Skip to main content

ช่วงนี้ไปไหน คนมักชอบถามว่า “ทำอะไรอยู่?” “เรียนจบหรือยัง?” ถามจนฉันเองก็รู้สึกผิดแล้ว...แต่ก็ตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า ภายในสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2549 นี้จะต้องสอบเค้าโครงวิทยานิพนธ์ให้ได้ เพื่อจะได้จบอย่างเร็ว เดือนพฤษภาคมหน้าหรือปีหน้า (อิ อิ เช็คมาแล้วว่ายังพอมีเวลาเหลืออยู่สองปี :P )

พอบอกว่าจะทำวิทยานิพนธ์ ก็จะมีคำถามตามมาอีกว่าทำเรื่องอะไร เพราะคนถามกลัวว่า เราจะไปสร้างความรู้ที่ทำให้สะดุดขาตนเอง แล้วทำไปไม่รอดนั่นเอง

ยิ่งบอกว่าจะทำวิทยานิพนธ์ ชีวิตและประสบการณ์ของแม่ตัวเอง ผ่านการทำอาหาร ก็จะเจอคำถามอีกว่า “ทำเรื่องแม่ตัวเองได้ด้วยเหรอ?” ฉันก็ได้แต่ยิ้ม สำหรับบางคนเท่านั้นที่ฉันอาจจะตอบกลับไปว่า “จะทำ อยากให้ชีวิตคนธรรมดาสามัญสักคนหนึ่ง เช่น แม่ของเรา กลายเป็นวิทยานิพนธ์”

ยามได้อยู่โดยลำพังเพื่อเริ่มต้นเขียนงาน ก็ครุ่นคิดว่า เราสนใจเรื่องแม่ตั้งแต่เมื่อไหร่ ตรวจสอบตัวเองแล้วก็พบว่า ฉันสนใจเรื่องแม่ตั้งแต่ครั้งเขียนข้อเสนอ (โครงการ) เพื่อสอบคัดเลือกเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาโท สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ช่วงปี 2543-2544 ตอนนั้น เสนอหัวข้อเรื่อง เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์: การให้ความหมายของคำว่า “แม่” ครั้นพลิกอ่านงานเก่าๆ ของตนเอง ก็ประหลาดใจเหมือนกันว่า เออ..หนอ ความรู้ และวิธีคิดของเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากเชียว

เพราะระยะหลังฉันมุ่งผลิตงานเขียนที่เกี่ยวกับ “ชีวิตและประสบการณ์” ให้ชีวิตประจำวันของผู้หญิงที่ผู้คนเห็นว่าเป็นด้านซ้ำซาก น่าเบื่อหน่าย กลายเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของคนเล็กคนน้อย เช่น งานเรื่อง แม่-ค้าข้าวแกง: ชีวิตและเศรษฐกิจของผู้หญิง, “แม่ค้า” พูด “ข้าวแกง” เล่า, ตลาดสด: พื้นที่ความสัมพันธ์ของผู้หญิงผ่านอาหาร ฯลฯ ถ้าใครได้อ่านงานที่กล่าวมาและเปรียบเทียบกับงานชิ้นแรกก็จะเห็นความแตกต่างเช่นกัน และฉันคิดว่า “ความแตกต่าง” ของความรู้และวิธีคิดนี้อาจต้องเป็นส่วนหนึ่งของวิทยานิพนธ์ด้วย

.....................


เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์: การให้ความหมายของคำว่า “แม่”



ฐิตินบ โกมลนิมิ



“แม่” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 คือ ผู้หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกผู้หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน

ขณะที่ “ลูก” มีความหมายว่า ผู้ที่มีกำเนิดจากพ่อแม่ หรือโดยปริยายถือว่ามีฐานะเสมือนลูก, ....

ส่วน “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” (assisted reproductive technology) ในประกาศแพทยสภาที่ 1/2540 เรื่องมาตรฐานการให้บริการเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ให้ความหมายว่า “กรรมวิธีใดๆ ที่เป็นการช่วยการเจริญพันธุ์ที่แตกต่างไปจากระบวนการตามธรรมชาติ โดยการนำเซลล์สืบพันธุ์ทั้งเพศหญิงและชาย (Gamete) ออกจากร่างกายของผู้รับบริการ และการเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในมดลูก และ/หรือหลอดมดลูก (Intrauterine Insemination, Gamete intra fallopian transfer (GIFT) หรือการปฏิสนธินอกร่างกาย (In vitro fertilization-IVF) ด้วยวิธีการต่างๆ และการเคลื่อนย้ายตัวอ่อนเข้าไปในหลอดมดลูก และ/หรือโพรงมดลูก (Embryo transfer)”

อนึ่ง เป็นการให้นิยาม เมื่อปี 2540 โดยที่ยังไม่รวมเรื่องการโคลนนิ่ง ซึ่งขณะนี้แพทยสภาและราชวิทยาลัยสูตินารีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้จัดประชาพิจารณ์เรื่องนี้อีกครั้งในกลุ่มผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2544

เหตุที่ผู้เขียน (ฐิตินบ โกมลนิมิ) สนใจเรื่อง เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์: การให้ความหมายของคำว่า “แม่” เพราะผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับ “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กับสังคมไทย” เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2538 ถือเป็นการประชุมครั้งแรกๆ ของประเทศไทยที่พูดกันถึงเรื่องนี้ เมื่อพ้นยุคของการควบคุมกำเนิด ก้าวสู้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์กำลังเฟื่องฟู ซึ่งขณะนั้นยังไม่มีการเปิดเผยถึงความคืบหน้า “เทคโนโลยีการจำลองแบบพันธุกรรม” หรือการโคลนนิ่งขึ้นในโลก (การโคลนนิ่งถูกเปิดเผยโดย ดร.เอียน วิลมุต นักวิทยาศาสตร์แห่งสถาบันโรสลิน เมืองเอดินบุระ ประเทศสกอตแลนด์ ที่ประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่ง “ลูกแกะดอลลี่” จากเซลล์แกะวัยเจริญพันธุ์ได้เป็นครั้งแรกของโลก เมือเดือนมีนาคม 2540)

สถานการณ์ปี 2538 เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ มีเพียง การปฏิสนธินอกร่างกาย (IVF) การย้ายฝากตัวอ่อน (pre-embryo transfer) การเคลื่อนย้ายเซลล์สืบพันธุ์เข้าไปในท่อรังไข่ (GIFT) และกรณีอุ้มบุญ (surrogate mother) ที่แสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยีด้านนี้กำลังเร่งการพัฒนาขึ้นตามลำดับ และในที่สุดก้าวไกลถึงการโคลนนิ่ง การถอดรหัสพันธุกรรมมนุษย์ (Human Genome) ในปัจจุบัน

ช่วงเวลานั้น แพทยสภา ถือเป็นองค์กรหลักในการทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้ โดยเปิดโอกาสให้มีการรับฟังความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อาทิ การออกกฎหมายควบคุม มาตรฐานการให้บริการ จริยธรรมของผู้ให้บริการ บรรทัดฐานทางสังคม คุณค่าความเป็นมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างจำนวนประชากร และประเด็นที่ถกเถียงกันมาก

แม้จะเป็นการเถียงในวงแคบแต่ก็ปิดประตูตายสำหรับเรื่องนี้โดยทันที ก็คือประเด็นหญิงโสดที่ไม่ได้แต่งงาน หากต้องการมีลูก ควรยินยอมให้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้มาใช้หรือไม่ ซึ่งมีเสียงส่วนน้อยเห็นว่าควรทำได้ ถ้าหญิงนั้นสามารถที่จะเลี้ยงดูเด็กได้อย่างดี เพราะในสังคมเรามีเด็กมากมายที่ไม่มีพ่อ แต่เสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมเห็นว่าไม่ควรให้มีการกระทำ เพราะจะทำลายสถาบันครอบครัว (ที่ประกอบด้วย พ่อ แม่ ลูก) และอาจทำให้เกิดความวุ่นวายในสังคมได้ รวมทั้ง ถ้าให้อ้างว่าเป็น “สิทธิสตรี” ก็จะเป็นการทำลายสิทธิเด็ก เพราะเด็กเขาควรมีสิทธิที่จะมีได้ทั้งพ่อและแม่ ถ้าเขาหรือเธอไม่มีพ่อเด็กอาจกลายเป็นปมด้อยได้

และหากมองกันอย่างลึกซึ้งจะเห็นว่า การที่เรานำเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ต่างๆ มาใช้เพื่อช่วยเหลือคู่สมรสที่บุตรยาก แต่เรามิได้นำมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาหญิงโสดที่ต้องการมีบุตรให้ได้มีบุตร ถ้าเรายินดีทำกันได้ ความวุ่นวายจะมีตามมาอีกมากมาย สะท้อนจากพูดตอนหนึ่งของ แสวง บุญเฉลิมวิภาส (จากผลสรุปการประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์, 2539)

“เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เข้าไปช่วยให้สามีภรรยาที่ไม่มีบุตรได้มีบุตรขึ้นมาได้ ซึ่งถ้ามองตรงไปตรงมาคงไม่มีปัญหามากนัก ถ้าเราทำเพียงเท่านั้น แต่ไม่แน่เมื่อเวลาผ่านไปเราต้องมองว่าสิ่งที่เราทำกับธรรมชาติอาจมีปัญหาเกิดขึ้นได้ในบางจุด เช่น อาจมีแนวคิดขึ้นมาใหม่ว่าต่อไปนี้ผู้หญิงจะไม่มีการแต่งงานแล้ว แต่ต้องการบุตรจะให้หมอทำให้ กฎหมายคงต้องเข้ามามองที่จุดนี้ หรือพวกเลสเบี้ยนที่มีความผิดปกติต้องการมีลูกโดยไม่มีสมี ถ้ามองโดยหลักที่ทั่วโลกยอมรับเป็นหลักการใหญ่ ว่า ชีวิตในครอบครัวมิใช่สิ่งที่จะไปทำอะไรก็ได้ ในระดับสากลมีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (Convention for the right of the child) ที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ว่าเด็กที่เกิดมาใช่ว่าเราอยากให้เกิดก็เกิด แต่เราควรระลึกถึงสิทธิของเด็กนั้นด้วยว่า เขาต้องเกิดมาในฐานะที่เป็นเขา เด็กจะไปโรงเรียนอย่างไร ถ้าเขาไม่มีพ่อ เขาเกิดมาอย่างไร ฯลฯ สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่กฎหมายเข้าไปดู ในบ้านเราคงไม่มีจุดนั้น เพราะปัญหายังไม่เกิดขึ้น...”

โดยที่กล่าวมาข้างต้น จึงมีคำถามในใจตั้งแต่นั้น ในเมื่อผู้หญิงถูกให้ค่าจากวาทกรรมต่างๆ เช่น ผู้หญิงเป็นเพศแม่แล้ว “ทำไมหญิงโสดเป็นแม่ไม่ได้หรือ?” ที่สุดแล้วความหมายของคำว่าแม่มาจากที่ไหน อย่างไร และใครเป็นคนกำหนดความหมายของคำว่า “แม่” ผู้หญิงจะสามารถลุกขึ้นกำหนดนิยามของคำว่า “แม่” ด้วยตัวเธอเองได้หรือไม่?

ประเด็นคำถามข้างต้น ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ บอกว่าที่ผ่านมานักสตรีนิยมบางคนตั้งคำถามกับระบบความหมายเรื่องเพศที่มีความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างหญิงชายเป็นศูนย์กลาง และการเชื่อมโยงเรื่องเพศเข้ากับการสืบพันธุ์ โดยความสัมพันธ์ที่ไม่สอดคล้องกับรูปแบบปกติถูกผลักไปอยู่ที่ชายขอบหรือถูกทำให้เป็นเรื่องผิดปกติ ผิดธรรมชาติ ความสัมพันธ์ทางเพศระหว่างชายหญิงไม่เป็นเพียงรสนิยมส่วนตัวตามธรรมชาติของคน แต่เป็นผลผลิตของสังคมที่มีรากฐานมาจากระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ และรักษาความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ผู้ชายเป็นใหญ่ของระบอบปิตาธิปไตยไว้ด้วย ความสัมพันธ์ทางเพศภาคบังคับ (Compulsory Heterosexuality) จึงเป็นสถาบันที่สำคัญที่สุดสถาบันหนึ่งของปิตาธิปไตย ในการควบคุมผู้หญิงให้อยู่ในร่องรอยตามมาตรฐานของระบบที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ด้วยการผลักให้ผู้หญิงเข้าสู่สถาบันการแต่งงานและความเป็นแม่ และการเชื่อมโยงตนเองเข้ากับผู้ชาย

ดังนั้น การตีขลุมว่าผู้หญิงต้องมีความสัมพันธ์ทางเพศกับผู้ชาย(เท่านั้น) และประสบการณ์ของผู้หญิงก็เกี่ยวข้องหรือมีพื้นฐานมาจากความสัมพันธ์กับผู้ชายเท่านั้น จึงเป็นการรับเอาความเชื่อหลักของปิตาธิปไตยมาใช้ในการทำความเข้าใจสถานการณ์ของผู้หญิง

คำถามในใจมากมายขณะเข้าร่วมฟังการประชาพิจารณ์ดังกล่าว เป็นการเริ่มต้นและจุดประกายให้ผู้เขียนสนใจและก้าวเข้ามาเรียนสตรีศึกษา อย่างไรก็ดีระหว่างที่หาคำตอบให้ตนเอง ผู้เขียนรู้สึกตระหนกและดีใจระคนกันอยู่ลึกๆ เมื่อปรากฎรายงานข่าวว่า ประไพ ยั่งยืน วัย 30 เศษ โปรดิวเซอร์ประจำสถานีโทรทัศน์แห่งหนึ่ง เธอเป็นแม่ของเด็กฝาแฝดชายหญิงน่ารักน่าชังสองคน วัยสองเดือนเศษ มีความสุขกับการเลี้ยงดูทารกน้อยยิ่งนัก โดยที่ไม่มี “พ่อ” ของเด็กทั้งสองเคียงข้าง เหมือนคู่สามีภรรยาปกติทั่วไป ประไพเลือกที่จะมีลูกโดยไม่มีสามี ไม่ต้องการพ่อของเด็ก ไม่เห็นความสำคัญของการที่จะต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาพ่อแม่ลูก

“...คือ ไพคิดมาตั้งแต่เด็กแล้วว่าถึงไม่แต่งงานก็อยากจะมีลูกไว้เป็นเพื่อน บางคนอาจจะว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ จึงตัดสินใจไปหาหมอที่ศูนย์การแพทย์นวบุตร [...] ใช้วิธีนำไข่และอสุจิของเพื่อนชายที่ไม่เคยมีเพศสัมพันธ์กันเลยมาผสมภายนอก [ร่างกายหรือมดลูก – โดยผู้เขียน] คือการทำกิฟต์ แต่ไม่ได้บอกหมอว่าเราไม่ได้เป็นสามีภรรยากัน พอผ่านไปสองเดือนหมอบอกว่าได้ลูกแผด ก็ดีใจมาก…”

อ่านถึงตรงนี้ ฉันเองก็ยังงงว่า การตัดสินใจลักษณะนี้ คนเป็นแฟนกัน หรือ พ่อ แม่ ญาติ พี่ น้องรู้เรื่องหรือไม่ ผู้คนแวดล้อมรู้สึกอย่างไร เพราะเรื่องนี้ไม่ง่ายนักที่ใครจะยอมรับได้ ซึ่งในรายงานข่าวชิ้นเดียวกัน ประไพ เล่าว่า ...ว่าถ้าเราบอกครอบครัวเราคงไม่ได้ทำ ตัวคุณแม่ของไพเองยังไม่รู้เรื่องเลย มารู้ตอนท้อง 5-6 เดือน เขาก็เสียใจนะ แต่อธิบายเหตุผลกันได้ ส่วนแฟน เพื่อนชายมารู้ตอนหลังที่มีคนไปบอกเขาว่าไพท้อง ทุกคนคิดว่าแฟนเป็นคนทำให้ท้อง เขาก็โทรศัพท์มาคุย พูดกันนานกว่าจะเข้าใจว่าเราไปด้วยกันไม่ได้จริงๆ

แน่นอนว่า การเผยเรื่องราวของตนเองผ่านสื่อ ย่อมทำให้ประไพถูกกตั้งคำถามจาก “สังคม” ถึงเรื่อง “ความเป็นแม่” ขึ้นมาทันที ติดตามมาด้วยคำถามที่รวมถึง “ความเป็นเมีย” “ความเป็นครอบครัว” และ “ความปกติ/ผิดปกติ” อย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งที่เธอได้พยายามนิยามความหมายของคำว่า “แม่” ด้วยตัวเองอย่างชัดเจนแล้วก็ตาม

ในเมื่อจินตนาการที่ถูกห้ามมิให้เกิดขึ้นเมื่อ 6-7 ปีที่ผ่านมา กลายเป็น “เรื่องจริง” ขึ้นมาแล้ว ปรากฏการณ์นี้ รวมทั้งประเด็นเรื่อง “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” จึงสมควรแก่การถกเถียงเรียนรู้ อย่างจริงจัง โดยเฉพาะในแง่มุมของสตรีนิยม ก็ควรที่ครุ่นคิด ทบทวนการให้คุณค่า ความหมายของคำว่า “แม่” ใหม่หรือไม่ อย่างไร


ความหมายของคำว่า “แม่” สะท้อนจากวาทกรรมต่างๆ



ปัจจุบันกฎมายไทย ให้ถือว่า “ใครเป็นผู้คลอดเด็กออกมานั้น คือ แม่”

แม้ในกระทั่งพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ฉบับปัจจุบัน ให้ความหมายของคำว่า“แม่” คือ หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก, คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน; แต่ขณะที่เด็กคนหนึ่งจะเป็นลูกของผู้หญิงคนหนึ่งได้นั้น ตามพจนานุกรมระบุว่า “ลูก” มีความหมายว่า ผู้ที่มีกำเนิดจากพ่อและแม่ คือ ต้องมีผู้ชายเข้ามาสัมพันธ์ด้วย ความหมายของลูกจึงสมบูรณ์ ไม่ได้เปิดโอกาสให้ลูกเกิดจากแม่เท่านั้น

นอกจากนี้ นักคิดสตรีนิยมบางกลุ่มให้ความสำคัญกับ/หรือเชิดชูความเป็นแม่ มีการมองว่า “ความเป็นแม่” เป็นแก่นหรือศูนย์กลางของ “ความเป็นหญิง” และอัตลักษณ์ของผู้ที่มีเพศสภาพหญิง และเป็นความสัมพันธ์พื้นฐานที่สะท้อนอำนาจและความสำคัญของผู้หญิง ปัญหาก็คือ “ความเป็นแม่” อย่างที่เราคุ้นเคยกันหรือให้คุณค่าไม่ได้เป็น “ธรรมชาติ” ของผู้หญิง แต่เป็นสถาบันที่สังคมสร้างขึ้นบนฐานของลักษณะทางชีวภาพที่ว่าเพศหญิงเป็นฝ่ายตั้งท้องและให้นมลูก

ทำให้ “ความเป็นแม่” เป็นสถาบันที่มีความรับผิดชอบและหน้าที่หลายประการที่ซับซ้อน ในขณะที่ผู้หญิงดูจะมีอำนาจในการเลือกและกำหนดแง่มุมต่างๆ ของความเป็นแม่น้อยมาก อย่างไรก็ตาม วาทกรรมความเป็นแม่ในมิติต่างๆ ก็ไปมีอิทธิพลอย่างเข้มข้น ให้ผู้หญิงถูกปลูกฝังให้เตรียมตัวสำหรับการเป็นแม่หรือให้ความหวังในบทบาทนี้ ด้วยความเชื่อที่เชื่อมโยงความเป็นผู้หญิงเข้ากับความเป็นแม่

ผู้หญิงจึงไม่มีโอกาสแม้แต่จะคิดหรือเลือกว่าตนเองต้องการจะเป็นหรือไม่ อย่างไร?

อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงไม่ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับความเป็นแม่เหมือนๆ กัน หรือมองความเป็นแม่ในลักษณะเดียวกัน ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์เอง ก็เคยตั้งคำถามในประเด็นนี้เช่นกัน ว่าการมองความเป็นแม่เป็นแก่นของความเป็นผู้หญิงหรือการให้ค่ากับความเป็นแม่อย่างไม่ตั้งคำถาม อาจเป็นเพียงการมองเห็นโลกตามมายาคติที่มาจากระบอบอำนาจของความจริง


สู่การตั้งคำถาม จากความคิด

การให้ความหมายของคำว่า “แม่” ในยุคที่เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์เพื่องฟูจนกลายเป็นสิ่งธรรมดาของสังคมนั้น ผู้หญิงจะสามารถฉีกกรอบเดิมๆ วาทกรรมๆ เพื่อกำหนดความหมายของคำว่าแม่เองได้หรือไม่ เราจะช่วยกันอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้อย่างไร

กรณีที่หนึ่ง หากกฎหมายไทย ให้ถือว่า “ใครเป็นผู้คลอดเด็กออกมานั้น คือ แม่” หากคู่สามีภรรยานำตัวอ่อนที่เกิดจาการปฏิสนธินอกร่างกาย หรือในกรณีที่หญิงรักหญิงคู่หนึ่งอยากมีลูกมาก ไปนำน้ำเชื้อจากใครสักคนมาผสมเทียม แล้วมาว่าจ้างให้ผู้หญิงใดก็ตามตั้งครรภ์แทน คือให้มาอุ้มบุญให้ และหญิงคนนั้นคลอดเด็กออกมา ถามว่า เด็กควรจะเรียกหญิงที่เป็นเจ้าของไข่ หรือหญิงที่อุ้มท้องและคลอดออกมาว่า “แม่” (โดยตัดประเด็นเรื่องเด็กเป็นกรรมสิทธิ์ของใครออกไปก่อน)

กรณีที่สอง เมื่อการอุ้มบุญนั้น ไม่ชัดว่า ความหมายของคำว่า “แม่” ตกอยู่แก่หญิงใด ทับซ้อนให้ซับซ้อนยิ่งขึ้น เมื่อการอุ้มบุญนั้น เป็นการอุ้มบุญโดยให้ญาติตั้งครรภ์แทน ก็อาจมีปัญหาในการลำดับญาติได้ เช่น กรณีแม่ตั้งครรภ์แทนลูกสาว เด็กควรเป็นลูกของลูก หรือเป็นลูกของแม่ จะเรียกแม่ของแม่ว่ายายหรือเรียกแม่ และแม่ที่เป็นเจ้าของไข่ควรจะเป็นแม่ที่แท้จริงหรือเป็นพี่สาว

กรณีที่สาม ในกรณีที่เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ สามารถทำให้ผู้ชายตั้งท้องได้ (เพราะปัจจุบันวงการแพทย์สามารถรักษาชีวิตและบริบาลหญิงตั้งครรภ์ให้ท้องนอกมดลูกได้ เช่น กรณีที่เกิดขึ้นที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เมื่อปี 2542) เหมือนจินตนาการในภาพยนตร์เรื่อง “JUNIOR” ที่ซิลเวสเตอร์ สตาร์โลเน่ แสดงนำ สมมติให้ไกลมากขึ้นว่าประเทศไทยก้าวหน้ามาก ยอมให้ผู้ชายมีสิทธิตั้งท้องได้ ตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 มาตรา 30 ให้สิทธิพลเมืองมีความเท่าเทียมกัน และชายหญิงก็มีสิทธิเท่าเทียมกันด้วย ในกรณีของชายรักเพศเดียวกัน ที่อยากมีลูกเช่นกัน สามารถหาไข่ของผู้หญิงมาผสมกับอสุจิของชายรักเพศเดียวกันคนหนึ่งคนใด และชายผู้นั้นก็ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว ทำให้ตนเองตั้งครรภ์ขึ้นมา ชายผู้นั้นจะถูกให้ความหมายคำว่า “แม่” ตามที่กฎหมายระบุไว้หรือไม่ อย่างไร

กรณีที่สี่ ในกรณีของโคลนนิ่ง หากมีการโคลนนิ่งจากตัวอ่อนหรือเซลล์ของหญิงหรือชายที่เจริญพันธุ์ขึ้นมาจริง จะให้ค่า ให้ความหมายของคำว่า “แม่” ที่ไหน กับใคร

ไม่ว่าคำตอบคืออะไร ผู้เขียน “ต้องการรื้อสร้างความรู้ขึ้นใหม่ หรือทบทวนความรู้ เพื่อหาทางออกให้ “ผู้หญิง” หรือชายคนใดก็ตามแต่ที่อยากมีลูกแต่ไม่อยากมีคู่สมรส หรือมีคู่สมรสแล้วแต่ไม่สามารถมีบุตรได้สามารถฉีกกรอบเดิมๆ วาทกรรมเก่า ๆเพื่อกำหนดความหมายของคำว่า “แม่” เองได้หรือไม่

ที่สำคัญ การหาคำตอบข้างต้น โดยยอมรับการเจริญพันธุ์นั้น ปราศจาก “เพศสัมพันธ์” หนึ่งในระบบความหมายเรื่องเพศที่ส่งเสริมอำนาจให้ชายเป็นใหญ่ จะทำให้ผู้หญิงสามารถสร้างความหมายของคำว่า “แม่” เองได้หรือไม่ เป็นเรื่องที่ท้าทายมากทีเดียว เพราะเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ ย่อมทำให้ความหมายของคำว่า “แม่” เปลี่ยนไปจากเดิม หากไม่มี “ผู้ชาย” มาประกอบในบท “พ่อ” หรือกดทับด้วยคำว่า “สามี”

จะเห็นได้ว่า “เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์” ได้เข้ามากระแทก ความหมายของคำว่า “แม่” ให้เปลี่ยนไป โดยสามารถเคลื่อนย้ายไปอยู่ที่ “หญิง” หรือ “ชาย”ก็ได้ ทำให้ความหมายของคำว่า “แม่” เลื่อนไหลไปตกอยู่ที่ใครก็ได้ โดยไม่ได้สถิตเสถียรอยู่ที่ “ผู้หญิง” เท่านั้น เพราะฉะนั้น ในอนาคต เราอาจจะต้องให้ความหมายของคำว่า “แม่” ให้มากขึ้นกว่าที่พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน หรือจากกรอบวาทกรรมเดิมๆ ระบุไว้หรือไม่?

.............

เป็นข้อเขียนเชิงสร้างสรรค์เพื่อเสนอแนวคิดเกี่ยวกับสตรีนิยม ในการสมัครคัดเลือกเพื่อเข้าศึกษาในหลักสูตรปริญญาโท สตรีศึกษา สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ รุ่นแรก เมื่อปี 2544

ภาวิณี เจริญยิ่ง, สาวมั่นยุคดิจิตอล, ในมติชนสุขสรรค์ ,มติชนรายวัน , มีนาคม 2544.