Skip to main content

"หนูแน่นท้องอยู่หลายเดือน รู้สึกไม่ค่อยดี กินอะไรลงไปก็อึดอัด และสังเกตว่า เอ๊ะ ทำไมท้องใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ตอนแรกสงสัยว่า ท้องหรือเปล่า เมื่อวันที่ 8 เมษายนไปที่สถานีอนามัยปากมาบ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีที่ตรวจเยี่ยว เขาก็คลำท้องหนูเฉยๆ บอกว่ามีก้อนในท้องให้หนูไปโรงพยาบาลดีกว่า ก็ไปที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม หมอก็ตรวจปัสสาวะผลออกมาเป็นลบ ไม่ได้ตั้งท้อง แล้วหมอก็บอกให้ขึ้นขาหยั่งตรวจภายในอีกที ตรวจเสร็จหมอบอกว่า หนูเป็นเนื้องอก หนูตกใจมาก ไม่รู้ทำไง หมอบอกให้ผ่าตัดและนัดผ่าตัดวันรุ่งขึ้นเลย คือวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา พอผ่าท้องหมอเห็นว่ามีเด็กก็รีบเย็บแผลปิดเหมือนเดิม" นางบังอร มีประเสริฐ อายุ 37 ปี มีอาชีพรับจ้างทำประมง เล่าถึงความทุกข์ที่อยู่ๆ ถูกผ่าท้องฟรี

น.ส.บุญยืน ศิริธรรม หัวหน้ากลุ่มแม่บ้าน ที่พาบังอรเข้าร้องเรียนกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่าสิ่งที่เกิดกับบังอรไม่ใช่ครั้งแรก... "ก่อนหน้านี้เขามีลูก 2 คน ความที่บังอรเป็นหญิงตัวเล็กแต่ค่อนข้างอ้วน ทำให้คลอดลำบาก ลูกคนแรกไปฝากท้องที่โรงพยาบาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้า หมอบอกว่าถ้าไปฝากท้องพิเศษกับคลินิกจะไดรับการดูแลเป็นพิเศษ แต่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 4,000 บาท แต่บังอรไม่มีเงินจึงเข้าสู่ระบบปกติ ปรากฏว่าต้องนอนเจ็บท้องในห้องคลอดอยู่ 3 วัน เด็กตัวใหญ่ติดบ่าคลอดไม่ได้ พยาบาลไปตามหมอหมอบอกว่าไม่ใช่เวรไม่มา จนกระทั่งเริ่มตกเลือด แม่ของบังอรต้องวิ่งไปตามหมออีกคน หมอรีบมาดูให้แต่บอกให้แม่บังอรเลือกว่าจะเอาหลานหรือเอาลูก โดยที่สุดบังอรก็เสียลูกคนแรกตอนคลอด น้ำหนัก 3,900 กรัม พอท้องลูกคนที่สอง บังอรยอมหาเงินฝากพิเศษกับหมอ จึงได้ลูกชายน้ำหนักแรกคลอด 5,000 กรัม เลยต้องผ่าคลอด"

สำหรับบังอรแล้วการคลอดลูกไม่ใช่ประสบการณ์ที่ดี เธอกลัวการมีลูกมาก จากนั้นมาจึงได้กินยาคุมมาตลอด 5 ปี

"เรื่องครั้งนี้ ไม่อยากโทษว่าสิ่งที่บังอรได้รับจากการเข้ารับบริการของโรงพยาบาลนี้เป็นเคราะห์กรรม ยิ่งครั้งสุดท้ายอยู่ๆ ก็ถูกผ่าท้องฟรี ตอนนี้อัลตราซาวนด์แล้ว ลูกในท้องบังอรเป็นเด็กแฝด แผลที่ผ่าท้องยังมีหนองไหลอยู่ ต้องชะแผลทุกวัน ความผิดพลาดจากการรักษาวันนี้ต่อไปใครรับผิดชอบ"

"ดิฉันจบ ป.4 บังอร จบ ป.6 ขอถามหน่อยเถอะเวลาที่หมอจะผ่าตัดเขาไม่ตรวจอัลตราซาวนด์ก่อนเลยหรือว่าเนื้องอกอยู่ตรงไหน หรือถ้าหมออยากผ่าตรงไหนก็ผ่า ถามผู้อำนวยการโรงพยาบาลกรณีอย่างบังอรต้องอัลตราซาวนด์หรือเปล่า ผู้อำนวยการบอกว่าไม่จำเป็น แต่พอนักข่าวมาถามซ้ำผู้อำนวยการบอกว่า เครื่องอุลตราซาวนด์เสีย ก็ไม่อยากโทษว่าเป็นเพราะโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค แต่จะให้ชาวบ้านคิดอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น แถมหลังเกิดเรื่องผู้อำนวยการโรงพยาบาลพยายามให้ข่าวว่าญาติคนไข้ต้องการเรียกร้องค่าทำขวัญจากโรงพยาบาลอีก ถามว่า ถ้าหมอไม่ผิด ระบบไม่ผิด แล้วคนอย่างบังอรจะได้รับอะไรจากเหตุการณ์นี้บ้าง ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ผู้ใหญ่ในกระทรวงสาธารณสุขเองก็ปกป้องหมอด้วยกัน"

ทั้งหมดนั้นเป็นทุกข์จากสุขภาพอีกกรณีที่ถูกเปิดเผยในเวทีสัมมนาเพื่อหา แนวทางการชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้บริโภคและหาหลักเกณฑ์ชดเชยความเสียหายที่ผู้บริโภคควรได้รับจากบริการสุขภาพกรณีแม้ไม่มีผู้กระทำผิด ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักงานปฏิรูประบบสุขภาพแห่งชาติ(สปรส.) เมื่อเร็วๆ นี้

นายประวัติ ภัทราวงศ์ อัยการจากสำนักงานอัยการสูงสุด ตั้งคำถามกับ น.พ.ประมวล วีรุตมเสน เลขาธิการแพทยสภา ในฐานะสูติแพทย์ชั้นนำของประเทศว่า

"กรณีเช่นนี้ก่อนผ่าท้องต้องอัลตราซาวนด์ก่อนหรือไม่?"

"แพทย์อายุเท่าใด?"

"ทั้งโรงพยาบาลมีสูติแพทย์กี่คน แพทย์ทำงานกันเป็นทีมหรือไม่?"

"มีการปรึกษากับแพทย์คนอื่นก่อนหรือไม่?"

ทั้งหมดนี้ น.พ.ประมวล ตอบสั้นๆ ว่า "เห็นควรจะต้องทำ แต่ปัญหาคือทุกโรงพยาบาลจะมีเครื่องอัลตราซาวนด์หรือไม่ บางทีมีเครื่องก็ต้องดูว่า แพทย์สามารถวินิจฉัยได้หรือไม่อีก"

เมื่อนางบังอรยืนยันว่าแพทย์เจ้าของไข้ อายุเกือบ 50 ปี และเป็นสูติแพทย์ของโรงพยาบาลประจำจังหวัด เรื่องความสามารถในการวินิจฉัยคงไม่ใช่ปัญหา เลขาธิการแพทยสภาจึงอึ้งไป

กรณีของบังอรถูกหยิบมาเป็นกรณีศึกษาเพื่อตรวจสอบว่า ความผิดพลาดที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องของบุคคล หรือเป็นเรื่องของระบบหลักประกันสุขภาพ ที่ทำให้หมอประหยัดเพื่อความอยู่รอด ลืมนึกไปว่าเงินที่โรงพยาบาลบริหารนั้นประชาชนเป็นเจ้าของ ไม่ใช่หมอ

"ความจริงค่าอัลตราซาวนด์เพียง 400 บาท ดิฉันก็รู้สึกแปลกใจว่าทำไมหมอเลือกที่จะผ่าตัดทั้งๆ ที่การผ่าตัดค่าใช้จ่ายสูงกว่ามากหลายเท่า หรือมองอีกมุมหนึ่ง หมอมั่นใจตัวเองมากว่าผ่าไปแล้วเจอก้อนเนื้อแน่ ก็เลยไม่ต้องอัลตราซาวนด์ เพราะอย่างไรก็ต้องผ่าตัดอยู่แล้ว ก็เลยประหยัดไม่อุลตราซาวนด์เสียเลย" นี่เป็นคำถามที่ น.ส.สารี อ่องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายภาคประชาชนที่เข้าร่วมร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ

เธอพยายามเลี่ยงที่จะบอกว่า กรณีนี้คนผิดหรือระบบเป็นปัจจัยที่ทำให้คนทำผิด แต่มูลนิธิหยิบกรณีของบังอรมาใช้ประโยชน์ สมมติว่าหาคนผิดไม่ได้

"ความเสียหายจากบริการด้านสุขภาพมีหลายลักษณะ ก่อนหน้านี้มีคนไข้ไปรักษาตาแดงปรากฏว่าติดเชื้อตาบอด หรือกรณีที่เด็กทารกติดเชื้อเอดส์ ทั้งๆ ที่พ่อแม่ไม่ได้ติดเชื้อด้วย ผู้เสียหายไปฟ้องร้องก็ไม่ได้ เพราะไม่เข้าข่ายเป็นการทำละเมิดต่อผู้ป่วย เพราะผู้ให้บริการไม่ได้ตั้งใจ หรือประมาทเลินเล่อจนเป็นเหตุให้ผู้รับบริการต้องเสียหาย เมื่อไม่มีความผิดจึงไม่ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น แต่ถามว่าสมควรให้ผู้เสียหายต้องจำนนรับเคราะห์นี้โดยไม่ได้รับการเยียวยาหรือ"

ขณะนี้มาตรา 37 ในร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรแล้ว กำหนดให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า กันเงินจำนวนหนึ่งไม่เกิน 1% ของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการ กรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาของหน่วยบริการ ไม่ว่าจะหาผู้กระทำผิดได้หรือไม่ผู้ป่วยต้องได้รับค่าเสียหายในระยะเวลาอันสมควร

"ร่างกฎหมายนี้ จะเข้าสู่การประชุมของวุฒิสภาเร็วๆ นี้ ปรากฏมีข่าวลือว่าในชั้นของวุฒิสภา จะตัดมาตรานี้ออกไป เพราะหมอจำนวนหนึ่งในวุฒิสภามองว่า การมีมาตรานี้จะทำให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น ซึ่งต้องติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านและมาตรา 37 ไม่ถูกตัดออก ประชาชนที่อยู่ในสวัสดิการรักษาพยาบาลอื่นๆ เช่น สวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ หรือประกันสังคมก็ดี เมื่อได้รับความเสียหายจากบริการสุขภาพ ก็ไม่สามารถเรียกร้องการเยียวยาได้ จะทำอย่างไรให้เกิดความเท่าเทียมกันในการชดเชยให้แก่ผู้เสียหายในระบบสุขภาพอื่นๆ ด้วย" น.ส.สารีกล่าว

กลไกลในการชดเชยควรจะเป็นอย่างไร และเท่าใดเป็นเรื่องที่ยังคิดพิจารณากันต่อไป
นายประวัติยืนยันว่า กรณีของบังอร ถ้าดูตาม พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 11 ถ้าผู้เสียหายเห็นว่า หน่วยงานของรัฐต้องรับผิด สามารถยื่นคำขอต่อหน่วยงานของรัฐให้พิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

"ผมมองว่าสิ่งที่เกิดกับบังอรเป็นความเสียหายร้ายแรงที่กระทรวงสาธารณสุข ต้องออกมารับผิดชอบแทนโรงพยาบาลด้วยซ้ำ และเมื่อหน่วยงานของรัฐมีคำสั่งเช่นใดแล้วหากผู้เสียหายยังไม่พอใจ ก็สามารถร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการวินิจฉัยร้องทุกข์ของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ หรือไปร้องต่อกับศาลปกครองได้อีก"

นั่นอาจจะฟังดูดี แต่สำหรับชาวบ้านแล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

"การเยียวยาโดยกฎหมาย ผู้เสียหายต้องรับภาระในการพิสูจน์ความผิดถูก ซึ่งในชั้นการสอบสวนของแพทยสภา ชาวบ้านอย่างบังอร คงไม่มีความรู้ และไม่สามารถตรวจสอบการสอบสวนของแพทยสภาได้ว่าการรักษานั้นเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพที่ยอมรับกันหรือไม่ หรือถ้าจะไปตรวจสอบว่าระบบการบริหารของโรงพยาบาล เป็นผลจากโครงการ 30 บาทหรือเปล่าก็ตรวจสอบไม่ได้ แม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจะช่วยเหลือก็ตาม" น.ส.สารีบอกเล่าถึงสภาพความเป็นจริง

"ที่ผ่านมามูลนิธิฯ เคยวิจัยผู้เสียหายจากการบริการสุขภาพ ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5-7 ปีกว่าคดีจะสิ้นสุด ถามว่าทำไมรัฐถึงไม่มีระบบเยียวยาผู้เสียหายก่อน แล้วค่อยไปพิสูจน์ผิดถูกกัน หากพบว่าเป็นความเลินเล่อของบุคคลก็ค่อยไปเรียกเงินคืนจากผู้กระผิด ทำไมต้องปล่อยให้ระบบ และอำนาจความรู้ของวิชาชีพ ของระบบที่เหนือกว่าซ้ำเติมผู้ป่วยอีก และหากประนีประนอมได้ วิธีนี้ก็ช่วยลดการฟ้องร้องแพทย์ให้ลดลงได้ไม่ใช่หรือ" น.ส.สารีแย้ง

น.พ.ประมวลบอกว่า "ผมไม่อยากให้เกิดการฟ้องร้องแพทย์ แต่เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้วแพทยสภาก็ต้องสอบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง ขอร้องประชาชนอย่าเพิ่งหมดศรัทธากับการแพทย์ ผมเห็นด้วยในการตั้งกองทุนชดเชยเหตุสุดวิสัยในการประกอบวิชาชีพเวชกรรม เพราะจะเป็นประโยชน์ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน"

น.พ.สงวน นิตยารัมภ์พงษ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เจ้าพ่อ 30 บาท ออกตัว "ถ้าจะบอกว่าโครงการ 30 บาท ทำให้จริยธรรมของแพทย์ลดลง เพราะหมอห่วงว่าจะเอาโรงพยาบาลไปไม่รอด คงไม่ใช่ทั้งหมด แต่ระยะนี้ที่ดูเหมือนกับว่าผู้ป่วยร้องเรียนแพทย์มากขึ้น ก็ไม่ได้แปลว่าจรรยาแพทย์ของแพทย์เลวลง

น.พ.สงวนตั้งคำถามสะท้อนภาพในมุมกลับว่า ไม่ใช่เพราะโครงการ 30 บาท หรือที่เข้าไปเปิดพื้นที่ให้ประชาชน และสื่อมวลชนเข้าไปตรวจสอบการทำงานของบุคลากรในวิชาชีพนี้ได้มากขึ้น

"ตอนนี้อำนาจของวิชาชีพถูกลดทอนลง ด้วยอำนาจการตรวจสอบของประชาชน ผมเชื่อว่าต่อไปกรณีเหล่านี้จะลดน้อยลง เพราะประชาชนเข้มแข็ง และมีพลังการตรวจสอบมากขึ้น ส่วนมาตรา 37 รับรองว่ารัฐบาลจะต้องผลักดันให้เกิดขึ้นจริง" น.พ.สงวนยืนยัน

ขณะนี้ บังอรทำหนังสือร้องเรียนถึงปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้ชดเชยค่าเสียหาย และยังคงรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลดังกล่าว ซึ่งโรงพยาบาลยินดีรับผิดชอบดูแลจนกระทั่งคลอดเด็กออกมา อันเป็นสิทธิที่ผู้ป่วยจะต้องได้รับอยู่แล้วตามโครงการ 30 บาท ไม่ว่าจะถูกผ่าท้องฟรีหรือไม่ก็ตามแต่ยังไม่มีใครออกมารับผิดหรือชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น!

ฐิตินบ โกมลนิมิ เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 3 มิ.ย. 2545