Skip to main content

มักมีคนใกล้ชิด คนทำงานทางสังคม และนักข่าวถามกับฉันเสมอว่า โครงการอย่างหนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์นี้ จะมีอีกไหม? ฉันก็ตอบแบบคิดน้อยไปโดยทันใดว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเกิดขึ้นอีก แต่ไม่ใช่โครงการปีต่อปีแน่ๆ เพราะเจตนารมย์ของโครงการนี้คือ การสร้างหนังให้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารแนวคิดเรื่องการสมานฉันท์ และการผ่านวัฒนธรรมความรุนแรงด้วยแนวคิดสันติวิธี การจัดการความขัดแย้งในระนาบต่างๆ ซึ่งหากเรามุ่งทำหนังสั้นออกมาปีต่อปี มันก็คือโครงการผลิตหนังเพื่อผลิตหนังเท่านั้น โดยไม่มีเวลาได้นำหนังไป ?ทำงาน? ก็คงไปไม่ถึงเป้าหมายที่วางไว้

พอเราคิดว่าต้องเอา ?หนัง? = ?เครื่องมือ? ไปทำงานขยายผลทางความคิดต่อ เรา(คณะทำงานโครงการฯ) กลับเจอโจทย์ใหญ่ที่ติดตามมาก็คือ ?ขยายผลอย่างไร??

บางคนคิดว่า โครงการจบเมื่อหนังได้ฉายในงานเทศกาลและได้มีการผลิตเป็นดีวีดีและซีวีดีออกเผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว บางคนเห็นงานมากกว่านั้น ในการนำหนังไปตั้งวงกับกลุ่มคนต่างๆ ก็มีคำถามติดตามมาอีกว่า แล้วจะไปคุยกับใคร ที่ไหน อย่างไร เอาหนังเรื่องอะไรไปฉายบ้าง เอาค่าใช้จ่ายที่ไหน ใครประสานงาน เอาใครไปบ้าง คุยแบบไหน ฉายที่ไหน โอ๊ย... คำถามไหลมาเทมาเลยค่ะ

แล้วความพอดี..ของการทำงานอยู่ที่ไหน โครงการนี้ควรจะสิ้นสุดเมื่อใด หรือคณะทำงานฯ หมดความรับผิดชอบที่ตรงไหน?? ก็ล้วนเป็นอีกคำถามที่แทรกอยู่ระหว่างบรรทัดและในความเงียบของการถกเถียงด้วยเช่นกัน

ถ้าจะให้พูดถึงสาระต่างๆ ของการถกเถียงข้างต้น วันนี้คงพูดไม่จบ เพราะในที่สุด คณะทำงานเลือกทำประเด็นหลัง คือ เริ่มต้นออกเดินทาง หรือเดินสายฉายหนังไปแล้ว ครั้งแรก คือ ที่โรงแรมนิวเวิร์ด ลอร์ด ซอยสามเสน 2 บริเวณบางลำพู กับกลุ่มนักศึกษาที่มาจากชุมรมนักศึกษามุสลิมเกือบ 30 แห่งทั่วประเทศ เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2549 ครั้งที่สอง ที่มหาวิทยาลัยสงขลานรินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เมื่อวันที่ 23-24 มิถุนายน ที่ผ่านมา

กลายเป็นว่า เราไม่มีคำตอบสำเร็จรูป แต่ให้การเดินทางแต่ละครั้งคือ บทเรียนของเรา..

และข้างล่างนี้ คือส่วนหนึ่งในการบันทึกบทเรียนระหว่างเดินทางของเรา ?หนังใต้ร่มเงาสมานฉันท์? จากพี่ภาสกร อินทุมาร

??????????

 

สวัสดีทุกคนครับ

 

ตามที่แพ็บ (ภาวิณี ไชยภาค)บอกว่าเอาหนังไปฉายที่ปัตตานีมา ผมคิดว่าอยากจะเล่าเพิ่มเติมให้ทุกคนได้ฟังครับ

การไปฉายครั้งนี้นอกจากทีมพวกเราแล้วก็ยังมีองค์กรร่วมจัดคือ ศูนย์ข่าวอิศรา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และคณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ปัตตานี

การจัดการเกือบทั้งหมดทำโดยนักศึกษาในชั้นเรียนที่เพื่อนผมสอน ชื่อ ?กลุ่มตะเกียงแก้ว?

เราฉายกัน 2 รอบ รอบแรกเป็นรอบเล็กๆให้นักศึกษาในชั้นเรียนดูเป็นหลัก ฉาย 5 เรื่อง แล้วดูความเห็นของนักศึกษาซึ่งก็ยังไม่ได้คุยอะไรมากเพราะเวลาจำกัด

ส่วนรอบที่ 2 ฉายจำนวนเรื่องมากขึ้น การเลือกเรื่องที่ฉายส่วนหนึ่งก็คือเลือกเรื่องที่เป็นประเด็นภาคใต้และประเด็นศาสนา รวมทั้งเลือกหนังของพวกเราที่อยู่ในพื้นที่ด้วย พวกเราในพื้นที่ก็คือ มาวิน ศศะ และฮาริส 3 คนนี้ร่วมเป็นวิทยากรแลกเปลี่ยนในเวทีร่วมกับอาจารย์ที่นั่นอีก 2 คน โดยมีผมเป็นผู้ดำเนินรายการและร่วมแสดงความเห็นด้วย

การฉายรอบที่ 2 มีคนมาดูเยอะมาก ประมาณ 300 คนเห็นจะได้ ส่วนใหญ่ก็คือนักศึกษา มีอาจารย์จากคณะต่างๆบ้างเล็กน้อย เวทีเสวนาเป็นไปด้วยความน่าสนใจ พวกเราก็เล่าว่าทำไมจึงทำหนังแต่ละเรื่องออกมาเช่นนั้น ส่วนอาจารย์ก็แสดงความคิดเห็น

ต้องบอกก่อนว่าขณะที่หนังกำลังฉายอยู่นั้น ผมรู้สึกเกร็งมาก กังวลว่าปฏิกิริยาของคนดูจะเป็นอย่างไร เพราะหนังหลายๆเรื่องกำลังพูดถึงเรื่องราวในพื้นที่ที่พวกเขาอยู่ แล้วในที่สุดก็มีความเห็นโดยภาพรวมจากอาจารย์ทั้ง 2 ซึ่งเป็นนักวิชาการในพื้นที่ และหนึ่งในนั้นก็เป็นมุสลิมว่า เมื่อมองภาพรวมของหนังแล้วมันไม่ชัดเจนว่าหนังกำลังพูดเรื่องอะไร

คำพูดที่อาจารย์พูดก็คือ "มันไม่ clear เหมือนกับบทบาทของ กอส. นั่นแหละ"

อันนี้คือความเห็นโดยรวมที่อาจารย์มีต่อหนัง (และ กอส.) แต่อาจารย์ก็มีแง่มุมอีกหลายหลากที่น่าสนใจ เช่นมีการ categorise ว่าหนังมีประเด็นอะไรบ้างที่พูดออกมา และสิ่งหนึ่งที่หายไปคือ gender และมีความเห็นต่อรายละเอียดต่างๆที่ sensitive และควรระวัง เพราะบางคำพูด และบางการกระทำของตัวละครในหนังอาจจะไปผลิตซ้ำภาพของมุสลิม อันนี้เป็นภาพรวม รายละเอียดมันมหาศาลมาก ซึ่งจะเอาไปผนวกในสรุปบทเรียนซึ่งกำลังเขียนอยู่ พวกเราคงจะได้อ่านในโอกาสต่อไป

ส่วนความเห็นของนักศึกษาก็น่าสนใจมาก นักศึกษาร่วมแสดงความเห็นมากมาย บางคนออกมาพูดเลยว่าไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ แล้วก็แสดงความเห็นของตนออกมา โดยรวมแล้วนักศึกษาทั้งพุทธและมุสลิมที่แสดงความเห็นมีความรู้สึกที่ดีต่อหนังค่อนข้างมาก บางคน "in" กับบางเรื่องพอสมควรทีเดียว

ความเห็นโดยรวมของนักศึกษาก็คือเห็นว่าหนังได้สะท้อนปรากฏการณ์ที่กำลังดำเนินอยู่ไม่ใช่แค่เรื่องภาคใต้ แต่เป็นปรากฏการณ์ของความขัดแย้งที่ทำให้เกิดการคิดต่อ

บทเรียนที่เกิดขึ้นจากการไปฉายหนังคราวนี้ก็คือเรื่อง sensitivity ว่าแค่ไหนจึงจะพอ เพราะดูเหมือนว่ามันจะไม่เคยพอเลยจริงๆ เราว่าเราระวังแล้ว แต่มันก็ยังมีคนที่ sensitive ต่อสิ่งที่เรานำเสนอ ประเด็นต่อมาก็คือการเตรียมประเด็นการพูดคุยกับวิทยากรทั้งหมด ว่าเป้าหมายในเชิงการเคลื่อนไหวคืออะไร เราจะพูดถึงประเด็นที่ sensitive ว่าอย่างไร และในลักษณะใด คราวนี้เราไม่ได้เตรียมงานกับวิทยากร ประเด็นที่ออกมามันเลยกลายเป็นการวิพากษ์หนังไปเสีย

การวิพากษ์เป็นเรื่องที่ดีที่จะทำให้เห็นมุมมองที่กว้างขวางออกไป แต่มันอาจจะหลุดไปจากเป้าหมายของงาน ดังนั้นต้องเตรียมประเด็นการคุยให้ชัดเจนร่วมกัน

ประเด็นต่อมาซึ่งก็โยงๆกับประเด็นการวิพากษ์ก็คือ อันนี้คือสิ่งที่ผมเห็นนะ คือการปะทะกันระหว่าง reality ของหนัง กับ reality ของคนดู อันนี้เรื่องใหญ่เลย เป็นเรื่องที่คนทำหนังต้องคิดต่ออีกแน่ๆว่า reality ทั้งสองชุดมันจะมาเจอกันได้ตรงไหน ซึ่งบางคนอาจจะไม่เห็นด้วย เช่นบางคนอาจคิดว่าหนังคือการนำเสนอความคิดคำนึงของคนทำหนัง ถ้าคิดเช่นนี้ก็คงไม่ต้องคำนึงถึง reality ของคนดู แต่ถ้าหากคิดว่าหนังจะเป็นหนทางในการสร้าง social dialogue อันนี้ต้องคำนึงถึง reality ของคนดูแน่ๆ ซึ่งในที่สุดมันก็มีประเด็นต่อเนื่องติดตามมา ก็คือว่า reality ของคนดูมันไม่ได้มีชุดเดียว...

นั่นคือภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นที่ปัตตานีครับ

ภาสกร อินทุมาร

...................................

 

อ่าน โหมโรง ?หนังสั้นใต้ร่มเงาสมานฉันท์? มอ.ปัตตานี