Skip to main content

"ปัจจุบันคนไทยสูบบุหรี่ 19-20% เฉลี่ยคนละ 800-900 มวนต่อปี เพราะฉะนั้น สงครามนี้ไม่มีวันจบ ผมตายไปแล้ว เกิดมาใหม่ก็ต้องมาสู้กับบุหรี่อีก แต่ไม่ได้คาดหวังถึงขนาดให้คนไทยสูบบุหรี่เหลือ 0% มันเป็นไปไม่ได้เป็นแค่ความฝันลมๆ แล้งๆ ขอเพียงให้จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลงเหลือต่ำกว่า 15% และมีปริมาณการสูบ 500 มวนต่อคนต่อปี ก็ถือว่าประสบความสำเร็จและควรภูมิใจแล้ว"

คำมั่นสัญญาของมือปราบบุหรี่รุ่นคุณปู่ "นายแพทย์หทัย ชิตานนท์" ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ ที่แม้เกษียณอายุราชการในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มาถึง 18 ปี แต่ "เสือยังไม่สิ้นลาย" ยืนหยัดต่อสู้กับผู้ค้าบุหรี่ นักการเมืองและสิงห์อมควัน โดยไม่อาจกำหนดวันจบสิ้น ตลอดระยะเวลา 20 ปี กระทั่งทำให้คนที่อยู่ในแวดวงค้าและสูบบุหรี่เพียงได้ยินชื่อ "หมอหทัย" ก็หนาวสั่นกันเป็นทิวแถว ด้วยเพราะ "หมอหทัย" ทำงานแบบ "ตาต่อตา" ฟันไม่เลี้ยงไม่ว่า "หน้าอินทร์" หรือ "หน้าพรหม"

ย้อนไปเมื่อ 20 ปีที่ผ่านมา "หมอหทัย" ซึ่งไม่เคยสนใจเรื่องบุหรี่ แต่ตำแหน่งรองอธิบดีกรมการแพทย์ สธ. กำหนดให้ดูแลสถาบันมะเร็งและเรื่องบุหรี่ เป็นเหตุให้ต้องเริ่มศึกษาปัญหาบุหรี่อย่างจริงจัง ซึมซับรับรู้ว่าบุหรี่ มีความหลากหลาย มีสีสัน น่าสนใจ น่าตื่นเต้นมากมาย เพราะมันเกี่ยวข้องทั้งเรื่องสังคม เศรษฐกิจ ที่สำคัญ "การเมือง"

ในปี 2532 จึงเสนอ นายชวน หลีกภัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น จัดตั้ง "คณะกรรมการควบคุมการบริโภคบุหรี่แห่งชาติ" ผลงาน "ชิ้นโบแดง" หลังตั้งคณะกรรมการที่เป็นเสมือนตัวจุดชนวนให้คนไทยตื่นตัวต่อต้านการสูบบุหรี่มากขึ้น ขณะที่ "หมอหทัย" รั้งตำแหน่ง "ประธานกรรมการร่างกฎหมายควบคุมยาสูบในประเทศไทย" จนสามารถออก พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 ซึ่งมีสาระสำคัญ "ห้ามมิให้ผู้ใดโฆษณาผลิตภัณฑ์ยาสูบ จนนำมาสู่การห้ามวางโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย"

สิ่งที่ "หมอหทัย" จะจัดการต่อจากนี้ เป้าหมายอยู่ที่บริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ตัวการที่ทำให้คนไทยสูบบุหรี่ จึงต้องสกัดกั้นพ่อค้าบุหรี่ที่เล็งเป้าลูกค้าหน้าใหม่เป็นกลุ่มเด็กให้ได้ ด้วยวิธี "ฟันเปลี้ยง" ตีกันไม่ให้หือ นำความไม่ดีของบริษัทเหล่านี้ออกมาตีแผ่ ว่าเป็นนักโกหก นักหลอกลวงระดับโลก

ไม่เพียงเท่านี้ ในปีหน้า "มือปราบบุหรี่รุ่นคุณปู่" วัย 78 ปี ยังเตรียมไม้เด็ด ที่จะใช้กำราบนักการเมืองชอบงาบเงิน โดยจะเขียนหนังสือที่นำเอกสารลับของบริษัทบุหรี่ต่างประเทศที่มีกว่า 30 ล้านหน้า ซึ่งศาลสั่งให้นำออกเผยแพร่ผ่านเวบไซต์มาจัดพิมพ์เฉพาะส่วนที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทย โดยมีบันทึกว่า เขามาเมืองไทยมาทำเรื่องอะไร ติดต่อกับนักการเมืองคนไหน เมื่อไร ที่ไหน และอย่างไร

อย่างเช่น เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว มีข่าวว่านักการเมืองไทยคนหนึ่งเรียกเงิน 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงมีรองนายกรัฐมนตรี รมว.สธ. อย่างน้อย 3-4 คน ที่บริษัทบุหรี่เคยติดต่อด้วย รูปแบบการนำเสนอจะไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ให้ผู้อ่านวิเคราะห์เองว่าใครเป็นใคร

"ผมตั้งใจจะทำแบบนี้เพื่อที่จะให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนต่อๆ ไป ได้รู้ไว้ว่าถ้าขืนไปยุ่งกับบริษัทบุหรี่ แม้วันนี้ยังไม่มีใครรู้ใครเห็น เพราะคุณยังอยู่ในอำนาจ แต่วันหนึ่งข้างหน้าคนก็ต้องรู้ เพราะบริษัทบุหรี่มีบันทึกไว้ทั้งสิ้น เป็นการปรามพวกรัฐมนตรีว่าอย่าไปรับเงินรับทองเขานะ" น.พ.หทัย กล่าว

"หมอหทัย" ยืนยันว่า การต่อต้านบุหรี่ให้ได้ผลสำหรับประเทศไทย ไม่อาจทำได้ด้วยการออกสื่อรณรงค์ผ่านโทรทัศน์ ที่เป็นเหมือนการจุดพลุ มีสีสันสวยงามชั่วระยะหนึ่ง แต่ความสำเร็จมีไม่มาก ดังนั้น ต้องเน้นที่กฎหมาย กฎระเบียบ ผลักดันให้เกิดนโยบายบังคับ ที่เปรียบเสมือนการติดไฟราวบนถนนให้สว่าง ไม่งั้นขโมยกับโจรก็กำเริบ บ้านเมืองก็ลำบาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะพฤติกรรมของคนไทย ที่ชอบ "ทำตามใจ" จึงต้องเอาแส้หวดด้วยการบังคับด้วย "กฎหมาย"

จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ