Skip to main content

 เมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 เปลวสีเงิน แห่งไทยโพสต์ได้เขียนถึง 'เหยี่ยวอิศรา' สื่อหน้าใหม่ เราลองกลับมาอ่านกันอีกครั้ง...


....หยุดคุยเรื่อง เสนียดบ้าน-เสนียดเมือง ไว้ก่อนดีกว่า แล้วมาคุยกันถึงเรื่องที่เป็นมงคลแก่วงการสื่อสารหนังสือพิมพ์บ้าง

ท่านที่อ่านๆ หนังสือพิมพ์รายวันตอนนี้ โดยเฉพาะที่ไทยโพสต์นี่แหละ ถ้าสังเกตให้ดี จะพบข้อเขียนในเชิงบทความ-บทวิเคราะห์ปัญหา 3 จังหวัดใต้ค่อนข้างจะบ่อย

ในหลายๆ ฉบับก็มีนะครับ ไม่ใช่ที่ไทยโพสต์ที่เดียว

ในงานเขียนนั้นๆ จะมีที่มา-ที่ไป กำกับไว้ด้วยเสมอว่า "ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย"

หลายๆ ท่านอาจสงสัย "อะไรคือศูนย์ข่าวอิศรา"?

และมีความเป็นมาอย่างไร จู่ๆ ก็เห็นงานคิด-งานเขียนแพร่หลายกระจายไปตามสื่อหนังสือพิมพ์ต่างๆ

แล้วก็รู้ๆ กันอยู่ ในบรรดา "จอมอีโก้" คืออัตตาจัดแล้วละก็ ไม่มีใครเกินพวกหนังสือพิมพ์หรอก

เห็นแก่ตัวที่สุด คับแคบที่สุด บ้าค่าย บ้าศักดิ์ศรีที่สุด ชอบอ้าง "หน้าที่สื่อ" เป็นฉาก มากที่สุด
ก็พวก "หนังสือพิมพ์" อย่างผมนี่แหละ!

ฉะนั้น พรืดเดียว "ศูนย์ข่าวอิศรา" ก็สามารถยึดครองหน้ากระดาษของหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆ ได้ คล้ายกับว่าแต่ละฉบับต้องซื้อข่าว และข้อคิด-ข้อเขียนจากศูนย์ข่าวอิศรามาใช้ เหมือนกับที่ต้องซื้อข่าว เอพี รอยเตอร์ เอเอฟพี อะไรทำนองนั้น
มันคืออะไรกันแน่?

แต่ละฉบับ ทำไมถึงหมดฤทธิ์-สิ้นพยศ ศิโรราบให้กับ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ง่ายดายปานนั้น?

วันนี้มีคำตอบครับ!

หะแรก ผมก็ไม่ทราบหรอก เพียงแต่ว่าซัก 2-3 เดือนที่ผ่านมา มีนักข่าวกลุ่มหนุ่ม 2-3 คนที่เป็นกรรมการ "สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" มาคุยกับผม

เขาบอกว่า เห็นภาวะบ้านเมืองสับสนโดยเฉพาะจากปัญหา 3 จังหวัดใต้เช่นนี้ ก็คิดกันว่า "ในฐานะสถาบันคนสื่อ" น่าจะอาศัยสถานภาพทำอะไรให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมชาติให้มากกว่า "อาศัยใช้เป็นหนังคลุมร่าง" เห่ารักษาเฉพาะแต่หม้อข้าวตัวเองไปวันๆ

ผมสรุปความหมายน่ะครับ เขาไม่ได้พูดตรงคำเช่นนั้น แล้วเขาก็ขยายแนวคิดว่า จะเอานักข่าวจากแต่ละสำนักมารวมเป็นหนึ่ง แล้วสร้างเป็นรูปธรรมผ่าน "ศูนย์ข่าว" ลงไปปักหลักอยู่-กินในพื้นที่ 3 จังหวัดใต้เลย

คืออยู่แต่ในรูกรุงเทพฯ ฟังแต่ข่าวเล่าว่า..ฟังแต่ข่าวรายงานว่า แล้วก็รวบรวมรายงานผ่านหน้ากระดาษที่เรียกว่า "หนังสือพิมพ์" แต่ละยี่ห้อออกไป

ใช่บ้าง ไม่ใช่บ้าง ผิดบ้าง ถูกบ้าง

ใช่-ถูก ก็ดีไป ถ้าไม่ใช่-ไม่ถูก รัฐบาลเขาก็ตำหนิว่า "พวกหนังสือพิมพ์เอาแต่ขายข่าวบ้าง ไม่รักชาติบ้าง ไม่รับผิดชอบบ้าง ไม่สร้างสรรค์บ้าง บิดเบือนไปวันๆ บ้าง

เขาตำหนิ ถึงรู้ว่าพาล แต่เราก็ไม่มี "ข้อมูลพื้นฐาน" มายันถึงการทำหน้าที่กับเขาตรงๆ

นั่นก็ไม่ใช่เรื่องหลัก เรื่องหลักที่นักข่าวอันเป็นกรรมการสมาคมนักข่าวฯ เขาตระหนัก คือ

ในภาวะที่ ประชาชนในพื้นที่ เหมือนถูกตัดขาดการเชื่อมต่อ "ความสุข-ทุกข์" กับเพื่อนร่วมชาติภายนอกในฐานะ "ไทยด้วยกัน"
เมื่อมันเกิดช่องว่าง และถูกถ่างให้กว้างขึ้นเรื่อยๆ จากการทำงาน "มาถูกทางแล้ว" ของภาครัฐ ด้วยสายตาสื่อคือเหยี่ยวที่ย่อม "บินสูง มองไกล" เสมอ จึงเห็นว่า

ถ้าสถาบันสื่อไม่แสดงบทบาทในหน้าที่ตัวเองให้ "เป็นที่พึ่งของสังคมได้" ในภาวะสังคมสับสน เพราะขาดข่าวสารที่ให้ทั้งข้อเท็จจริง และข้อจริงในยามนี้

สถาบันสื่อมันก็ไม่ต่างไปกว่า สถาบันอาบนวด สถาบันขายบริการทั่วไป แค่มีเอาไว้เพื่อเสริม "กามบริการ"

ความจริงเขาขยายแนวคิด-โครงงานเป็น "วิชาการ" หลักฐานหลายหน้ากระดาษ ผมมันเป็นคนแพ้วิชาการก็เลยอ่านไม่หมด จับแต่ใจความว่า เขาจะยกกองทัพเจาะข่าวสัจจะไปตั้งศูนย์อยู่ที่มหาวิทยาลัยปัตตานี

ครู-อาจารย์ และนักศึกษาที่สนใจร่วมโครงการ ก็จะมาร่วมงานด้วยกัน

คุยกันไม่นาน แล้วเขาก็ลากลับไป บอกว่าต้องไปเตรียมตัว และอุปกรณ์ เพราะจะลงพื้นที่ 3 จังหวัดใต้วัน-สองวันนี้ ผมก็ให้ศีลให้พรเขาไปตามประสา

แล้วต่อมาไม่นาน ผมก็เห็น "ศูนย์ข่าวอิศรา" สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เป็นตรารับประกันงานเขียน งานข่าวหราอยู่ตามหน้าหนังสือทั้งหลาย

ผมก็ปลื้มใจ-ดีใจ ที่นักข่าวใฝ่สาระรุ่นใหม่ที่ไม่ใช่บ้าอยู่แต่ราคาหุ้น "สร้างราคา" ให้กับสถาบันนักข่าว ด้วยการลงไปทำงานภาคสนามโดยสลัดค่าย-สังกัดทิ้งไป

ผนึกรวมอยู่ในคำว่า "ศูนย์อิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย" ไร้อัตตา ไร้อัสมิมานะ

"ศูนย์อิศรา" ผมเข้าใจเอาเองว่า คงมาจากชื่ออดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้ยิ่งใหญ่ ที่เคารพนับถือกันในความเป็น "สุภาพบุรษสื่อ" คือ "อิศรา อมันตกุล"

อ้อ..ต้องย้ำไว้ตรงนี้เลยว่า "อิศรา อมันตกุล" ท่านเป็นไทยมุสลิมครับ แต่ความเป็น "คนต่างศาสนา" ไม่เคยอยู่หัวสมองผองเพื่อนพี่น้องคนหนังสือพิมพ์ ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนเป็นไทยพุทธเลยว่า

"อย่าไปนับถือพี่อิศ เพราะเป็นอิสลาม"

ทุกคนเคารพ และกราบ "พี่อิศ" หัวติดพื้น ยกให้เป็น "คนจริง-สื่อจริง" เป็นหัวแถวของคนหนังสือพิมพ์ที่ "ไม่ประพฤติ 2 หน้า" ในวิชาชีพ

ผมเกิดเป็น "คนข่าว" ไม่ทันยุคอิศรา อมันตกุล หรอกครับ แค่ฟังรุ่นใหญ่เขาเล่าขานเป็นตำนานให้เคารพนับถือ เมื่อเรื่องนี้เกี่ยวโยง ผมก็พูดในส่วนที่ผมเคยรับฟังมาเท่านั้น

ก็ดีแล้วที่ "นักข่าวรุ่นใหม่" ไม่ไร้จิตคารวะ-กตัญญูต่อผู้ถากถางเส้นทางต่อสู้ จนยุคหนึ่งศัตรูไม่กล้าดูแคลนสถาบันนักข่าว ใช้ชื่อท่าน "อิศรา" มาเป็นมงคลนาม ลุยสนามใน 3 จังหวัดใต้ ก็ควรค้นหาประวัติ "ผู้นำทางจิตวิญญาณสื่อ" คืออิศรา อมันตกุล ซึ่งเป็นไทยมุสลิมไปเล่าขานรอบกองไฟให้พี่น้องชาวใต้เขาได้ฟังบ้าง

ครับ..ก็เพราะนามสถาบันกลาง "สมาคมนักข่าวฯ" นี่แหละ งานคิด-งานเขียน-งานข่าว ในนาม "ศูนย์ข่าวอิศรา" จึงเป็นจิตสำนึกในคนหนังสือพิมพ์ที่ประจำอยู่ส่วนกลางแต่ละฉบับว่า

"ศูนย์ข่าวอิศรา" คือ "เรา"

ก็เลยลงตีพิมพ์ "บทสะท้อนความจริง" จากพื้นที่ผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ทั้งหลาย ดังที่ท่านได้ผ่านตากันนี่แหละ

ยังไม่มีนักข่าวจาก "ศูนย์อิศรา" ตกเป็นข่าวใน "ดงระเบิด" ทั้งที่แต่ละวันแยกย้ายกันไป "คั้นข้อเท็จ-ข้อจริง" จากพื้นที่ ไม่ต่างจากตำรวจ-ทหาร จะต่างก็ตรงมีปากกาจดข้อมูลแทนปืน แต่ผมมั่นใจ ไม่ว่าฝ่ายไหน ไม่มีใครอยากฆ่า "เหยี่ยวอิศรา" เพราะว่าเป็นเหยี่ยว..สันติภาพ.