Skip to main content

หนังเรื่องนี้ชวนให้เราใคร่ครวญตามว่า แม้รัฐจะมีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อรักษา "ความมั่นคงของชาติ" ไว้ แต่มันจะเป็นการกระทำอันชอบธรรมได้อย่างไรหากนำมาซึ่งการรุกรานสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชนในฐานะปัจเจก " รัฐมีสิทธิ์ไหมที่จะทำลายชีวิตของใครเพียงเพราะพวกเขาเชื่อถือในสิ่งที่ต่างจากกระแสหลัก " รัฐมีสิทธิ์หรือที่จะประณามหยามเหยียดผู้ใดเพียงเพราะพวกเขาแสดงทัศนคติซึ่งคัดง้างกับทิศทางนโยบายของผู้มีอำนาจ " รัฐมีสิทธิ์ตรงไหนที่จะกล่าวหาลงทัณฑ์ใครอย่างรุนแรงก้าวร้าวโดยไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ต่อสู้บนวิถีทางของกระบวนการอันยุติธรรมและเท่าเทียม " ในเวลาเดียวกับที่สอดแทรกประเด็นจริงจังทางสังคมและการเมืองเหล่านี้ไว้แบบเนียนๆ ตลอดทั้งเรื่อง หนังยังเพิ่มน้ำหนักเกี่ยวกับความขัดแย้งที่สื่อมวลชนต้องพบเจอในฐานะมนุษย์ปุถุชนไว้ด้วย
ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ พาเราไปดูหนังเรื่องนี้ในแง่มุมที่ไม่ควรพลาด ทหารหนุ่ม ไมโล ราดูโลวิช ถูกไล่ออกจากกองทัพ ...เพราะผู้บังคับบัญชาจับได้ว่าพ่อของเขาชอบอ่านหนังสือพิมพ์เซอร์เบีย ?!


เสมียนสาว แอนนี่ ลี มอสส์ ถูกตั้งข้อหา ...เพราะชื่อของเธอซ้ำกับชื่อในรายนามสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งอเมริกา ?!


นักข่าวโทรทัศน์ ทอม ถูกสอบสวน ...เพราะโดนแฉว่าเมียเก่าของเขาเคยไปประชุมกับกลุ่มการเมืองอะไรสักอย่างที่น่าสงสัยว่าอาจเป็นคอมมิวนิสต์ ?!


ฟังเหมือนเป็นเรื่องตลกร้าย ฟังเหมือนเป็นการตัดสินลงโทษที่เกิดจากเหตุผลอันไร้สาระ แต่ก็ความไร้สาระเช่นนี้แหละที่เคยเกิดขึ้นจริง !


ทศวรรษ ๑๙๕๐ เป็นช่วงเวลาที่ประเทศสหรัฐอเมริกาอาบคลุมด้วยบรรยากาศแห่งความหวาดผวาน่าระแวง รัฐบาลอเมริกันในนามตัวแทนโลกเสรีหวั่นเกรงนักว่า ลัทธิคอมมิวนิสต์ที่เกรียงไกรจะแผ่ขยายเข้าครอบงำ จึงวางกลยุทธ์ต่อสู้ต้านทานแบบแข็งกร้าว โดยหนึ่งในนั้นก็คือการตั้งคณะกรรมการ Senate Committee on Government Operations และ Senate Permanent Subcommittee on Investigations ภายใต้การนำของวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็กคาร์ธี เพื่อสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ (หรือผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับรัฐ) ที่ "ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์" อันเป็นพฤติกรรมซึ่งถือว่าเป็นภัยร้ายแรงต่อความมั่นคงของประเทศ


แต่แม้ขอบเขตการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายจะคือการสอบสวน ปฏิบัติการที่แท้จริงของแม็กคาร์ธีกลับรุกล้ำไปไกลกว่านั้นมาก เพราะนอกจากบ่อยครั้งจะใช้วิธีตั้งข้อกล่าวหาใครต่อใครทั้งที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนแล้ว เขายังมักใช้อำนาจกดดันหน่วยงานรัฐให้ลงโทษเหล่าผู้ต้องสงสัย โดยไม่มีการพิจารณาสอบสวนใด ๆ เลยด้วยซ้ำ การกระทำของเขาจึงส่งผลให้ชาวอเมริกันนับร้อยชีวิตต้องพบความสูญเสียทั้งในด้านหน้าที่การงาน ครอบครัว ฐานะทางเศรษฐกิจ ความเชื่อถือทางสังคม และความศรัทธาในตนเองไปอย่างน่าอดสู


ด้วยความลุแก่อำนาจจนน่ารังเกียจเช่นนี้เอง ที่ทำให้ในเวลาต่อมามีผู้ตั้งฉายาแม็กคาร์ธีว่า "หมอผี" ส่วน "ลัทธิแม็กคาร์ธี" ก็ถูกเปรียบว่าไม่ต่างจากลัทธิล่าแม่มดในยุโรปยุคศตวรรษที่ ๑๕ เพราะเป็นการมุ่งกวาดล้างอย่างรุนแรงต่อใครก็ตามที่คิดและเชื่อแตกต่างจากตน โดยไม่สำคัญว่าจะมีพยานหลักฐานมากน้อยแค่ไหน ที่ยิ่งกว่านั้น ทั้งสองลัทธิยังมีวิธีทำงานที่ทรงอิทธิพลต่อจิตวิทยามวลชนอย่างน่าขนลุกเหมือนกัน คือต่างก็อ้างว่าตนมีเจตนารมณ์ยิ่งใหญ่เพื่อส่วนรวม (ในกรณีของลัทธิล่าแม่มดคือการปกป้องชุมชนให้พ้นจากการครอบงำของซาตาน ส่วนลัทธิแม็กคาร์ธีคือการปกป้องประเทศชาติให้พ้นจากภัยคอมมิวนิสต์) และใช้วิธีปิดหูปิดตาสังคมไม่ให้มีโอกาสได้ศึกษาทำความเข้าใจสิ่งที่ถูกกล่าวหานั้นอย่างถ่องแท้ด้วยตนเอง แต่กลับเน้นการปลุกเร้าให้ทุกคนตกอยู่ในบรรยากาศของความหวาดกลัว จนในที่สุดก็ต้องพากันพยักหน้ายอมรับการตัดสินใจทุกประการของผู้มีอำนาจแต่โดยดี


ที่น่าเจ็บปวดคือ ไม่ได้มีเพียงลัทธิล่าแม่มดและลัทธิแม็กคาร์ธีเท่านั้นหรอกที่ประสบความสำเร็จกับวิธีดังกล่าว ทว่าผู้นำที่ครอบงำประชาชนด้วยความกลัวอันไร้เหตุผลนั้นยังสิงสู่อยู่ในทุกยุคและทุกที่ !


กล่าวในบริบทของประเทศสหรัฐอเมริกาปัจจุบัน สถานการณ์ลักษณะเดียวกันนี้คือสิ่งที่สร้างความอึดอัดขัดข้องอย่างยิ่งยวดแก่ จอร์จ คลูนีย์ พระเอกหนุ่มเจ้าสำอางจากหนังอย่าง Batman and Robin และ Ocean?s Eleven จนเขาอดรนทนไม่ไหว ต้องตัดสินใจลงมือเขียนบทและกำกับหนังเรื่อง Good Night, and Good Luck (ซึ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งล่าสุดทั้งในสาขาภาพยนตร์ ผู้กำกับ และเขียนบทยอดเยี่ยม) เพื่อประกาศให้โลกได้รับรู้ว่า เขาโกรธเคืองแค่ไหนที่เห็นรัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้าย และสั่งบุกอิรักด้วยการยกเอาเหตุการณ์ ๑๑ กันยายน ๒๐๐๑ มาอ้างอย่างหาความน่าเชื่อถือไม่ได้ แล้วกลับไม่มีสื่อมวลชนกระแสหลักรายใดกล้าแสดงบทบาทต่อต้านหรือกระทั่งตั้งคำถามซักค้านถึงความบิดเบือนเลื่อนเปื้อนนั่นกันเลย !


เพื่อจะแสดงความกังขา พร้อม ๆ กับกระตุ้นจิตวิญญาณเสรีของสื่อมวลชนให้เริ่มทำงาน คลูนีย์เลือกถ่ายทอดชีวประวัติตอนหนึ่งของ เอ็ดเวิร์ด อาร์ เมอร์โรว์ นักข่าวและผู้จัดรายการสนทนาทางสถานีโทรทัศน์ซีบีเอสยุค ๑๙๕๐ ซึ่งมีบทบาทอย่างเข้มข้นในการลุกขึ้นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานที่ไม่ชอบมาพากลของวุฒิสมาชิก โจเซฟ แม็กคาร์ธี จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลัทธิหมอผีนี้ล่มสลายในเวลาต่อมาไม่นานนัก


เรามักได้ยินกันบ่อย ๆ ว่า ในบรรดาสื่อสารมวลชนทั้งหลาย สื่อประเภทที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของผู้ชมสูงสุด ขณะที่ก็มักมีความกล้าหาญน้อยสุด ก็คือสื่อโทรทัศน์ เพราะมันเป็นสื่อที่ผูกติดกับผลกำไรทางธุรกิจและอำนาจทางการเมืองอย่างแน่นเหนียว ด้วยเหตุนั้น การที่เมอร์โรว์ใช้รายการโทรทัศน์ของเขาเป็นเวทีโยนหมัดกระแทกหน้าแม็กคาร์ธีแบบตัวต่อตัวจึงได้รับเสียงยกย่องว่า เป็นการทำหน้าที่ของฐานันดรที่สี่ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการโทรทัศน์เลยทีเดียว


เมอร์โรว์เคยสะสมชื่อเสียงมาพอตัวเมื่อครั้งเป็นผู้รายงานข่าวทางวิทยุในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ และเขายังคงรักษาชื่อเสียงด้านความกล้าในการรายงานอย่างตรงไปตรงมาเรื่อยมาจนถึงตอนก้าวเข้ารับตำแหน่งผู้จัดรายการสนทนายอดนิยมทางซีบีเอส กระนั้นก็ดี เดิมทีรายการ "Person to Person" ของเขาเป็นเพียงรายการสัมภาษณ์คนดังในสาขาอาชีพต่าง ๆ ที่เน้นความบันเทิงเป็นหลักเท่านั้น จนกระทั่งวันหนึ่งระหว่างประชุม เขาเกิดสะดุดใจกับข่าวทหารหนุ่มราดูโลวิชถูกไล่ออกจากกองทัพ และถูกตั้งข้อกล่าวหาโดยไม่เป็นธรรมว่า มีพ่อฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ เมอร์โรว์กับ เฟร็ด เฟรนด์ลี โปรดิวเซอร์เพื่อนซี้ จึงได้ตัดสินใจเบนเข็มมาจับประเด็นนี้ และเดินหน้าโจมตีการใช้อำนาจเกินขอบเขตของแม็กคาร์ธีอย่างเต็มเหนี่ยวต่อเนื่องนับจากนั้น


ความน่าสนใจในงานกำกับของ จอร์จ คลูนีย์ ไม่ได้อยู่แค่ตรงที่เขาทำ Good Night, and Good Luck ให้เป็นหนังขาวดำเพื่อขับเน้นความสมจริงตามแบบรายการข่าวของยุค '๕๐ เท่านั้น แต่เขายังหลีกเลี่ยงท่าทีไชโยโห่ร้องเชิดชูวีรกรรมของเมอร์โรว์ให้ยิ่งใหญ่เริดหรู (ทั้งๆ ที่เนื้อเรื่องเอื้อให้ทำได้เต็มที่) ด้วย ตรงกันข้าม หนังแทบไม่เปิดเผยให้เราได้เห็นชีวิตด้านอื่นใดเลยของเมอร์โรว์กับเพื่อน ๆ นอกจากช่วงเวลาที่ทำงานกันแบบเร่งรีบกดดันในห้องข่าว อีกทั้งยังไม่เปิดโอกาสให้เราได้รับรู้ด้วยว่า พวกเขามีความรู้สึกย่ำแย่แค่ไหนกันบ้างต่อความกดดันต่าง ๆ ที่ต้องเผชิญ ซึ่งการทำหนังที่ไร้อารมณ์ดรามาฟูมฟายเช่นนี้ มีผลให้คนดูไม่เกิดความรู้สึกคึกคักฮึกเหิมจนเกินงาม และสามารถใช้สมาธิไปกับการขบคิดเกี่ยวกับคำถามต่าง ๆ ของหนังได้เต็มที่


คลูนีย์กับ แกรนต์ เฮสลอฟ แสดงทัศนคติที่ทั้งลึกและกว้างอย่างไม่ธรรมดาให้เห็นในงานเขียนบทหนังเรื่องนี้ เพราะภายใต้พล็อตและลีลาการเล่าที่เป็นไปอย่างเรื่อย ๆ เรียบ ๆ นั้น หนังกลับอัดแน่นไปด้วยประเด็นทางสังคมและการเมืองที่ชวนคิดชวนถกเถียง เริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามของเมอร์โรว์ (ในการกล่าวสุนทรพจน์ซึ่งเป็นฉากเปิดเรื่อง) ว่า จริงหรือที่สื่อโทรทัศน์ไม่อาจเป็นอะไรได้อีกแล้ว นอกจากอาหารบันเทิงจานใหญ่ที่คอยป้อนผู้คนให้อิ่มหนำสำราญ " และจริงไหมที่ว่า ประชาชนส่วนใหญ่ล้วนใส่ใจเฉพาะปากท้องของตน จนเฉื่อยชาเกินกว่าจะปรารถนาความจริงใด ๆ อีกแล้วนอกเหนือไปจากความลวงที่สื่อพากันป้อนให้อยู่ทุกวี่วัน "


แน่ละที่เมอร์โรว์ไม่เชื่ออย่างนั้น แต่มันก็ไม่ง่ายที่จะเกลี้ยกล่อมให้คนอื่นเห็นตามเขาไปด้วย เมื่อเขาวิจารณ์แม็กคาร์ธีออกรายการหนักข้อเข้า วิลเลียม แพลีย์ เจ้านายที่พยายามอุ้มชูเขาตลอดมา ก็จำต้องเอ่ยปากตักเตือนว่า "อย่าลืมนะว่าเราไม่ได้มีหน้าที่สร้างข่าว เราแค่รายงานข่าวเท่านั้น"


คำพูดดังกล่าวถูกย้ำประเด็นอย่างชัดเจนในฉากที่ ซิก มิกเคลสัน เจ้านายอีกคนหนึ่งถามเขาว่า "คุณจะทำรายการโจมตีแม็กคาร์ธีด้วยการให้ราดูโลวิชพูดฝ่ายเดียว โดยไม่สัมภาษณ์แม็กคาร์ธีหรือทางกองทัพเลยงั้นเหรอ " นี่ตกลงคุณจะทิ้งอุดมการณ์ที่ว่า "เราจะวางตัวเป็นกลางด้วยการให้ทั้งสองฝ่ายได้พูดเท่า ๆ กัน โดยเราจะไม่แสดงความเห็นส่วนตัวอะไรทั้งนั้น" ไปแล้วใช่ไหม?


"รายงานความจริง" และ "วางตัวเป็นกลาง" ดูจะเป็นสองวลีที่สื่อมวลชนทั้งหลายยึดถือแม่นมั่น มันดูเป็นหลักการพื้นฐานที่ดีงาม แต่สิ่งที่เมอร์โรว์ถามก็คือ ก็แล้วสิ่งใดเล่าคือ "ความจริง" การกระทำแบบใดเล่าจึงถือว่า "เป็นกลาง" และยิ่งกว่านั้น - สื่อมวลชนสมควรมีหน้าที่เพียงเป็นผู้บอกเล่า โดยมิอาจแสดงจุดยืนทางความคิดใด ๆ ได้เลยงั้นหรือ ?


เมื่อเมอร์โรว์ตัดสินใจฉีกตำราทิ้ง และประกาศตัวเป็นฝ่ายคัดค้านผู้มีอำนาจ เขาก็ต้องพบชะตากรรมที่ไม่ยากต่อการคาดเดา แฟ้มประวัติของเขาเริ่มโดนขุดคุ้ย ตามด้วยการที่โปรดิวเซอร์รายการของเขาถูกทหารเรียกพบ ลูกทีมทั้งหมดโดนสอบสวน สถานีซีบีเอสถูกเจ้าหน้าที่รัฐเล่นงาน จากนั้นสปอนเซอร์ก็ขอถอนตัว และไม่ช้าไม่นาน รายการก็โดนย้ายเวลาและปลดออกจากผังไปในที่สุด


ไม่เท่านั้น แม็กคาร์ธียังทำตัวตามสูตรผู้นำบ้าอำนาจไม่ผิดเพี้ยน ด้วยการตราหน้าเมอร์โรว์ว่าเป็น "ศัตรูของชาติ" อันเป็นข้อกล่าวหารุนแรงที่เขานิยมใช้เสมอกับทุกคนที่มีจุดยืนตรงข้ามกับเขา ซึ่งการกระทำนี่ด้วยเช่นกันที่ Good Night, and Good Luck ชวนให้เราใคร่ครวญตามว่า แม้รัฐจะมีอำนาจตามกฎหมายในการกระทำสิ่งต่างๆ เพื่อรักษา "ความมั่นคงของชาติ" ไว้ แต่มันจะเป็นการกระทำอันชอบธรรมได้อย่างไรหากนำมาซึ่งการรุกรานสิทธิเสรีภาพและความมั่นคงของประชาชนในฐานะปัจเจก ?


รัฐมีสิทธิ์ไหมที่จะทำลายชีวิตของใครเพียงเพราะพวกเขาเชื่อถือในสิ่งที่ต่างจากกระแสหลัก ? รัฐมีสิทธิ์หรือที่จะประณามหยามเหยียดผู้ใดเพียงเพราะพวกเขาแสดงทัศนคติซึ่งคัดง้างกับทิศทางนโยบายของผู้มีอำนาจ " รัฐมีสิทธิ์ตรงไหนที่จะกล่าวหาลงทัณฑ์ใครอย่างรุนแรงก้าวร้าวโดยไม่เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ต่อสู้บนวิถีทางของกระบวนการอันยุติธรรมและเท่าเทียม "


ในเวลาเดียวกับที่สอดแทรกประเด็นจริงจังทางสังคมและการเมืองเหล่านี้ไว้แบบเนียนๆ ตลอดทั้งเรื่อง หนังยังเพิ่มน้ำหนักเกี่ยวกับความขัดแย้งที่สื่อมวลชนต้องพบเจอในฐานะมนุษย์ปุถุชนไว้ด้วย โดยถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของตัวละครสองสามีภรรยานักข่าว โจ กับ เชอร์ลีย์ เวิร์ชบา ซึ่งต้องแอบ ๆ ซ่อน ๆ ความสัมพันธ์ของตนไว้เพราะผิดกฎของทางสถานี และที่ยิ่งกว่านั้นคือผ่านเรื่องของ ดอน ฮอลเลนเบ็ก พิธีกรรายการข่าวอาวุโส ซึ่งแม้จะพยายามแสดงความกล้าหาญแบบเดียวกับเมอร์โรว์ แต่ด้วยความที่ต้องเผชิญเสียงวิจารณ์อันหนักหน่วงรุนแรงมายาวนานจนก่อเกิดเป็นความหวาดหวั่นมากเกินไป เขาจึงไม่อาจแบกรับความกดดันได้ไหว และเลือกบทสรุปที่น่าเศร้าให้แก่ชีวิตของตนเองในท้ายที่สุด


ฮอลเลนเบ็กเป็นภาพสะท้อนความจริงอันเจ็บปวดที่ว่า บนทุกเส้นทางการต่อสู้ของมนุษย์ตัวเล็ก ๆ นั้น ต้องอาศัยความกล้าหาญและความมุ่งมั่นมากมายเพียงใด เพราะแรงเสียดทานจากทุกทิศย่อมส่งผลให้คนบางคนชะงักงันถึงขั้นเปลี่ยนใจล่าถอยกลับไปก่อนได้เสมอ คนที่เหลือรอดจึงไม่แค่ต้องมีธาตุทรหดกว่าคนอื่นเท่านั้น แต่ยังต้องสามารถกลืนเลือดแล้วเดินหน้าต่อไปอย่างมุ่งมั่น โดยไม่หันหลังกลับมาลังเลอาลัยอาวรณ์อดีตเป็นอันขาด


ด้วยทั้งหมดนี้ Good Night, and Good Luck จึงไม่ได้เป็นเพียงหนังที่สรรเสริญสื่อมวลชนคนหนึ่ง ผู้ตระหนักในหน้าที่และเคารพความเป็นมนุษย์ของตนเองอย่างน่ายกย่อง แต่หนังยังมีเจตนาโดยตรงในการเตือนสติผู้ชมว่า หามีประโยชน์อันใดไม่ที่คนเราจะดำเนินชีวิตบนความเขลาขลาดและหวาดกลัว เอ็ดเวิร์ด เมอร์โรว์ ได้กล่าวสุนทรพจน์ซึ่งปรากฏในฉากจบของเรื่องไว้ว่า "สื่อโทรทัศน์สามารถสอนคนได้ จุดประกายความคิดได้ และอาจถึงขั้นบันดาลใจผู้คนได้ แต่มันจะทำอย่างนั้นได้จริงก็ต่อเมื่อมนุษย์ต้องเป็นผู้พามันไปให้ถึงจุดหมายเท่านั้น หาไม่แล้ว มันก็จะไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าแค่สายไฟและแสงสว่างในกล่องหนึ่งใบ"


เช่นเดียวกัน ...ชีวิตที่ไร้ความกล้าหาญทางจริยธรรมและชีวิตที่ยอมก้มต่ำให้แก่อำนาจอันเลวร้าย ก็คงไม่ได้เป็นอะไรมากไปกว่าลมหายใจซึ่งแล่นเลื้อยผ่านเข้าออกร่างกายที่ไร้วิญญาณเท่านั้นเอง



นิตยสารคดี ฉบับที่ 254 เมษายน 49 ปี 22