Skip to main content
เสิร์ฟออเดิร์ฟ

มีคนบอกว่างานเขียนสารคดีแนวชีวประวัติ หรือเรื่องเล่าของครอบครัว (family history) ในบ้านเรามีน้อยมาก ยิ่งงานที่เล่าย้อนไปถึงบรรพบุรุษผู้เขียนยิ่งหาได้ยาก ในส่วนที่มีจัดพิมพ์ขึ้นนั้นก็มักเป็นเรื่องราวของชนชั้นเจ้านายในวัง สมัยแรกก็มีกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ที่เขียนพร้อมกับเล่า "ประวัติศาสตร์ชาติ" หรือประวัติศาสตร์ของ " ผู้ปกครอง" คนในศูนย์กลาง

หากใครอยากเขียน "เรื่องเล่าของครอบครัว"บ้าง คงอดวิพากษ์ "แกน" ของสังคมไม่ได้ เหมือนกับที่ฉันพยายามถามแม่ถึงเรื่องในอดีต เพื่อเขียนถึงเรื่องเล่าในครอบครัว ปรากฏว่ากระแสความคิดแม่ ในฐานะ "แม่ค้าข้าวแกงคนหนึ่ง" มักจะเหน็บแนม "อุตสาหกรรมอาหาร" ที่เป็นผลจาก "การค้าและการพัฒนาที่ทันสมัย" อยู่บ่อยครั้ง แม่ไม่ปฏิเสธมันทั้งหมดบางครั้งร่วมโดยสารมาด้วย แต่บางครั้งก็ชี้ข้อด้อยให้เห็น

"เรื่องเล่า" ของแม่-แม่ค้า เป็นบันทึกจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวันที่ถูกบอกเล่าผ่านกันมาจากรุ่นเก่าก่อนเป็นเหมือน "น้ำหยดหนึ่ง" ฉาย "ภาพในอดีต" ที่หล่นหายไปในกระแสธารประวัติศาสตร์รัฐให้เห็น
แม่เริ่มต้นปูเรื่องให้เรารู้จัก "ชุมชนวัดราชาธิวาส" ในอีกมุมหนึ่ง เพื่อบ่งบอกการมี "ตัวตน" อยู่ในปัจจุบัน ขณะเดียวกันได้วิพากษ์ความรู้หลักผ่าน "อาหาร" ซึ่งเปรียบเหมือนสะพานเชื่อมประสบการณ์ของคนรุ่นเก่าให้ดำรงอยู่ในสังคมสมัยใหม่ ในเรื่องเล่านี้จึงมี "แกงขั้วมะระขี้นกยัดไส้หมูสับ" "หมูเหลือง" "แกงเขียวหวานไก่" "ข้าวมันส้มตำ" ฯลฯ เป็นเสมือนพื้นที่ความทรงจำ (site of memory) และเห็นชัดว่า "รสชาติ" ของอาหารที่คุ้นลิ้นฉันตั้งแต่เกิดที่สังคมสร้างขึ้นมา (social construct) ไม่ว่าวันวานรสชาติเป็นอย่างไร รสชาตินั้นยังถูกส่งผ่านจากคนรุ่นแล้วรุ่นเล่าผ่านมือของผู้หญิง ย่อมนิยมได้ว่า "รสชาติอาหาร" ที่ถูกส่งทอดกลายเป็น "อาหารครัวไทย" นี้ คือการจารึกประวัติศาสตร์อีกรูปแบบหนึ่งโดยผู้หญิงที่ต่างจากการ "บันทึกอดีต" ของนักประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ เวลายังทำให้ "สำนึก" ของตัวตนได้ขยับขยายไปตามวาทกรรมหลักของสังคม เช่น เรื่องของ "ครก" เดิมมีความหมายเป็นเครื่องครัวสำคัญของครัวไทย ทั้งแม่และยายจะไม่ยอมให้ "ครก" หายไปจากครัว แต่พอถึงสมัยฉัน ความทันสมัยทำให้ "ครก" กลายเป็นแค่พื้นที่ความทรงจำของคนรุ่นก่อน โดยคนรุ่นใหม่หันมานิยม "เครื่องปั่น-เครื่องบดอาหาร" ในฐานะเครื่องครัวที่จำเป็นมากกว่า

และในระหว่างการเก็บเกี่ยวอดีตเพื่อ "บันทึก" เรื่องเล่าของครอบครัวนั้น "อดีต" ได้เชื่อมฉันซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ให้เกิดสำนึกร่วม "คนอื่นที่อยู่ภายใน" ไปกับแม่ด้วย พลันที่เสียงเล่าของแม่จบลงมันได้สร้างความแน่นแฟ้นของครอบครัวมากขึ้น

ถึงบอกตาต้นว่าเรื่องนี้ "แม่ค้า"พูด มี "ข้าวแกง"ช่วยเล่า

จึงอยากให้ลองชิม "รส" เหล่านี้ เพื่อจะได้หวนคิด "เรื่องเล่าของครอบครัว" คุณ

อ่าน "แม่ค้า" พูด "ข้าวแกง" เล่า ฉบับเต็ม ของฐิตินบ โกมลนิมิได้ที่นี่