Skip to main content

ในหนังสือพิมพ์มติชน เมื่อวันที่ 11 และ 13 พฤศจิกายน 2549 ได้เสนอรายงานพิเศษเรื่อง เครื่องดื่มชูกำลัง ฟีเวอร์ ตลาดมูลค่า 1.4 แสนล้าน! ว่าด้วยตลาดที่กำลังเติบโตและข้อกังขาเกี่ยวกับอันตรายของเครื่องดื่มประเภทชูกำลังนี้ โดย "ปิยชนน์ สุทวีทรัพย์" เรียบเรียงขึ้นจากรายงานพิเศษชุด "โกลบอล วิลเลจ-หมู่บ้านโลก" ของสำนักข่าวเอพี คำถามที่อยากชวนกันครุ่นคิดให้มากคือ เราเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้บ้าง เพราะในประเทศไทยเมื่อปี 2543-44 บรรษัทที่ถูกอ้างถึงในรายงานชิ้นนี้ ก็เคยเป็นหัวหอกขอขึ้นปริมาณสารคาเฟอีนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) แต่ก็ต้องพ่ายไป อันนับว่าเป็นศึกครั้งใหญ่ของเครือข่ายสุขภาพอีกครั้งหนึ่ง กระนั้นก็ดี เมื่อเพิ่มปริมาณสารคาเฟอีนไม่ได้ เราก็เห็นแนวโน้มของการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมามากพอสมควร ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าจับตามองอีกครั้ง

เรามาอ่านรายงานของเขากันดีกว่า....

เครื่องดื่มชูกำลัง ฟีเวอร์ ตลาดมูลค่า 1.4 แสนล้าน!


เชื่อไหมว่า เมื่อปีที่แล้วเพียงปีเดียว ทั่วทั้งโลกก็ได้มีเครื่องดื่มที่เรียกกันในบ้านเราว่า "เครื่องดื่มชูกำลัง" เกิดใหม่ทั้งสิ้นถึงกว่า 500 ยี่ห้อ เรียกได้ว่า ผุดกันขึ้นมาราวกับดอกเห็ดในหน้าฝน จนกระทั่งกลายเป็นเรื่องที่มีคนจับกลุ่มเม้าธ์กันผ่านระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ต (บล็อกเกอร์) เพื่อติดตามและพิเคราะห์พิจารณ์กันถึงความไม่ดีไม่งามของมัน และพยายามจะโฆษณาเผยแพร่เรื่องไม่ดีไม่งามต่อสุขภาพคนดื่ม ให้เป็นที่รับรู้ และกระจายออกไปในวงกว้าง..

เครื่องดื่มเสริมพลังงาน หรือเครื่องดื่มชูกำลังเหล่านี้ จะว่าไปแล้ว ก็มีรสชาติออกไปในทางเครื่องดื่มประเภทน้ำยาแก้ไอ แต่โดยมีสารคาเฟอีนและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนผสมหลัก เจ้าใหญ่หรือยี่ห้อที่มีส่วนแบ่งตลาดมากที่สุดในโลกคือ "Red Bull" เครื่องดื่มชูกำลังที่มีเครื่องหมายการค้าแบบเดียวกันเปี๊ยบ กับเจ้า "กระทิงแดง" ในตลาดบ้านเรา รองลงไปจึงเป็น "Monster" และ "Rockstar" ซึ่งช่วยกันครองส่วนแบ่งตลาดทั้งโลก ที่มีมูลค่าสูงถึงปีละ 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐ เอาไว้ โดยในปีที่ผ่านมา ตลาดที่ว่านี้ ก็เติบโตสูงถึง 80 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

และปรากฏด้วยว่า เฉพาะที่สหรัฐนั้น กลุ่มผู้บริโภคที่มีอัตราเติบโตมากที่สุด กลับเป็นกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทีนส์ ที่สำนักวิจัยและสำรวจตลาดชื่อ "ซิมม่อนรีเสิร์ช" ระบุว่า มีมากถึง 7.6 ล้านคน หรือราว 31 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มคนหนุ่มสาววัยทีนส์ทั้งประเทศ

ที่น่าสนใจด้วยก็คือ ตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจาก 3 ปีก่อนหน้า ถึงเกือบๆ จะ 3 ล้านคน มิไยว่า บรรดานักโภชนาการทั้งหลายจะได้ออกมาเตือนกันแล้วกันอีก ถึงผลร้ายมุมกลับที่อาจตามติดมา หลังการกระตุ้นกำลังกายชั่วประเดี๋ยวประด๋าว ด้วยสารคาเฟอีนที่ผู้ผลิตอ้างว่าสกัดได้จากแหล่งต่างๆ กัน และบ้างก็ว่า ได้มีการเจือวิตามินบีบางอย่างบางชนิดเอาไว้ด้วย

แต่ก็อีกนั่นแหละ ที่นักวิชาการด้านโภชนาการได้ตักเตือนถึงอันตรายอันอาจตามมาจากการกินดื่ม หรือบริโภควิตามินบีมากเกินไป ไม่ว่าจะเป็นอัตราการเต้นของหัวใจมากเกินปกติ หรือเกิดอาการชาที่นิ้วมือหรือนิ้วเท้าตามมาในภายหลัง

ทั้งนี้ เรื่องที่นักโภชนาการสหรัฐเป็นห่วงมากด้วยก็คือ รูปแบบการบริโภคเครื่องดื่มชูกำลังของกลุ่มคนหนุ่มคนสาวในสหรัฐ ที่มีการดื่มพรวดเดียวหลายๆ ขวด หรือหลายๆ กระป๋อง เพื่อที่จะเรียกความ "ซู่ซ่าๆ" ให้ออกมานานๆ และอย่างทันอกทันใจ ทั้งๆ ที่มีคำเตือนอยู่ที่ฉลากข้างขวดด้วยก็แล้ว..

"เครื่องดื่มประเภทนี้ เป็นประเภทที่ให้ผลรุนแรงตามมาได้ ถึงขนาดที่ว่า แค่ครึ่งขวดก็น่าจะพอแล้ว และมันเป็นเรื่องจริงจังขนาดที่ว่า มันเป็นเครื่องดื่มวิปลาสสำหรับหลอนจิต หลอนอารมณ์ผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้บริโภคที่มีอายุไม่ถึง 18 ปีดี ซึ่งผมว่า มันก็น่าจะเตือนกันได้ขนาดนี้" แดน เมเยอร์ เจ้าของเว็บไซต์ http://www.bandddesign.com/energy ระบุไว้ในเว็บไซต์ของตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ไบรอัน กรีนเบิร์ก ที่ปรึกษาการตลาดและนักวิชาการด้านการตลาด ระดับผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำวิทยาลัยเอลิซาเบธทาวน์ของสหรัฐ ก็ได้มีข้อติติงในเรื่องข้อเสนอแนะนี้ไว้ด้วยว่า "กลุ่มคนหนุ่มคนสาว เป็นกลุ่มคนในวัยที่ชอบแหกคอก กฎระเบียบหรืออะไรๆ ที่พวกผู้ใหญ่หรือสังคมออกมาเตือนและห้ามอยู่แล้ว ยิ่งเห็นพวกผู้ใหญ่ดื่มกาแฟกันเป็นกิจวัตรตำตากันมานานนม ก็ยิ่งจะไม่เห็นด้วยกับคำเตือนเรื่องอันตรายของสารคาเฟอีนที่ว่า"

นายกรีนเบิร์กเผยด้วยว่า เป็นความจริงที่เครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่ในสหรัฐ พุ่งเป้ากลุ่มผู้บริโภคส่วนใหญ่ไปที่กลุ่มคนหนุ่มที่อยู่ในวัยไม่เกิน 20 ต้นๆ และเจ้าตลาดใหญ่สุดก็ยังคงเป็น "Red Bull" ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดในสหรัฐเป็นเจ้าแรก จนกระทั่งทุกวันนี้ เจ้าของและผู้ผลิตประสบผลสำเร็จถึงขั้นที่เรียกว่า ได้กลายเป็นบริษัทที่ใหญ่เกินกว่าจะเป็นเพียง "บรรษัท" ธรรมดาๆ ไปแล้ว

"สำหรับเจ้า Monster นี่ เป็นพวกที่ออกจะรุนแรงกว่า หรือจัดจ้านกว่า อาจจะมีการใส่สารประเภทซาบซ่าลงไปด้วยเล็กน้อย ส่วน Rockstar นั้น เป็นพวกที่อยู่ในเครื่องดื่มชูกำลังส่วนใหญ่ที่เน้นความคึกคัก ร่วมวงปาร์ตี้สนุกสนาน มากกว่าการมีกำลังวิ่งเล่น.."

(เจ้า Monster นั้น เป็นผลผลิตของบริษัท แฮนเสน แนตเชอรัล คอร์ป ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ในเมืองโคโรน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย ส่วน Rockstar เป็นผลผลิตของบริษัท ร็อคสตาร์ ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในเมืองลาสเวกัส และบริษัท โคคาโคล่า รับเป็นผู้กระจายสินค้าให้)

กรีนเบิร์กกล่าวต่อว่า การเกิดขึ้นของเครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อใหม่หลายร้อยยี่ห้อ (ชื่อ) ทำให้การแข่งขันทวีความรุนแรงถึงขั้นมีการหันไปใช้ชื่อแปลกๆ ที่เคยเป็นชื่อต้องห้ามกันมาก่อน อย่างเช่น Pimpjuice (pimp=ผู้ชายแมงดา) หรือ Bawls (ตะคอก) เรื่อยมาจนถึง Cocaine Energy Drink ("โคเคน" เป็นชื่อสารเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายสหรัฐ) ที่เพิ่งเปิดตัวลงตลาดเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมานี้เอง โดยวางจำหน่ายตามร้านค้าสะดวกซื้อและในไนต์คลับต่างๆ ทั่ว 6 รัฐ

แฮนนา เคอร์บี ภรรยาของเจมส์ เคอร์บี ผู้ก่อตั้งบริษัท รีดูซ์ เบฟเวอเรจ ผู้ผลิต Cocaine Energy Drink แห่งเมืองลาสเวกัส ระบุว่า เรื่องที่กรีนเบิร์กกล่าวมาเป็นความจริง เพราะแต่แรกนั้น บริษัทคิดที่จะใช้ชื่อ Reboot ที่ให้ความหมายตรงไปตรงมา จนออกจะเชยๆ ไม่ยั่วยุเรียกร้องความสนใจอย่างชื่อที่ใช้

"เรารู้แน่ล่ะค่ะว่า ชื่อสินค้าของเราจะต้องเตะตาเพราะความแตกต่างจากชื่อสินค้าเครื่องดื่มชูกำลังอีกเกือบพันชื่อ" เธอกล่าว และว่า "เรารู้ด้วยละค่ะว่า พวกเด็กๆ จะต้องชอบมัน และเราก็ต้องการที่จะเน้นย้ำความคิดที่ว่า นี่มันเครื่องดื่มเสริมพลังงานนะ ไม่จำเป็นต้องไปพึ่งยาเสพติดจริงๆ หรอก"

แต่เชื่อไหมว่า บุตรชายวัย 18 ปีของตระกูลเคอร์บีเอง กลับได้รับการกรอกหูอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันว่า ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มเสริมพลังงานหรือเครื่องดื่มชูกำลังในวัยเรียน และมีคนที่เขียนคอมเมนท์เปิดเผยในหน้าเว็บของ Cocaine Energy Drink ด้วยว่า "ตอนนี้โคเคนเป็นของหายากจริงๆ และผมก็ต้องการมันอย่างมาก สัปดาห์หน้าผมและเพื่อนๆ 3 คน จะลงทุนขับรถเองนาน 6 ชั่วโมง เพื่อไปยังเมืองนิวยอร์ก เพื่อจะซื้อมันมาใช้"

หันกลับมาทาง Red Bull เจ้าใหญ่อันดับหนึ่งเอง ดีทริกช์ มาต์สชิตซ์ ผู้ก่อตั้งและผลิต เปิดเผยว่า เครื่องดื่มชูกำลังของตนมีพื้นฐานจากน้ำดื่มประเภทสารสกัดเพื่อบำรุงกำลังของชาวเอเชีย แต่ก็ไม่ได้เป็นความจริงแต่อย่างใดที่ว่าตนได้ไอเดียการผลิตและเรียนรู้สูตรสารประกอบเครื่องดื่มนี้มาจากคนขับรถสามล้อถีบในประเทศไทย

ดีทริกช์ มาต์สชิตซ์ ตั้งต้นผลิตและขายเครื่องดื่มชูกำลังของตนเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2530 ที่ประเทศออสเตรีย ประเทศบ้านเกิดเมืองนอนตนเอง แล้วกระจายไปในตลาดประเทศต่างๆ ได้มากกว่า 130 ประเทศ โดยมียอดขายรวมทั้งสิ้นถึง 2.5 พันล้านขวดหรือกระป๋อง เฉพาะที่ตลาดในประเทศสหรัฐ Red Bull ก็กำส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังเมื่อปีที่แล้วไว้ได้มากถึง 37 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ ตามผลสำรวจของสำนักวิจัยตลาดและวารสารการตลาด "เบฟเวอริจไดเจสต์"

การเติบใหญ่ของ Red Bull มีขึ้นท่ามกลางเสียงเล่าลือต่างๆ นานา นานติดต่อกันหลายปี โดยเฉพาะเรื่องสารทายูรีน ซึ่งมีคนกล่าวขานเพี้ยนกันไปว่า เป็นสารสกัดจากปัสสาวะวัวหรือบูลยูรีน ทั้งที่ความจริงมันคือสารประเภทกรดอะมีโนชนิดหนึ่ง ที่ช่วยแก้อาการท้องอืดเฟ้อ อาหารไม่ย่อยได้ และบ้างก็ว่า Red Bull ใส่สารต้องห้ามที่อาจก่อให้เกิดเนื้องอกในสมอง ถึงขนาดมีการเขียนบทความรายงานเป็นคุ้งเป็นแคว บันทึกอยู่ในหน้าเว็บไซต์ http://www.snopes.com สำหรับคนที่ชอบเม้าธ์ป่วนเมือง

ขณะเดียวกัน ก็มีเรื่องเล่าลือกันในประเทศไอร์แลนด์และประเทศสวีเดน ว่า มีคนดื่ม Red Bull จนถึงตาย ทั้งๆ ที่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้มีหลักฐานเรื่องที่กล่าวหากันนี้ ในขณะที่เป็นความจริงว่า รัฐบาลสวีเดนได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาเรื่องเครื่องดื่มประเภทชูกำลังนี้ และได้สรุปเป็นข้อเสนอแนะทั่วไปว่า ไม่ควรใช้เครื่องดื่มนี้เพื่อดับความกระหาย หรือเพื่อทดแทนของเหลวในร่างกายหลังจากเสียเหงื่อไปมากในการออกกำลังกาย นอกจากนี้ ยังไม่ควรใช้ผสมกับเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์

ข้อเสนอแนะที่ออกจะสายไปแล้วสำหรับตลาดในสหรัฐ

เครื่องดื่มชูกำลังฟีเวอร์ (ตอนจบ)

สตาร์บัคส์สำหรับคนรุ่นใหม่?

แม้จะมีข่าวเล่าลือกันออกมาถึงอันตรายจากการดื่มเครื่องดื่มประเภทชูกำลัง ชนิดที่ทำให้ถึงเสียชีวิตในบางประเทศในยุโรป แต่ดูเหมือนกระแสข่าวดังกล่าวจะไม่สามารถลดทอนความนิยมที่กระจายกันออกไปอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาได้

ทั้งนี้ เพราะบริษัท แอนฮาวเซอร์-บุสช์ และบริษัท มิลเลอร์บริวอิ้ง ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่ในสหรัฐ ต่างได้ผลิตและวางจำหน่ายสินค้าที่เรียกว่า "เบียร์ชูกำลัง" หรือเอนเนอยีเบียร์ เบียร์ที่มีส่วนผสมของสารคาเฟอีน ในตลาดสหรัฐไปแล้ว และภายหลังจากที่มีคนนำ Red Bull มาผสมลงในเหล้าว้อดก้า ตั้งชื่อเสียเก๋ไก๋ว่า "Friday Flattenner" และ "Dirty Pompadour" กลายเป็นค็อกเทลยอดนิยมในบาร์ต่างๆ มานานเกือบทศวรรษ

ในพื้นที่ของ Red Bull เองในเว็บไซต์ MySpace ก็มีการระบุรายชื่อสินค้าที่เป็นมิตรกันกับตนถึง 11,000 ชื่อ รวมทั้งรายชื่อสินค้าประเภทแอลกอฮอล์ และนอกจากนี้ ยังมีผลการศึกษาในประเทศบราซิล ที่ระบุว่า บรรดานักเรียนนักศึกษาที่นั่นไม่ได้รู้สึกเมามากกว่าปกติ เมื่อดื่มเหล้าว้อดก้าผสมกับเครื่องดื่มชูกำลังอย่าง Red Bull ซึ่งไม่ตรงกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ในการตรวจสอบวิจัยที่กระทำขึ้น

ปัญหาอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้น รวมทั้งความเป็นไปได้ที่อาจเกิดพิษขึ้นในแอลกอฮอล์ เป็นสิ่งที่รบกวนจิตใจของ พญ.แซนดร้า บรากันซ่า นักกุมารเวชและนักโภชนาการศาสตร์ ประจำโรงพยาบาลเด็กมอนเตฟิออเรในรัฐนิวยอร์ก แต่เมื่อเธอลงมือสืบค้นผลงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องนี้ เธอเองกลับต้องแปลกใจที่หามันพบได้น้อยมาก

"ความจริงก็คือ เราไม่รู้ว่าส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลังพวกนี้จะก่อผลอะไรได้บ้าง" บรากันซ่ากล่าวถึงสารที่ชื่อทายูรีน (taurine) สารกลูคูโรโนแลคโทน (glucuronolactone) และสารกัวรานา (guarana) "ซึ่งทำให้เราจำเป็นต้องเริ่มต้นศึกษากันใหม่อย่างจริงจังมากขึ้น"

"อยากรู้ไหมว่า เครื่องดื่มชูกำลังที่คุณชื่นชอบ หรือน้ำโซดาของคุณ ต้องดื่มกินไปมากสักเท่าไหร่ ถึงจะทำให้คุณตายได้? ลองตอบคำถามในแบบทดสอบนี้ดู แล้วคุณก็จะรู้" นั่นเป็นคำเกริ่นนำของแบบทดสอบที่ชื่อว่า "กาแฟมรณุสติ" ที่หน้าเว็บไซต์ http://www.energyfiend.com ซึ่งมีช่องกรอกน้ำหนักตัว และปุ่มสรุปผลคำนวณที่ใช้คำว่า "ตาย !" ("Kill Me")

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี้เอง ศูนย์ควบคุมพิษวิทยาแห่งหนึ่งในนครชิคาโกก็เพิ่งได้รับรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตเนื่องจากการรับประทานสารคาเฟอีนเกินขนาด ที่มีมากจนน่าแปลกใจ ในจำนวนนี้ รวมถึงคนหนุ่มสาวที่ชอบใช้ยาปลุกประสาทอย่างเช่นยา NoDoz และพวกเครื่องดื่มชูกำลัง ซึ่งบางครั้งก็ใช้ผสมในเครื่องดื่มประเภทแอลกอฮอล์ หรือใช้ร่วมกับตัวยาอื่น

รายงานดังกล่าว ซึ่งจัดทำขึ้นมาได้นานสามปี ระบุว่ามีผู้ป่วยเพราะใช้สารคาเฟอีนเกินขนาด รวม 265 ราย 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนนี้ถึงกับต้องนำตัวส่งโรงพยาบาล และอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยคือ 21 ปี

"คนหนุ่มสาวใช้สารคาเฟอีนเป็นเครื่องปลุกประสาทให้ตื่นตัว หรือไม่ก็ให้เกิดความคึกคัก บางครั้งก็มากจนหลายๆ คนต้องเข้าโรงพยาบาลแบบฉุกเฉิน" นพ.ดานิเอลล์ แมคคาร์ธีย์ ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเธิร์น ซึ่งร่วมศึกษารายงานชิ้นนี้ด้วยระบุ พร้อมกับตบท้ายว่า "สารคาเฟอีนนี่ถือได้ว่าเป็นยาตัวหนึ่ง จึงควรใช้กันอย่างระมัดระวัง เช่นเดียวกับตัวยาอื่นๆ"

แล้วเครื่องดื่มชูกำลังมีการใส่สารคาเฟอีนไว้มากสักเท่าใด? ซึ่งคำตอบนั้น มหาวิทยาลัยฟลอริด้าเคยศึกษาพบว่า เครื่องดื่มชูกำลังบางยี่ห้อ ซึ่งเป็นแบบกระป๋อง ขนาดแค่ 2 ใน 3 ของกระป๋องโค้ก กลับมีสารคาเฟอีนมากกว่าโค้กกระป๋อง 2 ถึง 4 เท่า และผู้จัดทำรายงานของมหาวิทยาลัยได้เสนอแนะให้มีการติดคำเตือนไว้บนฉลากด้วย แทนที่จะปล่อยฟรีดังเช่นที่เป็นอยู่ ณ เวลานี้

จอห์น ไซเชอร์ แห่งสำนักงานเบฟเวอเรจ ไดเจสต์ เปิดเผยว่า เครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐเวลานี้ ยังมุ่งไปในทิศทางเพิ่มขนาดกระป่องบรรจุอยู่ด้วย จนในเวลานี้ มีขนาดใหญ่สุดคือ กระป๋องขนาด 24 ออนซ์ และบางเจ้าก็พร้อมที่จะเพิ่มปริมาณสารคาเฟอีน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน

สำหรับ พญ.มอลลี มอร์แกน โภชนาแพทย์ที่ปรึกษาแนะแนวประจำรัฐนิวยอร์กแล้ว ผู้ปกครองควรแนะนำเด็กนักเรียนของตัวว่า ไม่ควรดื่มเกินวันละขวด ไม่ต้องถึงขนาดตั้งเป็นกฎ แต่เป็นแนวทางปฏิบัติเหมือนๆ กับกรณีเครื่องดื่มประเภทน้ำอัดลม ที่เต็มไปด้วยน้ำตาลและสารคาเฟอีน

ที่จริง ผู้ปกครองหรือโค้ชกีฬา นักเรียน นักศึกษาบางส่วน เชื่ออยู่แล้วว่า เครื่องดื่มพวกนี้ช่วยให้เด็กๆ ของตนมีสมาธิในการเรียนดีขึ้น เล่นกีฬาได้คึกคักมากขึ้น แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานประจักษ์พยานชัด โดยเฉพาะจากการศึกษาอย่างเป็นหลักเป็นฐาน อาทิ การศึกษาของนักวิทยาศาสตร์การแพทย์รายหนึ่งที่อังกฤษ ซึ่ง Red Bull ออกทุนให้ โดยมีอาสาสมัครทดลองเพียง 36 คน และพบว่าการดื่มเครื่องดื่มนี้ ช่วยให้ร่างกายกระปรี้กระเปร่านานขึ้น จดจำตัวเลขได้แม่นยำมากขึ้น

แต่การศึกษาอีกชิ้นที่อังกฤษ กับอาสาสมัครทดลอง 42 คน พบว่า การดื่ม Red Bull ไม่ได้ช่วยให้มีความจำอะไรดีขึ้น แม้จะมีสมาธิจดจ่อดีขึ้น พูดจาฉะฉานขึ้นก็ตาม

ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน มีการศึกษาชิ้นหนึ่งกับนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเอง 14 คน พบว่าสารประกอบสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ สารคาเฟอีนและสารทายูรีนนั้น ไม่ได้ช่วยให้ความทรงจำระยะสั้นดีขึ้น นอกจากทำให้หัวใจเต้นช้าลงและความดันโลหิตสูงขึ้น แต่ก็ไม่อาจสรุปได้อย่างแน่ชัดถึงความเป็นเหตุและผล เพราะส่วนประกอบของเครื่องดื่มชูกำลังนั้น บางตัวมีแต่ทำให้หัวใจเต้นเร็วขึ้น

แครอล แอนน์ รินซเลอร์ ผู้จัดทำรายงานเรื่อง "Nutrition for Dummies" (ของกินสำหรับคุณเบื๊อก) ได้ติดตามศึกษาเครื่องดื่มชูกำลัง 3 เจ้าอันดับแรกในสหรัฐ และพบว่า สาระสำคัญในฉลาก ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงทั้งหมด

"ยกตัวอย่างเช่น เรื่องสารคาเฟอีน ที่ทุกเจ้าต่างระบุว่าเป็นส่วนประกอบของเครื่องดื่ม เกือบทุกเจ้าจะบอกด้วยว่า มีอยู่เท่าไหร่ และมีสารกัวรานาอยู่ด้วยเท่าไหร่ แต่ก็ไม่ได้บอกว่า สารนี้มีส่วนประกอบของคาเฟอีนอยู่ด้วย และจะปล่อยสารคาเฟอีนออกมาอีกเท่าไหร่"

รินซเลอร์บอกอีกว่า เรื่องน้ำตาลก็เป็นอีกเรื่องที่.. "คุณดื่มเพียงแค่กระป๋องเดียว คุณก็ได้น้ำตาลไปด้วยพะเรอ****** ดื่ม 2 กระป๋องก็ได้น้ำตาลไป 14 ช้อนชา 3 กระป๋องก็ 21 ช้อนชา" รวมทั้งวิตามิน ที่หากดื่มวันละ 2-3 กระป๋อง ติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ หรือนานเป็นเดือน ร่างกายผู้ดื่มก็อาจเก็บสะสมวิตามินที่ไม่จำเป็นต่อร่างกายไว้มากเกิน จนอาจเกิดผลข้างเคียงได้

แดน เมเยอร์ บล็อกเกอร์แห่งเมืองเดนเวอร์บอกว่า เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อใหม่ๆ พากันผุดขึ้นแทบจะวันละชื่อก็ว่าได้

"ผมรีวิวพวกเครื่องดื่มชูกำลังนี่ไปมากถึง 200 ยี่ห้อเศษๆ แล้วกระมัง ส่วนใหญ่ก็ได้รับการตอบกลับจากบริษัทผู้ผลิตด้วย และถ้าไปที่ร้านเซเว่นอีเลฟเว่น สักพักก็จะได้เจอยี่ห้อใหม่มาวางขาย" บล็อกเกอร์นักวิจารณ์เครื่องดื่มชูกำลังในสหรัฐเผย

แดน เมเยอร์ เป็นเจ้าของบล็อกไซต์วิจารณ์เครื่องดื่มชูกำลัง ที่ได้รับความนิยมเข้าร่วมด้วยมากที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐ แม้ว่าจะทำเป็นงานอดิเรกในการวิพากษ์วิจารณ์เครื่องดื่มชูกำลังยี่ห้อต่างๆ หลังจากที่ได้ทดลองลิ้มดื่มมันแล้ว

บางครั้ง เขาอาจพูดจาถากถางยี่ห้อที่ตนเองไม่ชอบเอาเสียเลย ถึงขนาดที่ว่า "..มันเป็นเครื่องดื่มที่เศรษฐีบางคนผลิต ทั้งๆ ที่ไม่เคยลองดื่มมันสักหยดเลยในชีวิต และไม่เข้าใจด้วยว่าทำไมคนเขาถึงได้ชอบมันนัก นอกจากจะขอมีส่วนรวยด้วยเท่านั้นเอง"

"มันเป็นเหมือนสตาร์บัคส์สำหรับคนหนุ่มรุ่นใหม่ ที่มีคาเฟอีนอยู่ในนั้นเป็นตัน เป็นเหมือนยาบ้า (สปีด พิล) ที่ถูกกฎหมายก็ว่าได้" แดน เมเยอร์ บอก หลังจากที่ถูกรบเร้าให้พูดถึงสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนหนุ่มอย่างเขารวมทั้งเขาเองด้วย ชมชอบเครื่องดื่มชูกำลังเหล่านี้เป็นนักเป็นหนา

และการวิพากษ์วิจารณ์ของเขานั้น ก็เด็ดดวงถึงขั้นที่ทำให้เขาได้รับการติดต่อจากบริษัทผู้ผลิตรายหนึ่งในนครลอสแองเจลิส ให้ช่วยออกแบบเครื่องดื่มยี่ห้อใหม่ให้ด้วยมาแล้ว และได้รับการปฏิเสธ

ขอทำหน้าที่วิจารณ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้นครับ!