Skip to main content


หมายเหตุ: 'เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข' เป็นรายงานขนาดยาว ที่ฝ่ายวิชาการ ชมรมแพทย์ชนบท เตรยมตีพิมพ์ในวารสารโรงพยาบาชุมชน โดยรวบรวมและประมวลข้อเท็จจริงจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะรายงานการสอบสวนของคณะกรรมสอบสวนข้อเท็จจริง ของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 227/2552 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2552 (ที่มีนพ.บรรลุ ศิริพานิช เป็นประธาน)และมีการแถลงต่อสาธารณะไปแล้ว มาประมวลใหม่อีกครั้ง เพื่อให้เห้นถึงกลไกในกระบวนการเตรียมทุจริตงบไทยเข้มแข็งก้อนโต

โดยฝ่ายวิชาการ เห็นว่าการเปิดเผยผลการสอบสวนดังกล่าว ไม่ควรแค่เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี แล้วเรื่องเงียบหายไป ที่สำคัญขณะนี้กลไกการตรวจสอบอื่นๆ ยังไม่ทำงานเท่าที่ควร อาทิ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน รัฐสภา ฯ รวมทั้งภาคประชาสังคมต่างๆ 

มากกว่านั้น 'ข้อเท็จจริง' เหล่านี้ ควรนำไปสู่การรื้อโครงการไทยเข้มแข็งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เกิดการกระจายทรัพยากรที่เกื้อหนุนและสร้างสมรรถภาพต่อระบบบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง เป็นธรรม และยั่งยืน อันเป็นประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน จึงขอตัดและเรียบเรียงรายงาน 'เปิดปมงาบงบใครเข้มแข็งในกระทรวงสาธารณสุข' ของชมรมแพทย์ชนบทออกเป็นตอนๆ ดังจะเสนอเป็นลำดับต่อไป

เกริ่นนำ

หลังการเปิดโปงอย่างต่อเนื่องของชมรมแพทย์ชนบท  โดยเฉพาะจาก นพ.เกรียงศักดิ์  วัชรนุกูลเกียรติ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2552 เป็นต้นมาต่อกรณีงบโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง (SP2) ของกระทรวงสาธารณสุขจำนวน 86,685.61 ล้านบาท ทำให้ความร้อนของการตรวจสอบจากสาธารณะนั้นเพิ่มอุณหภูมิไปทั้งกระทรวง จนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิทยา แก้วภราดัย ต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนชุดแรกที่มี นพ.เสรี หงส์หยก เป็นประธาน ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า มีความบกพร่องและไม่เหมาะสมในการจัดสรรรายการครุภัณฑ์  ส่งผลให้ นพ.สุชาติ เลาบริพัตร ผู้อำนวยการสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค(สบภ.) ในขณะนั้น ที่ดูแลการจัดสรรงบไทยเข้มแข็งถูกคำสั่งโยกย้ายมาช่วยราชการที่สำนักวิชาการสาธารณสุข 

ต่อมาต้นเดือนตุลาคม นายพิเชฏฐ พัฒนโชติ ที่ปรึกษารมว.สาธารณสุข(สธ.) และทีมที่ปรึกษาทั้ง 8 คน ได้ตัดสินใจลาออกทั้งคณะ  เพื่อกดดันให้ทีมเลขานุการรัฐมนตรีของนางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู (แม่เลี้ยงติ๊ก) และคณะ ลาออกด้วย จนในวันที่ 6 ตุลาคม จึงแถลงข่าวลาออกจากตำแหน่งทางการเมืองด้วยความจำใจ

เมื่อแรงกดดันเพิ่มขึ้นลามไปถึงรัฐบาล  นายกรัฐมนตรีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จึงได้แต่งตั้ง นพ.บรรลุ ศิริพานิช อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เป็นประธานคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่ 227 / 2552  ลงวันที่  16  ตุลาคม  พ.ศ. 2552 จากการทำหน้าที่อย่างจริงจังแม้จะเงียบลึก  แต่เมื่อผลการสอบสวนปรากฏสู่สาธารณะ  ก็ได้สร้างความชัดเจนในกระบวนการเตรียมการทุจริตงบไทยเข้มแข็งว่าใครคิดจะทำกันอย่างไร  อีกทั้งยังชี้มูลชัดเจนว่า มี 4 นักการเมือง 8 ข้าราชการระดับสูงที่ต้องรับผิดชอบในการเตรียมการทุจริตในครั้งนี้

การสอบสวนดังกล่าว เป็นเหตุให้รัฐมนตรีวิทยา แก้วภราดัย แห่งพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงความรับผิดชอบลาออกจากตำแหน่งไปแล้ว เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552 แต่รัฐมนตรีมานิต นพอมรบดี แห่งพรรคภูมิใจไทย ยังรีรอหวังจะอยู่ต่อ ทั้งยังพยายามสร้างเงื่อนไขการต่อรองทางการเมืองระหว่างพรรคร่วมรัฐบาล แต่ด้วยแรงกดดันจากสาธารณะ เชื่อว่าอีกไม่นานคงต้องไขก็อกตามไปอย่างแน่นอน

UV fan กลิ่นแรกของความไม่ชอบมาพากล

เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยแสงระบบอัตราไวโอเลตระบบปิด (UV Fan) เป็นรายการแรกที่มีการส่งกลิ่นความไม่ตรงไปตรงมาของการบริหารจัดการงบไทยเข้มแข็ง  เพราะมีการจัดสรรให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.), โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) และโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) ทั่วประเทศจำนวน 800 เครื่อง โดยไม่มีคำขอทั้งหมด โดยมีการจัดสรรให้เฉลี่ยโรงพยาบาลละ 1 เครื่อง ราคาเครื่องละ 40,000 บาท มูลค่า 32 ล้านบาท แต่มีบางจังหวัด เช่น นครราชสีมา, เชียงใหม่ ได้รับโรงพยาบาลละ 2 เครื่อง โดยที่แทบทุกโรงพยาบาลเดาไม่ถูกว่าเกิดอะไรขึ้น  ทั้งๆ ที่ขัดต่อหลักเกณฑ์ของการจัดสรร ที่เดิมกระทรวงระบุว่าควรเป็นครุภัณฑ์ที่มีราคาตั้งแต่ 500,000 บาท ขึ้นไป แต่เครื่องนี้กลับยัดเยียดมาให้แบบไม่ธรรมดา (หากราคาต่ำกว่านี้ให้จัดซื้อโดยเงินบำรุงของโรงพยาบาลแต่ละแห่งเอง)

เครื่อง UV fan นี้มีการกำหนดสเปคกันอย่างชัดเจน  เช่น การระบุความยาวคลื่นที่ 253.7 นาโนเมตร  จึงมีความจำเพาะเจาะจงมาก  เมื่อตรวจสอบกับเอกสารวิชาการของกรมควบคุมโรคติดต่อ มีการระบุความยาวคลื่นของรังสีอัลตราไวโอเลตที่มีประสิทธิภาพในการฆ่าเชื้อโรคได้ดีคือ  254  นาโนเมตร  แต่งานนี้เล่นล็อคเป็นจุดทศนิยมเลยทีเดียว ในสเปคข้อ 1.4  ก็มีการเขียนสเปคไม่ถูกต้องที่กำหนดความสามารถในการทำงานของเครื่องโดยระบุ “ความจุของห้องไม่น้อยกว่า  20  ตารางเมตร” เพราะหน่วยความจุต้องเป็น “ลูกบาศก์”  มิใช่ “ตาราง”  อีกทั้งข้อ  2.9  ก็ล็อคว่า  “UV  Fan  ได้รับการรับรองโดยกระทรวงสาธารณสุขจากต่างประเทศและสถาบันรับรองทางด้าน  Good   Laboratory  Practice (GLP).  EFC 88/320. D.L. 27/01/92 n 120, D.M. 26/02/87  Comma 4, Italian  regulation  46/82  for  applied  research  and  Technological  Innovation เป็นต้น” งานนี้ล็อคสเปคกันเห็นๆ  และที่ชัดกว่านั้นก็คือ  มีการล็อกสเปคที่ลอกนี้กันอย่างไม่มีการตรวจสอบ  ความจุเป็นตารางเมตรโดยไม่มีใครระบุเป็นลูกบาศก์เมตรเลย

จากการตรวจสอบการจัดซื้อที่ผ่านมาก่อนงบประมาณ SP2 จะลงมา พบว่ามีการจัดซื้อของหลายโรงพยาบาลทางภาคอีสานก่อนแล้ว เช่น โรงพยาบาลมหาสารคาม 45 เครื่อง ,รพ.ร้อยเอ็ด 50 เครื่อง, รพ.กาฬสินธุ์ 48 เครื่อง ซึ่งล้วนอ้างว่าการจัดซื้อครุภัณฑ์รายการดังกล่าว  เป็นไปตาม “นโยบายกระทรวงสาธารณสุข  เรื่อง เร่งรัด  หยุดยั้งวัณโรค  ของปลัดกระทรวงสาธารณสุข” และสำนักงานป้องกันควบคุมโรค เขต 5,6 และ 12 ซึ่งพบว่าซื้อจากบริษัทเดียวกัน คือบริษัทก่อเกียรติซัพพลาย จำกัด ทั้งสิ้นยี่ห้อ Light Progress ระบุว่า Made in Italy ในราคา 40,000 บาทเช่นเดียวกัน  ซึ่งพอจะสันนิษฐานได้ว่า มีการทำตลาดในรายการนี้ลองของมาก่อนแล้ว  และเห็นช่องทางขาย lot ใหญ่จึงเสียบเข้ามาในรายการให้โดยไม่ต้องขอสำหรับงบไทยเข้มแข็ง 

พอรื้อข้อมูลลึกเข้าไปอีก  พบว่าในสาธารณสุขเขต 12 นี้ (มี 4 จังหวัด: ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด และกาฬสินธุ์) องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นได้จัดซื้อเครื่องยูวีแฟนแจกจ่ายแก่โรงพยาบาลต่างๆ ในจังหวัดขอนแก่นเมื่อปีงบประมาณ 2550 จำนวนรวม  230  เครื่อง สินค้าที่ส่งมอบก็เป็นยี่ห้อ Light  Progress  เหมือนกัน  แม้ว่าบริษัทที่ชนะการประมูล  คือ  บริษัทเกทเวย์  อินเตอร์เนชั่นเนล  จำกัด  แต่เมื่อตรวจสอบก็พบว่ากรรมการผู้จัดการใหญ่  นามสกุล ‘ก่อเกียรติเสถียร’ เป็นเครือญาติกลุ่มเดียวกับบริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย  จำกัด นั่นเอง

และที่น่าชื่นชมในท่ามกลางกลิ่นเหม็นเน่าก็คือ  ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการควบคุมโรคติดเชื้อในโรงพยาบาลขอนแก่น  มีมติไม่รับเครื่องดังกล่าว  เพราะพิจารณาแล้วเห็นว่า  ไม่มีประโยชน์  ไม่คุ้มค่า  และเป็นภาระแก่การบำรุงรักษา  จึงส่งคืนเครื่องยูวีแฟนทั้ง  20  เครื่อง  ทั้งๆ  ที่ได้รับไปฟรีๆ  ก็ไม่ขอรับ  ซึ่งเห็นถึงภาพการวิ่งเต้นทำตลาดไปถึง อบจ.จึงไม่แปลกที่จะมีการวิ่งทำตลาดที่กระทรวงสาธารณสุขผ่านใครบางคนที่มีอำนาจสั่งการให้ ‘จัดซื้อรวมทั่วประเทศ’ ได้

การจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนในเขต 12 นี้ ในสมัยนพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ ผู้ตรวจราชการเขต 12 และนพ.คำรณ ไชยศิริ สาธารณสุขนิเทศก์เขต 12 (ปัจจุบันได้รับการแต่งตั้งจากอดีตปลัดสธ.ให้เป็น ‘ผู้อำนวยการสำนักบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง’ ตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2552 เป็นต้นมา) น่าเชื่อว่านำไปสู่การทัศนศึกษาของผู้บริหารในเขตรวมทั้งครอบครัวรวม 25 คนระหว่างวันที่ 14 – 20 ตุลาคม  2552 โดยมีนพ.ธำรง สมบุญตานนท์ ผู้ทำหน้าที่สาธารณสุขนิเทศก์เขต 12 (แทนนพ.คำรณ) เป็นหัวหน้าคณะ ถึงแม้ว่าเมื่อมีการสอบสวนจะอ้างว่าใช้เงินส่วนตัว แต่ก็พบว่ามีพิรุธมากมาย และต้องสงสัยว่าการทัศนศึกษาดังกล่าวใช้เงินจากการยอมสั่งซื้อเครื่องยูวีแฟนจากบริษัท ก่อเกียรติซัพพลาย จำกัด ประมาณ 20% ส่วนผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น  ซึ่งไม่ยอมจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนตาม “นโยบาย” ของเขตนั้นไม่ได้ร่วมไปกับคณะทัศนศึกษาที่ประเทศนิวซีแลนด์ด้วย

สถาบันโรคทรวงอกได้ประดิษฐ์เครื่อง “UV  Air  Cleaner”  มีผลการทดลองเผยแพร่ในเว็บไซต์  และยังระบุราคาการประดิษฐ์ไว้ว่า  ราคาเครื่องประกอบด้วย  หลอดยูวี 2 หลอด 800 บาท , กล่องโลหะ 2,600 บาท , พัดลม 620 บาท ,  อุปกรณ์  สาย  สวิทช์  บัลลาสต์ 500 บาท , กล่องบรรจุ  400 บาท รวม 4,920 บาทเท่านั้น จึงพอจะเข้าใจว่า เหตุไฉนใครบางคนจึงสามารถเจียดบางส่วนของกำไรอันมหาศาลพาผู้บริหารที่ร่วมขบวนการไปเที่ยวนิวซีแลนด์ได้

ที่สำคัญทางคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงชุดนพ.บรรลุมีการตรวจสอบเอกสารตอบจากกองเครื่องมือแพทย์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  เพื่อพิสูจน์ว่า เครื่องนี้นำเข้าจากนอกจริงหรือไม่  ผลการตรวจสอบจาก อย. ระบุว่าไม่พบว่าเป็นเครื่องมือที่นำเข้าจากต่างประเทศ จึงน่าที่จะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศมากกว่า  งานนี้น่าจะเข้าข่ายย้อมแมวหลอกขายว่าเป็นของนอก แถมยังโก่งราคาจนของแพงกันเห็นๆ  หากผ่านงาน lot นี้คงฟาดกำไรอย่างงาม จ่ายให้คนที่อยู่เบื้องหลังได้ก้อนโต

นี่คือกลิ่นตุๆ กลิ่นแรกของงบไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข

ใครคือไอ้โม่งทุจริต UV fan?

คำถามคือ ‘ใครเป็นไอ้โม่งผู้อยู่เบื้องหลังการเตรียมการทุจริตรอรับเงินก้อนโตนี้’  จากรายงานการสอบสวนของคณะกรรมการที่มีนพ.บรรลุ  ศิริพานิชเป็นประธาน  พบเส้นทางการเตรียมการทุจริตที่น่าสนใจมาก ซึ่งเป็นเอกสารที่ นพ.สุชาติ  เลาบริพัตร สำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) จัดทำขึ้นเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับคณะกรรมการ

โดย นพ.สุชาติ แจ้งว่าครุภัณฑ์รายการนี้ นพ.กฤษดา มนูญวงษ์ เป็นผู้นำโครงการมาให้ โดยนพ.สุชาติ  ยืนยันว่าจะของบประมาณได้ “ต้องได้รับคำสั่งจากปลัดกระทรวงหรือรองปลัดฯ ที่รับผิดชอบ” ซึ่งต่อมาก็มีคำสั่งจากทั้งปลัดกระทรวงฯ และรองปลัดกระทรวงจริง รวมทั้งนพ.สุชาติ  ยังให้การว่าปลัดกระทรวงฯ (นพ.ปราชญ์) เคยโทรศัพท์มาติดตามเรื่องนี้ด้วยตนเอง เมื่อวันที่17 พฤษภาคม เวลาประมาณ 19.00 น. โดยบอกว่า ท่านปลัดปราชญ์ โทรศัพท์มาถามนพ.สุชาติว่าได้มีการใส่คำขอของเครื่องฆ่าเชื้อฯ หรือไม่  นพ.สุชาติก็บอกว่าได้กำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอสำนักงบอยู่

นพ.สุชาติ  ได้หารือกับเจ้าหน้าที่ใน สบภ. ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้มีการติงใน 2 ประเด็นคือ สบภ. จะตั้งคำของบประมาณครุภัณฑ์ที่มีมูลค่ามากกว่า 1 ล้านบาท แต่มาตั้งครุภัณฑ์ 40,000 บาทได้หรือและงบประมาณ 40,000 ต่อเครื่องนั้นเอาราคาอ้างอิงมาจากที่ใด นพ.สุชาติ จึงต่อโทรศัพท์มือถือให้ท่านปลัดฯ และให้ท่านปลัดคุยกับเจ้าหน้าที่โดยตรง

ต่อมา เมื่อมีการปรับลด-ปรับเพิ่มงบประมาณในขณะนั้น ปรากฏว่ามีคำของบประมาณครุภัณฑ์ของจังหวัดระยองที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมขาดหายไป นพ.สุชาติ จึงได้ตัดงบประมาณของเครื่อง UV fan ทั้ง 800 เครื่องออกไป เพราะผิดหลักเกณฑ์การของบประมาณ แล้วใส่ครุภัณฑ์ของจังหวัดระยองเข้าแทน รองปลัดฯ ศิริพร รู้เข้าจึงได้เรียกเจ้าหน้าที่เข้าพบเพื่อสอบถามและให้ใส่คำของบประมาณเครื่องฆ่าเชื้อฯ เข้าไปใหม่  ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ไม่ธรรมดาสั่งการข้ามหน่วยงานให้บรรจุโครงการกลับเข้าไปใหม่อีก โดยสั่งตรงกับเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการด้วย การที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์)  และรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (พญ.ศิริพร  กัญชนะ) เข้ามาสั่งการเรื่องนี้ น่าเชื่อว่าจะต้องมีผู้สั่งการอยู่สูงกว่านั้น 

ผู้ที่เข้ามาสั่งการการเตรียมการทุจริตที่ชัดเจนมากในกรณีนี้คือ นพ.กฤษดา  มนูญวงษ์ ซึ่งเป็นเพียงที่ปรึกษาแบบไม่เป็นทางการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (ที่ปรึกษาโดยตำแหน่งคือนายพิเชษฐ์  พัฒนโชติ) แต่กลับมีพฤติกรรมที่น่าเชื่อว่ามีอำนาจสั่งการปลัดกระทรวง  และรองปลัดกระทรวงได้ คำถามที่น่าสนใจค้นหาคำตอบให้ได้คือ เพราะอะไรนพ.กฤษฎา จึงมีอำนาจนั้น!

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 10 ปีที่แล้ว นพ.กฤษดา เคยมีประวัติที่ฉาวโฉ่สมัยเป็นผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ซึ่งมีปัญหามีส่วนร่วมในการทุจริตยา 1,400  ล้าน จนถูกตั้งคณะกรรมการสอบสวน “พบความบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดต่อไป” จนต้องพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมไป แต่กลับได้รับแต่งตั้งอยู่ในคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีบทบาทสำคัญในการดูแลเรื่องครุภัณฑ์การแพทย์และการกลั่นกรองงานหลายอย่าง ทั้งๆ ที่ในคณะที่ปรึกษามีแพทย์หลายคน ได้แก่ นพ.อุระพงษ์ เวศกิจกุล นพ.บุญจง ชูชัยแสงรัตน์ นพ.ธวัช สุนทราจารย์ และนพ.ชูชัย ศุภวงศ์   

และในการให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมการ แพทย์หญิงศิริพร กัญชนะ ได้มอบเอกสารสำคัญฉบับหนึ่ง  เป็นบันทึกข้อความจากสำนักบริหารสาธารณสุขภูมิภาค (สบภ.) ลงนามโดยนพ.สุชาติ เลาบริพัตร ถึงผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ ระบุชัดเจนว่า “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายให้บรรจุรายการครุภัณฑ์เครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตราไวโอเลตระบบปิด สำหรับโรงพยาบาลชุมชน  ในโครงการพัฒนาระบบบริการทุติยภูมิ จำนวน 800 เครื่อง ราคาเครื่องละ 40,000 บาท เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 32,000,000 บาท (สามสิบสองล้านบาทถ้วน) ภายใต้ระบบปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555” เมื่อพิจารณาร่วมกับบริบทโดยรวม คณะกรรมการพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขน่าจะมีส่วนรู้เห็นหรือเห็นชอบกับการบรรจุรายการเครื่องยูวีแฟนเข้าไปในโครงการไทยเข้มแข็งจริง 

งานนี้ชัดเจนว่า เขาชงมาให้กินให้ชิมก็กินและชิมไปตามน้ำ แม้จะไม่มูมมามเลอะมุมปาก แต่ก็ขาดจริยธรรมในฐานะผู้นำ อีกทั้งหย่อนประสิทธิภาพในการกำกับตรวจสอบ ที่ปรึกษาก็กร่างออกว่าราชการเอง  สั่งการให้ข้าราชการใส่โครงการให้จงได้  อันนี้ย่อมไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบได้ อาจได้ตามน้ำตามสมควร หากไม่ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่จะมีหรือที่ระดับบิ๊กในสธ.เช่นนี้จะกล้าลงมือ

คณะกรรมการจึงสรุปว่า “จากกรณี UV fan มีพยานหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า มีผู้บริหารระดับสูงทั้งในฝ่ายการเมืองและข้าราชการประจำเกี่ยวข้องในการสั่งการเรื่องนี้จำนวน 4 คน  ได้แก่  1) นายวิทยา   แก้วภราดัย  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข 2) นายกฤษดา  มนูญวงษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข  3) นพ.ปราชญ์  บุณยวงศ์วิโรจน์ อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข  และ 4)  แพทย์หญิงศิริพร  กัญชนะ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ”

อีกกลิ่นหึ่ง UV fan ที่นครศรีธรรมราช

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบทุจริต SP2 ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช  กลับพบของแถมที่นอกเหนืองบ SP2 คือ พบการจัดซื้อ UV fan ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยโรงพยาบาลชุมชน 7 แห่งๆ ละ 1 เครื่อง  โดยระบุว่า  ผู้ที่ “ขอร้อง” ให้โรงพยาบาลต่างๆ  ซื้อคือ นพ.จักรกฤษณ์  ภูมิสวัสดิ์  สาธารณสุขนิเทศก์  ซึ่งได้รับมอบหมายจากปลัดกระทรวงสาธารณสุข  ให้ทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง  เขต 6  ครอบคลุมจังหวัดต่างๆ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  พัทลุง  และนครศรีธรรมราช   โดยนพ.จักรกฤษณ์  ขอให้ช่วยซื้อ  โดยใช้เงินบำรุงของโรงพยาบาลและจะจัดสรรงบประมาณในส่วนที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ส่วนของเขต)  มาชดเชยให้ภายหลัง  ซึ่งพบว่า เครื่องยูวีแฟนที่ซื้อราคาสูงถึงเครื่องละ  99,000  บาท  และสเปคของเครื่องระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์จากต่างประเทศ แต่ตรวจสอบกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแล้ว กลับไม่มีหลักฐานการนำเข้าจากต่างประเทศ  เมื่อได้สอบถามจากบริษัทผู้จำหน่าย  คือ  บริษัท มาซูม่า (แห่งประเทศไทย) จำกัด  ไม่สามารถส่งหลักฐานการนำเข้าแก่คณะกรรมการได้

นอกจากการ “ขอร้อง”  ให้โรงพยาบาลจัดซื้อเครื่องยูวีแฟนในราคาแพงมากแล้ว  คณะกรรมการยังได้รับข้อมูลจากตู้ ป.ณ.ฝ. 25  ที่คณะกรรมการได้เปิดไว้เพื่อรับข้อมูลทางไปรษณีย์ มีผู้ให้เบาะแสว่า  นพ.จักรกฤษณ์  ภูมิสวัสดิ์  สาธารณสุขนิเทศก์เขตดังกล่าว  ยังได้ขอร้องแกมบังคับให้โรงพยาบาล 4  แห่ง  คือ  ชุมพร  สุราษฎร์ธานี  นครศรีธรรมราช  และพัทลุง  ให้จ่ายเงินเพื่อซื้อรถตู้ยี่ห้อโฟล์คสวาเกน  1  คัน  สำหรับบริการรัฐมนตรีวิทยา  แก้วภราดัย  ซึ่งโรงพยาบาลในจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง  ชุมพร  และสุราษฎร์ธานี มีการโอนเงินจากโรงพยาบาลต่างๆ แห่งละ 4 แสน – 1.5  ล้านบาท เข้าบัญชีแม่บ้านสาธารณสุขจังหวัดสุราษฎร์ธานีจริง และโอนเงินต่อไปที่ธนาคารกรุงเทพ สาขาสีลม จัดซื้อรถยนต์ตู้โฟล์คสวาเกนจากบริษัทไทยยานยนตร์  เซลส์  แอนด์  เซอร์วิส  จำกัด ต่อมานพ.จักรกฤษณ์ ได้รับแต่งตั้งเลื่อนฐานะจากสาธารณสุขนิเทศก์ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  27  ตุลาคม  พ.ศ. 2552  เรื่องนี้ควรต้องมีการตั้งกรรมการสอบสวนโดยละเอียดและเสนอ ปปช.ต่อไป

อันนี้เป็นของแถม ความจริงย่อมคือความจริง  เชลียร์รัฐมนตรีคนนครมากเกินไปโดยไม่ได้ยืนบนฐานความถูกต้องก็ควรรับกรรมไปตามกฎหมายต่อไป

ด้วยเหตุนี้ นายวิทยา จึงต้องลาออกสถานเดียว ภายใต้ข้ออ้างสวยหรู “ลาออกเพื่อแสดงความรับผิดชอบ” ที่รอให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) มารับลูกสอนสวนต่อ

อ่านรายละเอียด 'รายงานการสอบสวนข้อเท็จจริงของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 9) กรณีเครื่องทำลายเชื้อโรคด้วยระบบแสงอัลตร้าไวโอเลตระบบปิด (UVFan)' และ 'รายงานการสอบสวนเบื้องต้นของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง โครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 10) กรณีการจัดซื้อรถตู้โฟลค์สวาเกนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของรัฐมนตรี ตามเอกสารแนบ