Skip to main content
 เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2549 "ประชาไท" เคยเขียนถึง "ศูนย์ข่าวอิศรา" เป็นอีกบันทึกหนึ่งที่มีค่าสำหรับเรา...

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ตลอดปลายปี 2548 บทบาทของ ‘ศูนย์ข่าวอิศรา' ที่จัดตั้งขึ้นโดย ‘สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย' สร้างผลสะเทือนต่อการนำเสนอข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนสูงยิ่ง

หลายเหตุการณ์ความไม่สงบ ‘ศูนย์ข่าวอิศรา' ออกมานำเสนอข้อมูลได้หลากหลายมุมมอง ด้วยความพยายามที่จะให้ครอบคลุมทุกประเด็นข่าว กระทั่งหลายเรื่องกลายเป็นความรู้ใหม่สำหรับสังคมไทย

จึงไม่แปลกที่ ‘ภัทระ คำพิทักษ์' อุปนายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ในฐานะหัวหน้า ‘โครงการสื่อสันติภาพ : โต๊ะข่าวภาคใต้' ประเมินผลงานของ ‘ศูนย์ข่าวอิศรา' ที่เพิ่งเริ่มต้นเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 กับ ‘ประชาไท' ในวาระต้อนรับปี 2549 ด้วยความพึงพอใจยิ่ง ดังต่อไปนี้
ศูนย์ข่าวอิศรา มีผลต่อการนำเสนอข่าวสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างไร
เท่าที่ประเมินส่วนตัวเห็นว่า ศูนย์ข่าวอิศราทำให้ภาพรวมการนำเสนอข่าวจังหวัดชายแดนภาคใต้ดีขึ้น ต่างจากช่วงเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ การนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนเกี่ยวกับสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็น ทำให้ประชาชนทั่วประเทศ มองภาพคนจังหวัดชายแดนภาคใต้ผิดไปจากความเป็นจริง แต่พอเราตั้งศูนย์ข่าวอิศราขึ้นมาได้ระยะหนึ่ง กลับทำให้คนใน 73 จังหวัด กว่า 70 ล้านคน เข้าใจปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้มากขึ้น

อีกด้านหนึ่ง การนำเสนอข่าวของศูนย์ข่าวอิศรา ยังส่งผลให้กระบวนการสอดส่องทุกข์สุขของชาวบ้านทำงานมากขึ้น ทำให้การแก้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงนี้น่าจะมีผลให้การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐดีขึ้น สามารถทำความเข้าใจสถานการณ์จังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อสาธารณชนได้ได้ดีขึ้น

ต่อมา ผมคิดว่าศูนย์ข่าวอิศรา ทำให้สังคมไทยเข้าใจความสัมพันธ์ของปัญหาที่เกิดขึ้นว่า มาจากหลากหลายมิติ เท่ากับเป็นการสร้างฐานองค์ความรู้ให้กับสังคมไทย จากเมื่อก่อนคนไทยไม่ค่อยมีความรู้เรื่องจังหวัดชายแดนภาคใต้เลย มีแต่เสียงวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่มีข้อเท็จจริงรองรับ

ส่วนสื่อมวลชนเอง เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา เกิดการรายงานข่าวในรูปแบบใหม่ ที่ส่งผลต่อกระบวนการทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่เข้าใจกันและกัน ความอยุติธรม รวมทั้งทัศนคติของคนในสังคมด้วย

ผลงานที่ออกมา ทั้งปริมาณและคุณภาพ เป็นที่พอใจหรือไม่ และมีเสียงสะท้อนออกมาอย่างไร
พอใจมากๆ ทั้งปริมาณและคุณภาพ ศูนย์ข่าวอิศราเกิดขึ้น เพราะเราต้องการให้มีการปฏิรูปสื่อ และแก้ปัญหาเรื่องการสื่อสารกับสังคมให้กับคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เราบรรลุวัตถุประสงค์ทั้ง 2 ข้อ และสังคมให้การตอบรับดี ซึ่งมันนำไปสู่ภูมิศาสตร์การสื่อสารแบบใหม่ขึ้นมา

ยกตัวอย่าง ทุกวันนี้เกิดข่าวขึ้นมา 500 เรื่อง ทั้ง 500 เรื่องไม่ได้เกิดขึ้นในสื่อกระแสหลักอย่างเดียว หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นก็เอาไปขยายต่อ เป็นการเพิ่มพื้นที่การสื่อสาร ก่อให้เกิดการแสดงความเห็นที่ถูกต้อง เพราะมีข้อมูล ข้อเท็จจริงมารองรับ การแสดงความเห็นจึงอยู่บนฐานข้อมูล ทำให้เราไม่ตัดสินปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยอคติหรืออารมณ์ แต่พูดจากข้อเท็จจริง ทำให้จะเกิดความเห็นอกเห็นใจกัน ซึ่งมีค่ามาก เช่น กรณีตันหยงลีมอ หรือกรณีของลุงวาเด็งพระสหาย ส่วนคุณค่าทางการการศึกษา ทำให้สังคมไทยเกิดความเข้าใจความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม และศาสนามากขึ้น

สิ่งนี้ เป็นภารกิจที่คนข่าวต้องทำอยู่แล้ว วัตถุประสงค์ของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเขียนไว้ชัดเจน 1 ใน 5 วัตถุประสงค์ของสมาคมฯ เขียนไว้อย่างนี้

"ส่งเสริมความเข้าใจอันดีของคนในชาติเพื่อสร้างความสุขและการกินดีอยู่ดีของคนทั้งโลก" เพราะฉะนั้น มันเป็นหน้าที่ของคนในอาชีพนี้

ถามว่าพอใจไหม พอใจและดีใจที่งานของเราน่าจะเกิดประโยชน์ต่อประเทศ เราได้ช่วยเหลือชาวบ้าน ได้เผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับพื้นที่ ขณะที่กลุ่มเพื่อนๆ ที่ทำงานด้วยกัน เกิดการเรียนรู้ และมีการพัฒนาความสามารถในการทำงานมากขึ้น

เรายังจะทำเรื่องอื่นๆ อีก เช่น เรื่องน้ำท่วม เรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นบริบทที่น่าสนใจ ไม่จำกัดเฉพาะเรื่องความรุนแรง หรือสถานการณ์ความไม่สงบอย่างเดียว เราจะทำทุกอย่างที่เกี่ยวกับเรื่องทุกข์สุขของชาวบ้าน

อนาคตจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
สมาคมฯ จะขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูปองค์กรข่าว โดยจะจัดตั้งสถาบันข่าวขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการเพิ่มคุณภาพข่าวสาร และคุณภาพของทรัพยากรบุคคลให้เป็นมืออาชีพ โดยจะใช้รูปแบบของศูนย์ข่าวอิศราเป็นโมเดล เราจะพัฒนาของเราต่อไปอีก ชัดเจนว่าศูนย์ข่าวอิศราจะยังคงอยู่ต่อไป โดยจะขยายภารกิจมากขึ้น พัฒนาไปสู่การจัดตั้งเป็นสถาบันข่าวขึ้นมา วันนักข่าวปีนี้ วันที่ 5 มีนาคม 2549 เราจะระดมคนจากองค์กรต่างๆ เข้ามาร่วมพัฒนาศูนย์ข่าว โดยจะพัฒนาเป็นศูนย์ข่าว 4 ภาษา คือ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ภาษายาวี และภาษาอาหรับ

หลังจากวันที่ 5 มีนาคมคม 2549 สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จะเข้ามาร่วมรายงานข่าวสถานการณ์ภาคใต้ เพื่อขยายความรับรู้ของคนให้มากขึ้น

ยังมีงานเขียนหลายชิ้นที่ไม่ได้ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ในขณะที่คนเปิดอ่านในเว็บไซด์ยังน้อย จะทำให้งานเขียนเหล่านั้นสูญเปล่าไปหรือไม่
ตอนนี้ เราได้รวบรวมงานเขียนทั้งหมด พิมพ์เป็นพ็อกเกตบุ๊ค 2 เล่ม เพื่อขยายให้สังคมได้รับรู้ได้มากขึ้น ตอนนี้กำลังรวมเล่มอยู่ ส่วนงานเขียนที่ยังออกมาเรื่อยๆ เราจะรวมเล่มด้วย

เป็นไปได้ว่า ต่อไปเราจะนำรูปแบบศูนย์ข่าวอิศรา ไปใช้ในภาคอื่นๆ ถ้าเกิดสถานการณ์ที่จำเป็นขึ้นมา เช่น รายงานข่าวปัญหาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ในภาคเหนือ

เราจะเป็นผู้ให้แบ็คกราวด์กับสื่อต่างๆ ทั้งในข้อมูลและประเด็นข่าว รวมทั้งเป็นแบ็คให้กับสื่อท้องถิ่น เช่น วิทยุชุมชนที่จะเกิดขึ้นมาใหม่ เพราะสื่อเหล่านี้ต้องการข้อมูลจำนวนมาก แต่ยังขาดข้อมูลทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ เราจะเป็นแบ็คให้กับสื่อต่างๆ เท่าที่เราสามารถเสริมให้ได้ เพื่อช่วยกันปรับโครงสร้างการทำงานข่าว ที่ยังมีช่องโหว่อยู่

ด้านการพัฒนาบุคลากร เราอยากให้มันเป็นที่หล่อหลอมจิตสำนึกของความเป็นนักข่าวมืออาชีพ เราจะอยู่เหนือกว่าคำว่าลูกจ้าง เหนือกว่าคำว่าทุน เหนือกว่าคำว่าค่ายต่างๆ