Skip to main content

หลังการเปิดเผยผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มูลค่ากว่า 86,000 ล้านบาทก่อนสิ้นปี 2552 ทำให้รัฐมนตรี 2 คนลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง ตามทีมที่ปรึกษาและเลขานุการรัฐมนตรีที่ลาออกไปก่อนหน้านี้ เมื่อปรากฏข่าวการเปิดโปงการทุจริตโดยชมรมแพทย์ชนบทผ่านสื่อมวลชนตั้งแต่เดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมา กล่าวกันว่าเป็นการเตรียมการทุจริตที่ไม่ได้ใยดีต่อประวัติศาสตร์และบทเรียนจาก ‘การทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ งบฯ 1,400 ล้านบาท’ เมื่อปี 2541 ที่ชมรมแพทย์ชนบท เภสัชชนบท และเครือข่ายต่อต้านการทุจริตภาคประชาชนออกมาเคลื่อนไหว มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนอย่างต่อเนื่องมากกว่า 30 คณะ จนทำให้นักการเมืองถูกพิพากษาจำคุกเป็นเวลา 15 ปี ดังนั้น เมื่อวันที่ 11 มกราคมที่ผ่านมา สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดราชดำเนินเสวนา “ถามหา ‘มาตรฐาน’ จากทุจริตยา ถึง ไทยเข้มแข็ง?” ซึ่งนับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ภาคประชาสังคม’ เข้ามาสอดรับการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบทอีกครั้งในการตรวจสอบทุจริตครั้งนี้ โดยมีประเด็นและรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้ ..

สิ่งที่น่ากังวล ผลกระทบจากการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง

ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ นักวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า งบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 ของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จำนวนกว่า 86,000 ล้านบาท ซึ่งมากเป็น 60 เท่าของงบฯ การจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ ปี 2541 มูลค่าเพียง 1,400 ล้านบาท สิ่งที่สังคมไทยต้องตระหนักร่วมกันคือ งบประมาณในโครงการแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง รัฐบาลไทยไปกู้เงินมา เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศ ถ้าใช้เงินอย่างไม่มีประสิทธิภาพ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือ หนี้ในอนาคต ซึ่งจะทำให้ฐานะการเงินการคลังของรัฐบาลอ่อนแอลง โครงการใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะรัฐบาลต้องหาเงินมาใช้หนี้

“สิ่งที่รับรู้จากการสอบสวนการทุจริตไทยเข้มแข็ง นอกจากการพยายามทุจริตในวงเงินประมาณจำนวนมากกว่าที่ผ่านมาหลายเท่าตัว ยังเป็นการเตรียมการเพื่อทุจริตต่อเนื่องระยะยาว กล่าวคือเป็นจุดตั้งต้นในการกินยาวและสร้างผลเสียหายระยะยาว ซึ่งแย่กว่าการทุจริตยาและเวชภัณฑ์” นพ.วชิระ บถพิบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมพวง จ.นครราชสีมา และหนึ่งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี (ที่นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน) กล่าวและอธิบาย

การทุจริตจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ก็แค่ซื้อของราคาแพงโดยไม่จำเป็นมากองไว้ ทั้งยาและเวชภัณฑ์ใช้ไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็หมด งบประมาณ 1,400 ล้านบาท ทุจริตจริงๆ ก็แค่ 200-300 ล้านบาท แต่การจัดซื้อเครื่องมือแพทย์โดยไม่จำเป็นเช่น เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตร้าไวโอเลต (UVfan) ในลักษณะการสั่งให้ทุกโรงพยาบาลชุมชนจัดซื้อโดยไม่ได้ขอ รพ.ละ 1 เครื่องนั้น นอกนั้นที่เหลือก็ไปใช้เงินบำรุงโรงพยาบาลซื้อกันเองในอนาคต และทางรพ.อาจจะต้องไปดัดแปลงสถานที่เองเพื่อให้เหมาะกับการใช้เครื่องให้มีประสิทธิภาพอีกต่างหาก

“หรือกรณีการจัดสรรงบเพื่อจัดซื้อเครือตรวจชีวเคมีในเลือด เครื่องตรวจนับเม็ดเลือดอัตโนมัติโดยไม่ได้ขอนั้น เครื่องเหล่านี้ปกติ รพ.ไม่ต้องซื้อเครื่อง เหมือนเครื่องถ่ายเอกสารที่บริษัทขายวัสดุชันสูตรจะมาวางให้รพ.ใช้เอง แล้วทำไมเราต้องเลือกซื้อเครื่องของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เทคโนโลยีการแพทย์เหล่านี้เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งบริษัทควรเข้ามาให้บริการบำรุงรักษาโดยไม่คิดมูลค่า แต่ภาระการดูแลเหล่านี้จะกลายเป็นของรพ.ในอนาคต”

“หรืองบประมาณการก่อสร้างในโครงการนี้สูงมากถึง 80% ก็เป็นการสร้างตึก สร้างอาคารอย่างไม่มียุทธศาสตร์ การกระจายงบลงทุนโดยกระจุกตัวแต่ในเมืองใหญ่ และยังเป็นพื้นที่ของนักการเมือง ซ้ำร้ายงบประมาณเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรที่มีน้อยมากตั้งไว้แค่ 6% ก็ยังมีแทรกอาคารหอพักพยาบาลเข้าไปอีก ทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรไม่เป็นธรรม ส่งผลให้โครงสร้างการบริการสุขภาพระยะยาวบิดเบี้ยว ไม่เป็นไปตามสภาพความเป็นจริงและทุกข์ร้อนของประชาชน เหล่านี้เป็นผลเสียระยะยาวที่เกิดขึ้นภายใต้โครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเสียหายมากกว่าการทุจริตยาและเวชภัณฑ์ที่ผ่านมา”

ที่มาของงบประมาณและวิธีการทุจริต

ดร.นวลน้อย เปรียบเทียบว่า การทุจริต 2 กรณีนี้เหมือนกัน ประการแรกเกิดในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ กล่าวคือ การทุจริตยา ปี 2541 เกิดหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ที่รัฐบาลไปกู้เงิน IMF มาแล้วได้จัดสรรงบประมาณเพื่อเยียวยาความเสียหายจากระบบเศรษฐกิจที่สร้างผลกระทบแก่ประชาชน ที่ไม่สามารถเข้าถึงหรือจ่ายค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพได้ และโรงพยาบาลก็มีหนี้ค่ายากันจำนวนมาก ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงจัดสรรงบประมาณให้ สธ.เพื่อการเยียวยา งบประมาณจึงไม่มากแค่ 1,400 ล้านบาท ส่วนการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ปี 2552 เป็นงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกกู้และอัดเงินเข้าประเทศกันอย่างมากมาย เพราะกลัวเศรษฐกิจจะดิ่งลงเหว เป็นงบลงทุนเพื่อดึงเศรษฐกิจขึ้นมาหวังทำให้ระบบเศรษฐกิจและคนไทยเข้มแข็งขึ้น วงเงินงบประมาณนี้จึงมหาศาล 1.4 ล้านล้านบาท โดยทยอยอนุมัติงบประมาณผ่านรัฐสภาฯ ทีละหลายแสนล้านบาท

เหมือนกันประการที่ 2 คือ มีการเร่งรีบจัดทำโครงการหรือคำของงบประมาณ ซึ่งความเร่งรีบนี้จึงเป็นข้ออ้างหรือการฉวยใช้ให้ทุจริตได้ การทุจริตยา เป็นการจัดสรรงบเพื่อให้โรงพยาบาลต่างๆ ไปใช้หนี้ค่ายาที่ติดค้างกับบริษัทยาและองค์การเภสัชกรรม แต่กลับนำไปซื้อเวชภัณฑ์ราคาแพง ส่วนโครงการไทยเข้มแข็ง ต้องถือว่าผลกระทบหลังการรัฐประหาร ปี 2549 ที่ทำให้ระบบราชการเกิดความเฉื่อยชา เมื่อมีโครงการใหญ่และเร่งด่วนลงมือจึงไม่มีการกลั่นกรองเลย

ดร.นวลน้อย อธิบายวิธีการทุจริตนั้น มีลักษณะที่เหมือนกัน คือ (1) ทั้ง 2 กรณีเกิดขึ้นได้เพราะข้าราชการให้ความร่วมมือกับนักการเมือง ลำพังนักการเมืองฝ่ายเดียวไม่สามารถทุจริตได้ และน่าเชื่อว่าข้าราชการร่วมด้วย ใน 2 ลักษณะคือ ข้าราชการจำนวนหนึ่งเต็มใจเพราะอาจได้ส่วนแบ่ง หรือได้ตำแหน่งที่ก้าวหน้ากว่าเดิม และจำนวนหนึ่งยอม จำใจ ทุจริตเพราะอยู่ในความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ต้องทำ เพราะอาจได้รับผลกระทบหากไม่ร่วมมือ  (2) กรณีการทุจริตยา เนื่องจากยามีราคากลาง จึงเริ่มต้นจากการออกระเบียบยกเลิกราคากลาง เพื่อสั่งซื้อตามอำเภอใจ ส่วนโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งเป็นงบลงทุน ที่มีคณะกรรมการตรวจสอบ กลับไม่ใช่กลไกนั้น แต่เลือกใช้กลไกพิเศษ

และ (3) ทั้ง 2 กรณีนี้เป็นการจัดสรรงบประมาณกระจายออกไปในส่วนภูมิภาคก็จริง แต่มี ‘ใบสั่ง’ ออกไปจากส่วนกลาง ทำให้มีคนรู้เห็น ‘ความผิดปกติ’ เห็นปัญหาและผลกระทบจำนวนมาก อันนำมาซึ่งการตรวจสอบ เปิดโปงได้อย่างรวดเร็ว หากเทียบกับโครงการเมกกะโปรเจ็คในกระทรวงอื่น เช่น ถ้ากระทรวงคมนาคมทำถนนหรือโครงการรวมเป็นจุดเดียว ก็จะมีแต่คนที่รู้ในโครงการนั้นโอกาสที่คนอื่นจะรู้เห็นยากมาก นอกจากข้าราชการวงในที่จะเห็นประเด็นต่างกัน และนำข้อมูล ‘อินไซด์’ ออกมา

น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา กทม. กล่าวว่า แม้กระบวนการทุจริตมีความก้าวหน้า ทุจริตเมกกะโปรเจ็คเม็ดเงินสูงขึ้น แต่จุดหนึ่งที่ยังเหมือนเดิมทั้งทุจริตยาและโครงการไทยเข้มแข็งคือเป็นการ ทุจริตแบบสามเหลี่ยมคอร์รัปชั่น คือ มีความเกี่ยวพันใน 3 กลุ่ม ประกอบด้วย ข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ แต่สิ่งที่ต้องจับตามองคือจะสามารถเอาผิดข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องได้ หรือไม่ ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่ต้องลาออก

ปัจจัยทางการเมืองและจังหวะในการตรวจสอบ

นพ.วชิระ เล่าว่า ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2552 นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบทถูกแรงกดดันจากสมาชิกชมรม ซึ่งก็คือผู้อำนวยการรพ.ชุมชนหลายแห่ง ให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะได้รับใบสั่งให้จัดซื้อจัดเครื่องมือแพทย์อย่างโจ่งแจ้ง ทั้งในระดับจังหวัดและในระดับอำเภอ และให้เร่งดำเนินการให้เสร็จภายในวันที่ 30 กันยายน 2552 โดยมีข้ออ้างเร่งรัดว่า หากใช้งบประมาณช้าจะถูกสำนักงบประมาณริบเงิน นพ.เกรียงศักดิ์ ก็แจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบว่าอาจมีความไม่ชอบมาพากลในโครงการไทยเข้มแข็ง นายกฯ ก็ว่าหากมีข้อมูลให้แจ้งให้ทราบ จากนั้นก็มีการส่งข้อมูลต่อๆ กัน เปิดประเด็นผ่านสื่อ การเคลื่อนไหวก็มีกระบวนการและขั้นตอน จนกระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงตามที่มีการเผยแพร่ผลสอบสวนแก่สาธารณะ

“ในชมรมฯ มีการถกเถียงกันประเด็นหนึ่งคือ เราจะรอให้พบหลักฐานทุจริตก่อนค่อยเปิดโปง เหมือนกรณีทุจริตจัดซื้อยาฯ หรือเปิดเผยให้สังคมรู้เลย สรุปกันว่า การทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็ง งบประมาณครั้งนี้มากกว่า 86,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นเรื่องรอไม่ได้ชมรมต้องรีบออกมาฟ้องสังคม อันเป็นการป้องกันผลเสียหายได้มากกว่า เพราะการออกมาเปิดเผยเช่นนี้ ชมรมหวังว่าจะเกิดกระบวนการรื้อและจัดสรรงบประมาณเพื่อประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่านี้ นี่คือความแตกต่างในแง่ของจังหวะการเคลื่อนไหวของชมรมแพทย์ชนบท”

ด้านดร.นวลน้อย เห็นว่า ในเชิงปัจจัยทางการเมือง เห็นได้ชัดเจนว่าลักษณะความเข้มแข็งทางการเมืองของรัฐบาลผสม หากพรรคที่เป็นแกนกลางไม่สามารถกุมอำนาจเบ็ดเสร็จ การทุจริตในลักษณะเช่นนี้ จะทำให้กระบวนการตรวจสอบทำได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ซึ่งแตกต่างอย่างมากในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อการเมืองเข้มแข็ง ระบบการตรวจสอบย่อมอ่อนแอ สะท้อนผ่านกรณีทุจริตคอมพิวเตอร์ 900 ล้านบาท หรือกรณีรถพยาบาล 232 คันที่ไม่สามารถสรุปผลการสอบสวนได้

ในประเด็นเดียวกันนี้ น. ส.รสนา กล่าวว่า ที่เหมือนกันคือเป็นการทุจริตในสมัยรัฐบาลประชาธิปัตย์ ปี 2541 เป็นการกระทำของพรรคร่วมรัฐบาล แต่กรณีไทยเข้มแข็งรัฐมนตรีพรรคประชาธิปัตย์ถูกชี้มูลว่ามีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ข้อแตกต่างของโครงการไทยเข้มแข็งอยู่ที่สามารถตรวจสอบและยับยั้งก่อนจะมีการทุจริต ขณะที่โครงการทุจริตยา พบการทุจริตไปแล้วราว 100-200 ล้านบาท

“และสิ่งที่แตกต่างอย่างสำคัญ คือ กระบวนการตรวจสอบในโครงการทุจริตยา มีภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบและกดดันอย่างต่อเนื่องและเข้มเข้ม มีการล่าลายชื่อ 50,000 รายชื่อเพื่อถอดถอนรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูง ที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการรณรงค์ยุติคอรัปชั่นใน สธ. จนกลายเป็นกระแสกดดันให้รัฐมนตรี 2 คนต้องลาออก แม้ว่าการล่ารายชื่อนั้นจะไม่มีผลในทางการกฎหมายก็ตาม ขณะที่โครงการไทยเข้มแข็ง เป็นการต่อสู้ของชมรมแพทย์ชนบท ที่กระแสสังคมยังให้ความสนใจไม่มากนัก กระนั้นกระบวนการตรวจสอบก็กระชับและชัดเจน ไม่ได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนมากหมายเหมือนในอดีต อย่างไรก็ดี ควรมีพัฒนาการตามวิธีการทุจริตที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย” น.ส.รสนา กล่าว

สังคมสร้างมาตรฐานการแสดงความรับผิดชอบของนักการเมือง

นพ.วชิระ ระบุว่า สังคมมีส่วนสำคัญทำให้นักการเมืองต้องสร้างมาตรฐานความรับผิดชอบทางการเมือง ครั้งนี้ก็ต้องให้เครดิตนักการเมือง เพราะพอปรากฏข่าวในสื่อไปสักระยะ ทีมที่ปรึกษาของ นายวิทยา แก้วภราดรัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนายพิเชษฐ์ พัฒนโชติ ลาออกก่อน และเมื่อคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ที่นพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธานเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานผลการสอบสวน และแถลงแก่สาธารณะวันที่ 28 ธันวาคม 2552 วันรุ่งขึ้น รมว.สธ.ก็ลาออก เพื่อแสดงความรับผิดชอบทันที และต่อมาวันที่ 10 มกราคม 2553 นายมานิตย์ นพอมรบดี รมช.สธ.ก็ลาออกตาม

สำหรับนางรสนา เห็นว่า “เป็นการเติบโตเข้มแข็งของสังคมไทย” ต่อให้รัฐสภา มิได้มีการร่างประมวลจริยธรรมของนักการเมือง แต่การประกาศกฎเหล็ก 9 ข้อ ของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ถูกนำมาอ้างอิงและใช้ในสถานการณ์นี้ และมีผลไปถึงพรรคร่วมรัฐบาลด้วย แต่ที่น่าสนใจก็คือ ในอดีตนักการเมืองที่ถูกชี้มูลความผิดไม่เคยฟ้องกรรมการสอบสวน แต่คราวนี้กลับมีคำขู่ฟ้องกลับกรรมการด้วย

นพ.วชิระ กล่าวอีกว่า การที่ชมรมแพทย์ชนบทออกมาเคลื่อนไหวตรวจสอบทุจริตคอรัปชั่นของสธ. มีข้อเรียนรู้ 2 ประการคือ สธ. ยังไม่ใช่องค์กรแห่งการเรียนรู้ โดยเฉพาะบทเรียนความผิดพลาดของตนเองในอดีต ถามว่าในอนาคตกรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นอีกหรือไม่ เชื่อว่าน่าจะกลับมาอีก และการรวมตัวของชมรมแพทย์ สามารถช่วยหยุดคอร์รัปชั่นได้  ผมคิดว่าข้าราชการกระทรวงอื่นก็เช่นกัน หากมีการรวมตัวกันอย่างจริงจัง ก็อาจจะสามารถยับยั้งคอรัปชั่นได้

ข้อเสนอการใช้งบประมาณโครงการไทยเข้มแข็ง

ดร.นวลน้อย ชี้ให้เห็น “ขณะนี้มี 2 เรื่องปนกันอยู่ คือ (1) การจัดสรรงบประมาณนั้นเกิดผลประโยชน์สูงสุดแล้วหรือยัง? โดยส่วนตัวใช้งบประมาณช้าหน่อยคงไม่เป็นไร กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่า สธ. ไม่มีแผนแม่บทการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ ที่ผู้บริหารรู้โดยทันทีว่าหากมีงบประมาณ หรือทรัพยากรใดเข้ามาก็เห็นคำตอบชัดเจนว่าต้องลงทุนกับสิ่งใดอย่างมีขั้นตอน ไม่ใช่การถกเถียงกันว่า ควรลงทุนในสิ่งใด สุดท้ายก็จบลงที่นักการเมืองกับข้าราชการ สร้างโครงการพิเศษ หรือนำเรื่องของตนเองยัด สอดไส้เข้ามาอย่างขาดหลักการ และความรู้รองรับ (2) งบประมาณส่วนไหนมีการเตรียมทุจริตที่ต้องแยกออกมา ถ้าเป็นเรื่องการก่อสร้าง ต้องการตรวจสอบราคากลางก็ถามไปกับทางวิศวกรก็จะได้ราคากลางที่สามารถป้องกันการทุจริตได้ 70-80%

จริงหรือชมรมแพทย์มีเทวดาคุ้มครอง?

ผู้สื่อข่าว: “ข้อกล่าวหาการเคลื่อนไหวของของแพทย์ก. และ อ. สองหมอ ชมรมแพทย์ชนบท มีเทวดาคุ้มครอง จนสามารถเปลี่ยนรัฐมนตรีได้ หรืออยากแต่งตั้งปลัดคนไหนก็ได้ คือเบื้องหลังการออกมาเปิดโปงการทุจริตครั้งนี้” นพ.วชิระ ตอบว่า ถ้าเทวดาคุ้มครองที่กล่าวถึงกันนั้น หมายถึงนพ.ประเวศ วะสี ดูจะก้าวล่วงท่านมากเกินไป เพราะท่านอยู่เหนือการเมืองเรื่องนี้ และบทบาทที่เกี่ยวข้องกับชมรมแพทย์ชนบทระยะหลังก็น้อยมาก นพ.ประเวศห่วงใยเพียงคนรุ่นใหม่ที่มีจิตสาธารณะน้อยลง สำหรับท่าทีของชมรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ซึ่งระยะเวลาที่ผ่านมานั้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่า เป็นการตรวจสอบติดตามนโยบายแต่ละพรรคว่าเอื้อต่อประชาชนทุกส่วนหรือไม่ เรื่องการเปลี่ยนคนหรือไม่เปลี่ยนไม่ เป็นประเด็นรอง หรือไม่เป็นประเด็นในบางสถานการณ์เลย นับว่าเป็นข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย

พิสูจน์ความจริงจังของ ปปช.

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตั้งประเด็น “มีคำถามเชิงห่วงใย ว่าการที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) ตั้งอดีตข้าราชการสธ.: ศ.ภักดี โพธิศิริ เป็นประธานคณะอนุกรรมการสอบสวนการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งในสธ. เป็นเพราะปปช. ไม่อยากทำอะไรจริงจังกับกรณีหรือไม่?” ดร.นวลน้อย ให้ความเห็นต่อกรณีนี้ว่า ในเมื่ออดีตข้าราชการสธ. สวมหมวกใบใหม่ ก็ต้องพิสูจน์บทบาทหน้าที่ใหม่นั้นด้วย เข้าใจว่ากรณีนี้คณะกรรมการปปช. คงต้องเลือกกรรมการที่มีความเข้าใจ มีบริบทพอสมควร และศ.ภักดี ก็อยู่ในจุดที่รู้เรื่องดี ก็ต้องถือว่าเรื่องนี้เป็นบทพิสูจน์บทบาทในหมวกใหม่

‘การเตรียมทุจริต’ เอาผิดได้หรือไม่?

ส่วนประเด็นที่มีการถกเถียงกันขณะนี้คือ ‘การเตรียมการทุจริต’ นั้นจะสามารถเอาผิดได้หรือไม่? ดร.นวลน้อย กล่าวว่า “มีโอกาสได้ถามกรรมการบางคนในสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ทราบว่าหากกระบวนการใดมีการใช้อำนาจโดยมิชอบ หรือที่เรียกว่าการบิดผันอำนาจ แม้จะพบว่าอยู่ระหว่างเตรียมการ ก็แสดงว่ามีการส่อเจตนาแล้ว ดังนั้น ย่อมเข้าข่ายมีความผิด"

ผิด รธน. 255 -256 ว่าด้วยการกระทำที่ขัดผลประโยชน์?

ผู้สื่อข่าวถาม “ในอดีตนั้น กรณีทุจริตยาเป็นเครื่องมือในการทดสอบรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ตั้งแต่การข้อผลการสอบสวนจากปปป. ตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ศ.2541 การเข้าชื่อ 50,000 ชื่อเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการติดตามการสอบสวนจนผลักคดีนี้ขึ้นสู่ศาลคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จนเอาผิดนักการเมืองให้เข้าคุกได้ และในกรณีการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็ง ซึ่งตามผลการสอบสวนตอนหนึ่งระบุว่า ‘โดยเฉพาะ นายมานิตย์ นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ.การใช้ตำแหน่งหน้าที่สั่งการให้ข้าราชการของบประมาณก่อสร้างเกินความจำเป็น นอกจากมุ่งเพื่อการหาเสียงแล้ว น่าสงสัยว่าจะมีผลประโยชน์ในเรื่องการรับเหมาก่อสร้างด้วยหรือไม่ และการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของสส.และรัฐมนตรี การดำเนินการเช่นนี้ น่าพิจารณาว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 266 และมาตรา 265 หรือไม่?’ จะมีการตรวจสอบในเพื่อทดสอบรัฐธรรมฉบับใหม่นี้ด้วยหรือไม่”

ดร.นวลน้อย เห็นว่า โดยกระบวนการเรื่องนี้น่าจะผ่านการสอบสวนจาก ปปช. ขึ้นมาก่อน เพราะใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต มาตรา 100 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม ว่ากรณีดังกล่าวเข้าข่ายหรือไม่ คงต้องคอยติดตามและถามนักกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่าสามารถไปถึงข้อบัญญัติในรัฐธรรมนูญหรือไม่

สำหรับการออกมาของภาคประชาสังคมเพื่อร่วมตรวจสอบการทุจริตนี้อย่างต่อเนื่องนั้น น.ส.สารี กล่าวว่า กำลังรอดูจังหวะของเหตุการณ์และบริบท ที่เครือข่ายจะออกมาเคลื่อนไหว ขณะนี้ก็เกาะติดและติดตามดูท่าทีของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องว่าจะจริงจังกับการตรวจสอบมากน้อยแค่ไหนอยู่อย่างใกล้ชิด.