Skip to main content

 คนๆ เดียว หรือใครบางคน อาจอธิบายได้ไม่หมดว่า "ศูนย์ข่าวอิศรา" คืออะไร ทำงานกันอย่างไร? ตกลงเป็นของใครกันแน่? ภัทระ คำพิทักษ์ อดีตนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ซึ่งว่าไปแล้วก็คือคนสนเข็ม และลงมือเชื่อมร้อยนักข่าวหนุ่มสาวจำนวนหนึ่งขึ้นมา "ปะชุน" วงการสื่อมวลชนที่มากกว่าปณิธานเชิงอักษร เขาเล่าไว้ในคำนำหนังสือ "ปักหมุด...เทใจ": บันทึกประสบการณ์ชีวิตเหยี่ยวข่าวอิศรา

ว่า ...[...] หลังเหตุการณ์ปล้นปืนกองพันพัฒนาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 สถานการณ์ในภาคใต้ได้ผันแปรไปอย่างตระหนกจำนวนคนที่บาดเจ็บล้มตายลงเรื่อยๆนั้น ไม่เพียงแค่นำมาซึ่งความเศร้าโศกของญาติมิตร แต่ยังเพาะบ่มความไม่เข้าใจให้แพร่ระบาดในสังคมอย่างรวดเร็ว ในระยะแรกนั้นนอกจากไม่อาจรับมือกับเรื่องราวต่างๆได้แล้วต่างฝ่ายต่างก็ได้กล่าวโทษกันไม่หยุดปาก "ความไม่รู้" ได้เกาะกุมสังคมไทยจนเจ็บหนัก

ท่ามกลางเสียงติเตียนว่า สื่อมวลชนดีแต่ขายข่าว นำเสนอแต่ความรุนแรง บอกกล่าวกันแต่การฆ่ากันรายวันทำให้ไฟใต้คุโชนยิ่งขึ้น ศูนย์ข่าวอิศราก็เกิดขึ้น

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยความร่วมมือของหนังสือพิมพ์หลายฉบับได้ส่งนักข่าวกลุ่มหนึ่งลงไปทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนภาคใต้ ผลที่ตามมาคือ ความเป็นจริง ความรู้ ความคิด ความเห็นและความรู้สึก ในพื้นที่ถูกลำเลียงไปปรากฏอยู่ตามสื่อต่างๆ วันแล้ววันเล่า สื่อแล้วสื่อเล่า

ทุกคนไปทำงานโดยไม่มีค่าย ไม่มีสี หากแต่เป็นนักข่าวที่บำเพ็ญกิจของตนอย่างอิสระ และกล้าหาญ

ความเป็นจริงทำให้ผู้คนในสังคมฟังหูไว้หู มีสติสัมปชัญญะ ความรู้ทำให้เกิดสติ ไม่ใช่อารมณ์ ความคิดความเห็นทำให้ทัศนะคติที่กว้างขวาง ไม่ถูกครอบงำด้วยมายาคติ ความรู้สึกทำให้เห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

ทุกเรื่องราวเหมือนเข็มเล็มเล็กๆที่ปะชุน ชิ้นส่วนประวัติศาสตร์และปัจจุบันที่ถูกความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ไว้วางใจฉีกขาดออกจากกัน

สองสามวันก่อนนักข่าวชุดแรกจะลงพื้นที่ ผมบอกกับทุกคนว่า อย่าแบกหามความคาดหวัง เพราะสิ่งที่พวกเราจะทำนั้นเป็นการปฏิรูป เป็นการสร้างเปลี่ยนแปลง ขอเพียงทำออกมาได้เพียงเรื่องเดียว สำหรับผมก็ถือว่า ปะชุนได้เพียงเสี้ยวเดียวก็สำเร็จแล้ว แต่พวกเขาหยิบเข็มแล้วไม่มีใครวางมือ เรื่องราวบางส่วนที่ปรากฏอยู่ในหนังสือเล่มนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความมุมานะอันน่าสรรเสริญนั้น

นักข่าวศูนย์ข่าวอิศราไม่เพียงปะชุนชิ้นส่วนของสังคม แต่การอยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน บนฐานคิดดังกล่าวโดยการสนับสนุนของหนังสือพิมพ์ต้นสังกัดนั้น ยังได้ปะชุนอุดมคติของนักหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอาชีพที่แหว่งวิ่นไปเพราะทุนได้กดให้พวกเราอยู่ในกรอบของความเป็นพนักงานและลูกจ้างองค์กรสื่อให้คืนรูปกลับมาบางส่วนด้วย

เมื่อแรกเริ่มส่งนักข่าวลงพื้นที่ ผมวิตกว่า จะมีวิธีการป้องกันอย่างไรไม่ให้นักข่าวเหล่านั้นเป็นอันตราย แน่นอนว่า ไม่ใครให้หลักประกันนั้นได้แต่ในที่สุดก็พบว่า งานที่พวกเราทำต่างหากที่เป็นเป็นเครื่องประกันตัวเราเอง ความวิตกลึกๆในเบื้องแรกนั้นเป็นความเขลาโดยแท้

การได้ย้อนมองกลับไป ณ จุดที่เริ่มต้นมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ระลึกขึ้นมาได้ว่า ศูนย์ข่าวอิศราเกิดขึ้นมาจากชิ้นส่วนมหัศจรรย์นับน้อยนับพันชิ้น มีตั้งแต่ความร่วมไม้ร่วมมือจากประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การเสียสละของนักข่าว บรรณาธิการ เครือข่ายสื่อมวลชนหลายแขนง และหลายภูมิภาค มีมือที่ช่วยประคองและตั้งไข่จากหลายที่หลายแห่ง อาทิ พระไพศาลวิสาโล อาจารย์ประเวศ วะสี มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติอีกหลายท่าน ฯลฯ

ถ้าปราศจากความสามัคคี ไร้ซึ่งปรารถนาจะเห็นสิ่งดีๆเกิดขึ้นในบ้านเมือง และปราศจากความสามารถในการ "ก้าวข้าม" ตัวตน ฝักฝ่าย องค์กร ไปกระทั่งศาสนา ทัศนคติ ความเชื่อ ของท่านทั้งหลายเหล่านี้ก็แทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเกิดศูนย์อิศราขึ้น

ถึงวันนี้งานของศูนย์อิศราได้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฐานความรู้ และความเข้าใจในเรื่องความมั่นคงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้นแบบหนึ่งของการแก้ไขปัญหาเมื่อสังคมตกอยู่ในสงครามข่าวสาร เมื่อหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ประกาศให้ ศูนย์ข่าวอิศราเป็นองค์กรดีเด่นประจำปี 2548 ผมจึงกล้าระบุว่า การเกิดขึ้นของศูนย์ข่าวอิศราเป็นการปฏิรูปเงียบของสื่อมวลชนไทย

ในโลกที่ทุนเป็นใหญ่นั้น อุดมคติถูกทำให้เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่เกินเอื้อมและไม่ควรแตะต้อง แต่การเกิดขึ้นคงอยู่ของงานเช่นนี้ ก็ทำให้เห็นว่า เจตนารมณ์ของการจัดตั้งสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยข้อหนึ่งที่ว่า เพื่อส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างชนในชาติ ความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศ เพื่อยังสันติสุข ภราดรภาพ ความเคารพในสิทธิมนุษยชน ตลอดจนความกินดีอยู่ดีให้เกิดขึ้นในโลกนั้น เป็นจริงขึ้นได้ด้วยการปฏิบัติ หาใช่ถ้อยคำที่สลักเสลาขึ้นมาเพียงเพื่อให้ฟังดูดีเท่านั้น

เราได้บำเพ็ญหน้าที่ของเราอย่างเต็มที่แล้วหรือยังประวัติศาสตร์จะเป็นผู้ตัดสินเองในอนาคต แต่ ณ วันนี้ คนข่าวจำนวนหนึ่งยังก้มหน้าก้มตาบำเพ็ญกิจของตนต่อไป และผลพวงส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นมาก็คือ หนังสือเล่มนี้ซึ่งเป็นเสมือนเข็มที่ทุกคนในสังคมสามารถหยิบไปช่วยกันลงแรงปะชุนส่วนเสี้ยวที่ฉีกขาดเพื่อนำสันติสุขมาสู่บ้านเมืองของเราได้

นั่นคือสิ่งที่ภัทระ พยายามธิบายอย่างย่นย่อ แต่ในมุมของภาสกร จำลองราช นักข่าวจากมติชน ที่เอก-อภิวัจน สุปรีชาพงษ์ บรรณาธิการข่าวจากส่วนกลางคนแรกที่ลงไปอยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยกให้เขาเป็นคน "สร้าง" จุดเปลี่ยนของข่าวภาคใต้จากกรณีบ้านละหาน ต.ปะลุรู อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส (ที่โต๊ะอิหม่ามของหมู่บ้านถูกยิง โดยชาวบ้านเชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ และเป็นครั้งแรกที่ผู้หญิงและเด็กในหมู่บ้านได้รวมตัวกันปิดทางเข้า ข้อมูลเบื้องต้นที่ออกมาสับสนมาก และไม่มีนักข่าวคนใดมีโอกาสเข้าไปในหมู่บ้านได้เลย)

ภาสกร ให้ค่า "ศูนย์ข่าวอิศรา" คือการปักหมุดทำข่าว 3 จังหวัดในแนวสื่อสันติภาพอย่างทุมเทแรงกายแรงใจ แม้ว่าบางครั้งจะต้องพาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ความรุนแรงและสับสนก็ตาม อันเป็นชื่อของหนังสือเล่มนี้

"ปักหมุด..เทใจ" จึงเป็นการรวมเล่ม "ประสบการณ์และชีวิต" ของนักข่าวหนุ่มสาวและผู้ที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง ช่วยกันต่อเติมให้เห็นภาพการทำงานของ "สื่อสันติภาพ" ที่มุ่งหวังบรรเทาความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

เนื้อหาที่แฝงด้วยอารมณ์ความรู้สึกของเขาและเธอเหล่านี้ สามารถทำให้เรามองเห็นภาพ 3 อย่าง คือ 1.การบริหารจัดการองค์กรและพื้นที่สื่อแบบใหม่ (new media) 2.ทฤษฎีและภาคปฏิบัติการของการทำหน้าที่สื่อสันติภาพในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่นับเป็นเนื้อหาหลักของหนังสือเล่มนี้ และสุดท้ายคือการเมืองและการบริหารจัดการระหว่างองค์กรสื่อด้วยกันเอง

"ปักหมุด..เทใจ" จึงเป็นหนังสืออีกเล่มที่อยากแนะนำให้หลายคนได้อ่าน และช่วยพวกเราในการวิจารณ์ วิเคราะห์ ต่อยอด ให้การทำงานเช่นนี้มีความเข้มข้นและเข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆ มีวางจำหน่ายแล้วในร้านขายหนังสือทั้งกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เล่มละ 185 บาท หรือติดต่อสั่งซื้อได้ที่ ภาวิณี ไชยภาค โทร. 08-6828-1061