Skip to main content

การเตรียมการทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข นอกจากความพยายามทุจริตจัดซื้อเครื่องมือแพทย์หลายรายการในวงเงินงบประมาณมหาศาล การลงทุนในสิ่งก่อสร้างต่างๆ ด้วยวงเงินมากถึง 31,566 ล้านบาท ที่ไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของประเทศในอนาคต  เนื่องจากขาดยุทธศาสตร์  และการจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน  งบประมาณยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ  และเมืองใหญ่  มากกว่าที่จะกระจายออกไปในระดับทุติยภูมิและปฐมภูมิที่ขาดแคลนมากกว่า  จึงไม่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ ซ้ำร้ายยังมี ‘นักการเมือง’ เข้ามาล้วงลูก และยุยงข้าราชการให้พัวพันไปด้วยว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก”

โดยเฉพาะ นายมานิตย์ นพอมรบดี รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. การใช้ตำแหน่งหน้าที่สั่งการให้ข้าราชการของบประมาณก่อสร้างเกินความจำเป็น นอกจากมุ่งเพื่อการหาเสียงแล้ว น่าสงสัยว่าจะมีผลประโยชน์ในเรื่องการรับเหมาก่อสร้างด้วยหรือไม่ และการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ สส.และรัฐมนตรี การดำเนินการเช่นนี้  น่าพิจารณาว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 266 และมาตรา 265 หรือไม่?

ล้วงลูกก่อสร้างตามใจการเมือง

งบประมาณในโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุขรวม 86,685.61  ล้านบาท  งบประมาณในส่วนของสิ่งก่อสร้างส่วนใหญ่จัดสรรใน  2  กรมคือ
 

สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข

50,427,143,800

บาท

กรมการแพทย์

3,884,912,900

บาท

รวม

5,4312,056,700

บาท

คิดเป็นร้อยละ  62.653    ของงบประมาณทั้งหมด

ในส่วนของสิ่งก่อสร้าง  พบอย่างชัดเจนว่าไม่มีการเตรียมการและการดำเนินการอย่างเป็นระบบ แม้จะเคยมีการตั้งคณะกรรมการตามคำสั่งกระทรวงสาธารณสุข ที่  762/2551 ลงนามโดย นพ.ไพจิตร์  วราชิต  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขในขณะนั้น เมื่อวันที่  22  กรกฎาคม  พ.ศ. 2551  โดยมีการกำหนดอำนาจหน้าที่  ในการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพิจารณาให้สอดคล้องกับข้อมูลการกระจายระดับสถานบริการตามภูมิศาสตร์สนเทศ (GIS)  วางแผนพัฒนาการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายบริการสาธารณสุขทุกระดับ พัฒนาระบบฐานข้อมูล ปรับปรุงแปลน แต่กลับไม่เคยดำเนินการในรูปของคณะกรรมการนี้เลย

เพราะแท้จริงการจัดสรรอยู่ที่ใครขอมา หากผ่านมาทางรัฐมนตรีช่วยมานิตย์ นพอมรบดีและเลขานุการรัฐมนตรีคือแม่เลี้ยงติ๊กแล้ว ก็จะเข้าวินแน่นอน สอดคล้องกับคำให้การของ นพ.สุชาติ  เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ที่ว่า “ข้อมูลการของบกว่าครึ่งมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาในช่วง 2-3  เดือนสุดท้าย  โดยการส่งผ่าน รมช. และเลขานุการ รมว. ซึ่งมีการเรียกตนโดยตรงไปรับคำขอ” 

อีกทั้ง นพ.สุชาติ  ยอมรับว่า “ไม่มีกรรมการกลั่นกรอง......รายการที่ขอมาจากทุกจังหวัด  บางจังหวัดขอน้อยมาก บางจังหวัดขอมาเป็นจำนวนมาก “เผื่อได้”  โดยไม่มีเกณฑ์” แม้จะผ่านผู้ตรวจราชการแต่ละเขต  แต่การพิจารณาก็ลักลั่นกัน แสดงให้เห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินโครงการนี้อย่างไม่มีหลักเกณฑ์และการบริหารจัดการก็อ่อนแอมาก

ไร้ทิศทางการพัฒนาระบบสาธารณสุข

การลงทุนในสิ่งก่อสร้างต่างๆ  ไม่ส่งเสริมความเข้มแข็งของประเทศในอนาคต  เนื่องจากขาดยุทธศาสตร์  และการจัดลำดับความสำคัญที่ชัดเจน  งบประมาณยังกระจุกตัวอยู่ในกรุงเทพฯ  และเมืองใหญ่  มากกว่าที่จะกระจายออกไปในระดับทุติยภูมิและปฐมภูมิที่ขาดแคลนมากกว่า  จึงไม่ส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ การจัดสรรให้แก่โรงพยาบาลใหญ่ระดับตติยภูมิและ Excellent  Center วงเงินมีมากถึง  31,566  ล้าน  สำหรับ รพ.  94 โรง  ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ รพ.กรมการแพทย์อีกไม่กี่โรง ซึ่งให้ตามคำขอ โดยแทบไม่มีการตัดเลย 

ในขณะที่การจัดสรรระดับทุติยภูมิซึ่งมีวงเงินที่น้อยกว่าคือ  13,499  ล้านบาท และเมื่อต้องมีการเพิ่มการจัดสรรให้แก่โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลชุมชนใหม่  58  อำเภอตามนโยบายรัฐบาล อีกแห่งละ 48  ล้านบาท  รวมเป็นเงิน 2,804 ล้านบาท  ซึ่งทำให้เกิดผลกระทบคือ โรงพยาบาลชุมชนทั้ง  735  แห่ง  ได้รับงบประมาณสิ่งก่อสร้างเพียง   235   แห่ง จะมีก็แต่  รถพยาบาล  และเครื่องยูวีแฟน ที่มีการฮั้วทุจริตกันแล้วเท่านั้น ที่จัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชนครบทั้ง  735  แห่ง  อีกทั้งโรงพยาบาลชุมชน  26  แห่ง  ที่มีแผนขยายเป็นโรงพยาบาลทั่วไปตั้งแต่  20  ปีที่ผ่านมาได้รับงบประมาณไม่ครบตามเป้าหมายที่กำหนด  บางแห่งแทบไม่ได้รับงบประมาณเลย

ยังมีการจัดสรรที่น่าจะเกิดจากการกดดันของฝ่ายการเมืองโดยไม่เหมาะสม  เช่น รพ.เลิงนกทา  จ.ยโสธร  ได้อาคารผู้ป่วยในขนาด  114  เตียง  ทั้งๆ ที่เดิมเป็น รพ.สมเด็จพระยุพราชขนาด  90  เตียง  รพ.ฮอด  จ.เชียงใหม่  ได้อาคารผู้ป่วยนอก – อุบัติเหตุ  ราคา  185,130,000  บาท  ทั้งๆ ที่เป็น รพ.ขนาด  60  เตียง  ยังไม่มีที่ดินสำหรับก่อสร้าง ต้องเตรียมทอดผ้าป่าหาเงินซื้อที่ และมีป้ายคัตเอาท์ขนาดใหญ่ของนักการเมืองโฆษณาว่าเป็นผู้ดึงงบประมาณมาให้ และรพ.เขื่องใน จ.อุบลราชธานี  ได้อาคารใหม่  5  ชั้น  ราคา 168 ล้าน ทั้งๆ ที่เป็น รพ.ขนาด 60 เตียง ห่างจังหวัดเพียง  30  กม. เป็นต้น

ไม่น่าเชื่อว่าจะจัดสรรได้เละถึงเพียงนี้

การจัดสรรสิ่งก่อสร้างที่ผ่านมาในโครงการไทยเข้มแข็งนั้นมีสิ่งที่เละอย่างไม่น่าเชื่ออยู่หลายประการ  เช่น

1. การจัดสรรงบประมาณซ้ำซ้อน เช่น รพ.มุกดาหาร  ได้รับงบประมาณอาคารผู้ป่วยใน 10 ชั้น เมื่อปีงบประมาณ  2552  ขณะนี้ก่อสร้างถึงชั้นที่  2  ในปี  2553   ได้รับงบประมาณผู้ป่วยใน  10  ชั้น อีก  1 อาคาร ทั้งๆ ที่มีอัตราครองเตียงแค่ 80 % ประชากรทั้งจังหวัดแค่ 4.5 แสนคน  และไม่ได้เป็นศูนย์รับผู้ป่วย จากจังหวัดอื่น ซึ่งเป็นการจัดสรรงบประมาณลักษณะนี้เป็นการสิ้นเปลือง  และจะใช้ประโยชน์ไม่ได้เต็มที่  และทำให้เสียโอกาส  แทนที่จะได้นำเงินงบประมาณจัดสรรให้แก่ที่ที่ขาดแคลนกว่า

2. การจัดสรรอาคารขนาดใหญ่ให้แก่โรงพยาบาลขนาดเล็กอย่างไม่เหมาะสม  และไม่น่าจะสามารถใช้ประโยชน์ได้เต็มที่  เช่น  จัดสรรอาคารผู้ป่วยใน  5  ชั้น  114  เตียง  ให้แก่ รพ.ป่าโมก  จ.อ่างทอง  ซึ่งเป็น รพ.ขนาดเล็ก  อยู่ห่างตัวจังหวัดแค่  12  กม.  และให้แก่ รพ.สมเด็จ  จ.กาฬสินธุ์  ขณะที่เตียงเดิม  60  เตียง ก็ยังว่างอยู่   และจัดสรรอาคาร  4  ชั้น  ให้แก่ รพ.หันคา  จ.ชัยนาท  ซึ่งอยู่ห่างตัวจังหวัดเพียง  20  กม.  ขณะที่อาคารผู้ป่วยใน  60  เตียง  ยังไม่ได้เปิดใช้งาน

3. การจัดสรรโดยเลือกแบบไม่เหมาะสม ที่ชัดเจนคือกรณีเสาธงราคา 495,000  บาท ซึ่งไม่เหมาะสมเพราะอาคาร  รพ.ขนาด  30  เตียง สร้างใหม่ ด้านหน้าสูงสุด 2 ชั้น  ไม่เกิน 12 เมตร แต่เลือกเสาธงสูง 20 เมตร และราคากลางเพียง 367,700 บาท  แต่ตั้งงบประมาณไว้ถึง  495,000  บาท  ขณะที่เสาธงขนาด 12  เมตร  ราคากลางเพียง  119,700  บาท  จะสร้างเสาธงให้ใหญ่โตไปเพื่อใครกัน เพื่อผู้รับเหมาหรือเพื่อผู้ป่วยกันแน่

นี่เป็นเพียง 3 กรณีด้วยข้อจำกัดของเวลาในการตรวจสอบ หากล้วงลึกทุกรายการ อาจพบอะไรอีกมากที่เน่ากว่านี้ซุกอยู่ใต้พรม

ตั้งงบก่อสร้างสูงเกินจริง

มีการตั้งราคากลาง  มีการตั้งราคาสูงเกินเหตุในหลายลักษณะ  แม้ว่ากองแบบแผนและผู้เกี่ยวข้องในกระทรวงสาธารณสุขทราบราคากลางปีก่อนและทราบผลการประมูลปีก่อน  แต่ก็ยังตั้งงบประมาณในโครงการไทยเข้มแข็งสูงเกินสมควรมาก ส่อเจตนาไม่สุจริต เปิดช่องให้มีการแสวงหาผลประโยชน์

เช่น อาคารผู้ป่วยใน  298  เตียง  8  ชั้น รวมชั้นใต้ดิน แบบเลขที่  9448/51  ราคากลางกองแบบแผนปี  2552  ตั้งไว้  252,763,700  บาท  รพ.พหลพลพยุหเสนา  จ.กาญจนบุรี  ประมูลได้ราคา  194,300,000  บาท  แต่ตั้งงบประมาณไว้ถึง  290  ล้านบาท  อาคารผู้ป่วยใน  10  ชั้น  แบบเลขที่  8998  จัดสรรให้ที่ รพ.มหาราชนครราชสีมา รพ.มุกดาหาร รพ.ยโสธร  และรพ.กันทรลักษ์  จ.ศรีสะเกษ  คำนวณราคากลางได้ที่  135,093,400  บาท  ตั้งราคางบประมาณไว้ถึง  182,000,000  บาท  เป็นต้น

อาคารพักพยาบาล   3  ชั้น  24  ห้อง  แบบเลขที่  9555  รพ.ปลาปาก  นครพนม  ประมูลได้ในราคา  6,300,000 บาท  แต่ตั้งราคาไว้ถึง  9,570,000  บาท  เมื่อมีการให้กองแบบแผนคำนวณราคากลางใหม่  เหลือ  8,524,900  บาท  ต่อมามอบให้บริษัท อรุณชัยเสรี  คอนซัลติ้งเอนจีเนียร์ส จำกัด  คำนวณราคาได้ที่ 7.2 ล้านบาทเท่านั้น  ราคาที่ตั้งไว้จึงสูงเกินสมควรถึง 32.9 %

ถนนคอนกรีต เสริมเหล็กไม่รวมไหล่ทางและรางระบายน้ำ  แบบเลขที่  2406  ตั้งราคาไว้สูงถึง  1,023  บาท / ตร.เมตร  หลังจากมีข่าวอื้อฉาวแล้ว   คำนวณราคาใหม่เหลือ  873 บาท / ตร.เมตร  ขณะที่ รพ.หลายแห่ง สอบราคาได้ราว  500 บาท / ตร.เมตร และมีแบบอาคารอย่างน้อย 16 แบบ ที่คิดราคาต่อตารางเมตรสูงเกินสมควร 

ลับลวงพลาง นักการเมืองค่ายราชบุรี

จังหวัดราชบุรี  เป็นจังหวัดที่ในปัจจุบันมีโรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปของกระทรวงสาธารณสุขจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือ นอกจากโรงพยาบาลศูนย์ที่ตั้งอยู่ในตัวจังหวัดแล้ว  ยังมีโรงพยาบาลทั่วไป  อยู่ในอีก  3  อำเภอ  ได้แก่  อำเภอบ้านโป่ง   อำเภอโพธาราม  และอำเภอดำเนินสะดวก  อำเภออื่นทุกอำเภอมีโรงพยาบาลชุมชน  และในระดับตำบลยังมีโรงพยาบาลชุมชนอยู่  1 แห่ง    ที่ตำบลเจ็ดเสมียน  อำเภอโพธาราม ขณะที่ทั้งจังหวัดมีประชากรเพียง  7.2  แสนคน  ความจำเป็นจะต้องสร้างสิ่งก่อสร้างในโรงพยาบาลเพิ่มจึงมีอยู่น้อยมาก  โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นๆ  อีก  74  จังหวัดในประเทศไทย

สำหรับโรงพยาบาลศูนย์ราชบุรี  เป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่  มีเตียงผู้ป่วย  939  เตียง  มีแพทย์  111  คน  พยาบาล  621  คน  ผู้ป่วยนอกเฉลี่ยวันละ  2,407  ราย  อัตราครองเตียงผู้ป่วยใน  81.53 % โดยมีสถิติการรับผู้ป่วยในเฉลี่ย  699  คน  ขณะที่มีเตียงทั้งสิ้น  939  เตียง คงเหลือเตียงว่าง 240  แต่เป็นเพราะเป็นพื้นที่ของนายมานิต  นพอมรบดี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  ได้กดดันให้ทาง โรงพยาบาลขออาคาร 10 ชั้น และอาคารอื่นๆ รวม 5 อาคาร เป็นเงิน 681 ล้านบาท ขณะที่ทางโรงพยาบาลต้องการเพียง 2 อาคาร ในที่สุดมีการย้ายผู้อำนวยการโรงพยาบาลออกจากพื้นที่ โดยมีหลักฐานการแทรกแซงการจัดสรรงบประมาณชัดเจน

ข้าราชการอาวุโสรายหนึ่งในจังหวัดราชบุรี  ซึ่งไม่ประสงค์จะเปิดเผยตนเอง เพราะเกรงปัญหาเรื่องความปลอดภัยและอนาคตทางราชการ  ได้มีจดหมายลงวันที่  29 ตุลาคม  2552  ให้ข้อมูลทางลับส่งถึงประธานคณะกรรมการสอบสวน (นพ.บรรลุ  ศิริพานิช)  สรุปว่า  ตลอดเวลาที่นายมานิต นพอมรบดี  มาดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  มักจะโทรศัพท์เรียกไปพบ หรือสั่งการทางโทรศัพท์ให้เพิ่มรายการครุภัณฑ์  และสิ่งก่อสร้าง  โดยอ้างว่า “น้ำขึ้นให้รีบตัก”  เช่น  เดิมโรงพยาบาลต้องการเพียงอาคารผู้ป่วยนอก-อุบัติเหตุ  5  ชั้น  แต่นายมานิตได้โทรศัพท์สั่งการให้สร้างตึก 10  ชั้น โดยให้จัดเป็นความต้องการอันดับแรก ซึ่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลไม่สนองตอบ  นายมานิตได้นำช่างเขียนแบบไปวัดพื้นที่ด้วยตนเอง  และให้ส่งข้อมูลภายใน 3 ชั่วโมง ในที่สุดผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรีก็ถูกย้ายออกจากพื้นที่ 

คณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงฯ ได้ตรวจสอบพบว่า นายมานิต  นพอมรบดี เดิมมีอาชีพเป็นวิศวกรและมีบริษัทรับเหมาก่อสร้าง  คือ  บริษัท  ท่าราบก่อสร้างจำกัด  ซึ่งตั้งอยู่เลขที่  51/2  หมู่ที่  1  ต.ท่าราบ อ.เมือง  จ.ราชบุรี  การใช้ตำแหน่งหน้าที่สั่งการให้ข้าราชการของบประมาณก่อสร้างเกินความจำเป็น  นอกจากมุ่งเพื่อการหาเสียงแล้ว  น่าสงสัยว่าจะมีผลประโยชน์ในเรื่องการรับเหมาก่อสร้างด้วยหรือไม่ และการใช้ตำแหน่งหน้าที่ของ  สส.และรัฐมนตรี  ดำเนินการเช่นนี้  น่าพิจารณาว่าจะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 266 และมาตรา 265 แต่ที่แน่ๆ คือ ผิดมาตรฐานจริยธรรมของนายกอภิสิทธิ์อย่างแน่นอน 

ส่อทุจริตนี้ใครต้องรับผิดชอบ

การบริหารจัดการ ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี  ปล่อยให้มีการดำเนินการตามอำเภอใจ  ในลักษณะมือใครยาวสาวได้สาวเอา  หรือในลักษณะ “น้ำขึ้นให้รีบตัก”  และมีการแทรกแซงจากทั้งฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำระดับสูงโดยมิชอบ ผลการจัดสรรเป็นไปอย่างไม่เหมาะสม  ไม่ส่งเสริมให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรม  ไม่สามารถแก้ปัญหาของระบบบริการทั้งในปัจจุบันและในอนาคต  หลายแห่งได้รับงบประมาณเกินความจำเป็นในขณะที่หน่วยงานที่ขาดแคลนไม่ได้รับงบประมาณ  ซึ่งจะส่งผลทำให้เพิ่มปัญหาแทนที่จะแก้ปัญหา  หลายแห่งจะได้อาคารที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่า  และเป็นภาระแก่การบำรุงรักษา  ขณะที่หลายแห่งไม่ได้รับอาคารที่จำเป็น 

อีกทั้งราคาสิ่งก่อสร้างที่กำหนดไว้  มีจำนวนมากที่สูงเกินความเป็นจริงไปมาก  โดยน่าสงสัยว่าหน่วยงานและบุคคลที่มีหน้าที่ในการกำหนดราคา  จะดำเนินการโดยไม่ถูกต้องและไม่สุจริต  เพื่อเปิดทางให้มีการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

ทางคณะกรรมการฯ จึงลงความเห็นว่า ผู้ที่สมควรต้องรับผิดชอบกับความบกพร่อง  ผิดพลาดและการดำเนินการที่ไม่สุจริต เปิดทางให้มีการแสวงหาผลประโยชน์  นอกจาก 6 ข้าราชการที่บกพร่องหรือร่วมเตรียมการทุจริตคือ  นพ.ปราชญ์  บุณยวงศ์วิโรจน์ ,พญ.ศิริพร  กัญชนะ, นพ.ไพจิตร์ วราชิต  ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาคในสมัยเป็นรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุชาติ  เลาบริพัตร  ผู้ปฏิบัติหน้าที่ผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค, ผู้อำนวยการกองแบบแผน, ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ แล้ว 
 

ที่สำคัญที่สุดคือ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายมานิต  นพอมรบดี)  ซึ่งใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่แทรกแซงการดำเนินงานและโยกย้ายข้าราชการ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (นายวิทยา  แก้วภราดัย) ซึ่งไม่อาจปัดความรับผิดชอบในความผิดพลาด บกพร่องทั้งปวงที่เกิดขึ้น

อ่านรายละเอียด 'รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (ฉบับที่ 3 ) สิ่งก่อสร้าง ตามเอกสารแนบข้างท้าย

เรื่องที่เกี่ยวข้อง
 

- เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข: (1)ใครคือไอ้โม่งทุจริต UV fan?
- เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข: (2)กินรถพยาบาล 800 คัน จะได้ 80 ล้าน ลูกศรชี้ที่ฝ่ายการเมือง
- เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข: (3)โกงครุภัณฑ์สูญงบเข้ากระเป๋า 720 ล้านบาท