Skip to main content



น่าแปลกใจนัก เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา นายพินิจ จารุสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธวัช สุนทราจารย์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และนพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และสว.กทม. แถลงข่าวความคืบหน้ามาตรการควบคุมการบริโภคยาสูบของไทย ว่า ได้ลงนามออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 4 ฉบับ โดย 3 ฉบับแรกได้แก่ 1. การบังคับให้บุหรี่ซิกาแรต พิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่ 2. การเพิ่มจำนวนภาพคำเตือน 4 สี พร้อมข้อความแสดงพิษภัยของบุหรี่ จาก 6 ภาพเป็น 9 ภาพในบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ 3. ห้ามพิมพ์สรรพคุณบุหรี่ว่า รสอ่อน รสเบา ในบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550




และสุดท้าย 4. การเพิ่มสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 โดยจะมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 90 วัน หรือประมาณเดือนพฤศจิกายน 2549 นี้




แถลง 4 มาตรการใหญ่ๆ แบบนี้ซึ่งมีผลกระทบกับทั้ง “ผู้ผลิตและนำเข้าบุหรี่” และ “ผู้สูบ” อย่างมาก โดยเฉพาะการห้ามพิมพ์คำว่ารสอ่อน รสเบา หรือไมล์ด (mild) ไลท์ (light) บนซองบุหรี่ เพื่อป้องกันประชาชนเข้าใจผิดว่าบุหรี่มีพิษน้อย ไฉนกลับไม่มีการนำเสนอข่าวผ่านสื่อสาธารณะอย่างครึกโครมดังที่เคยเป็น ยิ่งการตอบสนองทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยก็หายไปอีก “การเมืองของความเงียบ” นี้ส่งสัญญาณอะไรหนอ?


ในรายละเอียดของการแถลงข่าวนั้น ระบุสาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 4 ฉบับมีดังนี้






1. การบังคับให้บุหรี่ซิกาแรต พิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่



กำหนดให้บุหรี่ซิกาแรต ที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย ต้องพิมพ์ฉลากแสดงชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็ง ที่ได้จากการเผาไหม้ของบุหรี่ ที่ข้างซองทั้ง 2 ข้าง ด้วยอักษรไทย พิมพ์หมึกสีดำ บนพื้นสีขาวภายในกรอบดำ มีพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 ของด้านข้างซองหรือด้านข้างภาชนะบรรจุ โดยกำหนดสารพิษ 2 ตัว ได้แก่ คาร์บอนมอนอกไซด์ และไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษเพียง 2 ใน 4,000 กว่าชนิดของสารเคมีที่เป็นส่วนประกอบของบุหรี่ และสารก่อมะเร็ง 3 ตัว ได้แก่ ทาร์ ฟอร์มาดีไฮด์ และไนโตรซามีน ซึ่งเป็น 3 ใน 40 กว่าชนิดของสารก่อมะเร็งที่พบในบุหรี่




ทั้งนี้บุหรี่ 1 มวนจะมีสารทาร์ หรือที่เรียกว่าน้ำมันดินประมาณ 12-24 มิลลิกรัม ซึ่งมีลักษณะเหนียว มีสีน้ำตาลเข้ม ก่อให้เกิดมะเร็งที่อวัยวะต่างๆ เช่น ปอด กล่องเสียง หลอดลม โดยสารทาร์ร้อยละ 50 จะไปจับที่ปอดทำให้ระคายเคืองทางเดินหายใจ เกิดอาการไอเรื้อรัง มีเสมหะ คนที่สูบบุหรี่จัดวันละ 1 ซอง จะทำให้สารทาร์เกาะสะสมวันละ 30 มิลลิกรัม หรือปีละ 110 กรัม สำหรับคาร์บอนมอนอกไซด์เป็นต้นเหตุของโรคหัวใจ ทำให้เม็ดเลือดแดงจับออกซิเจนได้น้อยลง ร่างกายขาดออกซิเจน เกิดอาการมึนงง ส่วนไฮโดรเจนไซยาไนด์ จะทำลายผนังถุงลมในปอดทำให้บางและแตกง่าย จำนวนถุงลมน้อยลง ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนก๊าซของปอด และเกิดโรคถุงลมปอดโป่งพอง




2. การเพิ่มจำนวนภาพคำเตือน 4 สี พร้อมข้อความแสดงพิษภัยของบุหรี่ จาก 6 ภาพเป็น 9 ภาพ ในบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์



ภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ จะใช้บังคับทั้งบุหรี่ซิกาแรตและบุหรี่ซิการ์ ที่ผลิตหรือนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทย เพิ่มจากที่ใช้มาตั้งแต่ พ.ศ. 2547 คือ 6 ภาพ เป็น 9 ภาพ ได้แก่






















โดยกำหนดให้พิมพ์ 4 สี ขนาดกว้าง 5.5 คูณ 4.25 เซนติเมตร ในอัตรา 1 แบบต่อ 5,000 ซอง หรือภาชนะบรรจุ โดยต้องมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50




3. ห้ามพิมพ์สรรพคุณบุหรี่ว่า รสอ่อน รสเบา ในบุหรี่ซิกาแรต บุหรี่ซิการ์ และยาเส้น ซึ่งเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535



เพราะการพิมพ์คำว่ารสอ่อน รสเบา หรือไมล์ด (mild) ไลท์ (light) บนซองบุหรี่ ทำให้นักสูบเข้าใจผิดว่าบุหรี่มีพิษน้อย ความจริงสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย ผลักดันประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2547 สมัยนางสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ถึงขนาดว่ามีการร่างประกาสกระทรวงกันออกมาครั้งหนึ่ง แต่โดยที่สุดก็เก็บเข้าลิ้นชักไป อ่านรายละเอียด โลกนี้ไม่มีบุหรี่รสอ่อน..




มีประเด็นที่ทำให้คิดหนักยิ่งขึ้น เพราะประเด็นนี้บริษัทบุหรี่ถูกรุกหนักมากจากหลายประเทศพร้อมกัน ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม ก่อนบ้านเราแถลงข่าวหนึ่งสัปดาห์ เกลดี เคสเลอร์ ผู้พิพากษาประจำเขต มลรัฐวอซิงตัน เสนอความเห็นกับทางศาลให้บริษัทบุหรี่ ฟิลลิป มอร์ริสยุติการใช้คำว่า "lights" "low tar" เเละ "mild" ซึ่งส่อให้เห็นว่าบุหรี่นั้นเป็นบุหรี่ที่มีอันตรายน้อยกว่าปกติ โดยบราซิลเเละสหภาพยุโรปได้ห้ามการใช้คำอธิบายดังกล่าวบนซองบุหรี่ไปเเล้ว คาดว่าหากความคิดเห็นของผู้พิพากษา เคสเลอร์ ได้รับการบังคับใช้ บริษัทบุหรี่จะต้องลดคำอธิบาย "รสอ่อน" หน้าซองภายในปีหน้า

อย่างไรก็ตาม เเม้สหภาพยุโรปจะห้ามการใช้คำโฆษณาที่สร้างความรู้สึกว่าบุหรี่มีรสอ่อนกว่าปกติ ฟิลลิป มอร์ริสอ้างว่าไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ นักวิจัยชี้ให้เห็นว่าบริษัทบุหรี่หันไปใช้การออกแบบเเละสีสันบนซองบุหรี่ที่สร้างความรู้สึกว่าบุหรี่มีรสอ่อน แทนการใช้คำโฆษณาดังกล่าว รวมทั้งเชื่อว่าบริษัทบุหรี่อาจเลี่ยงไปใช้คำอื่นที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ เช่น คำว่า "smooth" ที่ให้ความหมายว่าเป็นบุหรี่รสอ่อน เช่นเดียวกัน (อ้างจาก www.chutbloc.weblog.in.th)




เพราะมีบทเรียนมาจากต่างประเทศแล้วว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติจะเป็นแกนนำบริษัทบุหรี่ในประเทศนั้นจะดิ้นรนหนีมาตรการเข้มงวดของรัฐและนักต่อต้าน ไปแสวงหาคำพูดหรือสัญลักษณ์ รวมทั้งวิธีการอื่นๆ มุ่งดึงดูดลูกค้าวัยรุ่นเเละสตรี ให้หันมาสูบบุหรี่มากขึ้น เเละทำให้ผู้สูบเชื่อว่าบุหรี่ประเภทนี้มีผลกระทบต่อสุขภาพน้อยกว่าบุหรี่รุ่นปกติ โดยประกาศกระทรวงสาธารณสุขของไทยฉบับนี้ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550




“ความเงียบ” ที่เกิดขึ้นจึงเป็นเรื่องน่าค้นหาว่าจะมีการเคลื่อนไหวใดเกิดขึ้นในเร็ววัน หรือมีคนจงใจให้เรื่อง “เงียบ” และจักเงียบหายไปเหมือนที่เคยเป็นอีก




4.การเพิ่มสถานที่ที่เป็นเขตปลอดบุหรี่เพื่อคุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535



การเพิ่มพื้นที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ ได้ปรับปรุงแก้ไขจากประกาศฯ ฉบับเดิม พ.ศ. 2545 และเพิ่มเติม พ.ศ. 2546 และ พ.ศ. 2548 โดยสถานที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับ 2,000 บาท เจ้าของสถานที่จะถูกปรับ 20,000 บาท ได้แก่


รถโดยสารประจำทาง รถโดยสารรับจ้าง รถรับส่งนักเรียนหรือนิสิตนักศึกษาทุกประเภท รถยนต์ราชการ รถรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่พักผู้โดยสารหรือป้ายรถเมล์ ลิฟต์โดยสาร ตู้โทรศัพท์สาธารณะ สุขา อาคารโรงมหรสพ ห้องสมุด ห้องประชุม อบรมหรือสัมมนา ร้านขายยา คลินิกรักษาทั้งคนและสัตว์ สถานนวดไทยหรือนวดแผนโบราณ กิจการสปาเพื่อสุขภาพ นวดเพื่อสุขภาพหรือนวดเพื่อเสริมสวย สถานบริการอบความร้อน อบไอน้ำหรืออบสมุนไพร สถานที่ออกกำลังกายในร่มยากเว้นสนุกเกอร์หรือบิลเลียต อัฒจันทร์ดูกีฬาหรือการแสดง สนามเด็กเล่น สถานรับเลี้ยงเด็กก่อนวัยเรียน โรงเรียนหรือสถานศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษา ศาสนสถานในบริเวณประกอบศาสนกิจ และบริเวณที่ติดแอร์ ของสถานที่แสดงศิลปะวัฒนธรรม พิพิธภัณฑ์สถานหรือหอศิลป์ ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า




สถานที่แสดงสินค้าหรือนิทรรศการ ร้านตัดผม ร้านตัดเสื้อ สถานเสริมความงาม ร้านคอมพิวเตอร์ อินเตอร์เน็ต ตู้เกมส์ หรือตู้คาราโอเกะ บริเวณโถงพักคอยของโรงแรม รีสอร์ท หอพัก ห้องเช่า อาคารชุด คอนโดมิเนียม คอร์ท หรืออพาร์ทเมนต์ ร้านจำหน่ายอาหาร เครื่องดื่ม หรือสถานที่จัดเลี้ยง ยกเว้นผับ บาร์ หรือ ร้านอาหารที่อยู่ตามสถานบริการต่างๆ ตาม พ.ร.บ.สถานบริการของกระทรวงมหาดไทย




ส่วนที่สาธารณะที่เป็นเขตปลอดบุหรี่ทั้งหมด แต่มีการยกเว้นเฉพาะห้องทำงานส่วนตัว ห้องพักส่วนตัว หรือบริเวณที่จัดเป็นเขตสูบบุหรี่โดยเฉพาะ ได้แก่ สถานที่ราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ สถานที่ทำงานของเอกชนเฉพาะที่มีระบบปรับอากาศ สถานีขนส่งผู้โดยสารทุกประเภท รวมถึงท่าอากาศยาน และท่าเรือโดยสาร สถานีน้ำมันเชื้อเพลิงหรือแก๊สเชื้อเพลิง มหาวิทยาลัย สถาบันศึกษาตั้งแต่ระดับอุดมศึกษาขึ้นไป อุทยานหรือศูนย์การเรียนรู้ สถานฝึกอาชีพ สถานกวดวิชา สถานที่สอนภาษา สอนดนตรี-ขับร้อง สอนการแสดง สอนศิลปะ สอนกีฬา สอนศิลปะการป้องกันตัว ธนาคารหรือสถาบันการเงิน ศาสนสถานนอกเหนือจากบริเวณประกอบศาสนกิจ สถานที่ออกกำลังกายกลางแจ้งหรือสนามกีฬากลางแจ้งหรือสนามกีฬากลางแจ้ง สวนสาธารณะ สวนสัตว์ สวนพฤกษศาสตร์ โรงพยาบาลทั้งรักษาคนและสัตว์




นายพินิจกล่าวว่า สาเหตุที่ต้องออกประกาศกระทรวงเพิ่มดังกล่าว เพื่อต้องการลดนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ให้น้อยลง และป้องกันไม่ให้สุขภาพประชาชนถูกทำลายจากการสูบบุหรี่ ซึ่งกำลังเป็นภัยคุกคามสุขภาพคนทั่วโลก ทำให้เกิดโรคอย่างน้อย 25 โรค ตายปีละ 5 ล้านคน ที่ผ่านมามีคนไทยต้องเสียชีวิตอย่างทุกข์ทรมาน ด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ที่สำคัญคือ โรคมะเร็ง โรคหัวใจ ปีละ 52,000 คน หรือชั่วโมงละ 6 คน และต้องสูญเงินรักษาผู้เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ 3 โรคหลัก ได้แก่ มะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง รวมปีละไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าเงินภาษีที่ได้จากบุหรี่หลายพันล้านบาท ดังนั้นจึงต้องใช้หลายๆ มาตรการเพื่อลดและป้องกันปัญหาดังกล่าว




ถ้าไม่มีการล็อบบี้ให้เรื่องเหล่านี้ต้องชะงักลงกลางคัน




ก็น่าสนใจว่า การเว้นวรรคทางการเมืองของนายพินิจในอนาคต จักสร้างคุณูปการครั้งใหญ่ทิ้งทวนเหมือนกับนายมนตรี พงษ์พานิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเคยทำหรือไม่ ก่อนเสียชีวิตหนึ่งเดือนเขาได้ออกกฎกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ให้ผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ยาสูบประเภทบุหรี่ซิกาแรตหรือบุหรี่ซิการ์แต่ละตราต้องแจ้งรายการส่วนประกอบ ตามมาตร 11 ของพ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ 2535 หลังจากที่มีการเตะถ่วง ล็อบบี้กันนานกว่า 5 ปี




ผลจากเมื่อ 9 ปีที่ผ่านมา ทำให้วันนี้ สามารถออกระเบียบให้พิมพ์ชื่อสารพิษและสารก่อมะเร็งที่อยู่ในควันบุหรี่บนซองบุหรี่นั่นเอง