Skip to main content

ระหว่างที่ฉันขมักเขม่นค้นคว้าในประเด็นความมั่นคงบางประการ และยิ่งเป็นการพูดถึงความมั่นคงของชาติในบริบทที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ครองราชย์นานถึง 60 ปีนั้น ก็ใคร่รู้ขึ้นมาว่า "วันพ่อแห่งชาติ" นั้นมีมาตั้งแต่เมื่อไหร่กันหนอ เมื่อพบข้อมูลที่ต้องการแล้ว ก็สะดุ้งโหยงเพราะกลับกลายเป็นว่า วันพ่อแห่งชาตินั้น = วันชาติของไทยด้วย..

ไฉนหนอ ความรู้ทางประวัติศาสตร์และการเมืองของฉันจึงตื้นเขินนัก

ดังนั้น ก่อนที่ฉันจะเล่าถึงประวัติศาสตร์ "วันพ่อแห่งชาติ" ขออนุญาตนำบทความเผยแพร่ ว่าด้วย "๕ ธันวาคม วันชาติของไทย" โดยกระทรวงวัฒนธรรมมาให้อ่านกันก่อนที่จกล่าวถึงวันพ่อในโอกาสต่อไป

....................

หลายๆคนอาจจะยังไม่ทราบว่า วันที่ ๕ ธันวาคม นอกจากจะเป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และเป็นวันพ่อแห่งชาติแล้ว ยังถือว่าว่าวันนี้ เป็น ?วันชาติของไทย? อีกด้วย ทำไมวันเฉลิมพระชนมพรรษา จึงถือเป็นวันชาติไทยนั้น กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม จะได้บอกกล่าวให้ทราบต่อไป ...

โดยทั่วไป ? วันชาติ ? มักจะหมายถึง วันเฉลิมฉลองที่ประเทศนั้นๆได้รับอิสรภาพ เป็นเอกราช หรือเป็นวันสถาปนาประเทศ รัฐ ราชวงศ์ วันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์ วันเกิดประมุขของรัฐ หรืออาจจะเป็นวันที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อื่นๆ แต่มักจะถือเป็นวันหยุดประจำของชาติ ซึ่ง ? วันชาติ ? ของแต่ละประเทศจะเป็นวันใด ก็ขึ้นอยู่กับการกำหนดของประเทศนั้นๆ เช่น ประเทศโมร็อกโก ตรงกับวันที่ ๒ มีนาคม สหรัฐอเมริกา ตรงกับวันที่ ๔ กรกฎาคม ฝรั่งเศสตรงกับวันที่ ๑๔ กรกฎาคม อินโดนีเซียตรงกับวันที่ ๑๗ สิงหาคม บราซิลตรงกับวันที่ ๗ กันยายน และเคนย่าตรงกับวันที่ ๑๒ ธันวาคม เป็นต้น

? วันชาติ ? ของประเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะมีเพียงวันเดียว แต่ก็มีบางประเทศเช่นกันที่มี ? วันชาติ ? มากกว่าหนึ่งวัน ทั้งนี้เพราะประเทศนั้นๆ อาจจะนับวันที่ได้รับเอกราชหรือวันที่ปลดแอกจากการเป็นอาณานิคม และวันที่มีการสถาปนาการปกครองขึ้นใหม่ ซึ่งอาจจะมิใช่วันเดียวกัน แต่เป็นวันสำคัญเสมือนวันชาติเท่าๆกัน เช่น ประเทศปากีสถาน จะมีวันชาติตรงกับวันที่ ๒๓ มีนาคม ที่เขาเรียกว่า ?Republic Day? และวันที่ ๑๔ สิงหาคม เป็น ?Independence Day? ส่วนฮังการี ก็มีถึง ๓ วันคือ วันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๐ สิงหาคม และ ๒๓ ตุลาคม สำหรับจีน นอกจากจะมีวันชาติตรงกับวันที่ ๑ ตุลาคม แล้ว ที่ฮ่องกง อันเป็นเขตปกครองพิเศษของจีน ที่มีขึ้นหลังจากอังกฤษคืนเกาะฮ่องกงให้จีนก็มีการเฉลิมฉลองวันที่ตรงกับวันสถาปนาการปกครองพิเศษนี้ขึ้น ในวันที่ ๑ กรกฎาคม อีกด้วย

สำหรับประเทศไทย เราเคยได้มีการกำหนดให้ วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็น ? วันชาติ ? ของไทย ด้วยถือว่าวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เป็นวันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง ? วันชาติ ? ลงวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ โดย พ.อ.พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยนั้น และได้มีการเฉลิมฉลองวันชาติ ๒๔ มิถุนายน ครั้งแรกในปีพ.ศ. ๒๔๘๒ ในสมัย จอมพลป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี

วันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็น ? วันชาติ ? ของไทยอยู่นานถึง ๒๑ ปี ครั้น วันที่ ๒๑ พฤษภาคม ๒๕๐๓ สมัย จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ได้มี ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ขึ้นใหม่อีกฉบับหนึ่ง เรื่อง ให้ถือวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทย โดยให้เหตุผลว่า

ด้วยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า ตามที่ได้กำหนดให้มีการเฉลิมฉลองวันชาติไทยในวันที่ ๒๔ มิถุนายน นั้น ได้ปรากฏในภายหลังว่า มีข้อที่ไม่เหมาะสมหลายประการ ในด้านประชาชนและหนังสือพิมพ์ก็ได้เสนอแนะให้พิจารณาในเรื่องนี้หลายครั้งหลายคราว คณะรัฐมนตรีจึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นพิจารณา โดยมีพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน

คณะกรรมการนี้ได้พิจารณาแล้ว เสนอความเห็นว่า ประเทศต่างๆได้เลือกถือวันใดวันหนึ่งที่มีความสำคัญเกี่ยวเนื่องกับชนในชาติต่างๆกัน โดยถือเอาวันประกาศเอกราช วันอิสรภาพ วันตั้งถิ่นฐาน วันสาธารณรัฐ วันสถาปนาพระราชวงศ์บ้าง ซึ่งไม่เหมือนกัน แต่ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของชาติ โดยทั่วไปนั้น ได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติ เช่น ประเทศอังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เดนมาร์ก สวีเดน ญี่ปุ่น ฯลฯ เป็นต้น แม้ประเทศไทยเราเองก็ได้ถือเอาวันพระราชสมภพเป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยมาแล้ว เพิ่งจะมากำหนดเอาวันที่ ๒๔ มิถุนายน เป็นวันชาติ เพิ่มขึ้นอีกวันหนึ่งในระยะหลังนี้เอง

คณะกรรมการจึงมีความเห็นว่า เพื่อให้เป็นไปตามขนบประเพณีของประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และเป็นหลักการสมัครสมานสามัคคีรวมจิตใจของบุคคลในชาติโดยทั่วกัน จึงสมควรจะถือเอาวันพระราชสมภพของพระมหากษัตริย์เป็นวันเฉลิมฉลองของชาติไทยต่อไป โดย ยกเลิกวันชาติ ในวันที่ ๒๔ มิถุนายนเสีย

ดังนั้น นับแต่ปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ประเทศไทยจึงได้ถือเอาวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตรงกับวันที่ ๕ ธันวาคม ของทุกปี เป็น ? วันชาติ ? ของไทย ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

ตามปกติ การจัดงาน ? วันชาติ ? ของประเทศต่างๆก็จะมีกิจกรรมและรูปแบบแตกต่างกันออกไป ส่วนใหญ่ก็มักจะมีการกล่าวสุนทรพจน์ การจัดขบวนพาเหรดเฉลิมฉลอง การจุดพลุดอกไม้ไฟอย่างเอิกเกริก รวมไปถึงการแสดงมหรสพต่างๆ เป็นต้น แต่ในประเทศไทย เนื่องจากวันชาติ เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา และวันพ่อแห่งชาติ ซึ่งมีกิจกรรมเฉลิมฉลองอยู่แล้ว กอปรกับประเทศไทยยังไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใครมาก่อน และคนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างที่เห็นกันอยู่ปัจจุบัน ดังนั้น ? วันชาติ ? ของเราจึงดูเหมือนไม่ค่อยมีความสำคัญเท่าใดนัก เพราะชาวไทยทุกหมู่เหล่าล้วนตัองการจัดกิจกรรมเพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ? พ่อหลวงของแผ่นดิน ? มากกว่าประเด็นอื่น อย่างไรก็ดี หากเราจะระลึกว่าวันนี้ ก็เป็น ? วันชาติ ? ของไทยด้วย แล้วจัดกิจกรรมต่างๆที่จะแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจเพื่อ ? ประเทศชาติ ? ด้วยพระวิริยะอุตสาหะ และความเสียสละมาอย่างยาวนานเช่นไร ก็อาจจะทำให้ วันนี้ มีความหมายครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

........................................
อมรรัตน์ เทพกำปนาท
กลุ่มประชาสัมพันธ์ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ