Skip to main content

ภายหลังการรัฐประหารของคณะคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นำโดยพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ผบ.ทบ. กลางดึกของคืนวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เพียงข้ามคืนเมื่อสังคมไทย นักวิชาการ และเครือข่ายองค์กรภาคประชาชนต่างๆ พ้นจากอาการตระหนกของเหตุการณ์ดังกล่าว ต่างแสดงท่าทีและจุดยืนอย่างหลากหลายภายใต้ความกังวลเดียวกัน คือ รัฐประหารคุกคามสิทธิมนุษยชน การเวนคืนสิทธิและอำนาจของประชาชนไปอยู่ในมือของใคร?

เช่น องค์การเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชน (

Human Right Watch) กล่าววันนี้ (20 กันยายน)ว่า "กำลังทหารที่รับผิดชอบต่อการรัฐประหารในวันนี้ควรฟื้นฟูสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และปกป้องสิทธิการแสดงออก การรวมตัว และการชุมนุมโดยเร็วที่สุด"

กลุ่มทหารที่อยู่ตรงข้ามกับนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตรได้ยึดสถาบันต่างๆ ของรัฐบาล โดยสัญญาว่าจะปฏิรูปการปกครองและต่อสู้กับคอร์รัปชั่น คณะรัฐประหารประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งประเทศไทยพร้อมๆ กันกับยุบรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี

"การปกครองของทักษิณที่ผ่านมาได้ทำลายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยอย่างร้ายแรง แต่การยกเลิกสิทธิขั้นพื้นฐานภายใต้รัฐธรรมนูญก็ไม่ใช่คำตอบ" นั่นคือคำพูดของแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการองค์การเฝ้าระวังสิทธิมนุษยชนเอเชีย "ประเทศไทยจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาต่างๆด้วยหลักแห่งกฎหมายและการแสดงออกซึ่งสิทธิของประชาชนในอันที่จะเลือกผู้นำของตนเอง"

ด้านพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยนั้น แน่นอนว่ามีท่าทีเห็นด้วยกับการทำรัฐประหารครั้งนี้ชัดเจนและประกาศยกเลิกการชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าโดยทันที เช่น นายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำเปิดใจผ่านรายการรอบวันทันเหตุการณ์ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ASTV ว่า ดีใจที่คณะปฏิรูปการปกครองได้ยืนยันว่าการเข้ามาครั้งนี้เป็นการเข้ามาชั่วคราวเพื่อสร้างความสามัคคี และความรักชาติที่หายไปในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อให้กลับมาอีกครั้งหนึ่งอันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ที่พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยได้พยายามต่อสู้มาตลอด

นายสนธิ ยังเห็นว่า

วันนี้ (การรัฐประหาร)เป็นเรื่องที่น่ายินดี การเริ่มต้นใหม่ของประเทศกำลังเริ่มไปในทิศทางที่ดีขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานกลุ่มพันธมิตร กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากไปถึงคณะปฏิรูปฯ คือ ขอให้เร่งทำให้เกิดความชอบธรรมในสังคม นำพาประเทศเข้าสู่ภาวะปกติ และเร่งคืนอำนาจประชาธิปไตยกลับสู่ประชาชนโดยเร็ว ย้ำเหมือนนายสนธิว่ากลุ่มพันธมิตรฯ จะไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น โดยจะรอดูสถานการณ์ต่างๆ ให้ชัดเจนเสียก่อน

ทันทีเช่นกัน ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย (

YPD.) ออกแถลงการณ์เรียกร้องคณะปฏิรูปฯ เปลี่ยนรัฐประหารแบบถ้อยหลังเข้าคลองเหมือนในอดีต เป็นรัฐประหารที่ก้าวไปข้างหน้า โดยขอให้คงสิทธิ เสรีภาพประชาชน และการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนได้ตามปกติ และขอให้เร่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่วประเทศ และรีบคืนอำนาจให้ประชาชนโดยเร็วที่สุด ซึ่งก็น่ากังขาว่า รัฐประหารที่ก้าวไปข้างหน้านั้นมีมีนัยยะทางการเมืองอย่างไร

ในระดับปัจเจก นักเคลื่อนไหวทางสังคมและรณรงค์ประชาธิปไตยอย่างร.ต.ฉลาด วรฉัตร อดีต ส.ส.ราชบุรี และพวกอีก 4 คนออกมาคัดค้าน

วิธีการ โดยมานั่งประท้วงคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ที่ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาล บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อเวลา 12.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาเชิญตัวออกไป เนื่องจากผิดคำสั่งของคณะปฎิรูปฯ ในการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยบอกว่าจะนำไปดูแลในพื้นที่ทหาร ซึ่ง ร.ต.ฉลาด ไม่ได้ขัดขืนแต่อย่างใด และกล่าวเพียงว่า ประชาธิปไตยของไทยพัฒนามาหลายสิปปี ไม่น่าเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น

และบริเวณใกล้เคียง นายทวี ไกรคุปต์ อดีต ส.ส.ราชบุรี ก็มานั่งอดข้าวประท้วง พร้อมป้ายขนาดใหญ่ เขียนข้อความ

อดข้าวประท้วงผู้ล้มล้างประชาธิปไตย ทำให้บ้านเมืองถอยหลังและแตกแยกซึ่งเจ้าหน้าที่ทหาร เชิญตัวนายทวีออกไปเป็นระยะเพื่อขอให้ยุติการประท้วง แต่นายทวีไม่ยอมลุกไปไหน เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ขอยึดพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่นายทวีได้นำมา ท้ายที่สุดก็พาขึ้นรถตู้ออกไป

นอกจากนี้ นายจอน อึ้งภากรณ์ ในฐานะอดีตผู้แทนชาวกรุงเทพฯ คนหนึ่งในวุฒิสภา และนักเคลื่อนไหวในเรื่องประชาธิปไตยและเสรีภาพสื่อมวลชน ส่งแถลงการณ์ถึงสือมวลชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเห็นว่าการแก้ไขปัญหาของประเทศชาติในปัจจุบัน จำเป็นที่สุดที่จะต้องอาศัยวิถีทางประชาธิปไตยเท่านั้น โดยการเปิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกส่วน และให้เสรีภาพแก่สื่อมวลชนทุกแขนงในการเสนอข้อมูลข่าวสารและความติดเห็นของประชาชนอย่างอิสระ แต่ท่าทีเช่นนี้ก็คลุมเครือว่าเห็นด้วยหรือคัดค้านกับการรัฐประหารครั้งนี้

เพราะกลับมีขอเสนอต่อผู้ถืออำนาจการปกครองประเทศในปัจจุบัน

6 ข้อ คือ 1) ควรยกเลิกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน 2) ควรมีการเปิดเสรีภาพสื่อมวลชนตามขอบเขตของกฎหมายปกติ และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 3) ควรรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีเนื้อหาเลียนแบบรัฐธรรมนูญปี 2540 เพียงแต่เพิ่มบทเฉพาะกาลที่เหมาะสมสำหรับช่วงระยะผ่านไปสู่การเลือกตั้งครั้งต่อไป และมีบทว่าด้วยกระบวนการปฏิรูปสังคมและการเมืองโดยการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มาจากข้อเสนอของภาคประชาสังคม

4) ควรมีการเตรียมจัดตั้งรัฐบาลรักษาการพลเรือนโดยด่วนที่สุด นำโดยบุคคลที่เป็นนักประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับของประชาชนในวงกว้าง

5) ควรมีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในระบอบประชาธิปไตยภายในระยะเวลาไม่เกินหกเดือน และ 6) ควรมีการเร่งสร้างสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้โดยสันติวิธีและกระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนและประชาชนในพื้นที่

ความนี้ได้รับการตอบสนองจากคณะปฏิรูปฯ ผ่านประกาศฉบับต่างๆ เป็นระยะตลอดทั้งวัน ยกเว้นการยกเลิกประกาศห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน แถมยังออกคำสั่งที่ ที่

5/2549 เรื่องให้กระทรวงเทคโนโลยสารสนเทศ และการสื่อสารดำเนินการควบคุมยับยั้งสกัดกั้น และทำลายการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ในระบบสารสนเทศ ผ่านระบบเครือข่ายการสื่อสารทั้งปวง ที่มีบทความข้อความ คำพูดหรืออื่นใด อันอาจจะส่งผลกระทบต่อการปฏิรูปการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งก็น่าติดตามการเคลื่อนไหวทางการเมืองและสังคมของนายจอนต่อประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด

มากกว่านั้น ศ.เสน่ห์ จามริก ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อว่าการรัฐประหารครั้งนี้เป็นทางออกที่เหลืออยู่

อย่างมองว่ามันถอยหลัง เพราะเราถอยหลังมาจนถึงจุดแล้ว และรัฐธรรมนูญถูกต้อนเข้ามุม ดังนั้นส่วนตัวผมมองว่ามันไม่ใช่เรื่องเดินหน้าหรือถอยหลังแต่เป็นเรื่องของการแก้สถานการณ์ และหลังจากนี้ก็ขึ้นกับประชาชนและสื่อมวลชนว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป

ทั้งนี้ นายเสน่ห์กล่าวถึงการคืนอำนาจให้ประชาชนว่า อย่ามองการคืนอำนาจแค่การเลือกตั้งหรือการแก้รัฐธรรมนูญใหม่เท่านั้น แต่เราต้องคืนอำนาจให้ท้องถิ่นให้รากหญ้าโดยกระจายอำนาจออกไป เพราะที่ผ่านมาไม่มีการกระทำอย่างนี้กระบวนการตรวจสอบจึงไม่เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ กระนั้นก็ยังไม่มีการตั้งข้อสังเกตเรื่องการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยการรัฐประหารอย่างเฉียบคมออกมาจากนายเสน่ห์แต่อย่างใด

อันแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับทัศนะของนายสมชาย ปรีชาศิลปกุล คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก วาระพิเศษทางเนชั่นแชลเนล เปรียบเทียบการรัฐประหารคราวนี้กับปี

2534 ว่าเริ่มต้นเหมือนกัน มีคนจำนวนมากไปตบมือให้ดอกไม้เหมือนกัน และเชื่อว่า รสช.เจตนาดีเหมือนตอนนี้เลย แต่ถึงที่สุด เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเจตนาดีหรือไม่ดี สิ่งที่สำคัญกว่าคือ หลักการระบอบกฎหมาย หลักการระบอบประชาธิปไตย นี่คือหัวใจสำคัญ

และเห็นว่า อันดับแรกที่คณะปฏิรูปฯต้องทำคือหยุดประกาศ คำสั่งต่างๆ ที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เช่น

การห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน หรืออะไรก็ตามที่ประกาศออกมาอีก ที่ประกาศไปแล้ว 14-15 ฉบับก็ต้องยกเลิก

สังคมไทยในยุคคุณทักษิณ ไม่ว่าเราจะชอบไม่ชอบคุณทักษิณ ก็ทำให้การชุมนุมเป็นสิทธิอันหนึ่งซึ่งเราได้กระทำและได้แสดงกันต่อมาจนกลายเป็นสถาบันทางการเมืองหนึ่ง เป็นทางออกที่ทำให้คนรู้สึกได้ว่าเราอยู่ร่วมกันได้ แม้จะเห็นแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้กำลังหยั่งราก แต่การเปลี่ยนแปลงรัฐประหารครั้งนี้ กำลังจะนำไปสู่การทำลายหลักการหลายๆ เรื่อง ผมไม่อยากให้เราคิดแค่เป้าหมาย ว่าจะไล่คุณทักษิณจะใช้วิธีการอย่างไรก็ได้ อันนี้ผมไม่เห็นด้วย อย่าลืมนะครับว่า การที่คุณทักษิณขึ้นมายืนอยู่ในสังคมไทยได้ก็เพราะสังคมไทยอ่อนแอในหลายเรื่อง แทนที่เราจะไล่คุณทักษิณอย่างเดียว ทำอย่างไรเราจะทำให้สังคมไทยเข้มแข็งขึ้น เรียนรู้ มีบทเรียนที่จะทำให้ไม่เกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นอีก ซึ่งอันนี้สำคัญมากในสังคมไทย

จุดยืนสำคัญของสมชาย คือไม่เห็นด้วยตั้งแต่การใช้อำนาจนอกรัฐธรรมนูญแล้ว

รัฐธรรมนูญคือความใฝ่ฝันร่วมกัน หรือกติการร่วมกันในสังคมว่า ว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง ตราบเท่าที่เรายังไม่ฉีกรัฐธรรมนูญ เราก็ควรจะเดินตามกรอบอันนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 เกิดขึ้นจากการร่วมมือของคนหลายคนมาก อย่างกว้างขวาง การที่เราปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งฉีกมันได้ นี่เป็นเรื่องที่น่าเศร้าครับ

ที่น่าสนใจคือ พวกเราจะมีความทรงจำร่วมทางการเมืองกับรัฐประหารครั้งนี้อย่างไร เพราะช่วงหัวค่ำวันเดียวกันนี้ ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยขอให้ประชาชนทั้งหลายจงอยู่ในความสงบ และให้ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย ฟังคำสั่ง พล.อ.สนธิ ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป