Skip to main content

มลฤดี จันทร์สุทธิพันธุ์ รายงานใน จุดประกาย กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 4 พฤษภาคม 2549

ตามขนบประเพณีในเนปาล ผู้คนในชุมชนมักจะหลีกเลี่ยงไม่คบหาสมาคมกับหญิงม่าย จากเหตุผลเพียงแค่เธอไม่มีสามีอยู่เคียงข้าง แต่เหตุการณ์ความไม่สงบในบ้านเมืองที่เพิ่งผ่านพ้นไป เปิดโอกาสให้หญิงเหล่านี้ได้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเองบ้าง

ตลอดหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์หลายฉบับลงภาพความรุนแรงจากเหตุประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยคืนจากกษัตริย์คยาเนนทรา ภาพตำรวจชายใช้กระบองฟาดผู้ประท้วงที่เป็นผู้ชายเช่นเดียวกันจนสามารถเรียกร้องความสนใจได้จากสื่อมวลชนทั่วโลก

ในเวลาบ้านเมืองสงบแม้จะเห็นนักร้องนักดนตรีหญิงบรรเลงบทเพลงขับกล่อมแขกเหรื่อตามผับตามบาร์ในกรุงกาฐมาณฑุ หากแต่ผู้ใดที่เคยไปเยือนสถานบันเทิงในประเทศแถบหุบเขาหิมาลัยเช่นนี้แล้ว ก็คงจะอดนึกแปลกใจและแอบถามไม่ได้ว่า "เหตุใดจึงไม่มีผู้หญิงนั่งชื่นชมบรรยากาศยามราตรีเช่นนี้บ้างเลย"

คำอธิบายที่ได้รับจากคนท้องถิ่นก็คือ "เพราะในเนปาล ผู้หญิงอยู่แต่ที่บ้าน"
แต่หลังจากเหตุการณ์ชุมนุมประท้วง ภาพชินตานี้คงจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไปบ้าง เพราะมีผู้หญิงบางคนกล้าออกมาเดินชุมนุมตามท้องถนนพร้อมกับผู้ชาย ซึ่งถึงแม้ภาพเหล่านี้จะไม่ได้ขึ้นหราตามหน้า 1 ของหนังสือพิมพ์ในโลกตะวันตก แต่การออกไปประท้วงปาวๆ ก็ถือเป็นปรากฏการณ์ที่ผิดธรรมดาจากสภาพสังคมในเนปาลอยู่แล้ว

ในขณะที่ผู้หญิงส่วนหนึ่งออกไปเรียกร้องประชาธิปไตยอีกส่วนที่ไม่ได้ออกจากบ้านก็เริ่มการปฏิวัติอย่างเงียบๆการปฏิวัติที่จะเปลี่ยนแปลงสิทธิของพวกเธอให้ชอบธรรมขึ้น การเรียกร้องเพื่อสิทธิสตรีที่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่าจะแผ่ขยายไปได้ไกลมากเพียงใด รวมถึงมีความสำคัญทัดเทียมกับการประท้วงเรียกร้องประชาธิปไตยที่เพิ่งผ่านพ้นไปหรือไม่

สิ่งที่พวกเธอจะทำเมื่อสันติสุขเกิดขึ้นบนแผ่นดินหลังเหตุการณ์วุ่นวายในประเทศ คือการเดินหน้าต่อสู้เพื่อสิทธิสตรีเพื่อให้แน่ใจว่า พวกเธอจะไม่มีชะตากรรมเช่นเดียวกับพี่น้องลูกผู้หญิงในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ศรีลังกา อัฟกานิสถาน หรืออิรัก ซึ่งก็ได้แต่หวังว่า สิ่งที่ต้องการและเรียกร้องนี้จะไม่ได้จบลงแค่การเป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น แต่ยังต้องมีประสิทธิภาพ และจะต้องมีการกำหนดเป็นระเบียบวาระทางการเมืองสำหรับเนปาลในโฉมใหม่หลังการปฏิรูปด้วย

หนึ่งในผู้ที่จุดประกายการต่อสู้ในหมู่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิสตรีคือลิลี ธาปา (Lily Thapa) ผู้ก่อตั้งองค์การสตรีเพื่อสิทธิมนุษยชนของกลุ่มผู้หญิงโสด (Women for Human Rights Single Women"s Group/WHR-SWG) ซึ่งสาเหตุที่ทางกลุ่มฯ เลือกใช้คำว่า "โสด" เนื่องจากคำว่า "ม่าย" ถือเป็นคำหยาบเกินกว่าจะนำมาใช้ในแง่ของศักดิ์ศรีเกียรติยศ

ภายนอก ลิลี ดูเป็นหญิงสง่างามสมกับวัย 40 กว่ากะรัต เป็นผู้ที่ผ่านพ้นวัยปลายอายุ 20 มาได้อย่างสบายๆ แต่ภายใต้เปลือกชีวิตช่วงวัยรุ่น เธอต้องซ่อนความเจ็บปวดเอาไว้มากมายนัก

สามีของ ลิลี ซึ่งเคยเป็นศัลยแพทย์ทำงานกับองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ต้องจบชีวิตไปกับการสู้รบในสงครามอ่าวเปอร์เซียรอบแรก จนทำให้เธอประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับหญิงม่ายจำนวนมากในแถบเอเชียใต้และเอเชียตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากการสูญเสียเกินกว่าความโศกเศร้าที่พวกเธอควรได้รับ

ลิลี ไม่เพียงแต่สูญเสียสามี เธอยังสูญเสียสถานะในสังคมไปพร้อมๆ กันด้วย ผมเผ้าที่เคยสวยงามถูกตัดออก กำไลเครื่องประดับถูกถอดจากแขน รวมถึงอัญมณีบนจมูกก็ถูกคีมหนีบออกมาอย่างไร้ความปราณี

ลิลีในวันนั้นต้องเผชิญกับสภาวะที่ไม่เพียงเจ็บปวดจากการเป็นแม่ม่ายตั้งแต่ยังสาว แต่สังคมต้องการเห็นเธอใช้ชีวิตแบบแม่ม่ายด้วยความเจ็บปวดไปตลอดชีวิตด้วย
แต่เมื่อฟ้าหลังฝน หลังจากที่ขมขื่นทุกข์ทรมานมานานหลายปี ทุกวันนี้ ลิลี ผู้ขบถต่อขนบประเพณีสวมใส่ส่าหรีสีสันสดใส ผมเผ้ากลับมายาวสลวยท้าทายสายตาของผู้คน ฝ่าฝืนประเพณีดั้งเดิมที่หญิงม่ายในเนปาลต้องสวมชุดดำไปตลอดชีวิต

ลิลี ยังปวารณาตัวไว้ด้วยว่า สิ่งที่จะทำนับแต่บัดนี้ไปคือ ท้าทายกับผู้ที่ดูถูกเกลียดชังผู้หญิง และทำให้ภาพลักษณ์แม่ม่ายล้าสมัยหมดไปจากเนปาลให้ได้

ที่ผ่านมา สาวใหญ่วัย 40 ได้ต่อสู้เพื่อแก้ไขตัวบทกฎหมายจนสำเร็จไปหลายข้อ ตั้งแต่หญิงม่ายไม่จำเป็นต้องคืนทรัพย์สมบัติที่เคยเป็นของสามีคนแรก หากพวกเธอจะแต่งงานใหม่ ทั้งยังไม่จำเป็นต้องมีใบอนุญาตจากผู้ชายหากต้องการจะทำพาสปอร์ต หรือหนังสือเดินทาง ตลอดจนไม่ต้องขออนุญาตลูกๆ ที่โตแล้ว เพื่อขอโอนทรัพย์สินใดๆ ก็ตามที่เป็นของเธอ

ถึงแม้สิทธิของหญิงม่ายทุกวันนี้จะไม่มีครบถ้วนเท่าเทียมชายทุกประการ แต่อย่างน้อยพวกเธอก็มีสิทธิมากขึ้นกว่าที่เคยมี

ในอนาคต ลิลี มุ่งมั่นว่าจะทำให้ความต้องการและสิทธิของหญิงม่าย รวมถึงลูกๆ ของพวกเธอไม่ถูกมองข้าม หรือหลงลืมไป เพราะตลอด 10 ปีแห่งความขัดแย้ง หญิงเนปาลหลายล้านคนต้องกลายเป็นหญิงม่าย ขณะที่เด็กอีกนับไม่ถ้วนกลายเป็นเด็กไม่มีพ่อ

ทั้งนี้ กลุ่มสิทธิสตรีฯ ของ ลิลี ซึ่งมีสำนักงานถึง 36 เขต จากทั้งหมด 75 เขตทั่วประเทศ เป็นเอ็นจีโอเพื่อหญิงม่ายกลุ่มเดียวในโลกที่ส่งมอบรายงานให้แก่ที่ประชุมของคณะกรรมาธิการด้านสตรีแห่งองค์การสหประชาชาติ(ยูเอ็น)ขณะที่เจ้าหน้าที่ของกลุ่มประกอบด้วยหญิงโสด 104 คน มีสมาชิกเป็นหญิงม่ายกว่า 14,000 คน หลายคนในจำนวนนี้เป็นม่ายตั้งแต่ยังสาว

ทว่า ลึกลงไปโดยเนื้อแท้ที่ทำให้กลุ่มสิทธิเพื่อแม่ม่ายกลุ่มนี้มีความสำคัญที่สุดคือ การเป็นเอ็นจีโอเพียงกลุ่มเดียวในประเทศที่สามารถก้าวข้ามความหลากหลายทางเผ่าพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย การเมือง และศาสนาที่แบ่งแยกประเทศนี้ได้ แทบจะเป็นองค์การเดียวที่สามารถสร้างความปรองดองในหมู่กบฏ และกลุ่มนิยมลัทธิเหมาเอาไว้ได้ภายใต้ร่มคันเดียวกัน

โครงการรณรงค์ครั้งล่าสุดที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ ลิลี เป็นอย่างมากคือ การที่เธอเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการนำกลุ่มนิยมลัทธิเหมาและกบฏกลุ่มอื่นๆ เข้าร่วมโต๊ะการเจรจาสันติภาพได้สำเร็จ อันเป็นผลจากการเดินหน้าทำตามมติ 1325 ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่ว่าด้วยผลกระทบต่อผู้หญิงจากการทำสงคราม และบทบาทของผู้หญิงในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหาความขัดแย้ง และการคงไว้ซึ่งสันติภาพ ซึ่งกำหนดไว้ว่า ความต้องการและบทบาทของผู้หญิง รวมถึงลูกๆ ของเธอจะต้องได้รับการยอมรับ และได้รับการแก้ปัญหา

ลิลี กล่าวว่า ตราบใดที่ความรุนแรงในประเทศยังคงเกิดขึ้น และผู้ชายยังต้องไปหาเลี้ยงชีพในสถานที่ที่ห่างไกลจากบ้าน เช่น การไปขายแรงงานยังต่างประเทศ ผู้หญิงและลูกๆ ก็จะถูกทอดทิ้งให้อยู่กันตามลำพังเพิ่มขึ้นตามตัวไปด้วย ซึ่งผลพวกจากสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ประชากรในประเทศก็จะเต็มไปด้วยผู้หญิง และนี่คือเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงควรมีส่วนร่วมในการเจรจาสันติภาพ

ลิลี ตั้งใจว่า ในอนาคตจะพยายามนำหญิงม่ายมารวมตัวพูดคุยกันให้มากขึ้น เพราะหมายความว่า ยิ่งพูดคุยมากขึ้น สัดส่วนของสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อผู้หญิงก็จะได้รับการเสนอมากขึ้นด้วย เนื่องจากผู้หญิงที่ถูกทอดทิ้งให้อยู่เพียงลำพัง พวกเธอมีความต้องการพิเศษหลายข้อ ทั้งการที่ต้องเลี้ยงดูลูกน้อยตามลำพังในสภาพสังคมที่ชายเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว อีกทั้งหญิงม่ายวัยรุ่นส่วนใหญ่มักจะไม่รู้หนังสือ และไม่มีทักษะพิเศษใดๆ ที่จะสามารถหารายได้เลี้ยงตัวได้เลย

ขณะที่ความยากจนและการขาดแคลนสิทธิในการรับมรดกมักจะทำให้หญิงม่ายและลูกสาวของพวกเธอตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจากฝีมือญาติผู้ชายในครอบครัวไม่ว่าจะเป็นการส่งพวกเธอไปขายถูกล่วงละเมิดทางเพศจากทหาร ตำรวจ กบฏเหมา และผู้คนในชุมชน

ลิลี กำหนดภารกิจลำดับแรกของเธอ คือการทำให้ปัญหานี้ได้รับการแก้ไขในสังคมเนปาลยุคใหม่ให้จงได้

................................

ที่มา:หนังสือพิมพ์การ์เดียน