Skip to main content

ตอนที่เกิดปรากฎการณ์ live bloger ในค่ำคืนของวันรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ฉันเจอบล็อกปฏิวัติ 2549 และบล็อกในลักษณะเดียวกันผุดขึ้นราวดอกเห็ด และยิ่ง search ไปเรื่อยๆ ก็คลิกไปเจอเวบซิกเกอร์ http://www.zickr.com/ (เขาอธิบายว่าซิกเกอร์เป็นคำนาม หมายถึง ผู้ที่เป็นโรคเสพติดการเล่นเวบ) ตั้งกระทู้หนึ่งน่าสนใจมากว่า กรณีศึกษา: live blogging ข่าวการปฏิวัติ และกระทู้นี้ได้ลิงค์ไปยังบล็อกของ keng.com มีเนื้อหาชวนติดตามยิ่งขึ้นว่า

เมื่อบ้านเมืองมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้น แต่สำนักข่าวไม่สามารถรายงานข่าวได้ทันความต้องการ ของผู้ที่ต้องการจะทราบข่าว ดังนั้น blog จึงใช้เป็นเครื่องมือในการกระจายข่าว และสามารถทราบข่าวสารได้รวดเร็วที่สุด ตัวอย่างกรณีศึกษาสำหรับการทำ Live Blogging ของข่าวการเมืองและการปฎิวัติในครั้งนี้ ลองแวะไปดูครับ

http://revolution.blogrevo.com เป็นภาษาไทย

http://19sep.blogspot.com เป็นภาษาอังกฤษ”

คำเชิญชวนนี้ต่างหากที่ทำให้ฉันลุ่มหลงและถอนตัวจากหน้าจอไม่ขึ้นอีก จน ณ วันนี้..

ฉันถลำลึกมากกว่าการศึกษาบล็อกปฏิวัติ ไปสู่การต่อสู้เพื่อให้ new media มีที่ทางและมีเสรีภาพในการนำเสนอข้อเท็จจริงอีกด้านหนึ่ง โดยไม่ถูกแทรกแซงจาก “การเมืองและผลประโยชน์”...

ที่ฉันอยากพูดถึงวันนี้คือ ตอนที่เขียนรายงานสถานการณ์เรื่อง live bloger กับสถานการณ์ “ห้าม” เห็นต่างในสื่อทางเลือก ให้กับสถาบันข่าวอิศรา ไม่สามารถตรวจสอบได้ว่า ใครหนอเป็นเจ้าของบล็อกปฏิวัติ เช็คไอพีดู พบแต่คนชื่อ กติกา สายเสนีย์ โทรศัพท์ไปหาที่บ้านก็กลายเป็นบริษัทอะไรสักอย่าง เอาเป็นว่าฉันพลาดไม่ได้สัมภาษณ์คุณกติกา ว่ามีแนวคิดอย่างไรในการทำบล็อกนี้ขึ้นมา

แต่พอนำเสนอรายงานดังกล่าวได้สักสองวัน รุ่นน้อง(จ็อบ-จุฑิมาศ สุกใส) ก็ส่งลิงค์ของเก่งดอทคอมมาให้ ถ้ากำลังเล่น MSN อยู่ ฉันคงพิมพ์คำว่า “จ๊ากส์” ส่งกลับไปให้น้องจ็อบ เพราะว่าตัวเองนี้หนอช่างงี่เง่าจริงๆ ว่าคลิกเข้าไปในเก่งดอทคอมคั้งหลายครั้งกลับไม่เจอบทความที่บอกว่า เก่งดอทคอม เจ้าของคือคุณกติกา สายเสนีย์นั่นเอง แว๊ก.. ดูเหมือนตัวเองเลอะเทอะที่สุด

อย่างไรก็ดีคำถามมากมายที่ฉันอยากสัมภาษณ์คุณกติกา ก็ปรากฏดังความในบล็อกของคุณเก่งดังต่อไปนี้ ...

Blog : New Media ช่องทางเล็ก ๆ เมื่อสื่อหลักถูกปิดกั้น

blog บางคนอาจคิดว่ามันเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ให้คนมาขีดเขียนเล่น ส่วนใหญ่คงเป็นเด็ก ๆ มาเขียนเรื่องรัก ๆ ใคร่ ๆ กระมัง แต่สำหรับผม ผมยอมรับว่ามันคือ New Media หรือสื่อชนิดใหม่อย่างแท้จริง โดยเฉพาะเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เกิดเหตุการณ์รัฐประหารขึ้นในประเทศไทย สื่อหลักอย่างโทรทัศน์ วิทยุ ถูกระงับการออกอากาศ ผู้คนมากมายต่างตื่นตระหนก ผมฉุกคิดได้ว่า อินเตอร์เน็ตยังเป็นช่องทางอีกหนึ่งแห่ง ที่สามารถหาข้อมูล และกระจายข่าวสารได้

ผมจึงได้รีบไปเปิด blog ใหม่ด้วยการสมัคร blog ของ blogrevo.com เพราะในเวลานั้น ไม่สามารถมานั่ง install ระบบ blog ด้วย WordPress ใหม่เพื่อให้ทันการใช้งานได้ จึงต้องประหยัดเวลาทุกชนิด เพื่อทดลองรายงานข่าวด้วย blog

ด้วย blog ที่ชื่อ ปฎิวัติ ในค่ำคืนนั้น เปิดใหม่สด ๆ และเริ่มเขียนกันตั้งแต่เวลาหลังเที่ยงคืนมา 15 นาที โดยรายงานข่าวจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นอยู่ ผมได้ออนไลน์ msn เพื่อมองหาเพื่อนฝูง ปรากฎว่า ออนไลน์กันเพียบเกือบจะเต็ม list ดังนั้นผมจึงส่ง url ดังกล่าวไปให้เพื่อนทาง msn และฝากให้เพื่อน ๆ forward ต่อกันไป

หลังจากนั้นผมกลับมารีบรายงานข่าวอย่างจริงจัง พยายามหาข่าวและอัพเดทแทบจะต่อเนื่องตลอดเวลา ในแต่ละบทความแทบไม่มีเวลาจะจัดเลย์เอ้าท์ แค่เขียนข่าวพร้อม upload รูปภาพ ก็แทบไม่ทันแล้ว แถมในคืนนั้น อินเตอร์เน็ตทั่วประเทศก็ช้าทุกแห่ง คงเนื่องมาจากผู้คนมองหาข่าวจากอินเตอร์เน็ตนั่นเอง

เพียงแป๊บเดียว blog อีกแห่งหนึ่งอย่าง 19Sep ที่รายงานสถานการณ์ การเกิดรัฐประหารในประเทศไทย ได้เสนอข่าวเป็นภาษาอังกฤษ ได้ทำการ link มาหาบล็อก ปฎิวัติ พร้อม ๆ กับบทความที่ผมเขียน ไปโผล่ใน technorati อย่างรวดเร็ว ด้วยระบบ ping ของการใช้ blog นั่นเอง ในเวลาเดียวกัน google ไม่สามารถส่ง bot มาเก็บข้อมูลไปแสดงใน search engine ของตนเองได้ทันท่วงที ผู้คนเลยหลั่งไหลเข้าไป search หาข่าวเกี่ยวกับการเกิดรัฐประหาร ผ่าน blog ทั่วโลก มีไม่กี่แห่งที่มีการรายงานสด หรือที่เรียกว่า Live Blogging และ บล็อกเล็ก ๆ ที่ชื่อ ปฎิวัติ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

ผมรายงานจนถึงตี 4 แล้วก็ต้องงีบหลับไปเพราะความเหนื่อยอ่อน ตื่นมาอีกครั้งเวลา 8 โมงเช้าวันที่ 20 กันยายน 2549 รีบมารายงานต่อ blog ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เริ่มทำ link มาหาผม นี่คืออำนาจของ blog ที่สามารถรายงานข่าวได้อย่างรวดเร็ว บางครั้งเร็วกว่าสื่อหลักอีกด้วย ผลสรุปของการรายงานเกี่ยวกับสิ่งที่ผู้คนสนใจ เราไม่ต้องพึ่ง SEO ให้คน search เจอ เราไม่ต้องไปโฆษณาเสียเงินที่ไหน แต่ผู้คนเข้าดู blog กันล้นหลาม ยอดผู้คนในวันนั้นประมาณ 2,000 คน กับ blog หนึ่งแห่ง ที่เพิ่งเกิดขึ้นมาในโลกเพียงแค่ 24 ชั่วโมง ตัวอย่างภาพ stat ด้านบน เป็นสถิติการเข้าชมเว็บ ของ blogrevo.com แสดงให้เห็นยอดผู้ชมที่พุ่งสูงตั้งแต่วันที่ 20 กันยายน 2549 เพราะบล็อก ปฎิวัติ นั่นเองครับ


นั่นคืออำนาจของ Blog ที่ผมเชื่อว่าเป็น New Media ที่มาแรงอย่างแท้จริงครับ

…..

ฉันคงไม่สรุปอะไรจากคุณกติกาอีกแล้ว แต่อยากให้เราคิดถึงคุณภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หนึ่งในบล็อกสด www.pawoot.com อันดับแรกๆ ของประเทศ ภาณุ ที่เขียนบันทึกไว้ “ไม่น่าเชื่อเลยครับ เหตุการณ์ปฏิวัติ ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์การสื่อสารรูปแบบใหม่ในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นในสังคมไทย คืนนั้นผมได้ขับรถผ่านไปเห็นเหตุการณ์พอดี และก็ได้ถ่ายภาพรถถังกลางกรุง และนำรูปภาพเหตุการณ์ มาลงในเว็บไซต์ของผม […]เพียงเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง เว็บไซต์เล็กๆ ของผมเว็บนี้จากเดิมปกติคนเข้าวันละ 5-6 ร้อยคน กลับกลายมีคนเข้ามามากเป็น หมื่นๆ คน ในทันที

คุณภาวุธ ยังบอกอีกว่า ในคืนนั้นเจอคนเข้ามาออนไลน์ ผ่านโปรแกรม MSN Messenger เยอะมากเป็นประวัติการณ์ จากปกติเวลาเที่ยงคืนจะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยจะมีคนออนไลน์อยู่เท่าไร แต่อาจจะเป็นเพราะในคืนนั้น ทุกคนรู้แล้วว่าสื่อทุกสื่อถูกปิดกั้นหมด และเขารู้แล้วว่า "สื่อไหนที่เขาจะสามารถหาข้อมูลได้" ซึ่งสื่ออินเทอร์เน็ตคือคำตอบ สำหรับเหตุการณ์ในคืนนั้น”

และในทัศนะของภาวุธ ยังเห็นว่า ถึงแม้ว่าเว็บไซต์ ใหญ่ๆ โดนปิดไป แต่ข้อมูลข่าวสาร ก็ยังคง หาทางกระจายตัวออกไปผ่านช่องทางอื่นๆ ในโลกของอินเทอร์เน็ต เป็นในรูปแบบของคลื่นใต้น้ำ ที่ไหลผ่านในกระแสของ Social Network Service (SNS) คือ จากเพื่อนหรือสังคมของตัวเองออนไลน์ ไปยังสังคมอื่นๆ ต่อๆไปเป็นลูกโซ่ ผ่าน Instant Messaging (MSN, Yahoo messenger), ผ่านทาง E-Mail หรือในหลักของการตลาดออนไลน์ เราเรียกรูปแบบการเกิดเหตุการณ์นี้ว่า Viral Marketing (การตลาดแบบไวรัส) แต่เหตุการณ์ที่เกิดนี้ เป็นการแบ่งปันข้อมูลแบบ Real Time ที่สามารถตอบสนองและโต้ตอบกันได้ทันที (Interative)



รูปแบบการกระจายข้อมูลผ่าน SNS (Social Network Service)

ภาวุธ บอกว่าลักษณะรูปแบบของการเคลื่อนที่ของข้อมูลที่เกิดขึ้นในเหตุการณ์ลักษณะนี้ จะเป็นการไหลของข้อมูล (Information Flow) ที่มีความน่าสนใจ และเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็วมากๆ ในโลกออนไลน์

แต่ข้อสังเกตของผมคือ การบิดเบือนของข้อมูลต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในขณะนั้น จะเกิดขึ้นได้ง่ายมากๆ เพราะหากมีข้อมูลอะไรที่ไม่จริง หรือถูกบิดเบือน ส่งเข้าไปยังใน กระแสของการหิวกระหายของผู้ที่ต้องการบริโภคข้อมูลในโลกออนไลน์ ในขณะนั้นแล้วละก็ อาจจะส่งผลกระทบต่อ ความคิด หรือมุมมอง ความเข้าใจของผู้รับข้อมูลข่าว นั้นๆ ได้ทันที และทันใดนั้นมันจะเกิดการบอกต่อไปยัง คนหรือห้อง chat อื่นๆ โดยปราศจากการควบคุม และการไตร่ตรอง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบในด้านลบ หากข้อมูลเหล่านั้น สามารถสร้างความเสียหายให้กับผู้คนในสังคมได้”

ภาวุธสรุปว่า การเกิดขึ้นของบล็อกสดนี้นับว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่าสนใจ และน่าให้ความสำคัญกับการเกิดขึ้นของ "การไหล" ของข้อมูลในลักษณะนี้ ดังนั้นการส่งต่อ หรือแจ้งข่าวสารต่อจากที่ๆ หนึ่งออกไปยังอีก ที่ๆ หนึ่ง ผู้ส่งข้อมูลควรจะต้องมีวิจารณะฐานในการคิด วิเคราะห์ พิจารณา ว่าข่าวสารที่ได้มา มีความจริง หรือความถูกต้อง มากน้อยเพียงใด ก่อนการนำข่าวสารนั้นๆ ส่งต่อออกไปยัง กลุ่มอื่นๆ ซึ่งบอกได้เลยว่า ในขณะนั้น คงเกิดขึ้นได้ยากมาก เพราะการพูดคุยทีเกิดขึ้น ในขณะนั้น จะเป็นการพูดคุยในระหว่างคนรู้จัก เพื่อนๆ ดังนั้นรูปแบบของการไตร่ตรอง หรือการกลั่นกรองในการรับข้อมูลมา จะลดต่ำลงอย่างมาก และจะรับข่าวสารเข้าไปได้อย่างรวดเร็ว ขาดการพิจารณา เพราะเรื่องที่เข้าไปจะถูกนำเข้าไป ถกเถียงกันในห้อง Chat ซึ่งอาจจะยังหาข้อสรุปไม่ได้ แต่ข้อมูลดังกล่าว อาจจะถูกส่งต่อไปยัง กลุ่มอื่นๆ แล้ว

จากเหตุการณ์ในช่วงที่เกิดการปิดกั้นข่าวสารเกิดขึ้นในคืนวันปฏิวัติ ที่เกิดขึ้น จึงเป็นข้อที่พิสูจน์ให้เห็นการ รูปแบบการสื่อสาร การติดต่อ การแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคนไทย ได้มีการสร้างรูปแบบขึ้นมาใหม่ ในโลกออนไลน์ จากเดิมที่รับผ่านเว็บไซต์ (ซึ่งเป็นสื่อที่ เจ้าของเว็บเป็นคนส่งข้อมูลข่าวสารออกมา) กลายเป็นรูปแบบการสื่อสารที่เกิดขึ้นระหว่างภายใน กลุ่มสังคมของกลุ่มคนๆ หนึ่งออกไปยังกลุ่มอื่นๆ อย่างรวดเร็ว โดยที่รูปแบบการสื่อสารในลักษณะนี้ อาจจะสร้างมุมมองและการเปลี่ยนแปลงในการสื่อสารบนโลกออนไลน์ของคนไทย อย่างที่ไม่อาจจะมีอะไรมาควบคุมได้เลย” ภาวุธ สรุป

นี่กระมังเป็นพลังของ new media ที่ทำให้ฉันเกาะติดอย่างเหนียวแน่น และจะคอยบันทึก ถอดปรากฏการณ์เหล่านี้ให้เป็นความรู้ต่อไป..

ขอบคุณทุกคนค่ะ ที่ให้ความรู้ที่มีค่าอย่างยิ่ง.