Skip to main content

เมื่อเดือนสิงหาคม 2547 เยาวชนไทยและอเมริกันกลุ่มหนึ่ง ร่วมกันเปิดโปงความฉ้อฉลของบริษัทฟิลิป มอริส โดยเผยให้เห็นเบื้องหลังการให้เงินสนับสนุนงานประกวดศิลปกรรมอาเซียน ที่จัดเฉลิมฉลองครบรอบ 10 ปีในประเทศไทย ฉะนั้นไม่ว่ากลุ่มศิลปินอาเซียน ผู้บริหาร ผู้จัดงานดังกล่าวไปที่ไหน เขาและเธอเหล่านี้ติดตามไปประจานบริษัทบุหรี่ทุกที่ ทั้งหอศิลปะ ถนนเจ้าฟ้า หรือที่อุทธยานประวัติศาสตร์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ด้วยจุดยืนชัดเจน ต่อต้านบริษัทบุหรี่ที่อาศัยเกาะความดีงามของงานศิลปะ เพื่อให้ตนมีชื่อเสียงในสังคม จะได้ขายบุหรี่ให้ได้มากที่สุด และยังหลอกลวงประเทศต่างๆ ในอาเซียน มาตลอด 10 ปี โดยมิได้ต่อต้านศิลปินคนใดหรือประเทศใด ซึ่งผลจาการเปิดโปงนี้บริษัทบุหรี่ต้องยกเลิกการจัดงานประกวดนี้ไปโดยปริยาย

การจัดประกวดศิลปะเป็นหนทางหนึ่งในการสร้างภาพพจน์ด้านบวกแก่ผลิตภัณฑ์และบริษัทบุหรี่ แต่คำถามคือ เป็นการสร้างภาพให้ใครเห็น??

ปี 2547 นับครบ 10 ปีพอดี ที่บริษัท ฟิลิป มอร์ลิส เอเชีย ลิมิเต็ด และบริษัทฟิลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด ได้ดำเนินการเป็นผู้อุปภัมภ์การประกวดภาพวาดศิลปอาเชียนประจำปี ถือเป็นการจัดงานศิลปกรรมที่โดดเด่นมากที่สุดในอาเซียน ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ อาจารย์มหาวิทยาลัย นิตยสาร และสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ ตลอดจนบุคคลสำคัญในวงราชการและการเมือง จึงมาเฉลิมฉลองที่ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2547 ภายใต้หัวข้อ “อารยะแห่งอดีต ขีดโยงปัจจุบัน”

นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ให้สัมภาษณ์ว่า “เราวิจัยพบว่าเหตุผลที่แท้จริงของบริษัทฟิลิป มอร์ริส บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของโลกรายนี้ อุปถัมภ์การประกวดภาพวาดอาเซียน มีวัตถุประสงค์ 2 ประการคือ เพื่อทำการตลาดบุหรี่และเพื่อต้องการเข้าถึงข้าราชการขั้นสูงในประเทศต่างๆ ที่เป็นสมาชิกอาเซียน"

ในปี 2537 ซึ่งเป็นปีเริ่มต้นของการประกวดภาพวาดอาเซียน โดยไม่คาดไม่ถึงว่าจะมีกลุ่มรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ออกมาคัดค้านการประกวดนี้อย่างเข้มข้นในเวลาต่อมา นายแพทริค รีการ์ท ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กร ได้ออกมาให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า “เพราะ(บริษัท)โฆษณาบุหรี่ไม่ได้ จึงต้องเปลี่ยนแผนการตลาดมาใช้การอุปถัมภ์งานประกวดภาพวาดแทน เน้นการสร้างชื่อของบริษัทให้ติดตลาด และเป็นที่รู้จักให้ได้นานที่สุด” (ฐานเศรษฐกิจ วันที่ 21-23 กรกฏาคม 2537)

ส่วนประเด็นการเข้าถึงข้าราชการชั้นสูงของประเทศนั้น มีหลักฐานคือเอกสารลับของบริษัท ฟิลิป มอลิส ตั้งแต่หน้า 19 เลขที่ 2074188979 ระบุเหตุผลที่แท้จริงในการอุปภัมภ์ศิลปะในเอเชีย มีข้อความตอนหนึ่งซึ่งแปลได้ว่า “การให้รางวัลอาเซียนของกลุ่มบริษัทฟิลิป มอริส – การแข่งขันทางศิลปะที่เกี่ยวข้องกับตลาดอาเวียน 7 ตลาด ช่วยให้ฝ่ายกิจการบริษัทและการจัดการสามารถเข้าถึงโดยตรงต่อข้าราชการระดับอาวุโสของรัฐบาลในแต่ละประเทศ และทำให้เรามีความสัมพันธ์อันมั่นคงกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนและบริษัทบุหรี่ก็ทำสำเร็จตลอดมา

ตลอด 10 ปีจึงปรากฏผ่านสื่อสาธารณะให้เป็นประจักษ์ดังนี้

  • 6 สิงหาคม 2538 พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ประธานองค์มนตรี เป็นประธานเปิดงานแสดงผลงานการประกวดศิลปะอาเซียน
  • 2 สิงหาคม 2539 พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรี เป็นประธานมอบรางวัลในการประกวด
  • 15 สิงหาคม 2539 พลเอกเปรม ติณสูลานนนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดนิทรรศการร่วมกับ ดาโตะ อาจิต ซิงห์ เลขาธิการสมาคมอาเซียน และนายปีเตอร์ บาร์นส ประธานบริษัท ฟิลิป มอริส เอเชีย
  • 4 สิงหาคม 2542 พลเอกเปรม ติณสูลานนนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานเปิดนิทรรศการพร้อมด้วยเอกอัครราชทูตเขมรและเอกอัครราชทูตเวียตนาม
  • 19 สิงหาคม 2543 พลเอกเปรม ติณสูลานนนท์ ประธานองค์มนตรีและรัฐบุรุษ ยังรับเป็นประธานเปิดงานการประมูลจำหน่ายงานศิลปะจากการประกวดดังกล่าว ที่โรงแรมดุสิตธานี งานนี้จัดโดยกองทัพบก
  • กรกฎาคม 2543 พลเอกสรยุทธ์ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานแถลงข่าวการจัดงานและจัดประกวดผลงานศิลปะ 80 ปี พลเอกเปรม ติณสูลานนนท์ ซึ่งงานศิลปะเหล่านี้ คืองานที่ชนะการประกวดอาเซียนและตกเป็นสมบัติของผู้อุปภัมภ์ คือ บริษัทบุหรี่
  • เมษายน 2544 บริษัทแห่งนี้ได้จัดประชุมสัมมนาเกี่ยวกับการศิลปกรรม อาเซียน ที่สยามสมาคม และครั้งนี้นายแพททริค รีการ์ต ผู้จัดการฝ่ายกิจกรรมองค์กรของฟิลิป มอริส ก็มาร่วมงานด้วย
  • สิงหาคม 2544 พลเอกสุรยุทธ จุลานนท์ ผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธานการแถลงข่าวการจัดงาน “พิธีมอบทุนและประมูลจัดหาทุนส่งเสริม การศึกษาการสร้างสรรค์ศิลปะ” มูลนิธิเปรม ติณสูลานนท์
  • 16 สิงหาคม 2545 พลเอกเปรม เป็นประธานมอบเกียรติบัตรให้คณะบุคคลที่ให้การสนับสนุนการประมูลศิลปกรรมเพื่อสมทบทุน “กองทุนมูลนิธิรัฐบุรุษ” ด้วยตนเอง

นพ.หทัย บอกว่า ผลของงานวิจัยดังกล่าวพิสูจน์ชัดว่าฟิลิป มอร์ริส มิได้หวังสนับสนุนงานศิลปะให้เจริญก้าวหน้าแต่อย่างใด แต่อาศัยเกาะความดีงามของงานศิลปะ เพื่อให้ตนมีชื่อเสียงในสังคม จะได้ขายบุหรี่ให้ได้มากที่สุด ทุกวันนี้ประชากรของโลกต้องตายด้วยโรคต่างๆที่เกิดจากบุหรี่ปีละ 5 ล้านคน ส่วนใหญ่ของผู้ที่ตาย เป็นผู้ที่สูบบุหรี่ของบริษัทฟิลิปมอร์ริส เนื่องจากบริษัทนี้เป็นบริษัทบุหรี่ข้ามชาติที่ใหญ่ที่สุดของโลก

"ภาคีปกป้องไทยพ้นภัยบุหรี่ จะได้เผยแพร่ผลงานวิจัยนี้ให้สังคมได้รับทราบความจริง หลังจากที่ได้ถูกหลอกลวงมานานถึง 10 ปี นับตั้งแต่การจัดประกวดครั้งแรกในปี 2537 ในการนี้ได้มีหนังสือกราบเรียน พลเอกเปรม ประธานองค์มนตรีไปแล้ว เพื่อขอให้ท่านงดการสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าว และจะได้ร่วมมือกับองค์กรไม่สูบบุหรี่อเมริกันอีก 2 องค์กร คือ Essential action จากกรุงวอชิงตัน และ Reality Check จากรัฐนิวยอร์ค ภาคีปกป้องไทยฯ และองค์กรอเมริกันทั้ง 2 จะได้จัดให้มีแรลลี่ เยาวชนเพื่อเปิดโปงการลวงโลกครั้งยิ่งใหญ่ของพ่อค้าแห่งความตายตนนี้" นพ.ทหัย บอก

และในปีของความยิ่งใหญ่ของการประกวดนี้ แน่นอนบริษัทบุหรี่เชิญนายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานประกวด ณ หอศิลปะ เจ้าฟ้า กรุงเทพฯ นพ.หทัย จึงได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ผ่านทางนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข “ขอให้ท่านนายกฯ แวะทักทายลูกหลานหน้างานด้วย เพราะเขามีอะไรอยากจะบอกท่าน” คนใกล้ชิดนายกฯ ยืนยันว่าข้อความดังกล่าวท่านได้รับแล้ว แต่ไฉน..จึงไร้เงาท่านนายกฯ ที่หอศิลปะ เป็นเรื่องที่ยังไม่มีใครอธิบายชัดๆ สักที

จริงหรือไม่บริษัท ฟิลิปมอริส ขายสินค้าหลายอย่าง?

นักการเมือง ข้าราชการระดับสูง ผู้คนจำนวนหนึ่งให้การสนับสนุนบริษัทบุหรี่แห่งนี้ โดยเชื่อว่ามีสินค้าหลายประเภทที่ไม่เกี่ยวกับบุหรี่จำหน่าย เพราะในระดับโลก ปี 2528 ฟิลิป มอริส ซึ้อกิจการอาหาร เจเนอรัล ฟู้ดส ครอป.(General Foods Corp. ) ปี 2531 ซื้อกิจการอาหารคราฟท์ (Kraft) แล้วต่อมาได้รวมกับเจเนอรัล ฟู้ดส ครอป. เป็นบริษัท คราฟท์ เจเนอรัล ฟู้ดส (Kraft General Foods) ปี 2543 ฟิลิป มอริส ซื้อกิจการนาบิสโก โฮลดิ้งส (Nabisco Holdings) แล้วนำสินค้าอาหารยี่ห้อนาบิสโก เข้าอยู่ในคราฟท์ ฟู้ดส ทั่วโลก

ปี 2545 บริษัท ผลิตเบียร์ ของฟิลิป มอริส คือ มิลเลอร์ บริวอิ้ง คอมปานี (Miller Brewing Company) รวมกับบริษัทเบียร์ของแอฟริกาใต้ เซาท์น แอฟริกัน บริวเวอรี่ (South African Breweries) โดยใช้ชื่อใหม่ว่า แซป มิลเลอร์ (SAB Miller plc.) และเดือนมกราคม ปี 2546 กลุ่มบริษัท ฟิลิป มอริส ได้ชื่อใหม่ว่า ออเทรีย กรุ๊ป, โดยมีบริษัทในเครือ คือ คราฟท์ ฟู้ดส, ฟิลิป มอริส ยูเอสเอ มีธุรกิจเฉพาะภายในประเทศสหรัฐอเมริกา , ฟิลิป มอริส อินเทอร์เนชั่นนัล ดูแลธุรกิจบุหรี่ทั่วโลก และฟิลิป มอริส แคปปิตัล คอร์เปอเรชั่น ทำธุรกิจด้านการเงินของกลุ่มบริษัททั้งหมด

แต่การอ้างข้างต้นมาใช้กับประเทศไทยไม่ได้ เพราะเบียร์มิลเลอร์ มีบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่าย คือ ซี.วี.เอส. ซินดีเคท จำกัด บริษัทลูกของบริษัท บญรอด บริวเวอรี่ ชั้น 4 CB House เลขที่ 83 ถนนอำนวยสงคราม กรุงเทพฯ ส่วนอาหารชนิดต่างๆ ยี่ห้อ คราฟท์ นั้น ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายคือ บริษัท คราฟ์ ฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด เลขที่ 152 อาคารชารเตอร์สแควร์ ถนนสาทรเหนือ กรุงเทพฯ

ฉะนั้น บริษัทที่จัดการประกวดศิลปกรรมอาเซียน คือ ฟิลิป มอริส อินเตอร์เนชั่นนัล ภาคพื้นเอเซีย จึงขายบุหรี่อย่างเดียว ไม่มีหน้าที่ขายอาหารหรือเบียร์ด้วย !!!!

ในวันพรุ่งนี้ หรือหลังจากที่ไทยเปิดตลาดการค้าเสรี ที่รู้จักกันดี เอฟทีเอกับสหรัฐ พวกเราอาจจะได้ยินชื่อบริษัท ฟิลิป มอริส มากขึ้นทับทวีในบทบาทต่างๆ จงอย่าจดจดชื่อบริษัทนี้ ว่าทำมาค้าขายและเจียดเศษๆ กำไร มาทำกิจกรรมเพื่อสังคมทั่วไป เพราะนั่นคือ “ข้ออ้าง” บังหน้าของธุรกิจค้าความตายระดับโลก

การเมืองบุหรี่ไทยในสายตาเยาวชนอเมริกัน

น.ส.แอนนา ไวท์ จาก Essential action กล่าวว่า ในอเมริกาบริษัทบุหรี่จะไม่ออกมามีบทบาทอย่างเด่นชัด เช่น จัดประกวดภาพวาดอาเซียน แต่บริษัทก็พยายามเป็นเจ้าภาพ หรือสนับสนุนงานแสดงศิลปะ พิพิธภัณฑ์ เเละงานเเสดงต่างๆ เพื่อให้ชื่อของตนเป็นข่าวในสื่อต่างๆ นอกจากนั้นยังพยายามสร้างความสัมพันธ์กับบุคคลที่มีชื่อเสี่ยงเช่นผู้ว่าการัฐนิวยอร์ก สมาชิกรัฐสภา หรือ ส.ส. ในระดับท้องถิ่น เเต่เท่าที่ทราบบริษัทยังไม่สามารถเข้าถึงประธานาธิบดีได้ สำหรับงานศิลปะอาเซียนนั้นเป็นการเข้าถึงผู้นำในระดับภูมิภาคอาเซียน การกระทำดังกล่าวมิได้เป็นเพราะบริษัทฯสนใจเรื่องศิลปะ เเต่เป็นการเอาศิลปะบังหน้า บริษัทฟิลลิป มอร์ริสเน้นสร้างสายสัมพันธ์กับผู้มีชื่อเสียงเเละอิทธิพลเพื่อสร้างภาพพจน์ใหม่ให้กับบริษัทฯว่าเป็นบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อหวังล็อบบี้ให้เปิดช่องทางกฎหมายเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับการค้าของบริษัทฯ

“กีฬาเเละศิลปะยังค้องการการสนับสนุนทางการเงินที่มาจากความบริสุทธิ์ใจมิใช่เอาเศษเงินที่ได้จากการค้าที่ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเสียชีวิตมาสนับสนุนศิลปะเพื่อหวังผลทางการค้า เเละสร้างภาพว่าบริษัทฯมีความห่วงใยเเละรับผิดชอบต่อสังคม หากบริษัทฯมีความจริงใจก็ควรทำในรูปการบริจาคโดยไม่หวังผลตอบแทน เเละให้ประชาชนเป็นผู้กำหนดว่าจะนำเงินนั้นไปใช้เพื่อประโยชน์ใดๆ” น.ส.แอนนา กล่าว

น.ส.แอนนา กล่าวอีกว่า กฎหมายควบคุมบุหรี่ไทยก้าวหน้ากว่ากฎหมายสหรัฐฯมาก สามารถควบคุมเรื่องเขตปลอดบุหรี่ ห้ามโฆษณาบุหรี่ในทุกพื้นที่สื่อ รวมทั้งการมีกฎหมายให้เเสดงภาพคำเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ ขณะที่ในสหรัฐอเมริกายังไม่สามารถดำเนินการได้ ยิ่งเมื่อเปรียบเทียบในประเทศอาเซียนด้วยกันถือว่าประเทศไทยมีกฎหมายที่เข้มงวดกว่าประเทศอย่างสิงค์โปร์ที่ยังไม่มีการวางแผนเเสดงภาพคำเตือนถึงอันตรายของบุหรี่หรือประเทศมาเลเซียที่กฎหมายเพื่อควบคุมบุหรี่ยังไม่เข้มเเข็งเเละมีประสิทธิภาพเพียงพอ

น.ส.แอนนา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ลูกค้าของบริษัทฟิลลิป มอร์ริสในสหรัฐฯลดลงอย่างมาก ดังนั้นบริษัทฯจึงพยายามเปิดตลาดใหม่ในอาเซียนเเละภูมิภาคอื่น โดยเน้นที่ลูกค้ากลุ่มที่ไม่เคยลูบบุหรี่มาก่อนเช่นเด็กเเละเยาวชน รวมทั้งผู้หญิงด้วย ประมาณว่าสองในสามของบุหรี่ที่ฟิลลิป มอร์ริสผลิตนั้นเป็นเพื่อการส่งออก ที่สำคัญ การค้าเสรีจะทำให้ยอดขายบุหรี่ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างฟิลลิปมอร์ริสเพิ่มขึ้นเเน่นอน เนื่องจากมีทุนและงบโฆษณามากมา สามารถเข้ามาขายในไทยได้โดยไม่มีข้อจำกัดทางภาษี ตนเห็นว่าการค้าเสรีควรเป็นการค้าที่ส่งเสริมสุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ไม่ใช่เป็นการเปิดโอกาสขายสินค้าที่นำความตายมาสู่ประชาชนได้ง่ายขึ้น สินค้าอย่างบุหรี่ไม่ควรอยู่ในข้อตกลงการค้าเสรีเหมือนข้าว เพราะข้าวเเละอาหารทำให้ประชาชนกินดีอยู่ดี แต่บุหรี่ทำให้ประชาชนอ่อนแอ

ฐิตินบ โกมลนิมิ รายงาน

จุฑิมาศ สุกใส สัมภาษณ์แอนนาและถือป้ายประท้วง (555)