Skip to main content
 เปิดฉากศูนย์ข่าวอิสรา-สู่สันติภาพ
คอลัมน์ กระจายเสียง
กองบรรณาธิการ จดหมายข่าวราชดำเนิน

ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ยื้อมาเกือบ 2 ปีแล้ว โดยเกิดเหตุการณ์รายวันและถูกเสนอเป็นข่าวพาดหัวไม้หน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ ติดต่อกันมายาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์กว่าการนำเสนอข่าวในปัญหาด้านอื่น แน่นอนเรื่องนี้สื่อมวลชนย่อมถูกหลายฝ่ายวิจารณ์ในด้านลบและบวก เสมือนสื่อมวลชนอยู่ตรงกลางเขาควาย หันหน้าไปด้านไหนก็ถูกตราหน้าเป็นพวกนั้น แต่สื่อมวลก็ได้นำข้อติติงด้านลบในเรื่องต่างๆ พร้อมนำมาแก้ไขปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การสื่อข่าวบนข้อเท็จจริงให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและประเทศชาติมากที่สุด เรื่องนี้สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้ระดมความคิดก่อตั้งโครงการทัวร์วัฒนธรรมภาคใต้ขึ้น เพื่อศึกษาวิถีการเรียนรู้อิสลามศึกษา ศึกษาพลังของผู้หญิงมุสลิม ศึกษาวิถีชีวิตและความหลากหลายทางวัฒนธรรม และมีโครงการจัดทำรายงานเรื่องปัญหาภาคใต้กับมุมมองด้านความมั่นคงจากมาเลเซีย โครงการจัดทำคู่มือรายงานข่าวความมั่งคงด้วย ซึ่งเป็นการใช้สถานการณ์ในปัจจุบันในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นพื้นที่ในการศึกษาและสร้างคู่มือดังกล่าวขึ้น เพื่อให้สื่อมวลชนระมัดระวังกับสถานการณ์อ่อนไหว ที่ทับซ้อนระหว่างความมั่นคงแห่งชาติและความมั่นคงแห่งมนุษย์ ที่นำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

หลายโครงการได้เดินหน้าไปบางแล้ว และบางโครงการก็มีความคืบหน้าไปมาก โดยโครงการ "สื่อสันติภาพ โต๊ข่าวภาคใต้" ที่ได้เดินหน้าเต็มอัตราศึก เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กับข่าวอื่นๆในด้านวัฒนาธรรม ข่าววิถีชีวิตหรือการอยู่ร่วมกันของคนหลายเชื่อชาติ ศาสนา มีคุณไชยง มณีพิลึก นายกสมาคมนักหนังสือพิมพ์ภาคใต้ คุณสกล สินชัย ประธานเครือข่ายหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาคใต้ เป็นที่ปรึกษาโครงการ คุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ จากกอกโพสต์ เป็นผู้จัดการโครงการ คุณมูฮำมัดอายุบ ปาทาน เพื่อนหนังสือพิมพ์จากท้องถิ่นเมืองยะลา และคุณอภิวัจ สุปรีชาวุฒิพงศ์ จากโพสต์ทูเดย์ เป็นบรรณาธิการร่วมภายใต้ชื่อ "ศูนย์ข่าวอิศรา" ตั้งอยู่ที่มอ.ปัตตานี เนื้อหาข่าวได้ถูกถ่ายทอดลงwww.tjanews.org และจะมีนักข่าวจากหนังสือพิมพ์ฉบับต่างๆจากส่วนกลางที่สนใจร่วมลงไปทำข่าวในพื้นที่ นักข่าวส่วนใหญ่ลงไปแล้วทำให้เข้าใจวัฒนธรรม วิถีชีวิตของการร่วมกันของคนหลายเชื่อชาติและศาสนา ได้ดียิ่งขึ้น รู้ว่าสิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามหาศาล

"ศูนย์ข่าวอิศรา" เริ่มปักหลักในพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2548 รุ่งอรุณวันใหม่ก็ตระเวนไปเยี่ยมคนทุกข์ได้รับผลจากเหตุการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ประชุมวางแผนงาน โดยทีมงานทั้งหมดเห็นตรงกันว่า ศูนย์ข่าวอิศรา ควรเสนอข่าวที่เป็นองค์ความรู้ หรือนำความรู้ที่มีอยู่ใน 3 จังหวัดใต้ในเรื่องต่างๆนำเสนอให้สังคมภายนอกรับรู้มากที่สุดเพื่อให้สังคมเข้าใจถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาอคติหรือมายาคติถูกสร้างขึ้นจำนวนมากเพื่อให้เข้าใจเรื่องราวใน 3 จังหวัดที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นจะต้องนำเสนออย่างมีเหตุผล จะใช้ความรู้สึก ใช้อารมณ์ อย่างที่ผ่านมาไม่ได้ โดยต้องให้คนในพื้นที่พูดในสิ่งเขาเป็นและต้องการที่จะเป็น เพราะที่ผ่านมามีแต่คนภายนอกคิด ที่จะให้คน 3 จังหวัดแดนภาคใต้เป็นโดยไม่สนใจพื้นฐานบางอย่างที่ดำรงอยู่

ข้อสรุปดังกล่าวเสมือนหนึ่งเป็นแนวทางการทำงานร่วมกัน การประชุมในวันนั้นทุกคนมีความมุ่งมั่น ที่จะทำภารกิจร่วมกัน และต้องการ เสนอข่าวเพื่อยับหยั่งความรุนแรงที่จะเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับฝ่ายใดก็ตาม เพราะความขัดแย้งในเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา การใช้ความรุนแรงไม่อาจแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้ แต่ความเข้าใจความเป็นจริงที่ถูกต้อง เป็นหนทางหนึ่งที่จะเปิดพื้นที่ให้กับสันติภาพหยั่งรากลึกในแผ่นดิน ดูสถานการณ์แล้วศูนย์ข่าวอิสราต้องฝังตัวอยู่ในพื้นที่เป็นระยะเวลายาวนานแน่ จึงได้มีการเสนอที่จะออกหนังสือพิมพ์เป็นภาษามาลายู และตั้งห้องสมุดมีหนังสือเกี่ยวกับ3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย เพื่อให้พี่น้องชาวไทย-มุสลิมได้รับข้อมูลข่าวสารอีกช่องทางหนึ่ง บนข้อมูลที่ถูกต้องตรงข้อเท็จจริง จะเป็นการสร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน นำไปสู่สันติภาพที่สมบูรณ์แบบบนผื้นแผ่นดินของเราในเร็ววัน