Skip to main content

คำถามต่อไปนี้อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตรวจสอบคณะปฏิรูปฯ-ผู้มีอำนาจชุดใหม่ ที่เราคนเล็กๆ อาจจะทำได้ คือ ใครได้ประโยชน์จากการรัฐประหารครั้งนี้ และหลังรัฐประหารประเทศไทยจะเป็นอย่างไรต่อไป

อีกประการหนึ่ง เราไม่เข้าใจเจตนาของประกาศคณะปฏิรูปการปกครองฯ ฉบับที่ 5 เรื่อง การให้นิสิต นักศึกษา มีส่วนร่วมทางการเมือง แน่นอน เป้าหมายทางการเมืองของประกาศฉบับนี้เพื่อหยุดการเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลต่างๆ ซึ่งหมายรวมถึงขบวนการนึกศึกษาด้วย แต่การ จัดการ และการควบคุมบทบาทของนักศึกษาเพียงแค่ ขอให้ส่งความเห็นไปที่ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก ถ.ราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200” มันไม่จริงใจเหมือนกับที่ระบุในวรรคแรก

...คณะปฏิรูปฯ เห็นความสำคัญของนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ และเห็นควรที่จะให้นิสิต นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองในวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขแถมยังบอกอย่างตรงไปตรงมาอีกว่า นักศึกษามีหน้าที่เพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียงและอิทธิพลใดๆ

ซ้ำร้ายกว่านั้นคณะปฏิรูปฯ ยังมีประกาศฉบับที่

7 ตามมาอีก เรื่องการชุมนุมทางการเมือง เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก จึงห้ามมิให้มั่วสุม ประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่
5 คน ขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

จึงเป็นข้อท้าทายต่อขบวนการนักศึกษา (รวมถึงขบวนการภาคประชาชนอื่นๆ ด้วย)ในยุคนี้อย่างยิ่งว่า จะต่อรอง/ต่อสู้ทางการเมืองในสถานการณ์นี้อย่างไร เมื่อผู้มีอำนาจจำกัดและให้บทบาทนักศึกษาคับแคบเพียงแต่การหน่อยบัตรเลือกตั้งเท่านั้น

เรายังคาดหวังว่าจะเห็นการเคลื่อนไหวทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหารครั้งนี้ จากจุดยืนของนักศึกษา ว่าคนรุ่นใหม่กำลังเรียนรู้อะไร

เบื้องต้น เราเห็นแล้วจาก นายสุรพงษ์ บุญเดชารักษ์ นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับปฏิวัติ รู้สึกช็อกมากที่ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ เท่าที่ทราบนักศึกษาหลายกลุ่มไม่เห็นด้วย โดยที่ มธ.ศูนย์รังสิตได้ขึ้นป้ายผ้าคัดค้านการปฏิวัติ เชื่อว่ามหาวิทยาลัยอื่นก็คงไม่เห็นด้วยเหมือนกัน นอกจากนี้ ยังเห็นว่าประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 5 ให้นิสิตนักศึกษามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ฉบับที่ 6 กลับห้ามชุมนุมเกิน 5 คน ซึ่งขัดแย้งกันเอง เพราะนักศึกษาต้องรวมกลุ่มกันปรึกษาหารือ เวลานี้ได้แต่โทรศัพท์หารือกัน (มติชน 21 กันยายน 2549)

จากนักศึกษากลุ่มอื่นๆ ก็ยังเห็นเพียงแค่เป็นแถลงการณ์ออกมา

เตือนอย่างเดียวเท่านั้น อย่าไว้ใจนายสุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดี มธ. แม้จะให้สัมภาษณ์สื่อว่า ยังไม่ทราบว่าที่ มธ.ศูนย์รังสิตขึ้นป้ายผ้าคัดค้านการปฏิวัติ ถ้าเป็นเรื่องจริงก็ต้องถือเป็นการแสดงความคิดเห็นของนักศึกษา ซึ่งทำได้ภายใต้ขอบเขตกฎหมาย แต่อธิการท่านนี้ก็ไม่พูดให้ชัดว่าเป็น ขอบเขตกฎหมายของใคร

…………………………………………


อ่าน

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 5 เรื่อง การให้นิสิต นักศึกษา มีส่วนร่วมทางการเมือง

เนื่องด้วยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้เห็นความสำคัญของนิสิต นักศึกษา ปัญญาชน ต่อชาติบ้านเมือง ซึ่งเป็นพลังบริสุทธิ์ ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เห็นควรที่จะให้นิสิต นักศึกษา ได้มีส่วนร่วมในทางการเมืองในวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีส่วนร่วมให้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะมีขึ้นในเร็ววันนี้ เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ปราศจากการซื้อเสียงและอิทธิพลใดๆ

และหากนิสิต นักศึกษาท่านใด มีแนวความคิดในการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ให้เจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นแล้ว ขอให้ส่งความเห็นไปที่ สำนักงานเลขานุการกองทัพบก ถ.ราชดำเนินนอก เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร 10200

ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน 2549

ลงชื่อ พล..สนธิ บุญยรัตกลิน

หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ประกาศคณะปฏิรูปฯ ฉบับที่ 7 เรื่องการห้ามชุมนุมทางการเมือง

ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ฉบับที่ 7 เรื่อง การห้ามชุมนุมทางการเมือง ตามที่คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้ประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เวลา 21.05 น. เป็นต้นไปแล้วนั้น

เพื่อมิให้เกิดปัญหาและอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ในระหว่างการประกาศกฎอัยการศึก จึงห้ามมิให้มั่วสุม ประชุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ประกาศ ณ วันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2549
ลงชื่อ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน
หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข