Skip to main content

ความที่เคยทำงานเกี่ยวกับการสื่อสารสาธารณะเพื่อการเคลื่อนไหวทางวิชาการและสังคม ให้โครงการเด็ก เยาวชน และครอบครัว ของมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติมาก่อน จึงติดเป็นนิสัย หากพบบทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่อง "เด็ก" ในแง่มุมต่างๆ โดยเฉพาะการพยายามสร้างความรู้จากเด็กจะต้องรีบตัดเก็บไว้ก่อน คราวนี้ก็เช่นกัน ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนเรื่องปฏิกริยาต่อรายงาน กอส. เรื่องของกรรมกร และเรื่องเด็กๆ ซึ่งทั้ง 3 ประเด็นนั้น อาจารย์พยายามชี้ให้เห็นถึง "ความเป็นชายขอบ" ของความรู้กับความสัมพันธ์เชิงอำนาจทางโครงสร้างในมิติต่างๆ ทั้งภาษา ครอบครัว สังคม การเมือง และรัฐ แต่ที่ตัดตอนมาเก็บไว้ทีนี้ ขอเน้นไปที่เรื่องเด็กเป็นสำคัญ

..........................................

"เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" แล้วผู้ใหญ่ในวันหน้าจะเป็นอย่างไร ก็เหมือนผู้ใหญ่ในวันนี้ไงครับ

ทุกครั้งที่ใคร-ไม่ว่าในวัฒนธรรมอะไร-บอกว่าเด็กไม่เป็นอย่างนั้น ไม่เป็นอย่างนี้ เขากำลังบอกว่าผู้ใหญ่เป็นอย่างนั้นและเป็นอย่างนี้ทุกทีไป ทั้งนี้เพราะเมื่อเรานิยามคนอื่นว่าอย่างไร เรากำลังนิยามตัวเองว่าเป็นอย่างไรไปพร้อมกัน

ความต่างระหว่างผู้ใหญ่-เด็ก เป็นความคิดสากลเลยก็ว่าได้ นั่นคือปรากฏในทุกวัฒนธรรม จนกระทั่งพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านจากเด็กไปสู่ผู้ใหญ่ (เช่น โกนจุก, เข้าสุหนัด, ไล่เด็กหนุ่มไปใช้ชีวิตร่วมกันนอกหมู่บ้าน, หรือรับปริญญา ฯลฯ) ก็ปรากฏในทุกวัฒนธรรมเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนั้น ผู้ใหญ่ในแต่ละวัฒนธรรมมีมโนภาพเกี่ยวกับตัวเองอย่างไร จึงอาจศึกษาได้จาก "ความเป็นเด็ก" ของวัฒนธรรมนั้นๆ

อันที่จริงบทความนี้ควรจบแค่นี้แหละครับ เพราะพอพูดถึง "ศึกษา" ผมก็ระย่อเสียแล้ว ควรทิ้งไว้ให้คนอื่นเขา "ศึกษา" ต่อเอาเอง แต่ขืนทำอย่างนั้น คุณเสถียร จันทิมาธร อาจบอกว่างั้นคุณไปหาที่เขียนใหม่ตามกระดานข่าวในเว็บไซต์เองแล้วกัน ผมจึงต้องขอพูดต่อถึงแนวทางของการศึกษาหากผมต้องลงมือทำเองไว้นิดหน่อย

ว่ากันตามหลักกว้างๆ ทุกวัฒนธรรมย่อมวาดภาพของเด็กไว้สองด้านใหญ่ๆ คือด้านอำนาจ และด้านศักยภาพ แม้ว่าเป็นสองด้าน แต่ก็สัมพันธ์กันอย่างแยกไม่ออก

ดูเผินๆ เหมือนเด็กทารกมีอำนาจมาก เพราะทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ เด็กยิ่งเล็กก็ยิ่งทำอะไรได้ตามใจชอบมากขึ้นไปใหญ่ จะร้องไห้, ขี้แตกเยี่ยวแตกอย่างไรก็ไม่มีใครว่า แต่ที่จริงแล้วการอนุญาตให้เด็กทำอะไรได้ตามใจชอบนั้น มาจากสมมติฐานที่ว่าเด็กไม่มีอำนาจต่างหาก ในกรณีนี้เป็นความไร้อำนาจทางกายภาพตามธรรมชาติ เช่น พูดไม่ได้ บอกไม่ได้ไปจนถึงอั้นฉี่อั้นอึไม่ได้ ฯลฯ แต่ก็ไม่มีวัฒนธรรมไหนปฏิเสธว่า แล้วสักวันหนึ่งข้างหน้าเขาจะทำได้ คือมีศักยภาพที่จะพัฒนาไปเหมือนผู้ใหญ่ แต่จะหมายถึงผู้ใหญ่คนไหนนี่สิครับที่จะเป็นปัญหาที่แต่ละสังคม และยุคสมัยคิดไม่เหมือนกัน

ไม่แต่เพียงอำนาจทางกายภาพเท่านั้นที่เด็กไม่มี อำนาจทางจิตใจและความคิดก็ไม่มีเหมือนกัน ด้วยเหตุดังนั้น เด็กจึงต้องอยู่ในการกำกับ ควบคุมของผู้ใหญ่ ทั้งทางกาย, ใจ และแม้กระทั่งความคิด เพื่อพัฒนาศักยภาพในตัวเขาให้ค่อยๆ โตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ "ความเป็นผู้ใหญ่" ตามความคิดของผู้ใหญ่จึงถูกปลูกฝังลงในเด็ก ด้วยเหตุดังนั้น ผมจึงบอกว่า "ความเป็นผู้ใหญ่" หรือตัวตนในความคิดของผู้ใหญ่ในแต่ละวัฒนธรรมนั้นสะท้อนออกมาในการเลี้ยงเด็ก

ในสองวัฒนธรรมที่ผมมีประสบการณ์อยู่บ้าง (ผมไม่กล้าพูดว่ามีความรู้-เพราะไม่เคยพยายามทำให้ประสบการณ์นั้นกลายเป็นความรู้) คือฝรั่งและไทย ผมคิดว่าความแตกต่างในการเลี้ยงเด็กระหว่างสองวัฒนธรรมอยู่ตรงนี้แหละครับ คือไม่ใช่เพราะฝรั่งและไทยมองเด็กต่างกัน แต่เพราะฝรั่งและไทยมองผู้ใหญ่ต่างกันต่างหาก

สรุปประสบการณ์ที่ไม่เคยถูกพัฒนาขึ้นมาเป็นความรู้ของผมก็คือ ไทยมีแบบแผนค่อนข้างตายตัวว่า ผู้ใหญ่ซึ่งเด็กมีศักยภาพจะเป็นได้นั้นคืออะไร เป็นผู้ใหญ่ที่เป็นหญิงต้องเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ที่เป็นชายต้องเป็นอย่างไร ผู้ใหญ่ที่เป็นหมอ, เป็นครู, เป็นซีอีโอ, เป็นชาวนา, เป็นกรรมกร, เป็นหัวขโมย ฯลฯ ควรเป็นอย่างไร

แบบแผนความเป็นผู้ใหญ่ของฝรั่งไม่ตายตัวเท่าไทย พูดให้สุดโต่งก็คือ เด็กมีศักยภาพจะเป็นผู้ใหญ่ได้หลายแบบมาก และด้วยเหตุดังนั้น ฝรั่งจึงปล่อยให้เด็กโตไปได้หลายทาง ทะลึ่งบ้างก็ไม่เป็นไร เพราะผู้ใหญ่ทะลึ่งแล้วได้ดีก็แยะ ดื้อบ้าง รั้นบ้าง ซนบ้าง ล้วนเป็นศักยภาพที่อาจนำไปสู่อะไรที่ดีๆ ได้ทั้งนั้น แล้ววันหนึ่งตัวเด็ก สมองเด็ก และจิตใจเด็กก็จะโตขึ้น จนกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือนใคร นอกจากเหมือนตัวเขาเอง

ผมเข้าใจว่าฝรั่งไม่ได้คิดอย่างนี้มาแต่เดิมนะครับ ฝรั่งก็เคยมีแบบแผนตายตัวของความเป็นผู้ใหญ่เหมือนกัน จนเมื่อสังคมฝรั่งเปลี่ยนไปเป็นสังคมปัจเจกมากขึ้น ใจฝรั่งจึงมองความแตกต่างระหว่างคนเป็นเรื่องปรกติธรรมดา แม้จะเห็นว่าหมอนี่บ๊องๆ ก็ดูน่ารักดี (คือไม่ใช่ต้อง "เซอร์" เพราะใครๆ เขาก็ "เซอร์" กันนี่ครับ)

ความรู้ทางสรีรวิทยา, ชีววิทยา, จิตวิทยา และวิทยาอื่นๆ ยิ่งเสริมความคิดใหม่ของฝรั่งให้มีรากฐานทางวิชาการแข็งขึ้น เช่น ความรู้ว่าความเป็นไปได้ที่มนุษย์คนหนึ่งซึ่งเกิดจากการผสมกันของพ่อแม่นั้น จะมีลักษณะเฉพาะของตนเองได้เป็นล้านๆ อย่าง ทั้งจากปัจจัยทางธรรมชาติ และวัฒนธรรม ก็ยิ่งทำให้การบีบบังคับให้เด็กเป็นอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งดูไร้เหตุผลไปจนหมด (ผมไม่ทราบหรอกครับว่า เพราะฝรั่งคิดเชิงปัจเจกก่อน ความรู้ที่แสวงหามาได้จึงออกมาเป็นอย่างนี้ หรือเพราะความรู้ที่แสวงหามาได้ตรงกับความจริงตามธรรมชาติ)

ฉะนั้น เราจึงอาจกล่าวได้ว่า วัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กของฝรั่งนั้นที่จริงไม่ใช่ของฝรั่ง แต่เป็นของสังคมปัจเจกต่างหากก็ได้ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อเป็นวัฒนธรรม มันก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยหรือตามเงื่อนไขทางเศรษฐกิจสังคมที่อยู่ในสมัยนั้นๆ

แต่อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า หากสังคมใดเปลี่ยนเป็นสังคมปัจเจกแล้ว วัฒนธรรมการเลี้ยงเด็กก็จะเปลี่ยนไปเหมือนฝรั่งเอง เพราะมนุษย์ไม่เคยตัวเปล่าเล่าเปลือยอย่างนั้น แต่ทุกคนเผชิญสังคมที่เปลี่ยนเป็นสังคมปัจเจกโดยมีฐานของวัฒนธรรมเดิมติดตัวอยู่ทั้งนั้น ในขณะเดียวกันความเป็นสังคมปัจเจกก็ไม่ใช่มีรูปแบบเดียว สังคมปัจเจกในแต่ละแห่งแต่ละสมัย ยังมีลักษณะเฉพาะที่ทำให้แตกต่างกันอย่างมากด้วย

คนไทยที่เป็นคนชั้นกลางในเมืองตกอยู่ในความสัมพันธ์เชิงปัจเจก หรือสังคมปัจเจกมากขึ้น จนบางกลุ่มบางเหล่าแทบจะไม่ต่างจากนิวยอร์ก แต่คนไทยก็ยังไม่ได้เลี้ยงลูกเหมือนฝรั่งอยู่ดี เพราะส่วนหนึ่งในชีวิตของผู้ใหญ่ยังต้องไปสัมพันธ์กับบุคคลและโครงสร้างที่ความลดหลั่นกันทางสถานภาพมีความสำคัญยิ่ง แม้แต่คำว่า "ผู้ใหญ่" ในภาษาไทยยังมีสองความหมาย คือคนที่โตแล้ว กับคนที่โตแล้วในโครงสร้างทางอำนาจหนึ่งๆ เราจึงสามารถตักเตือนใครๆ ก็ได้ ไม่ว่าจะมีอายุสักเท่าไรว่า "ต้องรู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่"

เราจึงพัฒนาศักยภาพของเด็กในขอบเขตจำกัดว่า เขาควรโตไปอย่างไรในสถานภาพที่เขาจะดำรงอยู่หรือเราอยากให้เขาดำรงอยู่ เด็กที่ชอบกีตาร์มากกว่าคำนวณ จึงเป็นที่น่าวิตกห่วงไยแก่พ่อแม่ที่เป็นคนชั้นกลางมาก

อิทธิพลของสังคมปัจเจกขยายไปทั่วโลก ผ่านระบบการศึกษา (ที่จริงคือระบบความรู้), สื่อ, การค้าระหว่างประเทศ, ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ฯลฯ ไปจนถึงทุกซอกทุกมุมก่อให้เกิดความไม่ลงรอยกันในเรื่องของเด็ก-ผู้ใหญ่เหมือนกันไปหมด เพราะเด็กถูกเลี้ยงมาเพื่อเป็นผู้ใหญ่ในสังคมอย่างหนึ่ง แต่กลับต้องมาเผชิญกับสังคมอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะปัจเจกมากขึ้น กลายเป็นความตึงเครียดระหว่างวัย

ผมมีความประทับใจว่า คนในเอเชียทุกสังคม นอกจากมีปัญหาความตึงเครียดระหว่างวัยมากแล้ว ยังมีความวิตกว่าเด็กกำลังจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่ไม่เหมือนผู้ใหญ่ตามที่ตัวคิดว่าควรจะเป็นอีกด้วย

คนญี่ปุ่นบ่นว่า สังคมญี่ปุ่นจะอยู่ได้อย่างไรในอนาคตเมื่อเด็กๆ เหล่านี้กลายเป็นผู้ใหญ่และพนักงานของบริษัทเหมือนผู้ใหญ่ในทุกวันนี้แล้ว เพราะเขาคิดถึงแต่ตัวเอง ไม่เคยคิดถึง "ส่วนรวม" (ไม่ว่าจะหมายถึงบริษัทหรือชาติ) เลย คนจีนก็บ่น, คนไทยก็บ่น, คนมาเลเซียก็บ่น, ฯลฯ ทำนองเดียวกัน เมื่อเร็วๆ นี้ผมอ่านหนังสือเกี่ยวกับประเทศภูฐาน ยังพบด้วยความประหลาดใจว่าคนภูฐานก็วิตกห่วงไยทำนองเดียวกันทั้งๆ ที่สังคมภูฐานได้ชื่อว่าพยายามรักษาสังคมดั้งเดิมไว้มากที่สุดอยู่แล้ว

พูดง่ายๆ คือ ในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง ย่อมมีความขัดแย้งด้านอุดมคติของความเป็นมนุษย์ (หรือพูดให้ขลังกว่านี้คือความขัดแย้งทางศีลธรรม) สูง ซึ่งสะท้อนออกมาในด้านการเลี้ยงเด็ก ซึ่งก็คือทัศนะว่าผู้ใหญ่หรือคนย่อมเป็นอย่างไรนั่นเอง
ผมเริ่มเรื่องไว้อย่างหนึ่ง แล้วมาลงเอยอย่างนี้ได้ไงไม่ทราบ

จากบทความเรื่อง ปฏิกริยาต่อรายงาน กอส. เรื่องของกรรมกร และเรื่องเด็กๆ

ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์, วันที่ 16 มิถุนายน 2549
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน