Skip to main content
โดย ศิริพงษ์ วิทยวิโรจน์ [email protected]

สามเรื่องสามรสที่คุณสิทธิไชย โภไคยอุดม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พูดและทำเมื่อเร็วๆ นี้ ล้วนแต่ไม่จืดทั้งนั้น

เรื่องแรกที่ไปพูดว่า "โอแอลพีซี" (One Laptop Per Child) นวัตกรรมจากความคิดของ นิโครลัส นิโกรปอนเต ผู้ก่อตั้งมีเดีย แล็บ แห่งเอ็มไอทีว่า เป็นแค่ของเด็กเล่น ทำให้คนที่รู้จริงเรืองนี้ตอบโต้กันพอสมควร

อาจจะเป็นประเด็นไม่ใหญ่โตนัก แต่คำพูดของรัฐมนตรีไอซีทีสะท้อนวิสัยทัศน์สั้น และความไม่รู้จริงออกมา

เรื่องที่สองที่จะไม่ลงรายละเอียดเช่นกันแต่ก็ถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญมากเพราะเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนทุกคน นั่นคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ที่ท่านดันร่างผ่านคณะรัฐมนตรีเข้าสภาไปแล้ว แถมท่านว่าจะเร่งให้เสร็จในขั้นกรรมาธิการภายใน 7 วัน เรื่องนี้เข้าไปอ่านได้ที่ www.biolawcom.de/?/blog/427

เรื่องที่สามเป็นเรื่องเกี่ยวกับ โอเพ่น ซอร์ส ซอฟต์แวร์ ที่ท่านบอกว่าท่านจะไม่สนับสนุนโอเพ่น ซอร์ส เพราะไม่คุ้มครองทรัพย์ทางปัญญาใครเอาไปใช้ก็ได้ คนทำไม่ได้เงิน แล้วใครจะมาพัฒนา บอกด้วยว่าโครงการโอเพ่น ซอร์ส ส่วนใหญ่ทำแล้วก็เลิกไป ไม่มีการพัฒนา และยังได้ออกมาเป็นซอฟต์แวร์คุณภาพต่ำอีกด้วย
ท่านว่าเป็นอันตรายที่คนส่วนใหญ่มองไม่เห็น

ท่านพูดคล้ายกับ สตีฟ บัลมอร์ แห่งไมโครซอฟต์เคยพูดเอาไว้หลายปีก่อนที่เปรียบว่าโอเพ่น ซอร์ส เหมือน "มะเร็งร้าย" เพียงแต่ว่าไมโครซอฟต์เองมีนโยบายเลิก "แขวะ" โอเพ่น ซอร์ส ไปนานแล้ว แถมยังเลียนแบบโอเพ่น ซอร์ส ด้วยการเปิดซอร์ส โค้ด ซอฟต์แวร์บางอย่างออกมา เปลี่ยนท่าทีมาร่วมไม้ร่วมกับกลุ่มโอเพ่น ซอร์ส จากที่เคยตั้งตนเป็นศัตรู

ขณะที่ความเข้าใจเกี่ยวกับโอเพ่น ซอร์ส ของท่านรัฐมนตรีนั้น ผิดโดยสิ้นเชิงนะครับที่บอกว่าไม่มีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่จริงแล้วโอเพ่น ซอร์ส ซอฟต์แวร์ นั้นก็เหมือนซอฟต์แวร์ เอกสิทธิ์ หรือซอฟต์แวร์เชิงพาณิชย์โดยทั่วไป ที่กฏหมายลิขสิทธิ์ให้การคุ้มครองทุกประการ เพียงแต่ว่าผู้สร้างหรือผู้พัฒนาซอฟต์แวร์เจตนาที่จะแบ่งปันให้กับคนอื่นให้เอาไปใช้ฟรี หรือเอาไปพัฒนาปรับแต่งต่อยอดกันตามถนัด รหัสต้นฉบับที่เปิดเผยต่อสาธารณะนั้นจะยังคงอยู่ไปตลอดให้คนสนใจเข้ามาเอาไปศึกษาพัฒนาแก้ไข ไม่เหมือนกับซอฟต์แวร์เอกสิทธิ์ ถ้าไปไม่รอดก็หายไปจากโลก หรือไม่หายใครก็เอาไปทำอะไรไม่ได้เพราะไม่มีสิทธิ

ระบบปฏิบัติการลีนุกส์ ซึ่งเขย่าและพลิกเปลี่ยนโฉมหน้าของวงการซอฟต์แวร์ไปจากเดิมนั่นคือจุดเริ่มต้นที่ปลุกขบวนการโอเพ่น ซอร์ส ให้เติบใหญ่ขยายตัวชนิดยักษ์ใหญ่ต้องพลิกเปลี่ยนกันเป็นแถวๆ

พูดถึงการทำเงินจากโอเพ่น ซอร์ส ซอฟต์แวร์ ถึงขนาดบอกว่า "ถ้าเขียนโค้ดดีๆ ได้ จะไปแจกฟรีทำไมนั้น" นั้น ออกจะเป็นวิธีคิดแบบมนุษย์หน้าเงินเกินไปหน่อย ขัดกับพื้นฐานปรัชญญาโอเพ่น ซอร์ส และปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รัฐบาลชุดนี้ชูด้วย ที่ยึดถือการพึ่งตนเองและแบ่งปันกันเป็นสำคัญ แต่ถ้าคิดจริงๆ ว่าไม่ทำเงินก็ลองไปถาม ไอบีเอ็ม, ฮิวเล็ต-แพคการ์ต ว่าแต่ละปีมีรายได้จากโอเพ่น ซอร์ส ปีละกี่หมื่นกี่แสนล้านบาท หรือบริษัทโอเพ่นซอร์สแท้ๆ อย่าง MySQL นั่นก็ได้

ทันทีที่ใช้อินเตอร์เน็ต ขอให้รู้ไว้เถอะว่าท่านเป็นหนี้บุญคุณโอเพ่น ซอร์ส ซอฟต์แวร์ไปแล้วอย่างไม่รู้ตัว ไม่ว่าจะเป็นระบบปฏิบัติการลีนุกซ์,อาปาเช่ เซิร์ฟเวอร์,มายเอสคิวแอล ดาต้าเบส,พีเอชพี ฯลฯ ไม่นับรวมแอพพลิเคชั่นอื่นๆอีกมากมาย และไม่นับคุณูปการของโอเพ่น ซอร์ส ที่มีต่อการศึกษาและพัฒนาไอทีในบ้านเราด้วย อย่าว่าแต่ประเทศด้อยพัฒนาเลยครับ

แม้แต่ประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศเขาก็สนับสนุนโอเพ่น ซอร์ส กันในระดับนโยบายรัฐบาลทั้งนั้น เอาใกล้บ้านเราอย่างสิงคโปร์ เกาหลี ญี่ปุ่น หรือมหาอำนาจอย่างจีนก็ได้

ที่จริงเราไม่อาจหวังอะไร (ดีๆ) จากภาครัฐได้มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว

ทว่าความเห็นแบบไม่รู้จริงของท่านต่อโอเพ่น ซอร์ส ซอฟต์แวร์นั้น ในฐานะคนไทยผมอายครับ

เพราะคำพูดของท่านถูกนำไปโพสต์ในเว็บไซต์ it.Slashdot.org ชุมชนคนไอทีทั่วโลกเข้ามายำกันจนเละตุ้มเป๊ะ

กลุ่มโอเพ่น ซอร์ส บ้านเราก็กำลังล่ารายชื่อทำจดหมายเปิดผนึกถึงท่านรัฐมนตรีอยู่ที่ blognone.com จากห้าโมงเย็นวันพฤหัสบดีมาถึงราว 11 โมงวันศุกร์ มีผู้ลงชื่อ 388 คนแล้ว

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง


- ขยายภาพโอเพ่นซอร์ส (Open Source)
- จดหมายเปิดผนึก ถึง รมว. กระทรวง ICT
- รวมเอกสารสอนการใช้งานโอเพนซอร์ส
- เราจะทำอะไรกันต่อ?
- ไมโครซอฟท์ขอพบนายก "สิทธิชัย" แจงเหตุดันกม.ไอซีทีเข้าสภา