Skip to main content



"การประกาศบังคับใช้สิทธิ" เพื่อนำเข้าและผลิตยาต้านไวรัสเอฟาไวแรนซ์ (Efavirenz) โดยรัฐครั้งแรกของประเทศไทย ปลายปี 2549 ไม่ใช่แค่ภาพสะท้อนการต่อสู้ของเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ที่ผ่านมา หรือมีค่าแค่ผลงาน ความสำเร็จของรัฐบาลไทย แต่ความสำคัญมากกว่านั้นคือ เป็นจุดเริ่มต้นการต่อสู้ร่วมกันของประชาชนไทยทั้งหมด ในการ "ปักธง" ประกาศถึงสิทธิที่จะมีชีวิตและการเข้าถึงยาจำเป็นอื่นๆ อีกในระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต

เรามีสิทธิที่จะมีชีวิต

สถานการณ์การระบาดของโรคเอดส์ในประเทศไทย ขณะนี้ประมาณว่ามีผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากกว่า 1 ล้านคน และในจำนวนนี้ยังมีชีวิตอยู่มากกว่า 500,000 คน ซึ่งในระยะยาวจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเพื่อการดำรงชีพปกติเฉกเช่นผู้อื่น แม้เราจะมียาต้านไวรัสที่กินร่วมกันแล้วสามารถช่วยยืดชีวิตผู้ป่วยออกไปได้อย่างชัดเจน และทำให้สุขภาพดีมากขึ้น แต่เรื่องยาเอดส์ราคาแพงเกินเหตุ ก็เป็นเรื่องที่เสียดแทงใจคนทั่วโลกมาโดยตลอด เพราะบริษัทยาคำนึงถึงผลกำไรมากกว่ามนุษยธรรม จึงตั้งราคาไว้แพงลิบลิ่ว และสามารถยืนราคาไว้โดยผู้ที่จำเป็นต้องใช้ยาแทบไม่มีสิทธิต่อรอง เพราะบริษัทยามีสิทธิผูกขาดจากการครอบครองสิทธิบัตร

หลังรัฐบาลไทยประกาศนโยบายให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาต้านไวรัสเข้าถึงยาได้ทุกคน ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นมา และได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้เป็นการเฉพาะ ถึงกับมีงานวิจัยจะระบุว่าการสนับสนุนการให้ยาต้านไวรัสของรัฐบาลก้าวหน้ามาก วิทยา และ คณะ (2547) ได้วิเคราะห์ต้นทุนผลและเสนอให้รวมสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากค่าใช้จ่ายด้านยาได้ลดลงมากจากการที่องค์การเภสัชกรรม (อภ.)ผลิตยาต้านไวรัสสูตรสามตัว GPO-Vir ที่มีราคาถูกลงทำให้ผู้ติดเชื้อสุขภาพดีขึ้นและกลับมาทำงานสร้างผลผลิตได้ จากการที่รัฐตัดสินใจรวมสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านเชื้อไวรัสในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น ทำให้ค่ารักษาลดลงไปมากถึง 18 เท่า และโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) รายงานว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไทยเป็นประเทศเดียวที่สามารถรักษาผู้ป่วยเอดส์ได้มากกว่าครึ่งของผู้ที่ต้องการการรักษาก็ตาม

แต่ในความเป็นจริง "ถ้าผู้ติดเชื้อดื้อยาจากสูตรพื้นฐาน เขาก็ยังเข้าไม่ถึงยาที่จำเป็นแก่ชีวิตอยู่ดี เพราะหมอบางคนไม่ยอมสั่งยาที่แพง เพราะยาเหล่านั้นติดสิทธิบัตร สถานการณ์เช่นนี้ไม่ใช่แค่ประเทศไทย แต่เหมือนกันทั่วโลก" นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์โดยรัฐ ระบุปัญหา "ที่สำคัญงบประมาณสำหรับจัดบริการสุขภาพแก่ผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเอดส์ ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปีงบประมาณ 2549 มีเพียง 2,796.2 ล้านบาท สำหรับเป้าหมายจำนวน 82,000 คนเท่านั้น"

นอกจากข้อจำกัดของงบประมาณรัฐแล้ว ยังมีความไม่เท่าเทียมกันในระบบประกันสุขภาพ 3 ระบบในประเทศไทยด้วย กล่าวคือในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการฯ และโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าผู้ติดเชื้อสามารถเบิกค่ายาต้านไวรัสได้เต็มที่ ขณะที่ระบบประกันสังคมจะจ่ายค่ายาต้านไวรัสสูตรสำรองสำหรับผู้ติดเชื้อที่ดื้อยาจากสูตรพื้นฐานให้เพียง 5,000 บาทต่อรายต่อเดือนเท่านั้น และให้ผู้ประกันตนเป็นผู้รับผิดชอบส่วนเกิน ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2547 เป็นต้นมาทำให้เป็นภาระต่อผู้ประกันตนอย่างยิ่ง

ยาเอดส์แพงทำให้ผู้ติดเชื้อเอชไอวีจำนวนมากต้องตายโดยไม่สมควร เป็นเหตุให้เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเอดส์และด้านสาธารณสุขเคลื่อนไหวเรียกร้อง "สิทธิของการมีชีวิตอยู่" มานานกว่า 10 ปี โดยขอให้รัฐบาลใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ (compulsory licensing) หลายครั้ง

ทั้งที่ ประเทศไทยมี "เครื่องมือ" ที่ช่วยลดราคายาแพงเพราะติดสิทธิบัตรได้หลายวิธี และวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดคือ การใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ (government use) มาตรา 51 แห่งพ.ร.บ.สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535 และพ.ร.บ.สิทธิบัตร (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2542 ระบุไว้ว่าเพื่อประโยชน์สาธารณะ กระทรวง ทบวง กรม อาจใช้สิทธิ ตามสิทธิบัตรใดๆได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้ทรงสิทธิบัตรก่อน เจตนารมณ์ของกฎหมายส่วนนี้มีความชัดเจนว่ากิจการใดที่มิได้มุ่งหวังประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะกิจการสาธารณะประโยชน์ของภาครัฐ เช่น บริการสาธารณสุข รัฐสามารถใช้สิทธิดังกล่าวได้ทันที

มากกว่านั้น เรายังมีหลังอิงจากข้อตกลงทางการค้าที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Agreement on Trade-Related aspects of Intellectual Property Rights: TRIPs) หรือข้อตกลงทริปส์ที่กำหนดโดยองค์การการค้าโลกนั้น มีข้อผ่อนปรนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา กำหนดไว้ในมาตรา 31 ที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากสิทธิบัตรโดยปราศจาการยินยอมของผู้ทรงสิทธิ ( compulsory licensing: การบังคับใช้สิทธิ) ระบุให้สามารถกระทำได้ในกรณีฉุกเฉินของประเทศ ความเร่งด่วนสุดยอด หรือกรณีประโยชน์สาธารณะที่มิใช่เชิงพาณิชย์

และเมื่อปลายปี 2544 ประเทศไทย โดยนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขขณะนั้น ก็ได้ร่วมประกาศรับรองการตอกย้ำสิทธินี้อีกครั้ง คือร่วมในการประกาศปฏิญญาโดฮา (Doha Declaration) ว่าด้วยทริปส์กับการสาธารณสุข (ระบุไว้ว่า ประเทศสมาชิกมีสิทธิที่จะปกป้องการสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเข้าถึงยาอย่างถ้วนหน้า ด้วยการบังคับใช้สิทธิในกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วน รวมทั้งที่เป็นประโยชน์สาธารณะ โดยเฉพาะยาที่จำเป็นต่อการบำบัดรักษาโรคเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคระบาดอื่นๆ) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2544 เมื่อกลับมาก็มีการออกข่าวใหญ่โต แต่ก็เป็นเพียงคำประกาศจากลมปาก และออกข่าวเพื่อการหาเสียงเท่านั้น ไม่เคยใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อให้ยาเอดส์ราคาถูกลงแต่อย่างใด

ที่ผ่านมา ผู้มีอำนาจทางการเมือง นอกจากไม่เคยใช้สิทธินี้มาก่อนแล้ว เรายังยินยอมแก้ไขกฎหมายสิทธิบัตรให้ครอบคลุมสิทธิบัตรในตัวผลิตภัณฑ์ยา ตั้งแต่ปี 2535 เป็นการแก้ไขกฎหมายตามการบีบบังคับของสหรัฐอเมริกาก่อนภาคบังคับตามข้อตกลงทริปส์ขององค์การการค้าโลกถึง 10 ปี ที่แสดงให้เห็นถึง "อำนาจเหนือรัฐ" อย่างสำคัญ


"เหยื่อ" : ยาเอดส์แพงเพราะระบบผูกขาดสิทธิบัตร

ธันวาคม 2542 เราเคยต่อสู้เพื่อให้มีการลดราคายาเอดส์อย่างเข้มแข็ง ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร 1 สมัยนายกร ทัพพะรังสี เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข 16 องค์กร เกือบ 500 คนรวมพลังยกขบวนมาตั้งแคมพ์ "ชุมชนมาตรา 51 ดีดีไอพัฒนา" บริเวณเสาธงหน้ากระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอให้สธ. โดยอภ.ใช้ "มาตรการบังคับใช้สิทธิ" กับยาดีดีไอของบริษัท Bristol Myers Squibb (BMS) เพราะการจดสิทธิบัตรยานี้ไม่มีขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นแต่อย่างใด แต่กลับนำมาขายในไทยด้วยราคาสูงลิ่ว แต่นายกร กลับให้คำตอบแก่ผู้ชุมนุมว่าจะให้อภ.ผลิตยาดีดีไอรูปแบบยาผงแทนยาเม็ด ด้วยเกรงว่าบริษัทยาจะฟ้องร้อง วันรุ่งขึ้นเครือข่ายผู้ติดเชื้อจึงเคลื่อนขบวนไปยังสถานทูตอเมริกา เพื่อหาข้อมูลสนับสนุนโดยยื่นจดหมายถึงประธานาธิบดีคลินตัน เรียกร้องให้ชี้แจงว่าจะไม่ตอบโต้รัฐไทยหากใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิผลิตยาดีดีไอ สัปดาห์ต่อมาก็ได้รับคำตอบว่า สหรัฐฯ ไม่คัดค้านการบังคับใช้สิทธินี้ หากไทยเห็นว่าจำเป็นต้องทำเพื่อแก้วิกฤตสาธารณสุข โดยให้ความมั่นใจว่าข้อเรียกร้องนี้สอดคล้องกับความตกลงทริปส์

8 ปีที่แล้ว ทั้งในแง่การสนับสนุนเชิงวิชาการและการเมืองระหว่างประเทศชี้ให้ผู้มีอำนาจรัฐรู้ว่า มาตรการบังคับใช้สิทธิคือสิทธิโดยชอบธรรม รัฐบาลไทยขณะนั้นก็ไม่ยอมใช้สิทธิ์นี้อยู่ดี ภายใต้ข้ออ้างอันน่าระอาคือกลัวบริษัทยาฟ้อง และยังอ้างเพิ่มอีกว่า บริษัทยาได้ลดราคามาจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว ซึ่งการรับปากลดราคาของบริษัทยาไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะยืนในราคานี้ไปโดยตลอด

กุมภาพันธ์ 2549 เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ต้องลุกขึ้นสู้อีกครั้ง โดยเข้าพบนายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้ใช้อำนาจทางการเมืองยับยั้งมิให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอนุมัติสิทธิบัตรยา COMBID ของบริษัท Glaxo Smith Kline (GSK) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสซีโดวูดีน (AZT) + ลามิวูดีน (3TC) แบบรวมเม็ดเดียว หากการยับยั้งครั้งนี้ไม่เป็นผล ก็ขอให้สธ.ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิ เพื่อให้อภ.สามารถผลิตยาคอมบิดได้ต่อไป เพราะมีผู้ติดเชื้อที่ใช้ยาสามัญของอภ.เกือบ 5,000 คน อีกทั้งถูกกว่ายาต้นแบบถึง 5 เท่า (ยาสามัญ 1,500 บาทต่อเดือน ยาต้นแบบของบริษัท GSK 8,600 บาทต่อเดือน) มิเช่นนั้นจะเป็นภาระแก่งบประมาณของประเทศที่จะเพิ่มมากขึ้นถึง 400 ล้านบาทต่อเดือนจากยาเพียงตัวเดียวเท่านั้น

กรณียาคอมบิดนี้ ทางเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย และมูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาได้ต่อสู้กับเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2540 โดยได้ยื่นคัดค้านการให้สิทธิบัตรแก่ยาดังกล่าวเพราะไม่มีคุณสมบัติเพียงพอ ด้วยยานี้ไม่ใช่ยาใหม่และไม่มีขั้นการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น แต่สุดท้ายคำอุทธรณ์ที่ได้ยื่นให้คณะอนุกรรมการสิทธิบัตรพิจารณาก็ตกไป แต่ด้วยการกดดันทางสังคมของเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ กับผู้มีอำนาจทางการเมืองที่เกี่ยวข้อง ทำให้บริษัทละทิ้งขอรับสิทธิบัตรเป็นผลให้สูตรยาดังกล่าวตกแก่สาธารณชน ก่อนที่จะมีการเรียกร้องตามมาให้บังคับใช้สิทธิบัตร

บังคับลดราคายา หนทางเพิ่มอำนาจการต่อรอง

ทำไมที่ผ่านมา ไม่มี "ใคร" กล้าตัดสินใจใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร อย่างจริงจัง นพ.สงวน ให้เหตุผลว่า อาจเป็นเพราะว่าเขาไม่ได้เดือดร้อนจริง แต่สปสช. ต้องให้บริการสุขภาพแก่ประชาชน เมื่อประชาชนเข้าไม่ถึงบริการก็เป็นความเดือดร้อน สองถ้าต้องการเข้าถึงบริการแต่ว่ายาแพง ซึ่งประเทศไทยก็ถือว่าเป็นประเทศยากจน เพราะฉะนั้น ก็คงไม่สามารถสนับสนุนให้มียาแพงใช้ได้โดยตลอด ก็เลยมีความพยายามในการรื้อฟื้นและมาทบทวนบทเรียนจากต่างประเทศที่เคยใช้สิทธินี้ ก็พบว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่จะใช้ประกาศมาตรการนี้

ประเทศในอาเซียนที่ใช้สิทธินี้แล้วคือ มาเลเซีย โดยใช้กับยาต้านไวรัสสูตรพื้นฐานที่มีราคาไม่แพงเท่ากับเอฟาไวแรนซ์ถึง 4 ตัว เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2546 โดยใช้เวลาเพียง 2 ปี กระทรวงสาธารณสุขจ่ายค่าตอบแทนผู้ทรงสิทธิบัตร 4% และนำเข้ายาเอดส์จากบริษัทยาในประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย ใช้เมื่อปี 2547 ออกเป็นคำสั่งประธานาธิบดี กับยาเอดส์ 2 ตัวจ่ายค่าตอบแทนให้บริษัทยา 0.5%

สหรัฐฯ และแคนาดาต่างก็ประกาศใช้สิทธินี้เมื่อปี 2544 เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนยาปฏิชีวนะชื่อไซโปรฟล็อกซาซิน เมื่อครั้งที่มีการตื่นข่าวเรื่องการใช้เชื้อโรคแอนแทรกซ์เป็นอาวุธชีวภาพ บราซิลประกาศใช้สิทธินี้เมื่อปี 2546 กับยาเอดส์ 3 ตัวคือ โลปินาเวียร์ เอฟาไวแรนซ์ โลปินาเวียร์ และประกาศใช้อีกครั้งเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2548 เพิ่มยาทีโนโฟเวียร์ ยาเอดส์อีกตัว ประเทศในแอฟริกาก็ใช้สิทธินี้แล้วหลายประเทศ ได้แก่ แซมเบีย โมซัมบิก ซิมบับเว แอฟริกาใต้ และแคเมอรูน

ประเทศที่กล้าหาญที่สุดที่ใช้สิทธินี้คือ อินเดีย เมื่ออินเดียถูกบังคับตามข้อตกลงทริปส์ให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ยาด้วย อินเดียยอมแก้กฎหมาย แต่ประกาศใช้สิทธิผลิตยาสามัญราคาถูกต่อไปหลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ และประกาศใช้สิทธินี้เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2548 และไม่มีกำหนดเวลาสิ้นสุด ประกาศใช้สิทธิดังกล่าวครอบคลุมยาทุกประเทศที่จดสิทธิบัตรตั้งแต่ปี 2538-2548 จำนวน 8,926 สิทธิบัตร ซึ่งครอบคลุมยาเอดส์บางตัวด้วย

ตัวอย่างข้างต้น ทำให้ "คณะอนุกรรมการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์โดยรัฐ" ถูกตั้งขึ้นในสมัยนายพินิจ จารุสมบัติ ซึ่งอีกขาหนึ่งก็นั่งเป็นประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติด้วย โดยคณะอนุกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่หลัก คือ การจัดทำเกณฑ์ในการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ และเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ เสนอต่อคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ประชุมกันเพียง 3 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2549 มีการพิจารณาอย่างเข้มข้นถึงถึงสถานการณ์กฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ บทเรียนประเทศต่างๆ รวมทั้งหาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์อย่างองค์การสหประชาชาติ (UN) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ที่พยายามเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ใช้สิทธินี้ จนมาถึงข้อพิจารณาที่ว่า สปสช. สามารถใช้สิทธินี้ได้หรือไม่ ก็เลยให้กฤษฎีกาตีความ ปรากฏว่า สปสช. ไม่ใช่หน่วยงานรัฐตามที่ระบุในพ.ร.บ.สิทธิบัตร จึงต้องเสนอให้รมว.สธ. ในฐานะที่เป็นประธานสปสช.ด้วย สั่งให้กรมใดกรมหนึ่งดำเนินการ ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับกรมควบคุมโรคก็เป็นผู้ดำเนินการ

"ผมได้เสนอใช้สิทธิกับยาต้านไวรัสเอดส์ตั้งแต่สมัยนายพินิจ แต่ก็เกิดการรัฐประหารเสียก่อน" นพ.สงวนบอก แต่ข้อเท็จจริงนี้ขัดแย้งกับคณะอนุกรรมการชุดเดียวกันบางคน "นายพินิจ เมื่อนั่งเก้าอี้ประธานสปสช. ก็รับปากว่าจะทำ แต่พอส่งเรื่องไปที่สธ. คนๆ เดียวกันเมื่อเปลี่ยนเก้าอี้นั่ง จุดยืนก็เปลี่ยนไปเหมือนกัน" ดร.วิทยา กุลสมบูรณ์ จากคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะตัวแทนกลุ่มศึกษาปัญหายา ชี้ให้เห็นนัยยะสำคัญบางอย่าง แต่การผลักดันเรื่องนี้ก็มาสำเร็จในสมัยของนพ.มงคล ณ สงขลา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนต่อมา

นพ.มงคล มีนโยบายให้กรมควบคุมโรคออกประกาศ "ใช้สิทธิตามสิทธิบัตรโดยรัฐ" เป็นครั้งแรกของประเทศไทยกับยาที่มีชื่อการค้าว่า Stocrin (ชื่อสามัญคือเอฟาไวแรนซ์) โดยอภ. เป็นผู้ใช้สิทธิแทนในการนำเข้าและผลิตยาดังกล่าว มาใช้รักษาผู้ป่วยเอดส์ ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โครงการประกันสังคม และระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและลูกจ้างของทางราชการ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2549 เป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549- ธันวาคม 2554 โดยให้ อภ.จ่ายค่าตอบแทนร้อยละ 0.5 ของมูลค่าการจำหน่ายให้แก่เจ้าของสิทธิบัตร

ยาเอฟาไวแรนซ์ ได้รับการแนะนำจากองค์การอนามัยโลกด้วยมีพิษภัยและอาการแทรกซ้อนจากการใช้ยาไม่มาก แต่การผูกขาดสิทธิบัตรสร้างผลกระทบทั้งอุปทานและการเข้าถึงยาดังกล่าว บริษัท Merck ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร คิดค่ายาตัวนี้กับสธ. 1,400 บาทต่อเดือนแพงกว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับราคายาชื่อสามัญจากอินเดีย 650 บาทต่อเดือน ยิ่งไปกว่านั้น หลายครั้งที่บริษัท Merck ไม่สามารถจัดส่งยาให้ประเทศไทยได้ตลอด ทำให้ผู้ที่เข้าถึงยาได้จริงมีจำนวนน้อยมาก

ผลจากการบังคับใช้สิทธิครั้งนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายยาดังกล่าวลดลงประมาณกึ่งหนึ่ง และเมื่อราคายาถูกลงแล้ว มีการปรับสูตรการใช้ยานี้กว้างขวางมากขึ้น สธ.ปรับเป้าหมายจำนวนผู้ติดเชื้อที่จะได้รับยานี้เพิ่มขึ้นจาก 25,000 คนต่อปีเป็น 100,000 คนต่อปี ภายใต้เงื่อนไขนี้จะทำให้รัฐสามารถประหยัดงบประมาณได้ปีละกว่า 842 ล้านบาท หรือ4,000 กว่าล้านบาทในเวลา 5 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับการซื้อยาที่ติดสิทธิบัตร (ดูตารางประกอบ) ที่สำคัญ การนี้ทำให้คณะกรรมการประกันสังคม ประกาศนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป ผู้ประกันตนจะไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนเกินในกรณีดื้อยาอีกต่อไป




มากกว่านั้น ตัวแทนกลุ่มศึกษาปัญหายาระบุว่า การเริ่มต้นนโยบายบังคับลดราคายาต้นแบบหรือสามารถนำเข้าซ้อนจากประเทศอื่นได้ จะทำให้ไทยมีเริ่มมีอำนาจต่อรองราคายาติดสิทธิบัตรอีกหลายตัว ยิ่งถ้า อภ.สามารถผลิตยาชื่อสามัญได้เองราคายาดังกล่าวจะถูกลงเรื่อยๆ อย่างยั่งยืนมากกว่าให้บริษัทยามาเจรจาลดราคา นับเป็นคุณูปการต่อวงการยาในประเทศไทยที่จะศึกษาวิจัยและพัฒนายาชื่อสามัญให้มากขึ้น หลังจากถูกปิดกั้นและต้องพึ่งพิงยานำเข้าจากต่างประเทศมาหลายสิบปี และที่น่ากังวล คือ "เราจะถูกกดดันการเจรจาเขตการค้าเสรีระหว่างไทยกับสหรัฐฯในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญามากขึ้นแน่นอน"

ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้เรียกร้องให้ เพิ่มการคุ้มครองในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาที่มากเกินกว่าข้อตกลงในองค์การการค้าโลก ได้แก่ 1.การเรียกร้องให้ขยายระยะเวลาของการถือครองสิทธิบัตรยาจาก 20 ปี เป็น 25 ปี 2.การกำหนด เรื่อง สิทธิผูกขาดในข้อมูลผลการทดสอบความปลอดภัยของยาและข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (data exclusivity) คือให้สิทธิเด็ดขาดแก่บริษัทยาต้นตำรับ ด้วยการห้ามผู้ใดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันอีกเป็นเวลา 5 ปี 3.การจำกัดการใช้กลไกในการคุ้มครองพลเมืองไทย แม้จะมีการใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเพื่อผลิตยาใช้เองในประเทศ แต่ผู้ได้รับอนุญาตให้ผลิตยาโดยมาตรการนี้ก็จะไม่สามารถทำการผลิตและจำหน่ายยาเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ เนื่องจากผู้นั้นจะต้องขอขึ้นทะเบียนตำรับยา แต่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)ก็ไม่สามารถออกทะเบียนตำรับยาให้ เพราะให้สิทธิผูกขาดตลาดยาแก่ยาต้นตำรับแล้ว เป็นต้น

พ่อค้าความตายเข้าแทรกแซง

หลังรัฐบาลไทยใช้สิทธินี้ นพ.สงวน เล่าว่า ระหว่างการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งหนึ่ง คุณเกริกไกร จิระแพทย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เดินมาพูดกับนพ.มงคล "ท่านรัฐมนตรีทำแบบนี้ ทางอเมริกาไม่พอใจบอกว่าจะประท้วงมา นพ.มงคลเลยบอกไปว่า ท่านรัฐมนตรี(เกริกไกร) ทราบไหมครับมาตรานี้ อเมริกาทำมากที่สุด และสธ.ไม่ได้คิดใช้สิทธิกับยาเอดส์ตัวเดียว อยากทำอีก 4-5 ตัวด้วย ตั้งแต่นั้นก็ไม่มีการพูดถึงเรื่องนี้อีกจากฝั่งผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ นอกจากนั้น "ทางสมาคมผู้ผลิตยา (Pharmaceutical Producers Association -PPA)รวมตัวกันและขอเข้าพบรัฐมนตรีก็แทงเรื่องนี้มาให้ผม ผมก็แทงเรื่องต่อคนอื่น บริษัทยากลัวว่าผมจะเสนอใช้สิทธินี้กับยาตัวอื่นอีก เขารู้ว่าผมไม่หยุดแค่นี้ และกำลังเสนอใช้สิทธิกับยารักษาโรคหัวใจ และยามะเร็งในเร็ววันนี้" นพ.สงวน ระบุ


นพ.วิชัย โชควิวัฒน ในฐานะประธานคณะกรรมการองค์การเภสัชกรรม ให้ข้อมูลเพิ่มว่า สถานทูตเจนีวาก็ได้เข้าร่วมทักท้วงว่าประเทศไทยไม่ควรใช้มาตรการนี้ สธ. จึงได้ทำหนังสือชี้แจงให้กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงการต่างประเทศ ทุกฝ่ายที่ออกมาตั้งคำถาม ทักท้วง จนเข้าใจดีว่าเราใช้สิทธิตามพ.ร.บ.สิทธิบัตร โดยกฎหมายฉบับนี้อ้างอิงกฎหมายระหว่างประเทศ และข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศ


"สธ.รับทุกสถานการณ์ พยายามยืนหยัดจนถึงที่สุด เพื่อให้นโยบายนี้บรรลุผล ใครคัดค้านด้วยท่าทีอย่างใดเราก็จะเจรจาเพื่อใช้สิทธิอย่างชอบธรรม จะไม่ใช้ท่าทีการทะเลาะ แต่เป็นเรื่องของการทำความเข้าใจให้ทราบว่าเราพยายามแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในชาติของเรา"


รัฐบาลไทยมิได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว เพราะเมื่อเราถูกตอบโต้โดยทันทีจากประเทศคู่ค้า องค์การหมอไร้พรมแดน (MSF) และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ทั่วโลกก็ร่วมลงชื่อและทำจดหมายถึงกอนโดลิซ่า ไรซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐฯ และ เอกอัครราชทูต ซูซาน ชว็อปป์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ เรียกร้องให้ยุติการกระทำใดๆ ที่เป็นการขัดขวางและกดดันรัฐบาลไทยให้หยุด "การบังคับใช้สิทธิ" ครั้งนี้อย่างรวดเร็วเช่นกัน


เมื่อใช้อำนาจเหนือรัฐไม่เป็นผล บริษัทยาจึงเปลี่ยนท่าทีขอเจรจาลดลงราคาลงจากเดือนละ 1,400 บาท เหลือ 850 บาท แต่ สธ. ปฏิเสธไป นพ.วิชัย ให้ข้อมูลว่า นโยบายของรมว.สธ. ต้องการให้ยาลดราคาลงเหลือ 700 บาทต่อเดือน ที่รวมภาษี การบริหารจัดการการคลังยา (VMI) รวมค่าบริหารส่งต่อยาด้วย ขณะนี้ อภ.ได้ทำสัญญาซื้อขายกับบริษัทยาที่อินเดียเรียบร้อยแล้ว และต่อไปจะไม่ใช้วิธีการซื้อมาแจกไป ภายในหนึ่งปีอภ.ต้องผลิตให้ได้เองอย่างมีมาตรฐาน ถือเป็นกระบวนการปรับประสิทธิภาพของอภ.ทั้งหมดเองด้วย


สิทธิมนุษยชนต้องอยู่เหนือสิทธิทางการค้า


เห็นได้ชัด แม้ประเทศไทยจะมีมาตรการและกฎหมายที่มีประสิทธิภาพในการต่อรองราคายา มีนักวิชาการและภาคประชาสังคมที่แข็งแกร่ง การตัดสินใจใช้ "มาตรการบังคับใช้สิทธิบัตร" เพื่อผลประโยชน์ของประชาชนก็ยังขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายการเมืองระดับสูง หากจะเปลี่ยนแปลงสภาวะนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องสร้างความเข้มแข็งให้ภาคประชาชน และเปลี่ยนจุดเน้นการเจรจาการค้าให้พิจารณาถึงผลกระทบต่อประชาชนไทยโดยรวม กล่าวคือ มีการให้อำนาจแก่ประชาน เพื่อคานอำนาจการตัดสินใจ (ดังรูปประกอบ)


นพ.วิชัย เห็นสอดคล้องกับงานวิจัยข้างต้น เพราะการใช้สิทธิครั้งแรกของไทยก็เกิดจากภาวะผู้นำของนพ.มลคล ขณะที่นพ.สงวน บอกว่า การเลือกใช้สิทธิกับยาต้านไวรัส หากเราถูกตอบโต้ จะมีเครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ทั้งในและต่างประเทศออกมาลุกขึ้นสู้เคียงข้าง สธ. รวมทั้งองค์การระหว่างประเทศที่สนับสนุนอยู่ แต่ถ้าคิดขยายไปสู่ยาโรคมะเร็ง หรือโรคหัวใจ ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขระดับต้นๆ ของประเทศ และมูลค่ายาที่ติดสิทธิบัตรรวมกันแล้วก็มากกว่ายาเอดส์ด้วยซ้ำ หรือถ้าเป็นวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ที่พิสูจน์แล้วว่าหากฉีดให้กับเด็กผู้หญิงทุกคนก่อนวัยเจริญพันธุ์จะสามารถป้องกันโรคนี้ได้

เกือบ 100% ซึ่งประเทศพัฒนาหลายประเทศได้รวมเป็นวัคซีนพื้นฐานของประเทศแล้ว ถ้ารัฐบาลไทยลุกขึ้นมาบังคับใช้สิทธิกับยากลุ่มอื่นให้เป็นสิทธิประโยชน์ในโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จะมีพลังทางสังคมใดเข้าช่วยเหลือ ที่สำคัญ หากสธ. เลือกใช้สิทธิกับยาตัวใดเพิ่มเติม อภ. จะมีศักยภาพในการรองรับการผลิตหรือไม่


"เราจึงต้องมอง 3 ขา คือ ศักยภาพอภ. การเติบโตของกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคที่เข้มแข็ง และสื่อที่ต้องมีความเข้าใจสนับสนุนเรื่องนี้" เลขาธิการสปสช. ถือหลักการ "ยาคือสินค้าเชิงคุณธรรม ควรแยกเงื่อนไขต่างๆ ออกไปจากสินค้าทั่วไป สิทธิมนุษยชนด้านสุขภาพย่อมอยู่เหนือกว่าสิทธิบัตรเชิงพาณิชย์"

อกสารอ้างอิง

1.นายศาสตรา, "ไทยประกาศความเป็นไท ด้วยการบังคับลดราคายาเอดส์, คอลัมน์ส่องสถานการณ์ หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ วันที่ 12 ธันวาคม 2549.
2.วิทยา กุลสมบูรณ์ สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุล วสันต์ ภิญโญวิวัฒน์. "การวิเคราะห์ต้นทุนผลได้เพื่อรวมสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านเชื้อไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า" วารสารวิชาการสาธารณสุข 13 (6) 2547 หน้า 1022-1033.
3."หมอไร้พรมแดนกร้าว สหรัฐอย่าขวางรัฐบาลขิงแก่ใช้มาตรการผลิตยาถูกให้ผู้ติดเชื้อ", ประชาไท, วันที่ 6 มกราคม 2549. [http://www.prachatai.com/05web/th/home/page2.php?mod=mod_ptcms&ContentID=6507&SystemModuleKey=HilightNews&SystemLanguage=Thai]
4.จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ, "การค้าระหว่างประเทศกับระบบยา", ระบบยาของประเทศไทย,สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, 2545.
5. นายศาสตรา, อ้างแล้ว.
6. นายศาสตรา, อ้างแล้ว.
7. จิราพร ลิ้มปานานนท์ และคณะ, อ้างแล้ว.
8. แกล็กโซยอมละทิ้งคำขอสิทธิบัตรยาเอดส์ "คอมบิด" แล้ว, สำนักข่าวไทย วันที่ 8 สิงหาคม 2549.
9. รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์โดยรัฐ ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549, เอกสารอัดสำเนา.
10. นายศาสตรา, อ้างแล้ว.
11. นายศาสตรา,อ้างแล้ว.
12. รายงานการประชุมคณะอนุกรรมการดำเนินการใช้สิทธิตามสิทธิบัตรด้านยาและเวชภัณฑ์โดยรัฐ ครั้งที่ 1/2549 เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2549, ครั้งที่ 2/2549 วันที่ วันที่ 20 เมษายน 2549, ครั้งที่ 3/2549 วันที่ 19 พฤษภาคม 2549 ,เอกสารอัดสำเนา.
13. สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, "เลขา สปสช. ย้ำสิทธิมนุษยชนต้องอยู่เหนือการค้าในการบังคับใช้สิทธิบัตรยาเอดส์", ข่าวแจกเพื่อสื่อมวลชน วันที่ 29 พฤศจิกายน 2549, เอกสารอัดสำเนา.
14. "หลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนกรณีผู้ประกันตนที่ติดเชื้อ HIV และผู้ประกันตนที่เป็นโรคเอดส์",ประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม, ลงวันที่ 8 ธันวาคม 2549,เอกสารอัดสำเนา.
15. "หมอไร้พรมแดนกร้าว สหรัฐอย่าขวางรัฐบาลขิงแก่ใช้มาตรการผลิตยาถูกให้ผู้ติดเชื้อ",อ้างแล้ว
16. ถอดเทปการบรรยาของจิราพร ลิ้นปานานนท์, ใน รายงานการประชุมวิชาการแห่งประเทศไทยว่าด้วย"สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับข้อตกลงเขตการค้าเสรี ประเด็นเกี่ยวกับการบริโภคยา", สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาติ, 2548.

หมายเหตุ งานชิ้นนี้ผู้เขียนเรียบเรียงเสร็จตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2550 ก่อนที่กระทรวงสาธารณสุขจะประกาศบังคับใช้สิทธิยาอื่นตามหลังจากยาต้านไวรัสเอดส์ อีกทั้เงป็นการเขียนให้กับองค์กรทุนแห่งหนึ่ง เมื่อเวลาได้ล่วงพอสมควรแล้ว จึงได้นำออกเผยแพร่ทำให้ไม่ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่ไปไกลกว่างานเขียนชิ้นนี้แล้ว