Skip to main content

แม่เป็นเหมือนนาฬิกาชีวิตที่คอยกระตุ้นบอกเวลาที่ร่างกายต้องกายอาหารสิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา ที่ซับซ้อนกว่านั้น แม่เป็นเหมือนผู้ฝึกวินัยให้ลูกกินข้าวตรงมื้อ ตรงเวลา และรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ซึ่งซึมฝังในตัวลูกอย่างไม่รู้ตัว

รู้ไหม?” เหตุผลที่ฉันชอบกลับมากกินข้าวที่บ้านอย่างหนึ่งก็เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ฉันได้คุยกับแม่ คุยกับน้อง และคนในบ้านเรื่องแล้วเรื่องเล่า ในวันหนึ่งๆ แต่ละคนได้เจออะไรมาก็จะมาถ่ายทอดและวิเคราะห์กันอย่างสนุกสนานกันกลางวงข้าวนี่แหละ

ฉันเฝ้ามองการ "ปรุงอาหาร" ของแม่อย่างสงสัย ทั้งในยามที่ทำกับข้าวในบ้าน และในยามที่ทำข้าวแกงออกขาย เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัวอะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้อาหารของแม่เป็นที่ต้องการของลูกๆของคนในครอบครัว รวมทั้งลูกค้า และผู้คนที่รู้จักเคยลิ้มลองรสอาหารจากฝีมือแม่

และความสงสัยนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามและสำรวจอย่างจริงจัง ว่าอาหารมีอิทธิพล บทบาท พฤติกรรม และการแสดงออก (performance) อย่างไร จึงมีอำนาจเข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้คนต่างๆได้อย่างมากมาย และท้ายที่สุดการปรุงอาหารเป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีอำนาจใช่หรือไม่

...................................................................

หมายเหตุ

บทความนี้เขียนในวิชา Woman and Performance ในหลักสูตรปริญญาโท สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สอนโดย ดร.นฤมล ศรียานนท์ จากมหาวิทยาลัยนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา เมื่อภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2545

แต่กว่าจะเปิดการเรียนสอนวิชานี้ได้ มีอุปสรรคมากมาย โดยมีอาจารย์ผู้ใหญ่คนหนึ่งในหลักสูตรปล่อยข่าวที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจผิดเกี่ยวกับวิชาและผู้สอนวิชานี้อย่างร้ายแรง จนไม่มีนักศึกษาทั้งรุ่นหนึ่งและสองกล้าลงทะเบียนเรียน ทำให้มีนักศึกษารุ่นแรกที่ลงทะเบียนเรียนเพียงแค่ 3 คน คือ ฐิตินบ โกมลนิมิ ธนัย เจริญกุล และอุรุษยา ผู้พัฒน์ เท่านั้น

เมื่อนักศึกษางทะเบียนเรียนไม่ครบ 8 คน ก็ไม่ถึง "จุดคุ้มทุน" ที่ถูกกำหนดไว้ ผู้บริหารหลักสูตรก็จะไม่อนุมัติให้เปิดสอนวิชานี้ แต่ดร.นฤมล ได้บินมาจากนิวยอร์คถึงประเทศไทยแล้ว และท่านได้เตรียมการสอน พร้อมกับขนตำราจากต่างประเทศมามากมาย กระนั้นท่านทราบเหตุขัดข้องก็ขอสอนโดยไม่ขอรับค่าตอบแทน อีกทั้งยังได้ผลิตเอกสารการสอนด้วยตัวท่านเอง โดยไม่ขอรับเงินจากหลักสูตรสักบาทเดียว วิชานี้จึงได้เปิดสอนเป็นครั้งแรกและครั้งสุดท้ายในคราวเดียวกัน ขณะเดียวกันก็มีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จุฬาลงกรณ์ ฯลฯ มาร่วม sit in ด้วย โดยที่สุดมีผู้เรียนวิชานี้ทั้งสิ้น 10 คนโดยประมาณ

จึงขอขอบพระคุณ ดร.นฤมล ศรียานนท์ ผู้ประสิทธิประสาทความรู้ด้านสตรีนิยมที่เข้มแข็งอีกท่านหนึ่งไว้ ณ ที่นี้

"อาหาร" การปรุงอำนาจของผู้หญิง

ฐิตินบ โกมลนิมิ

1…

“ฮื้อ...กลิ่นปลาเค็ม หอมจัง” คนอื่นอาจจะมีเสียงนาฬิกาปลุก เสียงคนปลุก หรือเสียงไก่ขัน ช่วยให้ตื่นตอนเช้า แต่สำหรับฉัน มี ”กลิ่น” ของอาหารเป็นแรงกระตุ้นให้ตื่นแต่ละวัน

แจง แจง ตื่นได้แล้วลูก กินข้าวได้แล้ว”

เสียงแม่ตะโกนปลุกแต่เช้าซ้ำอีก เป็นประจำทุกวันหยุด ที่ฉันไม่ได้ไปทำงาน และแม่กับน้องก็ไม่ได้ออกไปขายข้างแกง อันเป็นอาชีพหลักของครอบครัวเรา

“รีบไปอาบน้ำ แล้วมากินข้าว แม่ตั้งข้าวต้มไว้ เดี๋ยวเย็นหมด”

เป็นวิธีที่แม่พยายามแซะฉันกับน้องให้ลุกจากที่นอนเร็วๆ เพราะพวกเรารู้กันดี คำว่า “เดี๋ยวเย็นหมด” ของแม่ หมายความว่าแม่ตั้งข้าวต้ม แล้วเราไม่รีบจัดการตัวเอง เพื่อไปกินข้าวให้ทันก่อนที่ข้าวต้มจะหายร้อน รับรองว่ามื้อนั้นจะต้องฟังเสียงแม่บ่นถึงคุณสมบัติของลูกผู้หญิงที่ควรจะเป็นต่ออีกนานแน่

ฉันสังเกตเห็นว่าระหว่างมื้ออาหาร แม่จะ "แบ่ง" หน้าที่ให้ลูกๆแต่ละคน คนหนึ่งคอยจัดวงข้าว (ที่บ้านจะปูกระดาษหนังสือพิมพ์ล้อมวงกินข้าว แล้วแต่วันไหนอยากจะกินในครัว ที่ชานบ้าน หรือที่ลูกๆตกลงกันว่ากินตรงนั้น เช่น หน้าโทรทัศน์ในห้องนอนของแม่ก็ยังเคยถูกใช้เป็นที่ล้อมวงกินข้าวอยู่เป็นประจำ) หยิบจานช้อนส้อมมาวางให้ครบคน แก้วน้ำ ขวดน้ำดื่ม ถ้าลูกคนไหนช้าไม่ทันช่วยหยิบจับตั้งแต่ต้น ก็เป็นที่รู้กันว่าต้อง "เก็บ" วงข้าวอาจรวมไปถึงต้องล้างจานด้วย

หลังจากกินข้าว ทั้งแม่และเราจะแยกย้ายกันไปทำกิจกรรมของตัวเอง พอใกล้เที่ยง แม่จะลงมือ "ปรุง" มื้อกลางวัน ถ้าเป็นวันหยุดที่ลูกๆ อยู่บ้านพร้อมกัน แม่มักถามเสมอว่าใครอยากกินอะไร จากนั้นก็สำรวจตู้เย็นว่ามีของสดอะไรบ้าง แต่ส่วนใหญ่แม่มักทำเป็นอาหารจานเดียว เช่น ข้าวผัด ก๋วยเตี๋ยวผัดซีอิ้ว ราดหน้าเนื้อสับ/หมูสับ ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวอี๋ ขนมผักกาด ฯ มื้อนี้พวกเราจะสนุกสนานกันมากที่ได้ออกแบบอาหารของใครของมัน โดยมีแม่ "เนรมิต" ให้ และทุกมื้อเชียว กินมื้อกลางวันยังไม่ทันหมดจาน แม่มักจะถามว่า "ตอนเย็นจะกินอะไรกัน?" จำได้ว่าตอนเด็กๆ ฉันกับแม่และน้องจะแย่งกันบอกรายการอาหารเสียงดังแข่งกัน แต่แม่ก็จะตัดสินจากของสดในตู้เย็นเช่นเดิม

สรุปแล้ว แม่เป็นเหมือนนาฬิกาชีวิตที่คอยกระตุ้นบอกเวลาที่ร่างกายต้องกาย “อาหาร” สิ่งจำเป็นในชีวิตของเรา ที่ซับซ้อนกว่านั้น แม่เป็นเหมือนผู้ฝึกวินัยให้ลูกกินข้าวตรงมื้อ ตรงเวลา และรู้จักรับผิดชอบในหน้าที่ของตน ซึ่งซึมฝังในตัวลูกอย่างไม่รู้ตัว

“รู้ไหม?” เหตุผลที่ฉันชอบกลับมากกินข้าวที่บ้านอย่างหนึ่ง “ก็เพราะมันเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ฉันได้คุยกับแม่ คุยกับน้อง และคนในบ้านเรื่องแล้วเรื่องเล่า ในวันหนึ่งๆ แต่ละคนได้เจออะไรมาก็จะมาถ่ายทอดและวิเคราะห์กันอย่างสนุกสนานกันกลางวงข้าวนี่แหละ”

ฉันเฝ้ามองการ "ปรุงอาหาร" ของแม่อย่างสงสัย ทั้งในยามที่ทำ “กับข้าว” ในบ้าน และในยามที่ทำ “ข้าวแกง” ออกขาย เพื่อเป็นรายได้ของครอบครัว “อะไรคือเสน่ห์ที่ทำให้อาหารของแม่เป็นที่ต้องการของลูกๆของคนในครอบครัว รวมทั้งลูกค้า และผู้คนที่รู้จักเคยลิ้มลองรสอาหารจากฝีมือแม่”

“แม่” เป็นแม่ค้าขายข้าวแกงแผงลอย ในชุมชนวัดราชาธิวาส มานานเท่ากับอายุลูกชายคนโดย ทุกวันนี้แม่จะตื่นแต่เช้า ปลุกน้องคนเล็กและลูกเขยคนเดียวของแม่รีบไปเปิดร้านที่ตั้งอยู่ริมถนน ใกล้ปากซอยวัดราชาธิราช น้องคนเล็กจะรีบตั้งร้าน ขณะที่แม่จะรีบจัดพื้นที่ครัวซึ่งอยู่ท้ายร้านให้เข้าที่โดยเร็วเพื่อจะได้หยิบจับเครื่องปรุง และภาชนะต่างๆ ได้อย่างเคยมือ จากนั้นแม่ก็จะเริ่มต้น “หุง” ข้าวแบบเช็ดน้ำเพราะเป็นแผงลอยริมถนน เจ้าของร้านที่แม่เช่าทำเลขายอาหารไม่ได้ต่อไฟฟ้าไว้ให้ใช้ หม้อข้าวยังไม่ทันเดือดดี แม่ก็หยิบของสดที่ “หั่น” “ซอย” เตรียมไว้ตั้งแต่เมื่อวานเย็น ทยอยออกมาปรุง “แกง” “ทอด” “ผัด” และ “ย่าง” ตามที่เตรียมรายการอาหารไว้อย่างน้อยวันละ 18 – 20 อย่าง

ระหว่างที่แม่กำลังสาละวนทำอาหารอย่างเร่งรีบหลังร้าน จอม น้องคนเล็กเจียดเวลาจัดชุดใส่บาตร ซึ่งประกอบด้วยข้าวสวยหนึ่งถุง แกงและผัดอย่างละถุง และยังมีขนมหวานที่แม่ทำวันละอย่างใส่ถุง ครบสำรับคาวหวาน พร้อมทั้งถ้วยน้ำสำเร็จรูปใส่จานข้าวอย่างเรียบร้อยวางใกล้มือแม่ ไม่นานนักเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ซึ่งรับบาตรจากคนอื่นที่ริมถนนเสร็จแล้วก็ดินเลี้ยวมารับบาตรจากแม่ที่ท้ายร้าน เรียกว่าในครัวก็คงได้ แม่ก็รีบ "จรด" จาน คือยกชุดใส่บาตรที่จัดเตรียมไว้ระหว่างกำท่าเหมือนสวดมนตร์ ถอดรองเท้า นั่งยองๆ ทำปากมุบมิบ ท่องคาถาที่แม่คุ้นชินเสร็จแล้วก็ลุกขึ้น ใส่อาหารทีละอย่างลงในบาตรพระจนครบ แม่ก็ถอยลงมานั่งยองๆให้พระท่านให้ศีลให้พรก่อนที่ท่านจะเดินกลับวัด

แม่ใส่บาตรกับพระผู้ใหญ่ที่วัดนี้จนทุกคนคุ้นชินกันดีหลายครั้งที่พระในวัดอาพาธไม่สามารถออกมาบิณฑบาตได้ ท่านก็ให้ลูกศิษย์วัดมาบอกแม่เพื่อหาของถวายเพล หรือวันที่เป็นวันพิเศษของครอบครัว เช่น วันเกิดแม่หรือลูกๆ วันครบรอบวันตายของคนในครอบครัว แม่จะใส่บาตรเพิ่มเป็น 3 องค์บ้าง 9 องค์บ้างตามจำนวนที่ถือเป็นมงคลของชาวพุทธ เพื่อทำบุญและเป็นสิริมงคลแก่คนในครอบครัว หรือหากมีเวลา ตรงกับวันหยุดที่ไม่ได้ขายของ แม่ก็จะจัดอาหารเป็นชุดพิเศษที่มากกว่าวันใส่บาตรปกติไปถวายเพลพระท่านที่กุฏิ

แม่ไม่ได้ทำข้าวแกงขายวันต่อวันเท่านั้น ในบางวันก็มีคนมาว่าจ้างให้ทำอาหาร “จัดเลี้ยง”ทั้งงานที่เป็นทางการ เช่น อาหารเลี้ยงงานสัมมนาหรืองานประชุม และงานที่ไม่เป็นทางการ อาทิเช่น งานรื่นเริง งานกีฬา ฯ ชนิดของอาหาร รูปแบบการทำและ “จัดแต่ง” อาหารของแม่ก็จะเปลี่ยนไปตามความต้องการของลูกค้า

ช่วงสาย หลังจากที่แม่ขายของเสร็จ แม่จะจดกับข้าวให้น้องสาวไปจ่ายตลาดเพื่อเตรียมของวันรุ่งขึ้น พร้อมกับซื้อของสดเพื่อทำอาหารมื้อกลางวันและเย็นกินกันเองในบ้านด้วย บางทีก็นึกขันในใจอยู่เหมือนกัน น้องสาวเคยเล่าให้ฟังว่า บางวันที่กลับจากตลาดกำลังเดินเข้าบ้าน คนในซอยชอบแซว

“วันนี้ที่บ้านทำอะไรกินตอนเย็น?”

“วันนี้ตอนเย็นที่บ้านทำอะไรกินกัน แบ่งบ้างซิ” หรืออะไรทำนองนี้อยู่บ่อยๆ บางวันที่แม่ทอดปลาเค็มแล้วกลิ่มหอมฟุ้งข้ามไปอีกหลายบ้าน หรือตอนที่ผัดพริก ผัดเผ็ด หรืออาหารที่มีกลิ่นฉุนๆลอยไปบ้านอื่น ก็มักได้ยินเสียงข้างบ้านแซวเป็นประจำ

“หอมจัง ทำอะไรกินน่ะ กินด้วยซิ”

ถ้าโดนมุขแบบนี้ แม่ชอบแกล้งที่จะ “เคาะ” กระทะเสียงดังๆแล้วตะโกนถาม

“เอาจริงหรือเปล่า เดี๋ยวตักไปให้” ซึ่งบางครั้งที่แม่ทำเผื่อไว้สำหรับกินหลายมื้อก็จะแบ่งไปบ้านข้างๆ ที่เป็นญาติกัน แต่ถ้าวันไหนที่แม่ทำน้อย เพราะทำกินกันเองในบ้าน แม่จะรีบๆผัดแล้วเงียบเสียง ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ก็มี

แล้วจะไม่ให้ฉันสงสัยใน “เสน่ห์” ของอาหารที่แม่ปรุงจนกลายเป็นศูนย์กลางของกิจกรรมต่างๆที่สามารถเชื่อมโยงทั้งผู้คนในบ้าน นอกบ้าน และในชุมชนวัดราชาธิวาสได้อย่างไร และความสงสัยนี้เองเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามและสำรวจอย่างจริงจัง ว่า “อาหาร” มีอิทธิพล บทบาท พฤติกรรม และการแสดงออก (performance) อย่างไร จึงมี “อำนาจ” เข้าไปเกี่ยวข้องกับผู้คนต่างๆได้อย่างมากมาย และท้ายที่สุดการ “ปรุงอาหาร” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ส่งเสริมให้ผู้หญิงมีอำนาจใช่หรือไม่

2. “ครัว” พื้นที่อำนาจของผู้หญิง

ชีวิตประจำวันของแม่ ต้องทำอาหาร 2 พื้นที่ คือ “ครัวในบ้าน” ที่ถูกให้ความจำจัดความเป็น “พื้นที่ส่วนตัว” ของผู้หญิง และ “ครัวท้ายร้าน” หลังแผงลอยร้านข้าวแกง ที่ต้องเรียกเป็น “พื้นที่สาธารณะ” พร้อมให้ลูกค้าและสังคมเข้าตรวจสอบกระบวนวิธีการ “ปรุง” และการประกอบกิจกรรมต่างๆ เส้นแบ่งที่ชัดเจนของพื้นที่ทั้งสองนั้นอยู่ที่ “รายได้” เพราะการทำอาหารให้สมาชิกในบ้านอิ่ม อร่อย ขจัดความหิว รวมทั้งงานต่างๆ ที่แม่ทำในบ้านเป็นงานที่ไม่สามารถสร้างรายได้ให้เข้าครอบครัว ในเชิงเศรษฐศาสตร์จึงไม่เคยให้คุณค่ากับงานในพื้นที่ส่วนตัวของผู้หญิง ในบริบทนี้คุณสมบัติลูกผู้หญิงอย่างแม่จะมีค่าได้ก็ต่อเมื่อออกสู่สาธารณะนำอาหารแลกกับเงินตราสร้างรายได้ กลายเป็น “อาชีพ” จึงจะมีคุณค่าทางเศรษฐกิจ ฉะนั้นหากนำมุมเศรษฐศาสตร์อย่างเดียวเข้ามาจับ จะทำให้คุณค่า “พื้นที่” ของผู้หญิงคับแคบมาก

เพราะแท้จริงแล้ว “ครัว” ในบ้านไม่ได้มีความสำคัญและมีความหมายแค่สถานที่หุงหาอาหารให้สมาชิกในครอบครัวขจัดความหิวเท่านั้น แต่ครัวมีบทบาทเป็นพื้นฐานของสถาบันครอบครัว เป็นเครื่องแสดงออกซึ่งฐานะและความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย และส่งอิทธิพลต่อความเป็นไปโดยรวมของสังคม

การรับความเชื่อต่อๆกันว่าผู้หญิงคือชายที่ไม่สมบูรณ์ และคำอธิบายแบบชีววิทยาว่าผู้หญิงอ่อนแอกว่าและเป็นแหล่งผลิตชีวิตมนุษย์ จึงทำให้ผู้ชายเท่านั้นที่สามารถสำเริงอยู่นอกบ้านทำทุกสิ่งได้และต้อนผู้หญิงให้อยู่ในบ้าน อันเป็นรากฐานแนวคิดของความไม่เท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายขึ้นมา แต่ปรากฏว่าทุกสังคมผู้หญิงกลับใช้โอกาสที่ใกล้ชิดกับธรรมชาตินั้นบ่มเพาะตนเองและเลี้ยงเด็กในครอบครัว เกิดเป็นอำนาจที่พวกเธอเองไม่ได้ตระหนัก รวมทั้งการที่ผู้หญิงต้องทำวัตถุดิบให้สุกเพื่อเป็นอาหารนั้น ผู้หญิงได้ใช้พื้นที่ส่วนนี้เองแปรธรรมชาติสร้างเป็นวัฒนธรรมและความรู้ขึ้นมา และกลายเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นนั้น(๑)

และถ้าคิดตาม เพ็ญศรี กวีวงศ์ประเสริฐ ที่พยายามชี้ให้เห็นความสำคัญของครัวเพิ่มขึ้น โดยให้สังเกตจากคำประสมหลายๆ คำซึ่งมี “ครัว” เป็นคำหลัก เช่น ครอบครัว ครัวเรือน เทครัว ตีท้ายครัว ฯ และหยิบคำของพระยาอนุมานราชธนอธิบายคำข้างต้น ว่าความที่ครัวประกอบด้วยปัจจัยและกำลังคน ครัวจึงมีความสำคัญในการเพาะปลูก การขายที่ดินทำกิน และการสร้างบ้านแปลงเมือง บ่อยครั้งที่ความขัดแย้งระหว่างชนชาติขยายตัวกลายเป็นสงคราม มีเป้าหมายหลักที่การกวาดต้อนไพร่พลหรือกำลังคนมากกว่าสิ่งอื่นใด และเพื่อให้ผู้คนยังชีพอยู่รอดได้ ก็ต้องยึดข้าวของเครื่องใช้ไม้สอยที่รวมเรียกว่า “ครัว” มาด้วยอย่างเลี่ยงไม่ได้ จึงเกิดศัพท์ว่า “กวาดต้อนเทครัว” ภายหลังคำว่า “เทครัว” ได้ขยายความสู่ความหมายการได้หญิงมาเป็นภรรยาด้วย(๒) บทบาทของผู้หญิงในครัวก็เปลี่ยนไปตามบริบทด้วย กลายเป็นสื่อกลางของผู้ครอบครองอำนาจใหม่และผู้เสียอำนาจ

เมื่อครอบครัวถูกต้อนหรือเทไปเสียแล้ว “การเทครัว” จึงเป็นการเปลี่ยนศูนย์กลางอำนาจทั้งในระดับ “บ้าน” และ “เมือง” ไปโดยปริยาย และเมื่อคำ “เทครัว” กินความหมายการครอบครองเบ็ดเสร็จตามที่ว่า ต่อมาจึงมีการเรียกชายที่มีภรรยามากกว่าหนึ่ง ที่เป็นพี่น้องกัน หรือกระทั่งแม่ยายด้วย ในกรณีที่พ่อตาเสียชีวิตไปแล้วว่า “พระยาเทครัว” ส่วนคำว่า “ครอบครัว” ก็น่าจะหมายถึงการเข้าครอบครอง “ครัว” นั่นเอง

ทั้งนี้เพ็ญศรี ให้ความหมายของครัวกว้างขึ้น โดยหมายถึง “คนที่บ้าน” ซึ่งได้แก่ ภรรยาเป็นหลักและมีลูกๆเป็นส่วนประกอบ ดังนั้นคำว่า “ท้ายครัว” หรือ “หลังบ้าน” จึงหมายถึงภรรยา “ตีท้ายครัว” จึงหมายถึงการแอบเป็นชู้ กับภรรยาของผู้อื่น และ “เข้าทางหลังบ้าน” คือ การเข้าหาภรรยาของเจ้านายเพื่อติดสินบนอะไรบางอย่าง

ยิ่งเพ็ญศรี เปรียบเทียบ คำว่า “บ้าน” “เรือน” และ “ครัว” ก็ให้เห็นความแตกต่างของคำเหล่านั้นมากขึ้น เพ็ญศรี บอกว่าความคิดของคนทั่วไป “บ้าน” มีวิญญาณเพราะมีพ่อ แม่ มีพี่น้องอาศัยอยู่ร่วมกับเรา ขณะที่ “เรือน” มีกชวนให้คิดถึงเพียงอาคารหรือสิ่งปลุกสร้างมากกว่าองค์ประกอบที่มีชีวิตภายใต้คำว่า “บ้าน” จึงสื่อถึงเคหะสถานที่มีผู้คนซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดแนบแน่นอาศัยอยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขกัน หากคนในสถานที่นั้นอยู่กินแบบไร้พันธะผูกพันทางจิตใจแล้วก็ไม่อาจเรียกว่า “บ้าน” ได้เป็นแต่เพียง “ที่พักอาศัย” ที่มีชื่อเรียกต่างกันไป แต่องค์ประกอบที่บ้านขาดไม่ได้เลยก็คือ “ครัว” อันเป็นหัวใจของครอบครัว หน้าที่พื้นฐานของครอบครัวคือ หุงหาอาหารให้สมาชิกภายในบ้านได้ดื่มกิน การหุงหาและดื่มกินร่วมกันมีคุณค่ามากกว่าเพียงขจัดความหิว คุณประโยชน์สำคัญยิ่งกว่า อยู่ที่ผลต่อการกระชับความสัมพันธ์และอารมณ์ผูกพันระหว่างสามีภรรยา ระหว่างพ่อแม่ลูก ระหว่างพี่น้องนั่นเอง

นอกจากนี้ ชาตรี ลีศิริวิทย์ ช่วยชี้ให้เห็น “อำนาจ” ที่อยู่ในครัวเพิ่มขึ้น โดยยกความเชื่อของสังคมเก่าที่ปรากฏในตำราดูตำแหน่งบ้านหรือฮวงจุ้ย ระบุว่าพื้นที่ของ “ครัว” เป็นตำแหน่งสำคัญแห่งหนึ่งของตัวบ้าน กล่าวคือเป็นแหล่งที่สะสม “พลัง” ไว้มากที่สุด พื้นที่นี้จึงไม่มีทางเชื่อมต่อโดยตรงกับประตูทางออกของบ้าน เพื่อกันไม่ให้พลังที่มีอยู่ไหลออกไป ครัวจึงเป็นพื้นที่ทำอาหารซึ่งจะกลายมาเป็นเชื้อเพลิงสร้างพลังขับเคลื่อนที่สำคัญสำหรับสมาชิกทุกๆคนในบ้าน(๓)

ดังนั้น เมื่อการทำอาหารถูกเชื่อมโยงให้เป็น “ภาระหน้าที่” โดยเฉพาะของผู้หญิงที่ต้องทำทุกวัน เหมือนการแบ่งงานกันระหว่างชายหญิง ซึ่งการทำหรือ “ปรุง” อาหารนี้ผูกอยู่กับความเป็นแม่หรือความเป็นภรรยาอำนาจอยู่ในครัวจึงผูกติดตัวกับผู้หญิงและสะท้อนรูปแบบการใช้อำนาจของผู้หญิงผ่านทาง “อาหาร” ที่ออกจากครัว ไปมีผลต่อคนในบ้านและสังคมด้วย จนผูกพันเป็นคุณสมบัติประจำตัวของลูกผู้หญิงในสมัยโบราณ ดังสำนวนที่ว่า “เสน่ห์ปลายจวัก ผัวรักผัวหลง” เพื่อใช้เป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งผู้ชาย แต่สำนวนดังกล่าวถือว่าเป็นการถ่ายทอดและใช้ “ภูมิปัญญาผู้หญิง” ในบทบาทและความหมายที่คับแคบเกินไปอยู่ดี(๔) เพราะเมื่อนำคุณสมบัติของลูกผู้หญิงดังกล่าวมาขายในที่สาธารณะอย่างที่แม่ทำ เสน่ห์ปลายจวักของแม่ ได้แสดงอำนาจมากกว่าที่จะทำให้ผัวรักผัวหลง กลับทำให้คนที่เคยลองลิ้มได้ติดใจ “ฝีมือ” การปรุงของแม่ด้วย

และหากสังเกตให้ดี พื้นที่ “ครัว” เป็นศูนย์กลางของคนในบ้านและในชุมชน เมื่อเปรียบเทียบกับห้องทุกห้องในบ้านจะมีอำนาจของเจ้าของห้องครอบครองอยู่ ที่กันไม่ให้ใครบางคนหรือทุกข์คนเข้าไปยกเว้นเจ้าของห้อง แต่สำหรับครัวแล้วกลับเป็นบริเวณที่อนุญาตให้ทุกคนเข้าไปมีกิจกรรมร่วมกัน ไม่เว้นกระทั่งผู้ชาย หรือในยามที่มี “งาน” หรือ “เทศกาล” ครัว เป็นพื้นที่รวมผู้คนจากบ้านใกล้เรือนเคียงมา “ลงแขก” ช่วยงานครัวได้ด้วยดังนั้นหากจะกล่าวว่าผู้หญิงใช้พื้นที่ “ครัว” เป็นพื้นที่ในการรวบรวมผู้คน และใช้ “อาหาร” เป็นสื่ออำนาจในการเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆของคนในชุมชนนั้น ก็ไม่ผิดนัก

3. อาหาร การสร้างความหมายและภาษาในกิจกรรมของผู้หญิง

ในทัศนะของ Eugenio Barba การแสดงออกหรือพฤติกรรมคน (performance) เป็นกระบวนการ (process) มากกว่าที่จะเป็นผลสำเร็จ (perfect) เมื่อนำแนวคิดดังกล่าวมาจับกับการ “ปรุงอาหาร” ของผู้หญิง ยิ่งเห็นกระบวนการ การสร้างความหมายและภาษาในกิจกรรมของผู้หญิงเด่นชัด และมักไม่ค่อยปรากฏให้เห็นภาษาหรือพื้นที่ของผู้ชาย กระบวนการ “ปรุงอาหาร” คนทั่วไปมองในแนวระนาบอาจคิดว่าเป็นกระบวนการที่เริ่มต้นจากการเลือกซื้อวัตถุดิบ ปรุงอาหาร และสิ้นสุดที่การเก็บล้างภาชนะ แต่หากพิจารณากระบวนการในแนวดิ่งจะพบว่ากว่าจะได้อาหารออกมาสักอย่าง ต้องผ่านกระบวนการมากมาย

เช่น การทำน้ำพริกอ่อง ก่อนอื่นต้องเตรียมเครื่องปรุงอันได้แก่ มะเขือเทศลูกเล็ก “หั่น” ประมาณ 1 ถ้วย พริกแห้ง “แช่” น้ำสัก 7 – 8 เม็ด หอมหัวเล็ก 3 หัว กระเทียม “ปอก” 2 – 3 หัว กะปิ น้ำปลา เกลือ หมู “สับ” น้ำมันพืช ผักชีต้นหอมหั่นหยาบๆ

วิธีปรุง ขั้นแรกต้องเตรียมเครื่องน้ำพริกก่อน โดย “โขก” พริกกับเกลือให้ละเอียด ใส่หอมเล็ก กระเทียม กะปิโขลกให้ละเอียดแล้วตักออก จากนั้นก็ “บุบ” มะเขือเทศในครกพอแตก เมื่อมะเขือเทศแตกดีพอประมาณแล้วนำหมูสับที่เตรียมไว้ลงไป “คลุก” ให้เข้ากัน เสร็จแล้วตั้งกระทะใส่น้ำมัน “เจียว” กระเทียมให้เหลือง นำเครื่องน้ำพริกที่โขลกเตรียมไว้ใส่ลงไป “ผัด” ให้หอม ใช้ไฟอ่อนๆ จากนั้นค่อยๆใส่มะเขือเทศ หมูสับ แล้วผักน้ำพริกให้มีกลิ่นหอม เมื่อสังเกตว่าได้ที่แล้วจึงใส่น้ำปลาปรุงรส เติมน้ำพอขลุกขลิก ตั้งไฟจนสุก เมื่อปรุงเสร็จเรียบร้อยแล้วตักใส่ถ้วย “โรย” หน้าด้วยผักชีต้นหอม เวลากินน้ำพริก “แนม” ด้วยผักสด เช่น ขนุนอ่อน แตงกวา มะเขือเปราะ ถ้าเป็นผักสุก เช่น ผักขี้หูด “ลวก” ผักกาด ยอดขี้เหล็ก เป็นต้น

เสร็จการปรุงทั้งหมด เราได้น้ำพริกอ่องสีแดงสวยเพราะเนื้อมะเขือเทศมีเนื้อหมูผสมรวมอยู่ในนั้นด้วย มีสีเขียวของผักสดที่โรยในถ้วยและที่แนมเป็นเครื่องเคียง น่ากิน ทุกคนให้ความสำคัญกับ “ถ้วยน้ำพริกอ่อง” โดยไม่มีใครใส่ใจในแต่ละขั้นตอน ยังต้องอาศัยทักษะในการประกอบอาหารด้วย และถ้าเชื่อเช่นเดียวกับ Barba ว่า การแสดงออกหรือพฤติกรรมคน (performance) เป็นกระบวนการ (process) มากกว่าที่จะเป็นผลสำเร็จ (perfect) ในชีวิตประจำวัน มิใช่ว่าอยู่ๆอาหารจะกลายเป็นผลสำเร็จขึ้นมาได้โดยตัวมันเอง ย่อมต้องตระหนักว่า การกระทำนั้นสำคัญที่การฝึกหัดและการเตรียมตัว (Organize body) การปรุงอาหารก็เช่นกัน

ดั่งในตำราอาหารหลายเล่ม เขียนให้ความหมายของกระบวนการปรุงอาหาร เช่น

“หั่น” คือการทำให้เครื่องปรุงชิ้นใหญ่เล็กลงตามความต้องการของผู้ปรุงดด้วยมีด

“แช่” คือ การนำเครื่องปรุงที่มีลักษณะแข็ง หรือแห้งใส่ในภาชนะที่มีน้ำจนท่วมเครื่องปรุงนั้น เพื่อให้เครื่องปรุงอ่อนตัวหรือนิ่มขึ้น ซึ่งเวลามากน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของเครื่องปรุงและความต้องการ

“ปอก” คือการนำเปลือกออกจากเครื่องปรุงเหล่านั้น “สับ” คือ การทำให้เครื่องปรุงเหล่านั้นขาดออกจากกันเป็นชิ้นๆ จะสับหยาบหรือละเอียดแล้วแต่ต้องการ โดยใช้ความเร็วและแรงของมีดมากกว่าการหั่น

“โขลก” คือการทำให้เครื่องปรุงหลายชนิดละเอียดหรือผสมกันให้เหนียวนุ่มด้วยครก

“บุบ” ทำให้เครื่องปรุงนั้นพอช้ำหรือแตก โดยนำไปใส่ครกแล้วใช้สากกระแทกค่อยๆ จนกว่าเครื่องปรุงนั้นช้ำ แตก หรือละเอียดตามที่ต้องการ

“คลุก” หมายถึงการทำให้เครื่องปรุงหลายสิ่ง หลายรสผสมให้เข้ากัน โดยใช้มือหรือช้อนคนเบาๆให้เครื่องปรุงกลับตัวจนได้รสเสมอกันหรือเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน

“เจียว” คือการทำอาหารหรือเครื่องปรุงที่มีลักษณะฝอยละเอียดให้สุกด้วยน้ำมัน โดยใส่น้ำมันในกระทะหรือหม้อ แล้วใส่เครื่องปรุงนั้นๆลงคนเรื่อยๆ จนกว่าจะสุก

ขั้นตอนการปรุงที่เขียนข้างต้นปรากฏในตำราอาหารเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือมีลักษณะรวบรัดมโนภาพและความคิดให้เป็นหนึ่งเดียว (Conceptualize) จนขาดมิติของความหลากหลาย เพราะความจริงการหั่นในลักษณะที่เขียนบอกไว้ตามตำรา กับการหั่นที่ฉันสังเกตจากแม่ ต่างกันโดนสิ้นเชิง แม่พิถีพิถันเลือกมีดให้ถนัดกับมือ ลักษณะการจับมีดและเครื่องปรุงมาหั่นทะมัดทะแมง การลงมีดกับเครื่องปรุงแต่ละชนิดแต่ละครั้งแม่นยำ จนเครื่องปรุงมีขนาดเท่าๆกัน หรือมีรูปลักษณะต่างๆ กันได้ตามชนิดของอาหารที่แม่ต้องการ ซึ่งกว่าที่แม่จะทำอย่างนี้ได้ต้องใช้มือข้างขวาที่จับมีดและมือซ้ายที่จับเครื่องปรุงสอดประสานกันอย่างเหมาะเจาะ และเป็นจังหวะ และหากพลาดก็หมายถึงการบาดเจ็บ นี่คือการจัดการกับร่างกาย (Organize body) ของแม่ ที่ต้องผ่านการฝึกหัดและสะสมประสบการณ์มานานพอ

หรือการ “ปอก” ในตำราอาหารเขียนสั้นๆว่า คือ การนำเปลือกออกจากเครื่องปรุงเหล่านั้น เป็นการเขียนที่ไม่เห็นภาพอะไรเลย เพราะในความเป็นจริงการปอกอาจจะใช้มืออย่างเดียวหรือใช้มีดช่วยเพื่อให้ง่ายขึ้นอยู่กับลักษณะการปรุง ปอกหัวหอม ปอกกระเทียม หรือปอกผลไม้ ก็ต่างกัน ยิ่งเป็นการปอกผลไม้ ผู้ปรุงยิ่งต้องใช้ความพิถีพิถันมากยิ่งขึ้นที่จะไม่ทำให้เนื้อผลไม้ช้ำ ให้ “น้ำไหลใต้ศอก” สิ่งนี้ก็คือการ Organize body ที่ชัดเจน การลงมีดแต่ละครั้งหมายถึงฝีมือของผู้ปอกด้วย เหมือนเวลาที่แม่ปอกมะปรางริ้ว แม่สามารถบังคับมีดให้ไปในทิศทางที่ต้องการได้ โดยให้รอยมีดไปในทางทิศเดียวกัน อาจจะขวางหรือเอียงไปตามรูปของมะปรางเพื่อความสวยงาม แต่ฉันลองพยายามทำกี่ครั้งก็ไม่เหมือนที่แม่ทำ เล่นเอามะปรางเละคามือ น้ำมะปรางไหลเลยศอก เทคนิคที่แม่ทำได้เหล่านี้ไม่เคยมีการเขียนไว้ในตำราแน่ เพราะการเขียนไม่สามารถ Conceptualize การ performance ได้ทั้งหมด

แม้แต่การ “โขลก” น้ำพริกยังมีขั้นตอนลงไปอีกว่าควรโขลกเครื่องปรุงชนิดใดก่อนและหลัง เพราะจะทำให้น้ำพริกข้น หรือหากนำไปใส่แกง แกงนั้นจะข้น และน้ำแกงเนียนไม่ลืมตา เป็นภาษาของผู้หญิงโดยเฉพาะหมายถึง ไม่มีเศษพริก หอม กระเทียมลอยในน้ำแกง เครื่องปรุงที่ควรโขลกก่อน เช่น พริกแห้ง ข่า ตะไคร้ กระเทียม เกลือ โขลกให้ละเอียด จึงตามด้วยหอม กะปิ เพราะถ้าใส่ทุกอย่างพร้อมกันหรือโขลกเครื่องปรุงที่มีน้ำอยู่ในตัวจะทำให้น้ำพริกแฉะ กระเด็นเข้าตาได้ และยังทำให้น้ำพริกไม่ละเอียดเท่าที่ควร นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับในการ “โขลก” น้ำพริกให้เสร็จเร็วและได้น้ำพริกเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ต้องโขลกแบบค่อยตะแคงสากโขลกลงข้างๆ ครก ไม่ใช่โขลกลงตรงกลางครกจะทำให้เครื่องปรุงกระเด็นออกมา สิ่งเหล่านี้แทบไม่มีการถ่ายทอดไว้ในตำราอาหาร(๕)

ในขั้นตอนการปรุงน้ำพริกอ่อง นอกจากจะมีความหมายในตัวเองแต่ละขั้นตอนของการทำ ชื่อของน้ำพริกอ่องเองก็มีความหมาย ซึ่งคนในสมัยนี้น้อยคนนักจะใส่ใจ คำว่า “อ่อง” ในภาษาล้านนานั้น หมายถึงการเคี่ยวนานๆใช้ไฟอ่อนๆ ถ้าเป็นต้นตำรับพื้นเมืองจริงๆแล้ว จะไม่ใช้หมูใส่ในเครื่องปรุง แต่จะใช้ปลาแทน เพราะคนสมัยก่อนกว่าจะได้กินหมูแต่ละครั้งก็ต่อเมื่อมีงานประเพณีต่างๆ ในหมู่บ้าน(๖) ดั้งนั้นเมื่อก่อนบ้านไหนมีน้ำพริกอ่องกิน จึงมีความหมายว่าบ้านนั้นมีฐานะพอสมควร อาจจะหมายถึงอาหารที่ควบคู่กับงานประเพณีด้วยซ้ำ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่น ที่ผู้หญิงสร้างธรรมชาติให้เป็นวัฒนธรรมสืบทอดกันมา

จะเห็นได้ว่าอาหารหนึ่งอย่างมีการสร้างภาษาและความหมายจำนวนมาก ฉะนั้น วันหนึ่งๆ การที่แม่ทำ “กับข้าว” อย่างน้อยวันละ 16 – 18 อย่างบางวันมากถึงวันละ 22 อย่าง เช่น แกงจืดวุ้นเส้นกับเครื่องแกงร้อน ไข่พะโล้ หมูแดดเดียว แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย แกงเทโพหมู แกงแดงไก่ใส่หน่อไม้ แกงส้มมะละกอกับปลาช่อน แกงเลียงกุ้งสด ผัดบวบใส่ไข่และกุ้ง ผัดวุ้นเส้น ผัดเต้าหูกับคื่นช่าย ผัดพริกขิงถั่วยาวกับหมู ผัดเผ็ดพริกอ่อนกับเห็ดฟาง ผัดเผ็ดปลาดุก ยำปลาทู เต้าเจี้ยวหลนแนมผักสด ขนมหวานหนึ่งอย่าง คือ เต้าส่วน

วันรุ่งขึ้นทำกับข้าวไม่ซ้ำกันอีก ได้แก่ แกงจืดหน่อไม้สดกับหมูสามชั้น