Skip to main content

ไม่ว่าคุณ (ผู้อ่าน)มีจุดยืนทางการเมืองเกี่ยวกับรัฐประหาร 19 กันยายนอย่างไร ต่อไปนี้คือข้อเท็จจริงที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

ใน “ความไม่รู้” ว่าเกิดอะไรขึ้นกลางดึกของคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา คนเดินถนนให้รถถังและทหารพร้อมอาวุธครบมือเคลื่อนเข้าสู่ใจกลางเมืองในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ประชาชนในเมืองต่างเข้าบ้านเพื่อเช็คข่าวด้วยความหวาดหวั่น โดยที่สื่อโทรทัศน์ไม่สามารถให้คำตอบได้

ยุคสมัยของโลกออนไลน์อินเตอร์เน็ตจึงกลายเป็นคำตอบและทางออกของความไม่รู้ อย่างไรก็ดี Weblog คือการบันทึกเรื่องต่างๆไว้ในอินเทอร์เน็ตโดยไม่จำกัดว่าจะเป็นเรื่องอะไร เช่นการแสดงความคิดเห็น ข่าวต่างๆหรือ สิ่งที่ตนเองสนใจ มีความคล้ายกับ Diary Online แต่มีขีดความสามารถการใช้งานที่ดีกว่า ดังนั้นWeblog จึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลก และการรัฐประหารครั้งนี้ก็ทำให้เกิดปรากฎการณ์บล็อกสด (live blooger) เข้าทำหน้าที่รายงานสถานการณ์อย่างเกาะติดและเข้มข้น อาทิ

บล็อกปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ( http://revolution.blogrevo.com) ผู้จดทะเบียนเป็นคนไทยและอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯนี้เอง และที่ตั้ง (host)ของบล็อกนี้ก็อยู่ในประเทศไทย เปิดสื่อสารกับสาธารณะตั้งแต่คืนวันที่ 19 กันยายน โดยเน้นนำแถลงการณ์ ประกาศ และคำสั่งจากคณะปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) นำเสนอ ประกอบกับการรายงานข่าวจากเครือข่ายของเจ้าของบล็อก เช่น ชาวญี่ปุ่นที่ทำงานในประเทศไทย แจ้งว่า บริษัทในเครือ Mitsui ในประเทศไทย ได้สั่งให้ทุกบริษัทที่อยู่ในเครือปิด office และให้หยุดงานทั้งหมด รวมทั้งรายงานข่าวจากผู้คนที่ย่านสยามสแควร์ ว่ามีทหารประมาณ 10 นายพร้อมอาวุธผูกผ้าสีเหลืองดูแลความสงบที่สี่แยกปทุมวัน เป็นต้น ล่าสุด วันที่ 21 กันยายน เจ้าของบล็อก ประกาศให้ผู้อ่านติดข่าวปฏิวัติ(รัฐประหาร)ได้จากสื่อทั่วไปได้แล้ว

บล็อกปฎิวัติแห่งนี้ ได้บรรลุถึงหน้าที่ของตนแล้ว โดยได้ให้ข้อมูลกับผู้ที่สนใจข่าวการรัฐประหารในประเทศไทย ด้วยเทคนิค Live Blogging (บล็อกสด) เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 20 กันยายน 2549 จนหลังจากนั้นสื่อกระแสหลัก เช่นหนังสือพิมพ์ โทรทัศน์ วิทยุ และเว็บข่าว ได้รับอนุญาตให้รายงานสถานการณ์ต่าง ๆ ได้แล้ว ทางบล็อกเราจึงขอให้ท่านติดตามข่าวสารการรัฐประหาร ได้ตามสื่อกระแสหลักครับ”

พร้อมกับขอให้ผู้ที่มีลิงค์ต่าง ๆ เช่น รูปภาพ หรือ วีดีโอ หรือเนื้อข่าวที่น่าสนใจส่งมาให้เพื่อจักได้ดำเนินการเก็บรวบรวมไว้ที่บล็อกแห่งนี้อย่างเป็นระบบระเบียบ โดยจะเปิดไว้เพื่อเป็นกรณีศึกษา ในด้านการทำ Live Blogging และการนำเสนอข่าวในช่วงเวลาที่สื่อทั่วไปไม่สามารถให้ข่าวได้

บล็อกแห่งนี้ได้ดำเนินปณิธานสำเร็จทั้งการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ใหม่เกี่ยวกับการเมืองและการเป็นศูนย์รวมที่ทำให้เราสามารถเข้าถึงเครือข่าย bloger ที่ร่วมรายงานสถานการณ์รัฐประหารในลักษณะเกาะติดและหลากหลาย ตัวอย่างเช่น

บล็อกปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ภาคภาษาอังกฤษนี้(http://19sep.blogspot.com/) ได้รายงานสถานการณ์ประเทศไทยสู่ชาวโลกประกอบรูปภาพเป็นระยะ กระทู้แรก ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน เวลาเที่ยงคืนครึ่ง ท่ามกลางความสับสนที่จับต้นจนปลาย และข่าวลือมากมาย พื้นที่นี้ได้แปลประกาศ และคำสั่งของ คปค.ออกเป็นภาษาอังกฤษนาทีต่อนาที ที่สำคัญ ได้นำเสนอการเซ็นเซอร์ของทหารผู้ก่อการที่นอกจากจะตัดสัญญาณภาพของโทรทัศน์ช่องปกติทั้งหมดแล้ว หลังการประกาศกฎอัยการศึกษาเมื่อเวลา 00.20 น. ในเวลา 00.59 ของวันที่ 20 กันยายน ยังได้ตัดสัญญาณเคเบิลทีวี ไม่ให้คนไทยได้รับรู้ข่าวข่าวสารจากสำนักข่าวต่างประเทศต่างๆ เช่น CNN, BBC ด้วย

นอกจากการรายสถานการณ์อย่างเกาะติด บล็อกนี้ยังทำหน้าที่ในการจัดเก็บรวบรวมข่าวจากสำนักข่าวต่างประเทศไล่เรียงตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง ด้วยเนื้อหาที่ไม่สามารถจะอ่านพบได้สื่อกระแสหลักของไทย และยังนำดำเนินอยู่อย่างต่อเนื่องจนขณะนี้

อย่างไรก็ดีไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จดทะเบียนพื้นที่แห่งนี้ ซึ่ง blogspot เป็นอีกหนึ่งพื้นที่บริการของ google.com ที่รักษาความลับของผู้ใช้บริการเป็นอย่างดี ที่รัฐไม่สามารถเอื้อมมือไปจัดการได้ถึง

ยังมีเว็บบล็อก www.pawoot.com ของภาวุธ พงษ์วิทยภานุ หนึ่งในบล็อกสดอันดับแรกๆ ของประเทศ ภาณุ เขีบนบันทึกไว้ “ไม่น่าเชื่อเลยครับ เหตุการณ์ปฏิวัติ ที่เกิดขึ้นในคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการสร้างปรากฏการณ์การสื่อสารรูปแบบใหม่ในโลกออนไลน์ เกิดขึ้นในสังคมไทย คืนนั้นผมได้ขับรถผ่านไปเห็นเหตุการณ์พอดี และก็ได้ถ่ายภาพรถถังกลางกรุง และนำรูปภาพเหตุการณ์ มาลงในเว็บไซต์ของผม […]เพียงเวลาไม่ถึง 6 ชั่วโมง เว็บไซต์เล็กๆ ของผมเว็บนี้จากเดิมปกติคนเข้าวันละ 5-6 ร้อยคน กลับกลายมีคนเข้ามามากเป็น หมื่นๆ คน ในทันที”

ภาวุธ ยังบอกอีกว่า ในคืนนั้นเจอคนเข้ามาออนไลน์ ผ่านโปรแกรม MSN Messenger เยอะมากเป็นประวัติการณ์ จากปกติเวลาเที่ยงคืนจะเป็นช่วงที่ไม่ค่อยจะมีคนออนไลน์อยู่เท่าไร แต่อาจจะเป็นเพราะในคืนนั้น ทุกคนรู้แล้วว่าสื่อทุกสื่อถูกปิดกั้นหมด และเขารู้แล้วว่า "สื่อไหนที่เขาจะสามารถหาข้อมูลได้" ซึ่งสื่ออินเทอร์เน็ตคือคำตอบ สำหรับเหตุการณ์ในคืนนั้น

ในช่วงเวลานั้น เกิดการจับกลุ่มรวมตัว เปิดห้อง Chat กันเป็นห้องใหญ่ๆ หลายๆ ห้องผ่านโปรแกรม Messenger กระจายตัวอยู่ในอินเทอร์เน็ตโดยจับกลุ่มคุยในระหว่างกลุ่มเพื่อนๆ ด้วยกัน และจะมีการพูดถึงเรืองที่เกิดขึ้น แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารระหว่างกันในห้อง Chat ซึ่งใครได้ข้อมูลข่าวสารอะไรมา ข้อมูลข่าวสารที่ได้มา ก็จะถูกกระจายผ่านลงไปในกลุ่มห้อง chat นั้นๆ และขยายตัวออกไปยั้งกลุ่มห้อง chat อื่นๆ อย่างรวดเร็ว ซึ่งไม่น่าเชื่อว่า ข่าวสารใหม่ที่เกิดขึ้น จะสามารถกระจายออกไปยังกลุ่มคนไทย ออนไลน์ได้ทั่วประเทศและทั่วโลก โดยใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที ทุกคนก็สามารถรับรู้ข่าวสารเดียวกันแล้ว

การติดตามสถานการณ์นี้ดำรงอย่างน่าตื่นเต้นและหวาดหวั่นเพราะตลอดคืนมีข่าวลือการตัดสัญญาณโทรศัพท์ สัญญาณอินเตอร์เน็ตโดยการสื่อสารแห่งประเทศไทย (กสท.) อยู่เป็นระยะ

ยังมีบล็อกที่น่าสนใจอีกเช่น Bangkok Pundit (http://bangkokpundit.blogspot.com)

โดยปกติเป็นพื้นที่ที่รายงานข่าว บทความ และสนทนากับเครือข่ายเกี่ยวสถานการณ์ประเทศไทย มุ่งเน้นเรื่องการเมืองและสถานการณ์ความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างต่อเนื่องด้วยภาษาอังกฤษเป็นหลัก เมื่อเกิดรัฐประหารก็เกาะติดกับกระแสนี้อย่างต่อเนื่อง

บล็อก 2bangkok (http://2bangkok.com) แต่เดิมนั้นรอน มอลลิส มัคคุเทศก์อิสระทำเว็บบล็อกนี้ขึ้นเพื่อเฝ้ามองความเติบโตของเมืองหลวง นับตั้งแต่ปี 2542 ได้เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับรถไฟใต้ดินในกรุงเทพฯ, รถไฟฟ้า, โครงการโฮบเวล (Hopewell), รถไฟใต้ดินที่เชียงใหม่, แผนงานชิ้นเอกของระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ, สะพานพระราม 8,สนามบินสุวรรณภูมิ, รถรางกรุงเทพฯ ในสมัยปี พ.ศ. 2437-2511 (ค.ศ.1894-1968) และ เรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยภาคภาษาอังกฤษ เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหารรอน ก็ไม่พลาดโอกาสที่จะรายงานเหตุการณ์และขับเน้นการรายงานข่าวของสื่อไทย(บางแง่มุม)อย่างเกาะติดให้ทั่วโลกได้รับรู้เช่นกับคนอื่นๆ

รวมทั้งการมีหอจดหมายเหตุภาพถ่ายปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ภาคประชาชนที่เว็บบล็อก Coup Thailand on Flickr (http://tinyurl.com/euof4) โดยประชาชนและประชาคมออนไลน์ได้มาโพสต์รูปที่ตนเองถ่ายเกี่ยวบรรยากาศการรัฐประหารครั้งนี้ และการดึงรูปสำคัญๆ ที่มีนัยยะทางการเมืองจากทั้งสื่อในและต่างประเทศเข้ามาเก็บรวมรวมไว้ เพียง 6 วัน มีรูปเข้ามาสะสมที่หอจดหมายเหตุนี้แล้ว 875 ภาพ

พื้นที่วิชาการยังต้องเซ็นเซอร์ตัวเอง

นอกจากบล็อกข้างต้นแล้ว หนึ่งในบริการของของสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) บล็อก GotoKnow (www.gotoknow.org) เองในวันเกิดเหตุนั้น ก็รับใช้สาธารณะด้วยการที่เครือข่ายในกรุงเทพฯ เล่าสถานการณ์อย่างเป็นระยะๆ ลงไปใน e-society แห่งนี้สื่อสารกับเครือข่ายภายในมากกว่ามากกว่าหมื่นคน จนกระทั่งวันที่ 20 กันยายน มีคำสั่ง หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองฯ ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ บล็อกแห่งนี้ก็เริ่มจำกัดเสรีภาพทางวิชาการของตนลงเช่นกัน

โดยดร.จันทวรรณ น้อยวัน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานผู้ดูแลระบบต้องออกประกาศขอความร่วมมือสมาชิก "อย่าบันทึก" เรื่องใดๆ ที่เกี่ยวกับการรัฐประหาร “ดิฉันในฐานะผู้ดูแลระบบ GotoKnow ต้องขอโทษที่ ‘ต้องลบบันทึก’ ที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารเพื่อสงวนรักษาคลังความรู้แห่งนี้ไว้นะค่ะ และขอแสดงจุดยืนว่า GotoKnow ซึ่งเป็นบริการของ สคส. ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นคลังความรู้แนวปฏิบัติของประเทศไทยและเป็นชุมชนเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อการจัดการความรู้ ณ ขณะนี้ ทีมงานต้องนั่งเฝ้าระบบเพื่อลบบันทึกเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าเพียงเพื่อรักษา GotoKnow แห่งนี้เอาไว้..[..]”

พร้อมกับประกาศ ข้อควรระวังในการใช้บล็อกในช่วงสถานการณ์ขณะนี้ เพราะยังมีบางคนเขียนบันทึก ใส่ไฟล์ และมีข้อคิดเห็นในบันทึก ที่อาจจะเป็นปัญหาอยู่ ใจความสำคัญว่า การใช้บล็อกไม่เหมือนกับเว็บบอร์ด โดยบล็อกเน้นที่การแสดงตัวตนของผู้เขียน ส่วนเว็บบอร์ดนั้นใช้กันแต่นามแฝง ดังนั้นเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง การเขียนอะไรลงในบล็อกจะต้องคิดก่อนเขียน และต้องคอยตรวจสอบดูข้อคิดเห็นในบันทึกต่างๆ ด้วย ซึ่งเจ้าของบล็อกสามารถลบข้อคิดเห็นได้เอง ทั้งนี้ผู้ให้บริการเว็บไซต์ (สคส. สกว. และ ทีมงาน) จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ ณ ขณะนี้ โอกาสที่เว็บจะถูกปิดลงเพราะผู้ใช้บางคนที่ไม่พยายามให้ความร่วมมือก็มีสูงมาก

อย่างไรก็ดี ความกังวลใจจากอำนาจละมุนของคปค.ของผู้รับผิดชอบก็คลี่คลายลงระดับหนึ่งเมื่อ นพ.วิจารณ์ พานิช ออกมาแนะนำการเขียนบันทึกในเชิงสร้างสรรค์ต่อการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 21 กันยายน

ดิฉันนั่งเครียดมาหลายวันเพราะต้องใช้สมองคิดอย่างหนักว่า บันทึกนี้บันทึกนั้นสมควรลบออกหรือไม่ แต่ตอนนี้ดิฉันค่อนข้างสบายใจแล้วค่ะ เพราะท่านอาจารย์หมอวิจารณ์ช่วยมาไข ‘ความไม่รู้’ ในเรื่องตัวอย่างบันทึกที่สามารถเขียนในสถานการณ์ช่วงนี้ในเชิงสร้างสรรค์ ตามบันทึกของท่าน เรื่อง ‘เรียนรู้จากมุมมองของหลายชาติ ต่อการรัฐประหารในประเทศไทย’ รู้สึกผ่อนคลายไปเยอะค่ะ เพราะไม่ต้องคอยมานั่งตามลบบันทึกอีกต่อไป และดิฉันก็เชื่อว่าสมาชิก GotoKnow หลายท่านก็คงสบายใจมากขึ้นเช่นกันค่ะ และต้องขอโทษที่ดิฉันต้องลบบันทึกไปหลายบันทึกที่จริงๆ แล้วน่าจะเขียนได้ เพราะเขียนไว้ในเชิงสร้างสรรค์อย่างบันทึกในตัวอย่างของท่านอาจารย์หมอวิจารณ์”

และในแง่ของการให้ข้อมูลเชิงความรู้และประวัติศาสตร์ย้อนหลังว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ควรจะติดป้ายบอกว่าเป็นอะไรนั้น เว็บไซต์รักบ้านเกิด (www.rakbankerd.com) ก็เป็นแหล่งข้อมูลที่ทำให้เรารู้จักประวัติศาสตร์ด้านการเมืองโดยเฉพาะหัวข้อ “กบฏ ปฏิวัติ รัฐประหาร” ของไทยมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่ก็ถูกให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) สั่งปิดเว็บบอร์ดของเว็บไซต์นี้ในเวลาต่อมา

แน่นอนว่าเว็บบล็อกวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรีภาคภาษาไทย (http://th.wikipedia.org) เป็นอีกแหล่งข้อมูลสำคัญที่ผู้คนจำนวนเข้าไปช่วยกันบันทึก “เหตุการณ์รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ.2549” มีการจัดหมวดหมู่หัวข้อย่อยไว้อย่างน่าสนใจ ตั้งแต่หัวข้อลำดับเหตุการณ์ที่ไล่เรียงตามเวลาจริงตั้งแต่ก่อนการรัฐประหาร มาทุกวันสิ้นสุดการบันทึก ณ วันที่ 22 กันยายน หัวข้อปฏิกิริยาของแต่ละฝ่าย โดยแบ่งย่อยลงไปเป็นฝ่ายรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร ฝ่ายรัฐประหาร ปฏิกิริยาของนานาชาติ ตลาดการเงิน ประชาชนไทยและต่างประเทศ ครอบคลุมถึงโลกอินเตอร์เน็ต หัวข้อการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน มีการบันทึกรายชื่อบุคคลที่ไดรับการแต่งตั้งโดยคปค. และรายชื่อบุคคลที่ถูกเรียกตัว จับกุม ปลด โยกย้าย โดยคปค. อย่างละเอียดด้วย

ที่น่าสนใจคือวิกิพีเดีย ขับเน้นให้เห็นว่าสื่อออนไลน์ ที่ต้องนับว่าเป็นสื่อทางเลือกเดียวขณะนี้ที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารแก่ผู้คนจำนวนมากนั้น ก็ได้รับผลกระทบจากการยึดอำนาจด้วย เช่น

  • รัฐธรรมนูญฉบับประชาชนจากเว็บของรัฐสภา ในส่วนของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540ได้หายไป ณ วันที่ 20 กันยายน 2549 เวลา 14:50 นาฬิกาประเทศไทย
  • เว็บไซต์พรรคไทยรักไทย ได้ปิดตัวลง โดยไม่มีข้อความแจ้งแต่อย่างใด รวมทั้งหลายๆเว็บไซต์ที่เคยประกาศตัวเพื่อสนับสนุนรัฐบาลและอดีตนายกฯ เช่น เว็บไซต์รักเมืองไทย, คนผ่านฟ้า และ สถานี MV1/Reporter
  • เว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ได้เปลี่ยนเป็นรูปแบบให้ง่ายและมีขนาดเล็กลง เพื่อลดภาระของเซิร์ฟเวอร์ และยังได้เปลี่ยน URL เป็น http://w3.manager.co.th โดยยูอาร์แอลเดิมที่ http://www.manager.co.th ยังสามารถเข้าได้อยู่ แต่เมื่อผู้ใช้เข้าในเว็บจะถูกส่งให้ไปอ่านในเว็บใหม่แทนโดยผู้ใช้จะไม่สามารถโพสต์ความคิดเห็นได้
  • เว็บบอร์ด ราชดำเนิน ในเว็บพันทิป ได้ปิดปรับปรุง และมีข้อความขอร้องให้สมาชิกงดโพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการเมือง
  • The Nation และ กรุงเทพธุรกิจ ได้เปลี่ยนหน้าเว็บไซต์ เพื่อลดการ load จำนวนมาก
  • เว็บไซต์รักเมืองไทย ในส่วนของ เว็บบอร์ด ซึ่งเป็นที่แสดงความคิดเห็นของ ผู้ไม่เห็นด้วยกับ คณะปฏิรูป ได้ถูกปิดไป ณ เวลา 4:46 วันที่ 22 กันยายน 2549 ตามเวลาประเทศไทย
  • เว็บบอร์ด เฉพาะกิจ รวมความเห็นหลากหลาย อย่าง www.19sep.org ได้ถูกสั่งปิด จากกระทรวงไอซีที ณ วันที่ 22 กันยายน 2549 เวลาประมาณ 1.00 น.

ซ้ำมีคนบันทึกไว้ด้วยว่า หน้า "รัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549" และ หน้า "คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข" ในเว็บไซต์วิกิพีเดียไทย มีป้ายเตือน "โปรดทราบ เนื่องจากมี คำสั่งคณะปฏิรูปฉบับที่ 5/2549 เรื่อง ควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยห้ามเขียน บทความ ข้อความ คำพูด หรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเป็นอันขาด หากทางชาววิกิพีเดียเห็นว่าไม่เหมาะสม สามารถดำเนินการลบทันที และขอความร่วมมือระมัดระวังในการแก้ไขบทความด้วย" ที่ตอนบนของทั้งหน้าบทความและหน้าอภิปราย ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายน จนถึงวันที่ 23 กันยายน 2549

ปิดเว็บบอร์ด-สื่อทางเลือก ห้ามเห็นต่าง

ด้านตรงข้าม เว็บไซต์ของกระทรวงไอซีทีกลับนำภาพบรรยากาศการรัฐประหารที่ประชาชนไปแสดงความชื่นชมและมอบดอกไม้ ถ่ายรูปกับทหารมานำเสนอภายใต้หัวข้อ “เมืองไทยน่าอยู่”

ทั้งนี้ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ ผู้ก่อตั้งเว็บบอร์ด www.19sep.org ซึ่งภายหลังกลายเป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่ายต่อต้านรัฐประหาร 19 กันยายน ในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อการพัฒนานับสิบปีและเคยเป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวทางการเมืองตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2534 ก่อนเกิดเหตุพฤษภาทมิฬ ปี 2535 บอกว่า นี่คือยุคสมัยของการสื่อสาร ซึ่งเว็บไซต์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารระหว่างคนในกลุ่มเล็กๆ และคนกลุ่มเล็กก็สามารถสื่อสารกับสาธารณะได้สะดวกที่สุด

คืนแรกที่ทราบข่าวการรัฐประหาร คิดทันทีว่าต้องเปิดพื้นที่และช่องทางการสื่อสารให้เกิดความคิดเห็นที่หลายหลายต่อสถานการณ์นี้ เพราะนี่คือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่อำนาจไม่ควรมาพรากออกไป ภายใต้หลักการการสร้างสรรค์ สุภาพ และรับผิดชอบ ความแตกต่างหลากหลายทางความคิดไม่ควรเป็นข้อจำกัด หรือให้กลุ่มบุคคลใดมาบอกว่า “ความเห็นต่างคือความแตกแยก” ที่เราจะสื่อสารกันไม่ได้”

นายสมบัติ บอกว่าตลอดทั้งคืนวันที่ 19 กันยายนได้เกาะติดสถานการณ์ในโลกออนไลน์ จนพบบล็อกปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 รู้สึกว่าคำนี้จุดประกายและลงตัวดี จึงไปจดโดมเมนเว็บบอร์ด www.19sep.org ไว้ที่ต่างประเทศทันทีและเปิดให้ประชาชน เครือข่ายต่างๆ เข้ามาแสดงความเห็นในวันรุ่งขึ้น “ถ้าฝ่ายอำนาจจะพยายามทำความเข้าใจหน่อยว่าช่องทางการรับรู้ = พื้นที่การเรียนรู้ เมื่อประชาชน(คนอ่าน) มีข้อมูลที่เพียงพอก็จะเกิดการวิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกสถานะ จุดยืนของตนเอง ช่องทางเหล่านี้ต่างหากที่จะช่วยลดความขัดแย้งและความรุนแรง

แต่เว็บบอร์ด 19 sep.org ก็ต้องปิดตัวลงโดยคำสั่งของกระทรวงไอซีทีแล้ว เนื่องจากว่ามีคนเข้าไปแสดงความเห็นนับพันราย เข้าอ่านก็นับหมื่นรายได้ “ตอนแรกเขาแค่บล็อกไอพีเรา แต่ตอนหลังเขาบล็อกโดเมนเราเลย ตอนนี้มีแต่คนนอกประเทศไทยเท่านั้นที่เข้าได้

ผมจะสู้ต่อเพื่อสิทธิการแสดงความเห็นเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานต่อไป กำลังพิจารณาฟ้องศาลปกครอง หรือศาลอื่นๆ ที่ยังดำรงอยู่ และผมจะเปิดเว็บใหม่ชื่อ www.19sep.net และจั่วหัว เสรีภาพ(Freedom) ทิ้งไว้ เพื่อต่อสู้เชิงสัญลักษณ์ว่า เครือข่าย 19 กันยายนมีตัวตน พร้อมกับจะแจกแบนเนอร์ Freedom ให้กับเว็บต่างๆ หรือเว็บต่างๆ สามารถประดิษฐ์กันขึ้นมาเองเลยก็ได้ เพื่อสื่อสารกับผู้มีอำนาจ สิทธิเสรีภาพเป็นของประชาชนไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมายึดหรืออนุญาตว่าสามารถจะทำหรือไม่ทำได้” สมบัติ ยืนยัน

ขณะนี้มีเพียงสำนักข่าวประชาไท (www.prachathai.com) ที่ยังดำรงเป็นสื่อทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่ด้วยจุดยืน “ไม่เอารัฐประหาร” ชูวัส ฤกษ์สิริสุข บรรณิการประชาไท บอกว่า “ตอนนี้เราได้คำเตือนอย่างไม่เป็นทางการจากเจ้าหน้าที่กระทรวงไอซีทีแล้ว ตั้งแต่วันที่ 22 กันยายนที่ผ่านมา”

นโยบายของประชาไทที่ทั้งกรรมการและที่ปรึกษาทุกคนเห็นด้วยอย่างเอกฉันท์ ประชาไทต้องเป็นพื้นที่ในการสื่อสารสถานการณ์นี้ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าว บทความ รายงานอย่างตรงไปตรงมาจากทุกกลุ่ม/ฝ่าย โดยเฉพาะเว็บบอร์ดที่ถูก “เพ่งเล็ง” นั้น จักต้องเป็นพื้นที่ของประชาชน กล่าวคือให้ประชาชนเป็นนักข่าวด้วย โดยจะไม่มีการเซ็นเซอร์ ปิดกั้นการแสดงความคิดเห็น ขณะเดียวกันก็ทุ่มทรัพยากรทีมงาน 4 จาก 12 คน โดยแบ่งเป็น 3 คนตอนกลางวัน และ 1 คนตอนกลางคืน ช่วยกันกลั่นกรองทุกกระทู้และทุกความเห็นท้ายข่าวไม่ให้มีใครพาดพิงหรือละเมิดใครเป็นส่วนบุคคล พยายามทำให้เว็บบอร์ดนี้ถูกกฎหมายมากที่สุด

เราไม่ได้ต่อต้านหรือท้าทายอำนาจใคร แต่ยืนยันในสิทธิเสรีภาพของเราและต้องต่อสู้เพื่อยืนยันสิทธินี้” ชูวัส คาดว่าอีกไม่กี่วันเว็บประชาไทจะต้องโดนปิดแน่นอน “เราได้เปิดบล็อกไว้ที่ server ต่างประเทศ คือ http://prachathai.wordpress.com เป็นสนามสำรอง บล็อกดังกล่าวอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างที่ใช้คนจำกัดใน upload ข้อมูลขึ้นเว็บ และประชาชนอาจจะมีส่วนร่วมกับพื้นที่ของเราน้อยลง และ “พื้นที่” จะกลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ครั้งนี้” ชูวัส ยืนยัน

เสรีภาพนั้นไม่สามารถมีคณะรัฐประหารใดมาพรากจากเราไป