Skip to main content
 ฉันมีความเชื่อเหมือนอ. มารค ตามไท อย่างหนึ่งคือ "ที่ใดมีความขัดเเย้ง ที่นั้นสันติวิธีจะเป็นเป้าทุกที่ เพราะขบวนการสันติวิธีทำสิ่งที่หลายฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น คือการหาความจริง พูดความจริง พยายามลดความเกลียดชัง ซึ่งบางฝ่ายปรารถนาให้มีอยู่ในพื้นที่"

จุดเชื่อมต่อสู่ชายแดนใต้
ไม่ว่าความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนใต้จะนับเนื่องมาอย่างไรและเมื่อใด ฉันเพิ่งมีโอกาสได้สัมผัสกับ "เสียง" ของเจ้าของปัญหาที่ผจญมาอย่างยาวนาน...

ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23-25 มกราคม 2548 ในโครงการที่มีชื่อเรียกเล่นๆ "ห้องเรียนเด็กชายแดนใต้กับสันติวิธี" ที่จัดโดยสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) หน้าที่ของฉันและทีมคือ การสื่อสารสาธารณะแนวคิดสันติวิธีอันเป็นสะพานเชื่อม "ความรู้สึก" ของทุกฝ่ายที่ติดอยู่ในกับดักของความขัดแย้งในมิติต่างๆ ให้ข้ามพ้นออกมาให้ได้ และครั้งนี้ก็ได้พาสื่อมวลชนจากส่วนกลางจำนวนหนึ่งทั้งสื่อกระแสหลัก สื่อทางเลือกลงพื้นที่ด้วย

เพราะเป็นการลงพื้นที่ชายแดนใต้ครั้งแรก "ความจริง" จากน้องนักศึกษาในเครือข่ายผู้นำนักศึกษาในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ฉันตระหนักว่า "ประสบการณ์" ที่อยู่ข้างหน้านี้ ไม่อาจสื่อสารด้วยวิธีปกติได้แน่ เช่น นักศึกษาชาย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา คนหนึ่งเล่าให้พวกเราจากส่วนกลางฟังว่า
"ชาวบ้านจะต้องไม่รู้มากไป รู้มากจะกลายเป็นเป้าหลัก เจ้าหน้าที่จะเพ่งเล็ง พวกเรากลัวเจ้าหน้าที่เพราะชอบดักตรวจค้นในที่เปลี่ยว ชอบถามแต่ว่าเอาปืนไปซ่อนไว้ที่ไหน วันหนึ่งมึงละหมาดกี่ครั้งวะ ทำไมไม่เสร็จ เขาไม่เข้าใจวัฒนธรรมพิธีกรรมทางศาสนาของเรา ตอนนี้ชาวบ้านหวาดระแวงเจ้าหน้าที่มากกว่า คือแยกไม่ออกแล้วว่าใครเป็นโจร"

น้องจากองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาต่างสะท้อนออกมาในลักษณะเดียวกันคือ ถูกทหารหลายคนพกอาวุธหนักพร้อมรถหุ้มเกราะบุกมาปิดบ้านและเข้าตรวจค้น ถามย้ำว่าซ่อนปืนไว้ที่ไหน ทำให้ขณะนี้ไม่กล้าทำกิจกรรมเคลื่อนไหวอะไรแล้ว มากกว่านั้น แกนนำนักศึกษาคนหนึ่ง "ฟ้อง" วิธีการปฏิบัติของทหารต่อครอบครัวของเขา

"ทหารไปล้อมบ้านผมตอนดึกเกือบค่อนรุ่ง เอาปืนเอ็ม 16 จี้และขู่พี่สาวของผม กล่าวหาว่าเป็นพวกก่อการร้าย เอาด้ามปืนทุบหัวและหลัง บังคับให้บอกว่าซ่อนปืนไว้ที่ไหน พี่สาวผมทรุดตัวกลางบ้านบอกว่า ฉันไม่รู้เรื่อง แต่ทหารพูดจาไม่สุภาพ ขึ้นมึงกู กูไม่เชื่อมึงหรอก บอกมาว่าปืนซ่อนที่ไหน เท่านั้นหล่ะพี่สาวผมก็เปลี่ยนจากฉันเป็นมึงเหมือนกัน ทำให้ทหารโมโหยิ่งขึ้น พี่สาวผมตะโกนด่ากับทหาร กูไม่รู้หรอกว่าใครเป็นโจร แต่ผัวกูเพิ่งถูกยิงตาย กูต้องเลี้ยงลูกสองคนมึงจะมาเอาอะไรกันอีก อย่าเอาปืนมาขู่กันเลย ผมอยากให้รัฐบาลยกเลิกกฎอัยการศึก การตรวจสอบหอพัก หรือค้นบ้านประชาชน นักศึกษาก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ เพราะหากเตะฟุตบอลเข้าผนังแรงสะท้อนกลับก็จะแรงพอกัน"

แกนนำนักศึกษาคนเดิม สะท้อนให้เห็น "ความไม่เข้าใจในสิ่งแตกต่างหลากหลาย" อันนำไปสู่ความเข้าใจผิด และเหมารวมให้นักศึกษากลายเป็นผู้ก่อการร้าย "กรณีที่มีการจับนักศึกษา ปี 1 เอกมลายู พร้อมเอกสารจำนวนหนึ่งไป แทนที่เจ้าหน้าที่จะนำไปถามกับสถาบันการศึกษาว่าเป็นเอกสารอะไร ภาษาอะไร กับยื่นให้นักข่าวหนังสือพิมพ์ แล้วนักข่าวก็นำไปเขียนข่าวว่าเป็นภาษายาวี เป็นเอกสารเกี่ยวกับการก่อการร้าย และความที่คนมีสำนึกในการรับรู้ต่างกัน ย่อมสร้างความเข้าใจผิดอย่างมากว่า ภาษายาวีเป็นภาษาก่อการร้าย และตั้งแต่นั้นคนยาวีก็กลายเป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย เมื่อพวกเรานักศึกษาชวนกันไปพิสูจน์เอกสารนั้นกับสื่อ ปรากฏว่าเป็นภาษาอาหรับ แต่ก็ไม่รู้ว่าเป็นเอกสารเกี่ยวกับอะไร"

นอกจากนี้ นักศึกษาจาก วิทยาลัยอิสลามศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังสะท้อนให้เห็นว่า "โครงสร้างอำนาจ" อื่น ที่น่าจะต่อรองกับ "โครงสร้างอำนาจรัฐ" หรือ "อำนาจทหาร"ได้ ก็ถูกทำให้ไร้อำนาจลงในสถานการณ์วิกฤติ
"... [...]..ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์มัสยิดกรือเซะ ที่อำเภอตากใบ นักศึกษามุสลิมโดนตรวจค้นมาก เจ้าหน้าที่ไม่ไว้ใจ ความไม่เหมือนกันของศาสนานำไปสู่การระแวง ล่าสุดก็เพิ่งมีการจับนักศึกษามอ.ปัตตานีไปอีก 1 คน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยมีข้อตกลงไว้ว่า ถ้าจะจับกุมนักศึกษาต้องแจ้งให้มหาวิทยาลัยทราบก่อน ซึ่งองค์การนักศึกษาจะได้ทำหนังสือถึงอธิการบดีให้แจ้งประสานกับทางเจ้าหน้าที่ต่อไป..."

การลงพื้นครั้งนี้ ไม่ได้มีประโยชน์เพียงเเค่เเลกเปลี่ยนรับฟังข้อมูลเท่านั้น ยังเเสดงให้เห็นถึงความจำเป็นสร้างการเยียวยาผ่านการ "เล่าเรื่อง"ที่เกิดขึ้น ในยามที่ทุกฝ่ายไม่อาจหาทางออกได้อย่างฉับพลัน ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างวัฒนธรรมใหม่ที่ทำให้กรอบระหว่าง ประชาชน-หน่วยงานของรัฐ เด็กเเละผู้ใหญ่ ในสังคมได้เรียนรู้ระหว่างกัน

เสียงสะท้อนของนักศึกษาข้างต้นได้เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์จำนวนมาก

แต่ด้านกลับกัน พลันที่ กอ.สสส.จชต. หน่วยทหารที่รับผิดชอบในพื้นที่ได้อ่านข่าวดังกล่าว ก็ตรวจสอบทันที ว่าสมช. พานักข่าวลงพื้นที่จริงหรือ? และให้ข่าวดังกล่าวออกมาได้อย่างไร โดยนักข่าวบีบีซีได้โทรศัพท์แจ้งให้ฉันทราบในวันเดียวกันว่าทหารจะแถลงข่าวโต้นักศึกษา ทำให้ฉันและเพื่อนนักข่าวเดินทางมาด้วยกันวิตกกังวลถึงสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้

ทั้งนี้ นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ซึ่งร่วมขบวนมาด้วยแต่ต้น ยืนยันกับพวกเรา "สิ่งที่นักศึกษาสะท้อนเจ้าหน้าที่ทหารต้องชี้แจง ประชาชนต้องได้รับคำอธิบายตรงนี้ พี่น้องประชาชนก็ต้องเข้าใจว่าด่านตรวจคืออะไร คำถามที่ต้องถามซ้ำซาก และมีจุดมุ่งหมายอะไรตรงนี้ก็ต้องได้รับคำอธิบาย" แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงก็มีสายข่าวโทรแจ้งให้ทราบว่า "ท่าทีของพลเอกสิริชัย ธัญญสิริ ผู้อำนวยการ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุข จังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกมาขานรับว่าจะดึงพลังนักศึกษาและพลังประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาอย่างเต็มที"

เมื่อเป็นเช่นนี้ คำถามที่ตามมาคือ การนำ "ปัญหา" และ "เสียง" ของนักศึกษา ประชาชนในพื้นที่ออกสู่สาธารณะนำมาซึ่งการเปลี่ยนท่าทีของทหารอย่างไร รวมทั้ง "เสียง" ดังกล่าวได้เข้าไปปฏิบัติการอย่างไรในการลดความตึงเครียด (tension) ระหว่างวาทกรรมความมั่นคงแบบอำนาจนิยมกับแบบ "ประชาชนมีส่วนร่วม" ที่สภาความมั่นคงแห่งชาติกำลังดำเนินการในสถานการณ์ขณะนี้

ต่อมา ทางสภาความมั่นคงแห่งชาติ ได้พาพวกเราลงพื้นที่สีแดงทั้งในจังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส คือ บ้านยะกัง 2 อำเภอเมือง มัสยิดบ้านดุซงญอ อำเภอจะแนะ จังหวัดนราธิวาส และมัสยิดนูรุลยันนะห์ ตำบลตุยง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นต้น และยังได้พูดคุย นายอับดุลเร๊าะห์มาน อิบดุลสบัด ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส รวมทั้งผู้นำศาสนาคนสำคัญอื่นๆ ในพื้นที่ด้วย

ในการเดินทางครั้งนี้ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ถามฉันด้วยความประหลาดใจ เพราะนับเป็น "ครั้งแรก" ที่เคยเห็นสภาความมั่นคงแห่งชาติทำงานร่วมกับสื่ออย่างใกล้ชิดเช่นนี้ ทั้งยังบอกว่า
"...[...] เดิม ‘ความมั่นคง' เป็นวาทกรรมที่ผู้มีอำนาจกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ให้ความหมายและกำหนดนิยาม คำว่าความมั่นคงของชาติ เป็นสิ่งที่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของรัฐไทยต้องยอมรับและปฏิบัติตาม the end justifies the mean ทำอะไรก็ได้เพื่อให้เกิด ‘ความมั่นคง' แต่ครั้งนี้ สภาความมั่นคงฯ ใช้สื่อมวลชนเข้ามา ‘เปิด' วาทกรรมความมั่นคงให้เป็นเรื่องสาธารณะ ให้คนอื่นได้เข้ามาร่วมตีความและกำหนดความหมาย และเปิดเผยต่อประชาชน ผมว่าเป็นสิ่งที่เราต้องร่วมกันติดตามความเปลี่ยนแปลง..."

แม้จะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ตามที่รศ.ดร.ชัยวัฒน์ ตั้งข้อสังเกต แต่ท่าทีและระยะห่างการทำงานของสื่อมวลชนกับสภาความมั่นคงแห่งชาติก็จะต้องเป็นไปในลักษณะการร่วมมือในเชิงวิพากษ์ และตรวจสอบไปพร้อมกัน ด้วยสื่อเป็นกลไกหนึ่งที่สามารถสร้างความสมานฉันท์แก่สังคมก็จริง แต่แง่หนึ่งก็ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐอย่างเข้มแข็งเช่นกัน

ประสบการณ์ครั้งนี้ ทำให้ฉันเรียนรู้ว่า ปัญหาที่เกิดขึ้น ต้นเหตุประการหนึ่งมาจากนโยบายของรัฐที่ไม่ "ระวังไหว" กับวัฒนธรรมอันเเตกต่างของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานกับของคนในท้องที่ จนทำให้เกิดการปะทะระหว่างวัฒนธรรมส่วนกลางกับวัฒนธรรมท้องถิ่น หรือมากกว่านั้นคือการปะทะกันของวัฒนธรรมท้องถิ่นกับวัฒนธรรมสาธารณะ (pop culture)

และฉันเชื่อว่าเวลามีความรุนเเรง เหยื่อเป็นพลังที่สำคัญที่สุดในการเเก้ปัญหา คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ต้องมีบทบาท อย่างไรก็ดี การปะทะกันทางความคิดระหว่าง "คนนอก" ที่เข้ามาในพื้นที่เพียงชั่วครั้งชั่วคราวเพื่อประเมินปัญหา กับ "คนใน" ที่ต้องอยู่เเละใช้ชีวิตในพื้นที่เป็นเวลาเนิ่นนาน ไม่มีใครตั้งคำถามว่าความปลอดภัยของคนใน กับคนนอกเหมือนกันหรือต่างกันอย่างไร เเละดูเหมือนทั้งสองฝ่ายจะมองกันคนละระดับ ฝ่ายที่ต้องอกสั่นขวัญผวากับความรุนเเรงในพื้นที่ทุกเมื่อเชื่อวันก็มองในระดับชีวิตประจำวันที่เต็มไปด้วยความกลัว ส่วนคนที่ก้าวพ้นไปจากความกลัว เพราะเป็นคนนอกพื้นที่อาจเริ่มทอดสายตาไปดูอนาคต เราจะทำอย่างไรให้ปัจจุบันเเละอนาคตมาบรรจบกัน

สิ่งเหล่านี้เองกระตุ้นให้ฉัน ครุ่นคิดถึงการสื่อสารทั้งรูปแบบและวิธีการใหม่ๆ ทำอย่างไรให้เรื่องและมุมมองจากชายขอบที่วิพากษ์ "ความมั่นคง" "ความยุติธรรม" ให้คนในศูนย์กลางได้ยิน เพื่อเป็นสะพานเชื่อมโยงความเข้าใจของคนในสังคม ในฐานะ "สื่อสันติภาพ" (peace journalism)

เชื่อมคน - เชื่อมเครือข่าย
งานนี้ ฉันมีโอกาสได้เจอพี่อายุบ - มูฮัมหมัด อายุบ ปาทาน นักข่าวมือหนึ่งในพื้นที่ชายแดนใต้เป็นครั้งแรก ทั้งนี้ต้องขอบคุณนพ.ชูชัย ศุภวงศ์ ที่ทำให้ฉันได้รู้จักกับรศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร (อ.แหวว) ผู้จูงมือฉันให้มารู้จักกับคุณจิราพร บุญนาค รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อีกต่อหนึ่งพร้อมกันนี้ต้องขอบคุณ นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ เลขาธิการ มสช. และพี่ด้วง-ดวงพร เฮงบุณยพันธ์ ที่ทำให้เราสบายใจเรื่องงบประมาณการทำงานมาโดยตลอด

ไม่นานนัก ก็มีข่าวว่ารัฐบาล ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ชีวิตฉันก็ต้องผูกติดอยู่กับเรื่องภาคใต้ตั้งแต่นั้นมา

วันหนึ่ง คุณจิราพร รองเลขาธิการสมช. ในฐานะคณะกรรมการกอส. ก็ขอให้ฉันมาพบที่ สมช. ด่วน เมื่อไปถึงก็พบอ.แหวว อ.บัณฑร อ่อนดำ นั่งคอยอยู่ก่อนหน้าแล้ว ถ้าจำไม่ผิดมีอาจารย์อนุชาติ พวงสำลี และอาจารย์ประสิทธิ์ เมฆสุรรณ ร่วมอยู่ด้วย

คุณจิราพร เล่าให้ฟังว่า กอส. ได้มีมติตั้งคณะอนุกรรมการในการทำงาน 5 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการส่งเสริมความไว้วางใจ ความยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นประธาน) 2.คณะอนุกรรมการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี (พระไพศาล วิศาโล เป็นประธาน) 3. คณะกรรมการศึกษาวิถีทางการพัฒนาเพื่อความมั่นคงของมนุษย์ (ดร.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน) 4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรมในสังคมไทย (นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน) และ 5.คณะอนุกรรมการเพื่อความปรองดองและความสมานฉันท์ในพื้นที่ (พลเอก ณรงค์ เด่นอุดม เป็นประธาน) โดยคณะอนุกรรมการแต่ละชุดต้องการตั้ง "คณะทำงานย่อย" เพื่อทำงาน "สมานฉันท์" ในมิติต่างๆ แตกย่อยอย่างเป็นรูปธรรมมากที่สุด

"ทั้งนี้ คุณพิภพ ธงไชย เสนอว่าน่าจะมีคณะทำงานเกี่ยวกับสื่อ เพื่อสื่อสารและขับเคลื่อนการทำงานระหว่างกอส.กับสังคมอย่างต่อเนื่องด้วย " คุณจิราพร บอกว่า ในฐานะที่เป็นรองประธานของคณะอนุกรรมการชุด 2 ได้รับมอบหมายจากประธาน ให้ทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิและนักปฏิบัติมาร่วมงานกัน โดยในคณะอนุกรรมการชุดที่ 2 นี้ ยังมีคณะทำงานอีก 3 ชุด คือคณะทำงานเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในภาครัฐ คณะทำงานพัฒนาการใช้สันติวิธีในภาคประชาชน และคณะทำงานแสวงหาความร่วมมือและรณรงค์การใช้แนวทางสันติวิธีในสังคมไทย

"อยากชวนน้องแจงให้มาร่วมงานกันด้วย เพราะทางสมช. ก็ไม่เคยทำงานกับสื่อมาก่อน เมื่อต้องขับเคลื่อนเรื่องที่อ่อนไหวอย่างยิ่ง คิดว่าน้องแจงน่าจะมีความคิดเห็น หรือแนะนำใครมาร่วมงานกัน" ได้ยินดังนั้น ร่างกายฉันที่เล็กอยู่แล้ว ยิ่งลีบเรียวหนักกว่าเดิม ตอนนั้นนึกถึงหลวงพ่ออยู่องค์เดียวเลย คือ "หลวงพ่อโม่ง" ช่วยลูกด้วย

ที่คิดถึง มันมีเหตุอยู่ว่าก่อนหน้านี้ พี่โม่ง-ภัทระ คำพิทักษ์ อุปนายกด้านสิทธิขณะนั้น โทรศัพท์มาคุยกันบ่อยครั้งถึงความต้องการปฏิรูปสื่อย่างเป็นรูปธรรมของสมาคมนักข่าว ฯ ได้เล่าแนวคิดต่างๆ ให้ฟังอย่างเป็นระยะ "ความเป็นพี่เป็นน้อง" ของฉันและพี่โม่ง ที่คุยกันทุกเรื่อง ทำให้เราได้ตรวจสอบความคิดกันอยู่เสมอ ต้นเดือนพฤษภาคม พี่โม่งก็รบกวนให้นัด นพ.ประเวศ วะสี ให้หน่อย เพื่อขอทุนทางปัญญาว่าสิ่งที่คิดนั้นจะทำได้จริงหรือไม่ ต่อมาวันที่ 26 พฤษภาคม ก็ได้มีการหารือถึงการปฏิรูปสื่อระหว่างนพ.ประเวศ นพ.สมศักดิ์ และกรรมการสมาคมนักข่าวฯ จำนวนหนึ่ง วันนั้น นพ.ประเวศ ให้คาถามาบทหนึ่ง ว่าปรัชญาการปฏิรูปสื่อนั้น "คนไทยต้องรู้ความจริงโดยทั่วถึงเพื่อเป็นรากฐานในการพัฒนาประเทศ"

พี่โม่งเคยพูดถึง กองบรรณาธิการส่วนหน้า การมีโต๊ะข่าวภาคใต้ของสมาคมนักข่าวฯ ซึ่งน่าจะเป็น"หัวรถจักร" ในการขับเคลื่อนการปฏิรูปสื่อทั้งทางโครงสร้าง แนวคิด การปฏิบัติหน้าที่อย่างรับผิดชอบแก่ประชาชนมากขึ้น

ทำให้ฉันก็ตอบรับคุณจิราพร ทันทีว่า อยากแนะนำ 3 คน ให้ร่วมเป็นคณะทำงานด้วย คือพี่โม่ง พี่จอม เพชรประดับ (ขณะนั้นเพิ่งกลับมาจากอเมริกา และเข้าทำงานอยู่ที่ช่อง 11 ในฐานะบรรณาธิการข่าวเฉพาะกิจ) และพี่อายุบ

คุณจิราพรนั้น บอกว่าคุณอายุบ เป็นนักข่าวที่ดี มีความสามารถ รู้จักทั้งพื้นที่ เข้าใจ เข้าถึงกลุ่มคนต่างๆ ในพื้นที่ และเคยร่วมงานกันมานาน ตั้งแต่ยังไม่ยุบ ศอ.บต เป็นคนที่อยู่ในใจมาโดยตลอด จึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง

ฉันอธิบายแก่ท่านรองว่าทำไมต้องเป็น พี่โม่ง ส่วนพี่จอมนั้น ฉันเคยแนะนำให้ท่านรู้จักมาก่อนหน้านี้ ในการลงพื้นที่จ.ระนอง เพื่อรับฟังปัญหาของคนไทยผลัดถิ่น ก็เป็นอันว่าท่านเห็นด้วยกับที่เสนอทั้งหมด และยังขอให้พวกเราเข้าร่วมเป็นผู้ทรงคุณวุฒิคณะทำงานเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในภาครัฐ ที่ท่านเป็นประธานอีกคณะหนึ่งด้วย เพื่อช่วยให้ข้อมูลจากคณะทำงานต่างๆ ได้ไหล ถ่ายเทสู่สาธารณะได้โดยง่าย ฉันก็ยังขอท่านเพิ่มว่า ขอพี่ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยฮาวายอิ ที่ศึกษาเรื่องการเมือง ความขัดแย้ง และชาติพันธุ์ เข้าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิอีกคนหนึ่งท่านก็มิได้ขัดข้อง

กระบวนจากนั้นคือการทาบทามคณะบุคคลและแต่งตั้งอย่างเป็นทางการ และประชุมครั้งในอีกสัปดาห์ต่อมา

ในการประชุมคณะทำงานแสวงหาความร่วมมือและรณรงค์การใช้แนวทางสันติวิธีในสังคมไทย ครั้งแรก หลวงพี่ไพศาล ได้กรุณาให้ภาพและความรู้แก่คณะทำงานทั้งหมด 22 ชีวิต ว่า สันติวิธีคืออะไร สังคมไทยเข้าใจผิดว่าสันติวิธีคือการนิ่งเฉย ในความจริงนั้น สันติวิธีคือความสร้างสรรค์ในการกระทำเพื่อลด ป้องกัน รวมทั้งจัดการกับความรุนแรงให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งผู้ที่ใช้สันติวิธี ต้องมีความอดทนต่อการยั่วยุ และเสียสละอย่างสูง

ส่วนคำถามสำคัญ ที่กอส. มักถูกถามบ่อยว่า กอส. จะสมานฉันท์กับใครนั้น พี่นารี เจริญผลพิริยะ อธิบายว่า เราต้องสมานฉันกับทุกฝ่ายที่เลือกใช้ความรุนแรง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ได้รับผลกระทบ ครอบครัวของ "เหยื่อ" ผู้สูญเสีย ฯลฯ และคู่ขนานกัน "ความจริง" และ "ความยุติธรรม" จักเข้ามาช่วยให้เลือกใช้สันติวิธีมากกว่าความรุนแรงซึ่งเป็นทางออกสุดท้าย

ฉันเปิดดูบันทึกส่วนตัว วันนั้นพี่โม่ง กล่าวในที่ประชุม ในทำนองว่าปัญหาที่เกิดขึ้นได้ท้าทายระบบต่างๆที่มีอยู่ในสังคมทุกระบบ ว่า ภายใต้สถานการณ์ที่เปลี่ยนไปของสังคมโลกและสังคมไทย องคาพยพต่างๆ ของสังคมไทยจะสามารถมีภูมิปัญญา เครื่องมือ และวิธีการ แก้ไขความขัดแย้ง ความรุนแรงที่เกิดขึ้นซึ่งเปลี่ยนไปจากเดิมได้หรือไม่ ในสถานการณ์เช่นนี้ สื่อมวลชนเป็นได้ทั้งนักสร้างสรรค์เพื่อจรรโลงสันติภาพให้กับสังคมและก่อปัญหาทำให้ความรุนแรงขยายตัวขึ้น การเกิดขึ้นของวิกฤต จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้มีสื่อเพื่อสันติภาพขึ้น

"สังคมไทยไม่อาจจะทอดภาระการแก้ไขปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดภาคใต้ให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะปัญหาดังกล่าวก่อตัวขึ้นมาจากเหตุและปัจจัยที่ซับซ้อน ปัญหาของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ก็เป็นปัญหาของสังคมไทยโดยรวมและการจะนำความผาสุกกลับคืนมาสู่พื้นที่นี้ จึงเป็นการนำความผาสุกมาสู่สังคมไทยโดยรวม การขจัดหรือลดทอนขนาดของปัญหา ต้องอาศัยพละกำลัง ความร่วมมือร่วมใจ ปัญญาและความสมานสามัคคีของคนในสังคม"

พี่อายุบ ซึ่งเป็นสื่อมวลชนคนเดียวจากในพื้นที่ ก็เสนอว่า การสื่อสารนั้นจะต้องก้าวพ้นเรื่องชาติพันธุ์ และเชื้อชาติ คนที่อยู่ในพื้นที่ตรงนี้จะต้องเท่าเทียมกันด้วย "ความเป็นพลเมือง" โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมด้วย เพราะคนในพื้นที่เป็นกลุ่มสังคมที่มีอัตลักษณ์ของตนเองสูง ทั้งยังภาคภูมิใจกับประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของตนเอง

แม้ฉันจะแอบเถียงเล็กน้อยกับพี่อายุบ ว่าในความหลากหลายทางวัฒนธรรม เราพึงตระหนักถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย ในมวลหมู่วัฒนธรรมย่อย ย่อมมีวัฒนธรรมหลักที่คอยกดทับ เบียดขับ ให้มีผู้อ่อนด้อยต้อง "ยอมรับ" กติกาของผู้มีอำนาจ และโครงสร้างทางอำนาจในพื้นที่ก็เป็นสาเหตุประการหนึ่ง ที่ไม่พยายามเข้าใจเรื่อง "ความหลากหลายทางวัฒนธรรม" เสียเลย

มีการถกเถียงในที่ประชุมกันมากกว่า เราจะสื่อสารแนวคิดสันติวิธีเพื่อยับยั้งความรุนแรงลงได้อย่างไร หลวงพี่ขอให้ทุกคนลองคิดกิจกรรม และข้อเสนออย่างเป็นรูปธรรม หรือทำเป็นโครงการเสนอมาโดยเร็ว

วันที่ 12 มิถุนายน เรา 5 คน คือ ฉัน พี่โม่ง พี่จอม พี่อายุบ และก๊ะ (ภรรยาพี่อายุบ) ใช้ศูนย์ข้อมูล สมาคมนักข่าวฯ อภิปรายกันอย่างเคร่งเครียด พี่โม่งยืนยันชัดว่านอกจากการลดความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนใต้ เราต้องสร้างวัฒนธรรมให้คนไทยวิจารณ์เรื่องนี้ หรือความรุนแรงในพื้นที่อื่นๆ ในอนาคตด้วย "ความรู้" หรือ "ข้อมูล" มิใช่ความรู้สึกเกลียดชังกัน นี่จะเป็นการปฏิรูปสื่อครั้งสำคัญ
พี่ทั้งสามคน กล่าวไปในทางเดียวกันว่า เราต้องเชื่อมคน - เชื่อมเครือข่าย - เชื่อมความรู้ เข้ามาในสถานการณ์นี้ เพราะเอาเข้าจริง เราไม่รู้ว่าเราสู้อยู่กับอะไร เบื้องต้นเราจึงต้องสู้กับตนเองก่อน สู้ความไม่รู้ ให้รู้ให้ได้ว่าเกิดอะไรขึ้น

สรุปวันนั้น พวกเราได้ข้อเสนอถึง กอส. ว่าจะทำงานผ่านโครงการหลัก 4 โครงการ ได้แก่ โครงการโต๊ะข่าวภาคใต้ในพื้นที่ จ.ปัตตานี เพื่อปรับสมดุลข่าวสาร โครงการทบทวน/วิพากษ์การนำเสนอของข่าวสถานการณ์ภาคใต้(ภายหลังเปลี่ยนเป็นโครงการอบรมนักจัดรายการวิทยุภาคภาษามลายู) โครงการจัดทำคู่มือรายงานข่าวความมั่นคง และโครงการห้องเรียนสันติวิธีและความหลากหลายทางวัฒนธรรม : พาสื่อกลุ่มเป้าหมายลงพื้นที่สัมผัสวิถีชีวิตและพลังความหลากหลายทางวัฒนธรรม

โดยวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างคนทำงานด้านสื่อสันติภาพ ที่มีศักยภาพในการทำงานและเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และทั่วประเทศ ทั้งเปิดมุมมองใหม่ให้กับคนทำงานสื่อมวลชน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการปฏิรูปสื่อในสังคมไทย สร้างสถาบันเพื่อสร้างฐาน สร้างคน สร้างความรู้ และอำนวยความสะดวก ลดหรือทำให้ไม่มีข้อจำกัดในการทำงานสื่อเพื่อสันติภาพ สร้างเครือข่าย รวบรวมและประสานจัดการมุมอง คนและระบบอื่นๆให้กับคนและระบบสื่อ เพื่อก้าวข้ามทัศนะ มุมมองในการสื่อสารแบบเดิม

ที่สำคัญ คือการสร้างกระบวนการในการทบทวนสถานการณ์ องค์ความรู้เดิม และสร้างความรู้ชุดใหม่ๆ อันเกิดจากการให้ความสำคัญกับเสียง ประสบการณ์ การเคลื่อนไหว วิถีชีวิต และการแสดงออกของ คนในพื้นที่ และคนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความรุนแรงและความขัดแย้งนี้

ในที่นี้ ขอกล่าวเฉพาะโต๊ะข่าวภาคใต้ ที่ฉันได้บันทึกไว้จากแนวคิดของพี่โม่งและพี่อายุบ อันนำไปสู่การเขียนโครงการ ที่ภายหลังถูกยอมรับในวงการนิเทศศาสตร์และสื่อมวลชนว่าเป็น "นวัตกรรม" แห่งยุคสมัย

"ทำไมต้องมีโต๊ะข่าวภาคใต้?"

พี่โม่งอธิบายเรื่องนี้ชัด เพราะด้วยข้อจำกัดจากโครงสร้างในองค์กรสื่อที่ทั้งลดทอน บางครั้งก็ขับเน้น ข้อเท็จจริงสถานการณ์ภาคใต้อย่างเกินจริง ทำให้ขาดคนเกาะติด วิเคราะห์ วางแผนข่าวสถานการณ์ภาคใต้อย่างเข้มแข็ง

ด้านองค์กรสื่อมวลชนจำนวนหนึ่ง ที่มีขนาดเล็กเช่นแนวหน้า หรือ ไทยโพสต์ ก็มีข้อจำกัดในการทุ่มเททรัพยากรในการรายงานข่าวสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

เอาเข้าจริง นักข่าวอย่างเราๆ นี่เองที่ขาดฐานคิดในการนำเสนอข่าวที่มีลักษณะอ่อนไหวต่อความมั่นคง ความขัดแย้งเชิงเชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต รวมทั้ง ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งข้อมูล องค์กรพลังประชาชนในพื้นที่อย่างหลากหลาย

ที่สำคัญ อาจจะเป็นข้อเสียจากการแข่งขันของสื่อเองด้วย ที่เราไม่เคยพัฒนาประเด็นเชิงลึกว่า เกิดอะไรขึ้นกับพี่น้องภาคใต้ของเรา
อย่างไรก็ตาม โดยโครงสร้างของโต๊ะข่าวภาคใต้นั้น พวกเรา 4-5 คนคิดจนตกผลึกว่าจะมีการสรรหาผู้ที่มีทักษะในการสื่อสาร ทำข่าว เข้าใจความแตกต่างหลากหลายด้านเชื้อชาติ ศาสนา ชนชั้น โครงสร้างวัฒนธรรม การเมือง ประวัติศาสตร์ภาคใต้ ลงไปเป็นบรรณาธิการข่าวจากส่วนกลางอย่างน้อย 1 คนร่วมทำงานกับบรรณาธิการในพื้นที่ คือ พี่อายุบนั่นเอง เพื่อบริหาร "โต๊ะข่าว" ซึ่งตั้งอยู่ภายใน มอ.ปัตตานี

จากนั้นขอให้ องค์กรข่าวต่างๆ ส่งนักข่าวมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของกองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้ ร่วมทำงานกันอย่างเข้มแข็งกับนักข่าวในพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว และนักศึกษาในพื้นที่จำนวนหนึ่งที่พร้อมจะเรียนรู้และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของงานนี้ เป็นระยะเวลาทดลองก่อน 1 เดือน และสลับเปลี่ยนทีมลงมาใหม่ ทั้งนี้ ข่าว บทความ รายงาน สารคดี รวมทั้งบทวิพากษ์ที่ได้มาจะถูกรวบรวมนำเสนอผ่านสำนักข่าวออนไลน์ (www.tjanews.org) ที่เชื่อมต่อกับสมาคมนักข่าวฯ ให้ทุกองค์กรข่าวสามารถดึงข่าวไปใช้เผยแพร่ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

ส่วนกระบวนการบริหารโต๊ะข่าว บรรณาธิการจากส่วนกลางและในพื้นที่จะคอยเกาะติดสถานการณ์ คัดเลือกประเด็นสำคัญในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน และวางแผนข่าวอย่างมีทิศทาง ไม่ตั้งรับต่อสถานการณ์ดังเช่นปัจจุบัน

ในบางวันจะมีการเชิญนักวิชาการ คนทำงาน เครือข่ายต่างๆ มาวิเคราะห์สถานการณ์ให้ความรู้แก่กองบรรณาธิการจากจุดยืนของพวกเขาในช่วงเช้า เพื่อปรับองศาการพิจารณาข่าวสาร เพิ่มพูนความรู้ของนักข่าวให้มากขึ้น เครือข่าย/กลุ่มพลังประชาชนที่น่าสนใจในการเชื่อมต่อ ได้แก่ กลุ่มยุวมุสลิม กลุ่มแม่บ้าน โรงเรียนตาดีกา โรงเรียนสอนศาสนาเอกชน เครือข่ายกลุ่มอาชีพต่างๆ อาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้าน ชมรมนักศึกษาอิสลามภาคใต้ ฯ ในการเชื่อมโยงกับเครือข่ายอย่างหลากหลายนั้น เท่ากับว่าโต๊ะข่าวจะมีแผนที่ความคิดและแผนที่ทางเดินข่าว ที่สามารถจัดทำทำเนียบเครือข่ายสำหรับสื่อมวลชนให้ใช้งานต่อเนื่องในระยะยาวได้ด้วย

ทั้งนี้ นักข่าวจากแต่ละองค์กร จะทำข่าวใน 2 ส่วนคือ ข่าวตามสถานการณ์ที่ถูกส่งจากกองบรรณาธิการของตนเอง (ในส่วนกลาง) และข่าวที่ถูกกองบรรณาธิการโต๊ะข่าวภาคใต้มอบหมายให้ทำ

นอกจากนี้ เรายังมีข้อเสนออื่นๆ ถึงกอส. อีก เช่น แสวงหาความร่วมมือกับสื่ออื่นๆ ได้แก่ โทรทัศน์ กอส. ควรมีบทบาทในการต่อรอง เจรจาให้ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์เปิดพื้นที่/เวลา ในการนำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวกับความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่แล้วในพื้นที่ต่างๆ ทั้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และทั่วประเทศ รวมทั้งทำการสื่อถึงแนวคิดเรื่องสันติวิธีในรูปแบบต่างๆ อย่างมืออาชีพ แต่เป็นธรรมชาติ มิใช่การจัดฉาก และยกให้ช่อง 11 เป็นต้นแบบสื่อสันติภาพ (TV4PEACE)

ในส่วนของวิทยุ ถือเป็นสื่อสำคัญในการสื่อสารกับคนในพื้นที่ที่กอส. ต้องให้ความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะวิทยุชุมชน ที่ควรให้ผู้จัดและผู้ประกาศรายการวิทยุ (ดีเจ) มีใบผู้ประกาศ ทั้งสนับสนุนเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับสันติวิธี ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ให้แก่ผู้จัดรายการวิทยุเพื่อบอกเล่า บอกต่อแก่ผู้ฟัง และควรมีการเชื่อมต่อข้อมูลจากโต๊ะข่าวภาคใต้กับสถานีวิทยุชุมชน เพื่อให้เนื้อหาของแต่ละฝ่ายได้แลกเปลี่ยน ถ่ายเทข้อมูลซึ่งกันและกัน

ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ส่งให้หลวงพี่เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน เพื่อส่งต่อให้ กอส. ชุดใหญ่พิจารณา...


เชื่อมความรู้
ระหว่างนี้ เรา ซึ่งหมายรวมถึงกรรมการสมาคมนักข่าวฯ คนอื่นๆ ก็ได้ดำเนินการอย่างก้าวหน้าเคียงคู่กับการเสนอโครงการ ในการเดินสายตามโรงพิมพ์ต่างๆ เพื่อหาความร่วมไม้ร่วมมือในการหานักข่าวชุดแรกลงพื้นที่

ควบคู่กัน ตลอดเดือนกรกฎาคม - กันยายน พวกเราทั้ง 3 คน คือฉัน พี่โม่ง และพี่จอมก็ต้องลงพื้นที่จังหวัดปัตตานีบ่อยครั้งกับคณะทำงานเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนแนวทางสันติวิธีในภาครัฐ เพื่อลงไปฟัง "เสียง" ของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งทหาร ตำรวจ ตำรวจชายแดน ฝ่ายปกครอง ครู อุสตาซ ฯลฯ หาให้ได้ว่าสิ่งใดเป็นข้อจำกัด และอุปสรรคของการนำสันติวิธีมาใช้ในพื้นที่บ้าง และทุกคนครั้งเราจะรบกวนให้พี่อายุบ เดินทางจากจ. ยะลา มานั่งคุยกันต่อในลำดับขั้นของการทำงาน และให้พี่วิเคราะห์สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกวัน

หากการเดินทางครั้งใดที่พี่โม่งไปไม่ได้ก็จะส่งพี่ภาสกร จำลองราช พี่พิเชษฐ์ ชูรักษ์ และเอก-อภิวัจน์ สุปรีชาพงษ์ ลงสลับกันมา เพื่อให้พวกเราคุ้นเคยกับวิธีการทำงานของกอส. ในพื้นที่ และได้เชื่อมต่อกับ "เจ้าหน้าที่รัฐ" ในระดับปฏิบัติการได้

หลายครั้งของการลงพื้นที่กับคณะทำงานชุดนี้ เราก็มักจะลงไปก่อนหนึ่งวันเพื่อแวะคุยกับนักวิชาการ และผู้บริหารของมอ.ปัตตานี บางครั้งยังอมยิ้มกันเล่นๆ ว่าพวกเรานี้ดีนะ "ผิวไม่บาง" เนื่องจากสื่อส่วนกลางพื้นที่ทีไร ก็มักจะได้รับการติเตียนจากคนในพื้นที่เป็นประจำถึงการมีส่วนขยายผลให้ความรุนแรงในพื้นที่น่ากลัวเกินจริง นับว่าเป็นช่วงเวลาที่พวกเราต้องนิ่ง ฟังคำเสนอแนะ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่เราเชื่อว่าน่าจะดีต่อสถานการณ์

ในส่วนความคืบหน้าของการเสนอโครงการต่างๆ ที่เสนอดังกล่าวข้างต้น เริ่มแรกนั้น คุณอานันท์ ปันยารชุน ประธานกอส. ไม่เข้าใจว่าทำไม กอส.ต้องสนับสนุนการมีโต๊ะข่าวสันติภาพในภาคใต้ แม้ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เองก็ค้าน เพราะเห็นว่าไปซ้ำซ้อนกับการทำงานสื่อสารสังคมของคณะทำงานอ.โคทม อารียา ที่ทำอยู่ ผู้ที่ลุกขึ้นมาสนับสนุนอย่างหนักแน่นถึงความจำเป็นต้องมี "โต๊ะข่าวภาคใต้" ด้วยเหตุผลแบบง่ายๆ เลยว่า ข่าวภาคใต้ก็ต้องมาจากคนและพื้นที่ภาคใต้เป็นผู้กำหนดคือ คุณพิชัย รัตนพล อ.มารค ตามไท นพ.ประเวศ วะสี และคุณจิราพร ซึ่งฉันเข้าใจได้ว่า "ผู้ใหญ่" หลายท่านสนับสนุนแนวคิดของเรา เป็นผลจากการทำงานทางความคิดและการลงพื้นที่ร่วมกันหลายครั้งนั่นเอง

จนในที่สุดทุกโครงการก็ผ่านออกมาหมดอย่างไร้เงื่อนไข โดยให้สื่อมีอิสระในการทำหน้าที่แห่งตน

เมื่อทุกโครงการผ่านและเราได้ยอดตัวเลขงบประมาณชัดเจน ดังนั้น การลงมือทำอย่างจริงจังจึงเกิดขึ้น พี่โม่งกับฉันได้ไปคุยกับรศ.ดร.อิ่มจิต เลิศพงษ์สมบัติ คณบดีคณะวิทยาการสื่อสาร อาจารย์วลักษณ์กมล จ่างกระมล อาจารย์กุสุมา กูใหญ่ ฯลฯ ว่าเราขอความอนุเคราะห์ในการมาตั้งฐานที่มอ.ปัตตานี ซึ่งก่อนหน้านี้ ทางพี่ด้วง มสช. ได้ประสานกับระดับอธิการบดีมาแล้วเพื่อขออนุญาตใช้สถานที่ในมอ. ดังนั้น อาจารย์อิ่มจิต จึงพาเราเดินดูบริเวณมหาวิทยาลั