Skip to main content

 นักวิชาการด้านสื่อ มอ.ปัตตานี ยกศูนย์ข่าวอิศรา เป็นต้นแบบ องค์กรสื่อเพื่อสันติภาพ ชี้การสร้างเครือข่ายองค์กรวิชาชีพสื่อ ภาคประชาชน วิชาการ นโยบายด้านข่าวที่มุ่งเน้นการสร้างสันติสุขเป็นจุดแข็งให้เดินหน้าได้อย่างราบรื่น ติงช่องทางการสื่อสารยังจำกัด ไม่เข้าถึงระดับรากหญ้า

นางวลักษณ์กมล จ่างกมล รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย คณะวิทยาการสื่อสารมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และคณะซึ่งประกอบด้วยน.ส.อมรรัตน์ ชนะการณ์ น.ส.จรรยา พละมาตย์ และน.ส.มัทนี จือนารา นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิทยาการสื่อสาร ได้วิเคราะห์ความเป็นไปได้กรณี ศูนย์ข่าวอิศรากับความเป็น "สื่อเพื่อสันติภาพ" ซึ่งเป็นผลการศึกษาเบื้องต้นในชุดโครงการวิจัย เรื่อง "เทคโนโลยีสารสนเทศและนิเทศศาสตร์เพื่อสันติสุขของชาติ" ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ โดยตอนหนึ่งของการศึกษาได้ใช้ศูนย์ข่าวอิศราเป็นต้นแบบ เพื่อเป็นกรณีศึกษาในการเป็น "องค์กรสื่อเพื่อสันติภาพ" ในสังคมไทย เป็นการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับศูนย์ข่าวอิศราทั้งในแง่ของการบริหารองค์กร การบริหารงาน วิเคราะห์ผลงานและเนื้อหาที่นำเสนอ รวมทั้งการสำรวจความคิดเห็นของผู้รับสารที่เป็นประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้


การศึกษาวิเคราะห์ดังกล่าวสรุปว่า การเกิดขึ้นของ "ศูนย์ข่าวอิศรา" เป็นเสมือนกลไกตัวแทนในการเข้าไปแบกรับภาระทางสังคมในฐานะของ "สื่อมวลชน" ที่มีเป้าหมายเพื่อจรรโลงสันติภาพให้เกิดขึ้นกับสังคม เพื่อสร้างบทบาทของสมาคมนักข่าวฯ ให้เป็นมากกว่าองค์กรวิชาชีพที่กำกับดูแล เฝ้าระวังพิทักษ์สิทธิเสรีภาพ และดูแลสวัสดิการของสื่อมวลชนเท่านั้น โดยคำนึงถึงปรัชญาของความเป็น "สื่อสันติภาพ" ที่ต้องการมีส่วนร่วมในการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้ศูนย์ข่าวอิศรากลายเป็นองค์กรสื่อมวลชนที่สามารถดำรงสถานะความเป็น "สื่อเพื่อสันติภาพ" ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากประชาชน นักวิชาการ องค์กรอิสระ และเครือข่ายสื่อมวลชนด้วยกันเอง

ผลการศึกษาชิ้นนี้ชี้ว่า จุดแข็งของศูนย์ข่าวอิศราประกอบด้วย การให้ความสำคัญกับความเป็น "เครือข่าย" ระหว่างสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย องค์กรสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ องค์กรภาคประชาชน นักวิชาการ และองค์กรอิสระแขนงต่างๆ ทำให้ภารกิจต่างๆ ดำเนินไปอย่างราบรื่นและได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีการบริหารองค์กรที่เน้นความไม่เป็นทางการ ทำให้เกิดบรรยากาศความร่วมมือในการทำงานของบุคลากรที่มาจากหลากหลายองค์กรสื่อมวลชน มีนโยบายการนำเสนอข่าวสารที่มุ่งเน้นการสร้างสันติสุขอย่างชัดเจน รวมทั้งมีบุคลากรผู้สื่อข่าวจากองค์กรสื่อมวลชนต่าง ๆ ซึ่งไม่ยึดติดกับสังกัดเดิมของตน ทำให้ขับเคลื่อนภารกิจไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้การทำงานร่วมกันระหว่างสื่อมวลชนจากส่วนกลางกับสื่อมวลชนท้องถิ่นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันข้อมูลได้เป็นอย่างดี นำไปสู่การสร้างความรู้ความเข้าใจต่อปัญหาที่เกิดขึ้น


อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาพบว่ายังมีบางประเด็นที่จะต้องพิจารณาเพื่อการปรับปรุงต่อไป ซึ่งประกอบด้วย การมีสถานะเป็นเพียง "โครงการ" หนึ่งภายใต้สมาคมนักข่าวฯ ซึ่งเป็นองค์กรที่ไม่หวังผลกำไรทางธุรกิจ ทำให้ต้องหางบประมาณสนับสนุนจากแหล่งอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความไม่มั่นคงและไม่ยั่งยืนทางการเงิน อันอาจนำไปสู่ปัญหาการแทรกแซงของผู้สนับสนุนทุนได้ รูปแบบการบริหารจัดการองค์กรแบบไม่เป็นทางการนั้น อาจนำไปสู่ปัญหาในการบริหารงานได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดอำนาจหน้าที่และขอบเขตภาระงานของบรรณาธิการอย่างชัดเจน ส่งผลให้บรรณาธิการขาดอำนาจและไม่สามารถกำกับดูแลการทำงานของผู้สื่อข่าวและบุคลากรได้อย่างเต็มที่ และมีประสิทธิภาพ การบริหารการเงินยังไม่เป็นระบบและขาดกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน ให้อิสระแก่บรรณาธิการในการบริหารการเงินค่อนข้างมาก มีการตรวจสอบเฉพาะหลักฐานการใช้จ่ายยอดรวมเท่านั้น อาจเกิดความไม่โปร่งใสด้านการบริหารการเงินได้


สิ่งที่ควรพิจารณาเพื่อปรับปรุงอีกประเด็นหนึ่งคือ การพึ่งพิงบุคลากรจากส่วนกลางมากเกินไป ทำให้ในบางขณะ ที่มีผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางลดลง ส่งผลให้จำนวนผลงานข่าวลดลงไปด้วย ขณะเดียวกันบรรณาธิการจากส่วนกลางต้องสลับสับเปลี่ยนกันอยู่เสมอ ๆ ทำให้แนวทางการกำกับดูแลการทำงานของผู้สื่อข่าวแตกต่างกัน การแก้ปัญหานี้ อาจทำได้โดยการพัฒนาบทบาทและศักยภาพของผู้สื่อข่าวท้องถิ่นให้มากขึ้น หากเป็นไปได้เมื่อโครงสร้างขององค์กรมีความเข้มแข็ง มั่นคง และมีรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น อาจจะให้ผู้สื่อข่าวท้องถิ่นทำหน้าที่ในการบริหารจัดการและเป็นบรรณาธิการ โดยผู้สื่อข่าวจากส่วนกลางหรือบุคลากรของสมาคมนักข่าวฯ เป็นเพียงผู้กำกับดูแลระดับนโยบายโดยประจำอยู่ ณ ส่วนกลาง แต่อาจจะส่งบุคลากรมาปฏิบัติงานในพื้นที่บ้างในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญ ๆ เกิดขึ้น

ในด้านการเป็นที่รู้จักนั้น ผลการศึกษาพบว่าศูนย์ข่าวอิศรายังไม่สามารถเป็นพื้นที่สาธารณะให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้ดังที่ตั้งเป้าหมายไว้ เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของศูนย์ข่าวอิศรา จึงควรให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์องค์กร อันจะส่งผลให้ประชาชนเข้ามาใช้ช่องทางการสื่อสารนี้เป็นเวทีและพื้นที่สาธารณะมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ศูนย์ข่าวอิศราได้รับข้อมูลข่าวสารจากประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ทำให้แหล่งข่าวสารที่นำเสนอมีความหลากหลายมากกว่าจะเป็นเพียงนักวิชาการ องค์กรภาครัฐ หรือนักการเมือง เช่นในปัจจุบัน


สำหรับช่องทางการสื่อสารซึ่งมีเพียง เว็บไซต์ www.tjanews.org เพียงช่องทางเดียวทำให้ยังมีข้อจำกัด ประชาชนระดับรากหญ้าไม่สามารถเข้าถึงได้ ดังกรณีตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ที่บ้านละหาน ตันหยงลิมอ ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่รับรู้ข้อมูลข่าวสารจากสื่อมวลชนกระแสหลักในส่วนกลาง ไม่ว่าจะเป็นวิทยุ โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ ศูนย์ข่าวอิศราจึงจำเป็นต้องมีการขยายช่องทางการสื่อสารไปที่สื่อประเภทอื่นมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อวิทยุกระจายเสียงที่น่าจะเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ได้มากกว่าสื่อเว็บไซต์ นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษาความคิดเห็นของประชาชนพบว่า รูปแบบการนำเสนอข้อมูลของศูนย์ข่าวอิศรายังไม่มีการเจาะลึกหรือสืบสวนสอบสวนเท่าที่ควร อีกทั้ง ยังไม่ได้นำเสนอข่าวสารในแง่มุมใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากสื่อมวลชนกระแสหลักมากนัก


สื่อมวลชนทั้งในส่วนกลางและท้องถิ่นยังให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการนำข่าวสารของศูนย์ข่าวอิศราไปเผยแพร่ในปริมาณไม่มากนัก โดยจากการศึกษาพบว่า มีจำนวนผลงานเพียงประมาณร้อยละ 50 เท่านั้นที่ถูกนำเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนกระแสหลัก นอกจากนี้ ประเภทของผลงานที่นำเสนอก็มักจะเป็นในลักษณะของสกู๊ปข่าวหรือสารคดีเชิงข่าวมากกว่าในรูปแบบของ "ข่าว" ทำให้ข่าวเกี่ยวกับจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปรากฏตามสื่อกระแสหลักจึงยังคงมีรูปแบบเดิมที่มุ่งนำเสนอเหตุการณ์ที่มีความรุนแรงมากกว่าการพยายามอธิบายปรากฏการณ์


ผลการศึกษาชิ้นนี้ได้ชี้ถึงโอกาสของศูนย์ข่าวอิศราในการเป็นสถาบันสื่อมวลชนซึ่งเป็นที่ยอมรับว่า สังคมไทยให้ความสำคัญ มีความหวัง และตระหนักว่าสถาบันสื่อมวลชนเป็นที่พึ่งพิงและจะเป็นผู้คลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งและช่วยนำไปสู่การหาหนทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม อีกทั้งนักวิชาการและนักคิดคนสำคัญในสังคมไทยก็ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมบทบาทของสื่อมวลชน รวมทั้งเร่งกระตุ้นให้สื่อมวลชนมีการปฏิรูปบทบาทเพื่อการมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมที่สันติสุขมากขึ้น เหล่านี้จึงเป็นโอกาสอันสำคัญที่ทำให้ศูนย์ข่าวอิศราจะได้รับการยอมรับและการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมากขึ้นในอนาคต ภาคประชาชน นักวิชาการ และกลุ่มองค์กรเครือข่ายหลายๆ องค์กรสนับสนุนทิศทางและปรัชญาของ "สื่อมวลชนเพื่อสันติภาพ" ซึ่งเป็นเป้าหมายและทิศทางหลักของศูนย์ข่าวอิศรา ดังนั้น ในอนาคตศูนย์ข่าวอิศราอาจจะได้รับการสนับสนุนจากภาคประชาชนในลักษณะของการระดมทุนเพื่อสร้างให้เกิด "สื่อสาธารณะเพื่อสันติภาพ" ต่อไป


"จากการวิเคราะห์ถึงจุดเด่น จุดแข็ง จุดที่ควรปรับปรุง โอกาส และอุปสรรคของศูนย์ข่าวอิศรา จะเห็นได้ว่าการยึดเป้าประสงค์ที่สำคัญในการมุ่งไปสู่ความเป็น "สื่อเพื่อสันติภาพ" โดยปราศจากการแทรก แซงของการเมืองและธุรกิจ รวมทั้งปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ นั้น จะเป็นเกราะป้องกันที่สำคัญของการคงอยู่อย่างยั่งยืนของศูนย์ข่าวอิศรา นอกจากนี้ หากสถานะขององค์กรได้รับการพัฒนาและส่งเสริมให้มีความเป็นอิสระและมีความมั่นคงมากขึ้น รวมทั้งมีการปรับปรุงในบางประเด็นที่ยังบกพร่อง ก็จะส่งผลให้ศูนย์ข่าวอิศราสามารถก้าวไปสู่การเป็นองค์กรสื่อยุคใหม่ที่สามารถเป็นแบบอย่างการดำเนินงานของ "สื่อเพื่อสันติภาพ" ได้"

นายภัทระ คำพิทักษ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผลการศึกษาวิเคราะห์ชิ้นนี้เป็นเรื่องดีที่สมาคมฯ จะนำมาปรับปรุงการดำเนินงานของศูนย์ข่าวอิศราให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังมีบางประเด็นที่ผู้ทำการศึกษา อาจจะยังไม่เข้าใจ เช่น รูปแบบของการนำเสนอ ซึ่งเป็นสกู๊ปข่าว หรือสารคดีเชิงข่าวมาก กว่ารูปแบบของข่าวนั้น เป็นเพราะต้องการนำเสนอข้อมูลในเชิงอธิบาย เพื่อให้ผู้รับสารเข้าใจต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น


"สิ่งที่ศูนย์ข่าวอิศราทำอยู่นั้น เป็นการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวนแบบหนึ่ง ซึ่งเราเรียกว่า ความพยายามเข้าถึงความจริงที่ถูกอำพรางซ่อนเร้นอยู่ ด้วยการอธิบายเบื้องลึก เบื้องหลังเหตุการณ์ หากผู้ศึกษาได้พิจารณาอ่านงานที่เรานำเสนอไปทั้งหมดจะพบว่า เราได้พยายามค้นหาความจริงที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ในปรากฏการณ์ต่างๆ มาโดยตลอด นับแต่กรณีคำขู่หยุดงานวันศุกร์ กรณีผู้หญิงและเด็กปิดหมู่บ้าน ห้ามเจ้าหน้าที่หรือคนภายนอกเข้าไปภายในหมู่บ้าน เราพยายามหาคำตอบว่าทำไม เพราะอะไร ซึ่งเราได้ทำเรื่อยมาโดยตลอด ทั้งเรื่องกระบวนการข่าวลือ การจัดตั้งองค์กรควบคุมชุมชนหมู่บ้านในพื้นที่สีแดง กรณี 131 คนไทยอพยพ กรณีตันหยงลิมอ กรณีวัดพรหมประสิทธิ์ การปิดพื้นที่ถล่มอ.บันนังสตา กรณีฆ่ายกครัวที่บ้านกะทอง เราทำไปถึงขั้นการเปิดปูมองค์กรเบื้องหลังที่พยายามยกระดับสถานการณ์ความไม่สงบจากปัญหาภายในประเทศให้เป็นปัญหาสากล สิ่งเหล่านี้แทบไม่มีการอธิบายกันมาก่อนเลย ว่าเป็นอย่างไร เพราะอะไร เราคิดว่าการที่ทุกภาคส่วนในสังคมไทยมีความเข้าใจอย่างถูกต้องต่อสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคใต้ จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างถูกต้อง และจะนำมาซึ่งสันติสุขโดยเร็ว" นายภัทระกล่าว

นายกสมาคมนักข่าวฯ กล่าวอีกว่า แม้กระทั่งในด้านการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน ศูนย์ข่าวอิศราได้ติดตามข่าวสารจากสื่อเพื่อนบ้านโดยตรง เพื่อดูว่าเพื่อนบ้านคิดเห็นอย่างไรกับปัญหาในประเทศของเรา เรื่องใดที่เห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญที่สังคมไทยควรรับรู้ ก็แปลข่าวมารายงานโดยตรง ไม่ต้องผ่านสำนักงานของโลกตะวันตกอย่างที่เคยทำกันมาก่อน นอกจากนี้ศูนย์ข่าวอิศรายังส่งทีมข่าวเฉพาะกิจไปเจาะลึกวัดกระแสจากประเทศเพื่อนบ้านโดยตรงด้วยซ้ำ เรียกได้ว่ารูปแบบต่างๆ ที่ศูนย์ข่าวอิศราพยายามดำเนินการอยู่นั้น เป็นการสร้างแง่มุมใหม่ๆ ในการเสนอข่าว นอกเหนือจากการรายงานแค่ปรากฏการณ์เพียงอย่างเดียว


นายภัทระกล่าวว่า เจตนารมณ์ของสมาคมฯในการจัดตั้งศูนย์ข่าวอิศรามิใช่แค่การสร้างสถาบันสื่อขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่รายงานข่าวเพียงอย่างเดียว แต่ศูนย์ข่าวอิศราเป็นสิ่งซึ่งให้ทุกคนได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ซึ่งได้มอบให้เป็นภาระของบรรณาธิการร่วมทั้งสองส่วน ดังนั้นการกำหนดอำนาจหน้าที่ของบรรณาธิการจึงมีความชัดเจน ซึ่งประเด็นนี้จะเกี่ยวกับการหมุนเวียนนักข่าวลงมาปฏิบัติงานด้วย เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ ซึ่งผลที่ได้ถือว่าคุ้มค่า สามารถสร้างคนข่าวจำนวนมาก ที่มีพื้นฐานในเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรม และรากเหง้าปัญหาชายแดนภาคใต้ ซึ่งจะเป็นฐานในการทำงานต่อไป ซึ่งเป็นเป้าหมายของสมาคมฯในการพัฒนาบุคลากรด้านงานข่าวอยู่แล้ว ซึ่งบุคคลภายนอกอาจจะไม่เข้าใจถึงจุดประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ข่าวอิศรา แต่สำหรับสมาคมฯถือว่าพอใจในการทำหน้าที่ของผู้ปฏิบัติมาก


นายภัทระกล่าวอีกว่า สำหรับสถานะของศูนย์ข่าวอิศรานั้น แม้เดิมจะเป็นเพียงโครงการหนึ่ง แต่กรรม การบริหารสมาคมได้มีมติพัฒนาโครงการสื่อสันติภาพ โต๊ะข่าวภาคใต้มาเป็นสถาบันข่าวอิศรา ซึ่งมีการวางโครงสร้าง กฎเกณฑ์ กำหนดผู้รับผิดชอบและบริหารจัดการ รวมทั้งการระดมทุนและกลไกในการตรวจสอบไว้แล้ว


"สำหรับการบริหารการเงินนั้นที่ผ่านมามีการตรวจสอบกันถึง 3 ระดับ คือจากบรรณาธิการร่วมทั้งสองคน การเบิกจ่ายทุกอย่างต้องมีหลักฐาน โดยมีเลขานุการกองบรรณาธิการเป็นผู้จัดทำบัญชีค่าใช้จ่าย และส่งให้สมาคมตรวจสอบ เมื่อสมาคมตรวจสอบแล้วก็จะส่งไปให้มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ(มสช.) ในฐานะผู้ให้ทุนสนับสนุนเป็นผู้ตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง จากนั้นมสช.ก็จะส่งหลักฐานการเบิกจ่ายเงินไปให้องค์กรที่เป็นเจ้าของทุนตรวจสอบในขั้นสุดท้าย ซึ่งแต่ละขั้นตอนก็จะมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่จะต้องปฏิบัติอย่างชัดเจน เพื่อความโปร่งใส" นายกสมาคมนักข่าวฯกล่าว

ด้านนายมูฮำมัด อายุบ ปาทาน บรรณาธิการ โต๊ะข่าวภาคใต้ ศูนย์ข่าวอิศรา กล่าวว่า ข้อมูลข่าวสารที่ศูนย์ข่าวอิศราผลิตออกมานั้น ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ช่องทางการเผยแพร่ข้อมูลในปัจจุบันได้ขยายไปสู่สื่อวิทยุ โดยกลุ่มสื่อทางเลือกเพื่อสันติภาพ ซึ่งเป็นความร่วมมือของเครือข่ายวิทยุชุมชนภาคใต้ จะมีการจัดทำสื่อบันทึกเสียงรายการวิทยุ จำนวน 24 ตอน แบ่งออกเป็นสามส่วนคือ รากเหง้าของปัญหา ผลกระทบจากความรุนแรง และแนวทางยุติความรุนแรงด้วยสันติวิธี ตอนละประมาณ 30 นาที โดยใช้ข้อมูลจากศูนย์ข่าวอิศรา แจกจ่ายไปยังสถานีวิทยุชุมชนทุกแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเผยแพร่ไปยังประชาชนในระดับรากหญ้า ซึ่งจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนเมษายนนี้ และนอกจากนี้ยังได้มีการหารือร่วมกันกับมูลนิธิสื่อภาคประชาสังคม ซึ่งเห็นด้วยในหลักการที่จะนำสารคดีดังกล่าวไปเผยแพร่ยังสถานีวิทยุชุมชน 500 สถานีทั่วประเทศ เพื่อเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจร่วมกัน


"นอกจากนี้ในการประชุมวางแผนยุทธศาสตร์ภาคประชาชนเรื่องภาคใต้ ซึ่งจัดโดยฟอรั่มเอเชีย เมื่อวันที่ 8-9 เมษายนที่ผ่านมา ที่ประชุมยังเห็นชอบที่จะให้ศูนย์ข่าวอิศราเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนเผยแพร่ผลงานขององค์กรภาคประชาชน ในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ไปสู่ประชาชนระดับรากหญ้า โดยจะทำงานร่วมกันกับสื่อวิทยุชุมชนในพื้นที่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลจากการที่ศูนย์ข่าวอิศรา ได้มุ่งสะท้อนเสียงของคนรากหญ้า คนในพื้นที่ ซึ่งถูกละเลยไป งานของเรากว่า 80 % เป็นเสียงจากชาวบ้าน ผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง เรามิได้มุ่งเสนอแต่เสียงของนักวิชาการ องค์กรภาครัฐ หรือนักการเมืองเท่านั้น" นายมูฮำมัดอายุบกล่าว


ที่มา: สถาบันข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย