Skip to main content

ทำไมสตรีศึกษาน่าสนใจ (1): ผู้หญิง ความรัก และจักรยาน
- - - - - - - - - - - - - - -
[หลักสูตรปริญญาโท สาขาวิชาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขยายเวลาเปิดรับสมัครนักศึกษาใหม่ถึงวันที่ 20 มิ.ย. 57 รายละเอียดที่นี่ค่ะ https://dl.dropboxusercontent.com/u/8751428/WGSSPbrochure.pdf ]

สตรีศึกษากับจักรยาน

ขอชวนแบบรวบรัดตัดความหากคุณมีโอกาสได้สัมผัสกับมุมมองหรือโลกของ 'สตรีศึกษา' การมองโลกจะเปลี่ยนไปอย่างน่าสนใจ ยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวและมันอยู่ในชีวิตประจำวันฉันขณะนี้ มีชายหนุ่มพยายามโน้มน้าวให้ปั่นจักรยานเพื่อจะได้มีพื้นที่ชีวิตที่สอดคล้องกันบ้าง โลกและมุมมองของผู้ชายจำนวนมากอาจจะคิดคล้ายๆกับอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ คือ "ชีวิตก็เหมือนการปั่นจักรยาน เราต้องเคลื่อนไปข้างหน้าตลอดเวลาเพื่อรักษาสมดุล" และการปั่นจักรยานของเขาก็จะเกาะเกี่ยวกับชีวิตและพื้นที่สาธารณะที่เขาสังคมอยู่ แม้ว่าจักรยานอาจจะตอบโจทย์เรื่องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญก็จริง ทว่า 'สตรีศึกษา' กลับทำให้ฉันไม่รีบกระโจนไปอยู่ในเหตุผลของโลกกระแสหลักไปในทันที หันมาสำรวจโลกของจักรยานในแง่มุมที่เข้ากับตัวเอง อย่างน้อยก็กลับไปสำรวจว่าผู้หญิงมีเหตุผลอะไรบ้างในการปั่นจักรยาน และเหตุผลของเราคืออะไร?

ปรากฎว่าทั้งจักรยานและ 'สตรีศึกษา' พาให้เราไปเจอชุดความรู้ใหม่ว่าจักรยานเป็นจุดเปลี่ยนหนึ่งในการต่อสู้เรียกร้องสิทธิการเลือกตั้งของเพศหญิงมายาวนาน และเป็นส่วนสำคัญในการเคลื่อนไหวของแนวคิดเฟมินิสต์ หรือสตรีนิยมอย่างสำคัญในอดีต จริงอยู่ทุนนิยมอยากให้ผู้หญิงปั่นจักรยานและผลิตจักรยานทรงผู้หญิงออกมาตั้งแต่ปี 1819 จนทำให้การปั่นจักรยานเป็นกีฬาอันดับหนึ่งของผู้หญิงในยุคหนึ่ง

แต่ผู้หญิงในยุคนั้นก็มีการเมืองของเธอเองไม่คล้อยตามกระแสอย่างไม่เท่าทัน กลับใช้จักรยานเป็น 'จักรกลแห่งอิสรภาพ' ในปี 1893 เทสซี่ เรย์โนลด์สร้างปรากฏการณ์ระดับประเทศ เธอปั่นจักรยานจากเมืองไบรตันสู่กรุงลอนดอนแล้วปั่นกลับมาด้วยจักรยานทรงผู้ชายในชุดแบบบุรุษ การแต่งกายของเธอถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่โลกของจักรยานต้องยอมรับการออกแบบที่เน้นประโยชน์ใช้ชอยสำหรับผู้หญิงด้วย ต่อมาเมื่อขบวนการอารยะขัดขืนเรียกร้องสิทธิเลือกตั้งของผู้หญิงทวีความเข้มข้นขึ้นถึงจุดสูงสุดในปี 1912 ผู้คนมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ของเทสซี่ และยกให้เป็นหลักไมล์ครั้งสำคัญของการเคลื่อนไหวขบวนการสิทธิสตรีทีเดียว

ต่อมา ปี 1894 แอนนี่ ลอนดอนเบอรี่ คว้าเสื้อผ้าและปืนลูกโม่ใส่กระเป๋าเดินทางออกจากบอสตัน เป้าหมายของเธอคือปั่นจักรยานรอบโลก ด้วยไหวพริบปฏิภาณและความหลักแหลมผนวกกับเสน่ห์เฉพาะตัว แอนนี่โอบกอดการเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศอย่างชาญฉลาด เธอกลายเป็นต้นแบบของ 'สตรีสมัยใหม่' คำจำกัดความที่สังคมอเมริกาใช้เรียกผู้หญิงที่มีบทบาทเทียบเท่าผู้ชายในสมัยนั้น และซูซาน แอนโธนีย์ แกนนำขบวนการสิทธิเลือกตั้งผู้หญิง กล่าวปลุกระดมไว้ว่า "การแต่งกายของแอนนี่คือการประกาศจุดยืนครั้งยิ่งใหญ่ เธอตระหนักว่าสตรีเท่าเทียมกับบุรุษเพศทั้งในเรื่องเสื้อผ้าและเจตจำนงในการใช้ชีวิต"

ซูซาน เป็นแกนนำผู้หญิงในการปลุกระดมและโด่งดังขึ้นมาเพราะถุกจับกุมหลังออกเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีในปี 1872 เธอให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์นิวยอร์กซันเดย์เวิลด์ ในปี 1896 ว่า "ฉันจะบอกอะไรเกี่ยวกับการปั่นจักรยานให้ฟัง ฉันคิดว่ามันเป็นการปลดเปลื้องและให้อิสรภาพแก่เพศหญิงมากกว่าสิ่งอื่นใดในโลก จักรยานทำให้หญิงสาวได้สัมผัสกับอิสรภาพและช่วยสอนเรื่องการพึ่งตนเอง ในจังหวะที่ก้าวขึ้นนั่งบนจักรยานเธอจะรู้ตัวทันทีว่าไม่มีสิ่งใดทำอันตรายเธอได้ตราบที่ยังนั่งอยู่บนนี้ และเมื่อปั่นออกไป อิสรภาพแห่งสตรีเพศก็ปรากฎเบื้องหน้าของเธอ"

กล่าวโดยสรุปคือ สังคมมักจะโจมตีว่าพวกเฟมินิสต์เป็นพวกก้าวร้าวและชอบเรียกร้องสิทธิ แต่หากเราเรียนรู้และเข้าใจโลกแห่งสตรีศึกษา จะเข้าใจมากขึ้นและลึกซึ้งว่า เมื่อผู้หญิงกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอย่างมีอิสรภาพและเสมอภาค เธอจะเป็นผู้สร้างจุดเปลี่ยนของสังคมอย่างสำคัญและมอบอีกชุดความรู้ที่หายไปหรือถูกทำให้หายไปในโลกกระแสหลัก แล้วมันเกี่ยวอะไรกับ 'ความรัก' ที่จั่วหัวเรื่องไว้

คือ ตลกร้ายมาก ที่คนมักป้ายสีว่าคนเรียนสตรีศึกษาหรือแนวคิดสตรีนิยม เพศสถานะ มักเป็นคนมี 'ปม' อย่างน้อยต้องอกหัก รักคุด ถุกทำร้ายทุบตี มีปัญหาชีวิตให้หงุดหงิด สังคมกระแสหลักคิดอย่างนั้นก็ได้แต่ก็ต้องให้คุณค่ากับ 'ปม' ของผู้หญิงว่า อารมณ์ของเธอกลับสร้างชุดเหตุผลและองค์ความรู้ชุดใหม่ๆให้แก่สังคม การเมือง และการวางรากฐานเศรษฐกิจ จนสามารถยกระดับวิธีคิดของสังคมโลกอย่างเป็นสากล ให้สิทธิของผู้หญิง = สิทธิมนุษยชน คือคนต้องเท่าเทียมกัน

มากกว่านั้นพัฒนาการของโลกแห่งสตรีศึกษา ได้ทำให้เราหนีออกจากสภาวะเขาควาย (dilemma) เมื่อผู้หญิงมีอำนาจแล้วก็ไม่ไปกดทับคนที่มีอำนาจน้อยกว่า เหยียดคนอื่น เพศสถานะอื่นๆ คนที่เข้าใจเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจแล้ว มักจะสร้างทางเลือกใหม่ๆ และเปิดพื้นที่ให้คนที่แตกต่างหลากหลายมีพื้นที่ยืน ให้เสียงของคนเล็กคนน้อย คนชายขอบ และเพศสถานะอื่นๆ ได้มีจุดยืนและตำแหน่งแห่งที่ไม่ตกอยู่ในสภาพเดียวกับที่ผู้หญิงเคยผ่านมาก่อน

สตรีศึกษาจะสอนแง่มุมความรักของความรู้และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างเสมอภาค เท่าเทียมกันในความเป็นคนนั่นเอง

และถ้าจะถามว่าฉันปั่นจักรยานเป็นตามคำชวนของชายหนุ่มหรือยัง? คำตอบคือยัง สถานการณ์คือล้มแล้วล้มอีก กำลังเรียนรู้ทั้งความสัมพันธ์ ประหนึ่งเรียนรู้การทรงตัวเพื่อให้เกิดสมดุลย์ในการเดินไปข้างหน้าอยู่ค่ะ

ปล. เครดิตความรู้จากหนังสือ "อะไรๆก็จักรยาน" ของสำนักพิมพ์มติชนและหากสนใจเรื่องราวการเดินทางรอบโลกของ 'แอนนี่ ลอนดอนเบอรี่' หาอ่านได้จากหนังสือ "Around the World on Two Wheels: Annie Londonderry's Extraordinary Ride”

ทำไมสตรีศึกษาน่าสนใจ (1): ผู้หญิง ความรัก และจักรยาน