปฏิบัติงานของคุณเตือนใจ ดีเทศน์ จะสร้างเวที "เล่าขวัญ ตั๋วเก่า" เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ความไร้สัญชาติจากพี่ๆ ซึ่งมีทั้งอดีตเด็กไร้สัญชาติที่ต่อสู้จนสำเร็จแล้ว และที่กำลังต่อสู้อยู่ในปัจจุบันสู่น้องๆ ที่เข้าร่วมงาน

โครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ จะเปิดห้องเรียนอบรมพิราบน้อยแก่นักศึกษานิเทศศาสตร์ไร้สัญชาติจำนวนหนึ่ง ให้เขาเป็นผู้สื่อข่าวปัญหาและติดตามความเคลื่อนไหวจากจุดยืนของเขาเอง เราจะเชื่อมร้อยและเปิดพื้นที่ให้เขามีเสียงและที่ทางในสื่อกระแสหลักและสื่อทางเลือก

นอกจากนี้เรายังได้รับความร่วมมือจากมวลมิตรที่จะมาเปิดซุ้มนิทรรศการเพื่อให้ความรู้แก่เด็กไร้สัญชาติที่เข้าร่วมงานด้วย อาทิ เช่น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สภาทนายความ อนุกรรมการในวุฒิสภา องค์การ แพลนแห่งประเทศไทย (สำนักงานภาคเหนือ) เป็นต้น

ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านสถานที่การจัดงานรับผิดชอบโดยมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) โดยมีโรงเรียนสหศาสตร์ศึกษา อำเภอเมือง จังหวัดเชียงรายอำนวยความสะดวกด้านสถานที่ให้ และเด็กๆ ที่เข้าร่วมงานก็ไม่ต้องกลัวหิวเพราะจะมีโครงการพัฒนาคุณภาพชุมชนชาวเขาผู้ไร้สิทธิและสัญชาติไทย จังหวัดพะเยาเป็นผู้ดูแลด้านอาหาร

ในงานนี้ทุกคนจะได้รับความรื่นเริงจากกิจกรรมการละเล่นของโรงเรียนและองค์กรเครือข่ายต่างๆ รวมทั้งได้กำลังใจจากอาจารย์อายุ นามเทพ นักดนตรีชื่อก้องโลกแต่ไร้รัฐ เพราะหนีภัยความตายมาอยู่ในประเทศไทยกว่า 40 ปี พาลูกศิษย์มาขับกล่อมร้องประสาน

และในวันเด็ก(ไร้สัญชาติ)นี้ พวกเราจะสร้างมิติใหม่ โดยประกาศปฏิญญาว่า เด็กทุกคนในประเทศไทยต้องมีตัวตน ใครเกิดในประเทศไทยต้องได้รับการแจ้งเกิด และมีชื่อในทะเบียนราษฎร อันเป็นก้าวแรกที่เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิและการคุ้มครองต่างๆ จากรัฐและผู้ปกครองอย่างแท้จริง

เป็นที่น่ายินดี วันอันน่าตื่นเต้นเช่นนี้ เรามีผู้แทนจากองค์การยูนิเซฟประจำประเทศไทย องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ รวมทั้งตัวแทนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภาจำนวนหนึ่ง ฯลฯ ร่วมเป็นสักขีพยานด้วย

การเดินทางของพวกเราและเด็กไร้รัฐเริ่มต้นแล้ว"

ถามอีกครั้ง "ถ้าเด็กไร้รัฐยืนอยู่ตรงหน้า คุณจะทำอย่างไร""

"..............................................."


ฐิตินบ โกมลนิมิ
โครงการก่อตั้งมูลนิธิสื่อสารสาธารณะ
วันอังคารที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2548